xs
xsm
sm
md
lg

ฉุกเฉินจึงบีบคอให้ช่วย คนซวยคือหมอ พยาบาล โรงพยาบาล และประชาชน

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


เคสคนไข้ฉุกเฉินเสียชีวิตเพราะการย้ายคนไข้ข้ามโรงพยาบาลนั้นน่าสงสารคนไทยมาก ระบบการแพทย์ฉุกเฉินเรามีปัญหา ที่บอกว่ารักษาพยาบาลได้ฟรีในกรณีฉุกเฉินภายใน 72 ชั่วโมงนั้นเป็นปัญหาอย่างที่สุดปั ญหาของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ หรือ UCEP) ตอนนี้ลามลึกไปเรื่อย ๆ ยิ่งเคส รพ.พระราม 2 ยิ่งทำให้หนองที่กลัดอยู่แตก มาลองพิจารณากันดูว่ามีปัญหาอะไรบ้าง

ประการแรก การจำแนกคำว่าฉุกเฉินคือกรณีใดนั้นไม่ชัดเจนนัก เป็นวิจารณญาณของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉิน (สพฉ) ดังนั้นคนไข้ที่ไม่ฉุกเฉินจริงเข้ามารับการรักษาโดยเหตุฉุกเฉินก็เชิญเสียเงิน (อันนี้ถูกต้อง) แต่ถ้าตั้งเกณฑ์ในการตัดสินใจว่าฉุกเฉินให้ต่ำลงมา คนไข้ฉุกเฉินก็ล้นโรงพยาบาล ใช้ห้องฉุกเฉินเป็นการรักษาพยาบาลด้วยความสะดวกหรือไม่?

หลังจากเกิดเคสโรงพยาบาลพระรามสอง ต่อไปนี้ UCEP จะยิ่งประเมินฉุกเฉินส่งเดชหนักขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่? จะพยายามให้ทุกอย่างเป็นกรณีฉุกเฉินได้หมดหรือไม่? เพราะกลัวโดนประชาชนด่า ยิ่งใกล้เลือกตั้งยิ่งจะต้องช่วยรัฐบาลหาเสียง ประชาชน โรงพยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขจะยิ่งรับเคราะห์หนักหรือไม่ วัฎจักรอุบาทว์หมุนไปเรื่อย ๆ หนักข้อขึ้นเรื่อย ๆ หรือไม่?

ทุกวันนี้ UCEP ให้หมอจบใหม่มานั่งประเมินคนไข้ทางโทรศัพท์ ประสบการณ์ในห้องฉุกเฉินก็ยังไม่ค่อยจะมี ไม่รู้ไม่แน่ใจ ก็ตีความว่าเข้ากรณีฉุกเฉินไว้ก่อนหรือไม่? จะต้องทำอย่างนี้เพราะกลัวเลขา สพฉ ด่า ว่าประเมินให้คนไข้ไม่ได้สิทธิแล้วโดนร้องเรียนหรือไม่?

ประการสอง กฎหมายไทยบังคับให้ทุกโรงพยาบาลเปิดห้องฉุกเฉินตลอด 24 ชั่วโมงห้ามปิด เรื่องนี้เป็นเหตุให้พยาบาลจะซวยช่วยไม่ได้ พยาบาลไทยทำงานหนักเกินหน้าที่และภารกิจของวิชาชีพมากที่สุดในโลก พยาบาลคือกระโถนท้องพระโรงของโรงพยาบาล งานอะไรที่ไม่มีใครทำ พยาบาลไทยทำแทบทุกงาน ห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาลทุกวันนี้แทบจะไม่มีหมอ อย่างมากก็ on call แล้วพยาบาลก็ทำหน้าที่แทนหมอไปโดยสถานการณ์บังคับ ถ้าฉุกเฉินไปจริง ๆ ก็ไม่น่าจะรอด เพราะไม่มีหมอ พยาบาลทำแทนแทบทุกอย่าง โทรเรียกหรือโทรปรึกษาหมอก็ยาก บางครั้งไม่มีหมอ on call ด้วยซ้ำ เมื่อเกิดการฟ้องร้องพยาบาลก็รับผิดชอบไป โดยที่วิชาชีพนั้นอบรมให้การศึกษามาเพื่อพยาบาลไม่ได้ให้รักษาแทนหมอแต่อย่างใด ปัญหาคือไม่มีหมอ (และแม้พยาบาลก็ขาดแคลนแสนสาหัสในขณะนี้)

ดังนั้นเมื่อโรงพยาบาลหาหมอมาอยู่ห้องเวรห้องฉุกเฉินไม่ได้...แต่ก็ปิด ห้องฉุกเฉินไม่ได้ เพราะกฎหมายไม่อนุญาต… เพราะโรงพยาบาลจะถูกปิด เรียกว่าโดนทั้งขึ้นทั้งล่อง แล้วที่นี้จะทำอย่างไร จะจ้างหมอด้วยค่าตัวแพง ก็ต้องควักเนื้อ เพราะ เคสห้องฉุกเฉิน ถูก สพฉ. กดราคาไว้ เก็บคนไข้ก็ไม่ได้ โรงพยาบาลก็ต้องควักเงินจ่ายหมอเอง ทำอย่างนี้ในระยะเวลาสั้น ๆ ก็คงพอได้ แต่ก็จะไม่ยั่งยืนเหมือนโครงการบัตรทองที่จะเป็นภาระทางการคลังอันหนักหน่วงของประเทศต่อไปในอนาคต

ในต่างประเทศไม่มีการบังคับให้เปิดห้องฉุกเฉิน 24 ชั่วโมงทุกโรงพยาบาลเช่นนี้ การบังคับให้เปิดห้องฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง โดยที่ไม่มีความพร้อมด้านบุคลากรเป็นการบังคับและหลอกให้ประชาชนไปตายหรือไม่?

ประการที่สาม คนไทยเองก็นิสัยไม่ดี เอาแต่ตัวเองสะดวก ใช้ห้องฉุกเฉิน ไปรักษาพยาบาลตัวเอง เอาที่ตัวเองสะดวก ไม่ยอมมารักษาพยาบาลในเวลาราชการทั้งที่ ไม่ได้เป็นกรณีฉุกเฉิน แล้วที่ไม่ด่วนไม่ฉุกเฉินจริง ๆ ก็ล้นห้องฉุกเฉิน เมื่อคนไข้ไม่ฉุกเฉินไปใช้บริการเยอะมาก แล้วทำให้ไปเบียดบังกำลังคนและทรัพยากรในการรักษาพยาบาลคนไข้ที่ฉุกเฉินและจำเป็นจริงๆ หลายโรงพยาบาลก็ทนไม่ได้ ต้องเก็บเงินเพิ่มหากไม่ฉุกเฉินจริง เพื่อให้คนที่แค่เป็นไข้อ่อน ๆ ท้องร่วงเล็กน้อย ไม่ไปห้องฉุกเฉิน เพราะต้องเสียเงิน แต่สถานการณ์ก็ยังไม่ดีขึ้น ใครเคยไปใช้ชีวิตในสหรัฐอเมริกามาจะทราบดีว่านัดหมอยากและรอนานมากแค่ไหน ของไทยนี้ถือว่าสบายและง่ายสุดในโลกแล้วครับ

หลายโรงพยาบาลเริ่มหยุดพัฒนา ลงทุน ขีดความสามารถด้านการแพทย์ฉุกเฉิน เลิกพัฒนาห้องฉุกเฉิน เพราะ คนไข้ประชาชนแห่กันไปใช้ฟรีตามสะดวก ด้วยว่าอะไรก็ฉุกเฉิน เป็นกรรมของประชาชนและประเทศหรือไม่?

ประการที่สี่ การจ่ายเงินของ UCEP มีปัญหา โรงพยาบาลหาแพทย์มาอยู่เวรห้องฉุกเฉินยากขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเคสฉุกเฉินโดนบีบค่า doctor fee ด้วยสพฉ. นโยบายอยากจ่ายให้เท่าที่รัฐจะจ่าย ทำตัวเป็นโรบินฮู้ดหรือไม่? โรงพยาบาลรัฐนั้นมีภาษีมาสนับสนุน ก็ยังพอถูไถไปได้เพราะเป็นเงินที่ไม่มีเจ้าของ เอาหูเอานา เอาตาไปไร่ ได้ แต่โรงพยาบาลเอกชน นอกจากโรงพยาบาลจะขาดทุนแล้ว แพทย์ที่อุตสาห์มาอดนอนอยู่เวรฉุกเฉินยิ่งโดนบีบหนัก ผลคือ โรงพยาบาลหาคนอยู่เวรประจำตลอดไม่ได้ นโยบายนี้ รัฐประสบความสำเร็จในการเพิ่มห้องฉุกเฉินโดยไม่ต้องลงทุน ด้วยการบีบคอโรงพยาบาลเอกชน ทำตัวเป็นโรบินฮู้ดปล้นโรงพยาบาลเอกชนมาช่วยคนไข้ แต่สุดท้าย กรรมตกที่คนไข้ ....คนมีเงินมีสิทธิตายฟรี เพราะตามหมอไม่ได้ หรือตามได้ก็ได้แต่หมอมือใหม่ที่ยอมรับค่าตัวถูก ๆ เพราะต้องการทั้งเงินและประสบการณ์

ทุกวันนี้ คนไข้ฉุกเฉินหลายราย..ตามหมอไม่ได้ เพราะเหตุนี้ หรือตามได้ก็เป็นหมอมือใหม่ โรงพยาบาลเอกชนและแม้แต่โรงพยาบาลของรัฐเองเมื่อขาดทุน ยังสร้างระบบสองมาตรฐานซ้อนในโรงพยาบาล เพราะหากขาดทุนหนักมาก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลก็อยู่ไม่ได้ โดนเด้ง

เพื่อไม่ให้ขาดทุนหนักมากจากคนไข้ฉุกเฉินที่ สพฉ บังคับซื้อในราคาขาดทุน คนไข้ที่ไม่ฉุกเฉิน จะโดนเรียกเก็บเพิ่ม เพราะต้องเอากำไรเพิ่มขึ้นไปโปะชดเชยการขาดทุนจากคนไข้ฉุกเฉินของ UCEP หรือไม่? เพื่อไม่ให้โรงพยาบาลติดตัวแดงหรือไม่? (กรณีนี้คล้ายเอาเงินกำไรจากสวัสดิการข้าราชการ มาโปะบัตรทองหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า) แต่คงทำได้ไม่นาน เพราะคนไข้ธรรมดาก็จะโวยว่าค่ารักษาทำไมสูงขึ้น ๆ ค่ารักษาพยาบาลโรงพยาบาลเอกชนจะยิ่งสูงขึ้นเพราะขาดทุนจาก UCEP ต้องหากำไรจากทางอื่นมาชดเชย

ประการที่ห้า Emergency medicine หรือเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ซึ่งหาแพทย์มาเรียนสาขานี้ยากมากอยู่แล้ว เพราะชีวิตจะไม่มีคำว่าส่วนตัว เวลานอน เอาแน่เอานอนไม่ได้ ถูกตามได้ตลอดเวลา แพทย์สมัยนี้และแม้สมัยก่อนก็ไม่มีใครอยากจะเรียนกัน ความรับผิดชอบสูงมาก งานหนักและกดดัน ยิ่งมีสพฉ และ UCEP ยิ่งทำให้หมอสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉินเหมือนทำบาปทำกรรมไว้ ต้องมาโดนบังคับให้ทำงานด้วยค่าตัวถูก ๆ แต่โดนฟ้องหนักเรียกค่าเสียหายสูงๆ หมอบางสาขาคนแย่งกันเรียน พวกหมอผิวหนัง หมอศัลยกรรมตกแต่ง งานสบายกว่ากันมาก ทำงานในเวลาทำงานปกติ (office hour) เงินค่า doctor fee คิดเท่าไรก็ได้ตามตกลงที่พอใจกัน มีปัญหาก็ยังมีเงินเหลือพอจ้างทนายหรือจ่ายเงินเยียวยา แล้วไปบวกเพิ่มในเคสอื่น แล้วที่ไหนจะอยากเรียนสาขาเวชศาสตร์ฉุกเฉิน งานหนัก เงินน้อย โดนบังคับทำงานให้รัฐ แถมโดนฟ้องแบบฟรี ๆ แต่ท้ายที่สุดก็จะเกิดวงจรอุบาทว์ ไม่มีคนอยากเป็นหมอเวชศาสตร์ฉุกเฉิน ไม่มีคนอยากเรียนและทำงาน ประชาชนได้รับผลกระทบหนักไปเต็มๆ

ประการที่หก มาตรฐานการแพทย์ไทยจะตกต่ำลงหรือไม่ เพราะหมอก็ไม่มี โรงพยาบาลก็เปิดห้องฉุกเฉินไปอย่างแกนๆ ตามที่ถูกบังคับให้เปิด เคสที่ยากเช่น การผ่าตัดสมอง เวลารถเทกระจาดมา เพราะนั่งท้ายกระบะที่ คสช ออกกฎหมายแบบชักเข้าชักออก คนไทยตามด้วยอุบัติเหตุมากสุดในโลก ผ่าสมองนี้ในหลายกรณีต้องมีแพทย์มากกว่าหนึ่งคน ยิ่งผ่าตัดซับซ้อนอย่างอื่น เช่น ผ่าตัดหัวใจ ต้องตามทีม มีทั้ง หมอผ่าตัด หมอผู้ช่วย พยาบาลส่งเครื่องมือผ่าตัด เจ้าหน้าที่คุมเครื่องมืออุปกรณ์ผ่าตัด หมอดมยา และพยาบาลดมยา แต่ UCEP นอกจากจะจ่ายเท่าที่ตนเองพอใจแล้ว ยังจ่ายแค่คนเดียว คือจ่ายแค่หมอผ่าตัด กำหนดไว้อย่างนี้ ผลคือคนไข้ซวยหรือไม่? หมอก็ซวยหนักหรือไม่? เพราะต้องผ่าคนเดียว ตามใครมาช่วย ก็ตามไม่ได้...พอผลผ่าตัดมีปัญหา ยังโดนฟ้อง แล้วแบบนี้ชีวิตประชาชนอยู่ที่ไหน มาตรฐานการแพทย์ของไทยอยู่ที่ตรงไหน สพฉ. จะรับผิดชอบมาตรฐานการแพทย์ของไทยหรือไม่?

คนไทยกำลังหลงดีใจกับนโยบายหาเสียงเลือกตั้งที่ถูกหลอกลวงหรือไม่? การแพทย์ฉุกเฉินเป็นของจำเป็น ระบบส่งต่อคนไข้ต้องพัฒนาอีกมาก และอะไรก็ตามที่ฝืนความเป็นจริง สุดท้ายผลร้ายจะตกอยู่ที่คนไข้และประชาชน


กำลังโหลดความคิดเห็น