xs
xsm
sm
md
lg

กกต.ไฟเขียวต่างชาติส่องเลือกตั้ง ดับฝันพรรคเดียวเบอร์เดียว

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (19ธ.ค.) นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. กล่าวถึงการพิจารณาให้ผู้สังเกตการณ์เลือกตั้งจากต่างประเทศ เข้ามาสังเกตการณ์เลือกตั้งว่า เป็นประเด็นที่ กกต.ชุดก่อนดำเนินการมา ตั้งแต่ปี 46 ให้มีผู้สังเกตการณ์เข้ามา กกต.เราเปิดให้ผู้สังเกตการณ์ที่ประสงค์เข้ามาสามารถเข้ามาได้ แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และกฎหมายกำหนด เท่าที่หารือกับ กกต.ทั้ง 7 คน ทุกคนเห็นด้วยในหลักการที่จะให้เข้ามาสังเกตการณ์ได้ ไม่มีเหตุผลที่จะไปยุติ อะไรที่เคยทำก็ทำต่อไป อย่างกรณีของสหภาพยุโรป หรืออียู ยังเป็นเพียงการแสดงความสนใจเข้ามา แต่ยังไม่ได้ขอเข้ามาอย่างเป็นทางการ เพราะว่ายังไม่มี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง ซึ่งเราจะประชุมเพื่อกำหนดท่าทีที่ชัดเจนเร็วๆ นี้
ส่วนท่าทีของ นายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.การต่างประเทศ ที่แสดงความเห็นคัดค้านนั้น ไม่มีผลต่อการตัดสินใจของ กกต. อย่างไรก็ตาม ถ้าอ่านคำให้สัมภาษณ์ของ นายดอน คิดว่าเป็นส่วนเสริมข้อมูลกันมากกว่าที่จะเป็นความเห็นที่ขัดกัน
วันเดียวกันนี้ กกต. ยังได้จัดประชุมหารือระหว่าง กกต. พรรคการเมือง เพื่อเตรียมความพร้อม ในการเลือกตั้ง โดยมี 77 พรรคการเมืองเข้าร่วม ซึ่งกกต.ได้กำหนดประเด็นหารือไว้ 3 เรื่องหลัก ได้แก่
1. การกำหนดจำนวนเงินค่าใช้จ่ายในการเลือกตั้ง ซึ่งกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของผู้สมัครแบบแบ่งเขตคนละไม่เกิน 2 ล้านบาท และกำหนดวงเงินค่าใช้จ่ายของพรรคการเมืองตามสัดส่วนการส่งผู้สมัคร ตั้งแต่ 10 –70 ล้านบาท
2 . การกำหนดหลักเกณฑ์การจัดทำ การกำหนดสถานที่ หรือที่ปิดประกาศแผ่นป้ายโฆษณาการเลือกตั้ง โดยกำหนดขนาดป้ายหาเสียงให้เป็นแนวตั้งกว้างไม่เกิน 30 ซม. สูงไม่เกิน 42 ซม.หรือ กระดาษขนาด เอ 3 รวมแล้วไม่เกิน 10 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง สำหรับเนื้อหาในป้ายหาเสียง สามารถระบุชื่อ ภาพถ่ายผู้สมัคร ภาพถ่ายผู้สมัครคู่กับหัวหน้าพรรค หรือ บุคคลที่นักการเมืองมีมติเสนอให้เป็นนายกฯ ชื่อพรรคการเมือง และโลโก้พรรค หมายเลขผู้สมัคร ข้อความอื่นได้เท่าที่จำเป็น
สำหรับการติดแผ่นป้ายหาเสียงของผู้สมัครและพรรคการเมือง กำหนดให้เป็นแนวตั้ง ขนาดความกว้างไม่เกิน 130 ซม. สูงไม่เกิน 245 ซม. กรณีผู้สมัคร จัดทำจำนวนไม่เกิน 2 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้ง ส่วนพรรคการเมือง จัดทำจำนวนไม่เกิน 1 เท่า ของจำนวนหน่วยเลือกตั้งในเขตเลือกตั้งเฉพาะที่พรรคการเมืองส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง
3. การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการหาเสียงเลือกตั้งทางอิเลกทรอนิกส์ ให้ผู้สมัคร หรือพรรคการเมืองแจ้งวิธีการ รายละเอียด ช่องทาง และระยะเวลาการหาเสียงให้ กกต.ทราบ ส่วนบุคคลที่ไม่ใช่ผู้สมัคร และพรรคการเมือง สามารถช่วยผู้สมัครและพรรคหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยต้องระบุข้อมูลผู้ดำเนินการที่สามารถเจาะจงตัวตนได้ ระบุผู้จัดทำ และหากมีค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกิน 10,000 บาท ให้ผู้นั้นแจ้งต่อผู้สมัครและพรรคการเมืองทราบ
** หารือพรรคการเมืองยังไร้ข้อสรุป
อย่างไรก็ตาม หลังการหารือ นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต. แถลงว่า เรื่องค่าใช้ในการหาเสียงส.ส. แบบแบ่งเขต มีข้อเสนอตั้งแต่ขั้นต่ำ 2 แสนบาท ถึง 2 ล้านบาท เป็นการปรับขึ้นจากที่เดิม 1.5 ล้านบาท เพราะค่าครองชีพที่เปลี่ยนแปลงไป บางพรรคบอกว่าควรจะน้อยกว่านี้ ส่วนค่าใช้จ่ายของพรรค มีข้อเสนอที่หลากหลาย แต่เบื้องต้น กกต.คำนึงถึงจำนวนผู้สมัครที่แต่ละพรรคจะส่งสมัครในแต่ละเขต
ส่วนเรื่องสถานที่ ขนาดของประกาศ ป้ายหาเสียง และจำนวน มีทั้งเสนอว่าเพียงพอ น้อยเกินไป และควรมีมากกว่าที่กำหนด เพราะเขตเลือกตั้งใหญ่ขึ้น และลดลง และอยากให้เร่งประกาศสถานที่ติดป้ายโดยเร็ว เนื้อหาในป้ายนอกจากที่ กกต.กำหนดเป็นตุ๊กตาว่า ให้มีรูปผู้สมัคร หัวหน้าพรรค และผู้ถูกเสนอชื่อเป็นนายกฯ ของพรรค มีการเสนอว่า สามารถมีรูปคู่กับผู้สมัครบัญชีรายชื่อได้หรือไม่ ซึ่งอีกหลักการที่ต้องคำนึงคือ บุคคลนั้นเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่
ขนาดป้ายประกาศหาเสียง A3 เล็กเกินไป การติดที่ศูนย์ประสานงานพรรคในแต่ละเขต นอกจากพื้นที่ กกต.กำหนดสามารถทำได้หรือไม่ รถแห่หาเสียง การใช้รถบรรทุกขนาดใหญ่ รถสี่ล้อเล็ก จักรยานยนต์ ติดป้ายเคลื่อนที่ ทำได้หรือไม่
ส่วนการรับฟังหลักเกณฑ์การหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ มีการหารือว่านิยามการหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ มีกรอบแค่ไหน การนำหุ่นยนต์ และป้ายแอลอีดีมาใช้หาเสียง ได้หรือไม่ ซึ่ง กกต.ตีความว่า เป็นการหาเสียงแบบอิเล็กทรอนิกส์ ดังนั้นการหาเสียงอาจจะเป็นสีสันการเลือกตั้งที่หุ่นยนต์ จะเดินมาคุยกับประชาชน การกำหนดให้พรรคแจ้งรายละเอียดช่องทางหาเสียงทางอิเล็กทรอนิกส์ มาตรการควบคุมตรวจสอบเพื่อมีคำสั่งแก้ไข ลบให้ทันเวลา กรณีมีแอคเคาต์ปลอมชื่อผู้สมัคร จะดำเนินการอย่างไร ซึ่งมีการเสนอให้ กกต.ตั้งคณะทำงาน วอร์รูม เพื่อให้พรรคการเมืองแจ้งเข้ามาโดยตรง และให้ กกต.แก้ข่าวเมื่อมีการหาเสียงที่ไม่ถูกต้อง รวมถึงเสนอให้ กกต.จัดสรรงบในการหาเสียงผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ให้กับพรรคการเมือง
"การหาเสียงผ่านอิเล็กทรอนิกส์ ไม่ใช่การให้พรรคการเมืองขออนุญาต แต่ให้แจ้งชื่อว่า จะใช้ช่องทางไหน เมื่อไหร่ เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะไม่มีการใส่ร้ายป้ายสี และหากไม่มีการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดช่องทางการใช้ให้แจ้งเพียงครั้งเดียว "
ส่วนเรื่องการเสนอซื้อสื่อทางโซเชียลมีเดีย เป็นเรื่องที่มีรายละเอียดจะนำกลับไปพิจารณา ส่วนการตั้งวอร์รูม จะแล้วเสร็จในอีกไม่นาน เพราะมีการหารือกันทุกระยะ ซึ่งจะดูทั้งการหาเสียง และเรื่องทุจริตเลือกตั้งด้วย
อย่างไรก็ตาม การประชุมครั้งนี้ เป็นการรับฟังความคิดเห็น จึงไม่ได้มีข้อสรุป แต่ กกต.จะ มีการนำความคิดเห็นทั้งหมดไปพิจารณาเพื่อ ทำร่าง ระเบียบต่างๆ ให้เสร็จก่อนปีใหม่ ซึ่งขณะนี้เหลือ ร่างระเบียบที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ที่กกต. ต้องพิจารณาอีก 8 ฉบับ
นายอิทธิพร กล่าวว่า ในที่ประชุมไม่มีพรรคการเมืองใดเสนอให้ใช้เบอร์เดียวทั่วประเทศ ส่วนที่มีการเสนอให้แก้ไขกฎหมาย หรือให้รัฐบาลใช้มาตรา 44 เพื่อให้การเลือกตั้งสะดวกขึ้น คงไม่ใช่หน้าที่ กกต. การที่ กกต. มีมติให้บัตรเลือกตั้งมี ชื่อ โลโก้พรรค ก็เป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดแล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น