ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ซอยบ้านผมอยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านบุญเวศน์ของนายสมหมาย ฮุนตระกูล ขุนคลังแก้วในสมัยพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ผมเป็นนักเรียนโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาต้องเดินไปขึ้นรถเมล์หน้าอัมพุชคลินิคซึ่งตั้งในเขตบ้านบุญเวศน์ มองเข้าไปในบ้านเนื้อที่ 8 ไร่ หลังนั้นตลอด และทราบว่าเป็นบ้านของขุนคลังแก้ว แม้ในภายหลังบ้านหลังนี้จะกลายเป็นคอนโดมิเนียมขนาดใหญ่มากใกล้สถานีรถไฟฟ้าใต้ดินลาดพร้าวแล้วก็ตามแต่ก็ยังอดนึกถึงคุณูปการและคุณธรรมที่ขุนคลังแก้วท่านนี้ได้สร้างผลงานให้กับประเทศไทยเอาไว้
ผลงานของนายสมหมาย ฮุนตระกูล ที่ทำให้ประเทศไทยเติบโต อยู่รอดมาได้จนทุกวันนี้คือการลดค่าเงินบาท ทำให้ประเทศไทยในวันที่แย่ที่สุด ไม่มีกระทั่งเงินจะจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ถังแตก ประเทศยอบแยบ เติบโตจนเกิดฟองสบู่แตกในปี 2540 ได้ ว่ากันว่าการลดค่าเงินบาทในครั้งนั้นมีคนที่รู้กันแค่สามคน คือ พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ นายกรัฐมนตรี ดร.วีระพงศ์ รามางกูร อาจารย์ติววิชาเศรษฐศาสตร์ให้พลเอกเปรม นายกรัฐมนตรี และนายสมหมาย ฮุนตระกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
สิ่งที่น่ายกย่องมากที่สุดคือทั้งสามท่านนี้ ไม่ได้ซื้อเงินดอลลาร์ไว้เลยแม้แต่เหรียญเดียว ลองคิดกันดูว่าหากสามท่านนี้ทราบและใช้ข้อมูลภายใน (Insider information) ในการเก็งกำไรด้วยการซื้อเงินตราต่างประเทศไว้พอลดค่าเงินบาทจะร่ำรวยกลายเป็นมหาเศรษฐีกันขนาดไหน แต่ทั้งสามท่านก็ไม่ได้ทำอะไรที่ผิดธรรมาภิบาลและจริยธรรม มีความกล้าหาญทางจริยธรรมและช่วยนำประเทศไทยให้เกินดุลบัญชีเดินสะพัด (Current account) ในหลายปีต่อมาเป็นครั้งแรก
ในเวลานั้นพลเอกเปรม ติณสูลานนท์ ต้องปลดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยออกเสียก่อนเพื่อจะทำให้สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำของประเทศด้วยการลดค่าเงินบาทได้ คนที่จะเข้ามาทำหน้าที่ลดค่าเงินบาทนี้ต้องไม่เห็นแก่พรรคพวกเพื่อนพ้อง (เช่นคนที่ไปกู้หนี้มาจากต่างประเทศจะมีหนี้เพิ่มขึ้นหลังจากลดค่าเงินบาท เป็นต้น) ต้องเป็นคนกล้าหาญและซื่อสัตย์สุจริต
นายสมหมาย ฮุนตระกูล จบปริญญาตรีทางเศรษฐศาสตร์ มาจากมหาวิทยาลัยเคโอ ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงมากที่สุดด้านเศรษฐศาสตร์ได้เข้ามารับหน้ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังแทน นายสมหมายเคยทำงานในธนาคารแห่งประเทศไทยก่อนออกมาเป็นผู้ว่าการไฟฟ้ายันฮี ที่กลายมาเป็นการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยในปัจจุบัน เป็นผู้จัดการทั่วไปบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และอีกหลายตำแหน่งก่อนจะมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง
ในวันที่นายสมหมาย ฮุนตระกูล มารับหน้าที่เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในขณะนั้นคุณหญิงสมศรี ฮุนตระกูล เป็นรองอธิบดีของกรมแห่งหนึ่งในกระทรวงการคลัง ความเป็นนักเรียนญี่ปุ่นทำให้นายสมหมายมีวิธีคิดแบบญี่ปุ่น ที่ไม่เห็นด้วยกับการที่สามี-ภรรยา จะทำงานในหน่วยงานเดียวกัน จะเกิดความเสียหายต่อการปกครองได้ คำสั่ง (ที่จริงคือการขอร้อง) แรกในการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคือให้คุณหญิงสมศรี ฮุนตระกูล ลาออกจากราชการ เพื่อไม่ให้เสียการบังคับบัญชา ไม่ให้เกิดปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน
การที่สามีเป็นรัฐมนตรีและภรรยาเป็นรองอธิบดีในกระทรวงเดียวกัน ถึงภรรยาทำงานดีแค่ไหนแล้วได้รับการเลื่อนตำแหน่งก็คงจะหนีไม่พ้นข้อครหาว่าได้เลื่อนตำแหน่งเพราะสามีเป็นรัฐมนตรี นอกจากนี้ใคร ๆ ก็จะต้องเกรงใจภรรยารัฐมนตรีมากเหลือเกิน ทำให้มีอำนาจมากกว่าคนในตำแหน่งเดียวกันที่เท่ากัน พิเคราะห์ไปมาแล้วนายสมหมาย ฮุนตระกูลจึงให้คุณหญิงสมศรี ฮุนตระกูล จบชีวิตราชการด้วยความเสียสละเพื่อให้สามีทำงานใหญ่รับใช้ประเทศชาติให้ก้าวผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจอันหนักหน่วงได้ โดยไม่เสียการปกครองและไม่เป็นที่ครหา ถ้าพูดแบบติดตลกก็ต้องกล่าวว่าคงเป็นเรื่องอึดอัดที่สามีจะสั่งงานภรรยาในฐานะผู้บังคับบัญชาได้
เรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างสามี-ภรรยา นี้ ในสมัยโน้นก็ไม่ได้เป็นเรื่องใหญ่โตอะไร พ.ร.บ.ป.ป.ช. ว่าด้วยการขัดกันแห่งผลประโยชน์หรือผลประโยชน์ทับซ้อนก็ยังไม่ได้ระบุไว้เลย แต่นายสมหมายและคุณหญิงสมศรี ฮุนตระกูล ต่างมีมโนธรรมสำนึกที่หนักแน่น มีจริยธรรม เลือกที่จะทำเช่นนี้
การที่นายสมหมาย ฮุนตระกูลระมัดระวังไม่ให้เกิดผลประโยชน์ทับซ้อนในเรื่องที่คนในสมัยโน้นมองว่าเป็นเรื่องเล็ก ทำให้เป็นที่ไว้ใจศรัทธาของประชาชนในเรื่องของการลดค่าเงินบาท ว่าไม่มีนอกไม่มีใน ไม่มีการเก็งกำไรอะไรแม้แต่บาทเดียว ผลการลดค่าเงินบาทในปี 2524 นั้น ทำให้ประเทศไทยผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจไปได้ แต่ก็ใช้เวลานานหลายปีกว่าจะเกิดดุลบัญชีเดินสะพัด
คงมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังที่เป็นสามัญชนเพียงไม่กี่คนที่ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ชั้นสูงสุดคือปฐมจุลจอมเกล้า จากพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ซึ่งนายสมหมาย ฮุนตระกูลเป็นหนึ่งในนั้นและได้รับพระราชทาน ปจ. ในปี 2526 และได้รับความไว้วางพระราชหฤทัยให้ดำรงตำแหน่งกรรมการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ในเวลาต่อมา
ตัวอย่างที่แสนประเสริฐในการระวังปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนในเชิงสามี-ภรรยา ก็ได้เล่าไปให้ฟังและควรเอาเป็นแบบอย่างแล้ว
ขอเล่าตัวอย่างจริงที่ได้เคยพบเห็นกันในวงวิชาการในการใช้ผลประโยชน์ทับซ้อนเพื่อเอื้อระหว่างสามี-ภรรยา ดังนี้
ศ.ดร. KP เมื่อดำรงตำแหน่งรองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและบริการวิชาการก็เกิดเหตุการณ์อันทำให้กรรมการสภาสถาบันที่เป็นผู้หลักผู้ใหญ่อันมีจริยธรรมถึงกับกระดาก เพราะ ผศ. ดร. AP ภรรยาของ ศ. ดร. KP ขอตำแหน่ง รองศาสตราจารย์เพราะเมื่อผ่านการพิจารณาจากกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิที่อ่านงานวิชาการแล้วก็ต้องมาให้สภาสถาบันพิจารณาอนุมัติอีกรอบ
ในวาระที่มีการพิจารณาอนุมัติตำแหน่งทางวิชาการระดับรองศาสตราจารย์ให้กับ ผศ. ดร. AP นั้น ศ. ดร. KP ผู้เป็นสามีก็นั่งในห้องประชุมสภาสถาบันในเวลานั้น ไม่ยอมเดินออกไปตามมารยาทที่ผู้มีหิริโอตัปปะและสมบัติผู้ดีพึงกระทำและพึงสำเหนียกว่านี่คือผลประโยชน์ทับซ้อน การไปนั่งในสภาสถาบันในขณะที่ภรรยากำลังต้องได้รับการพิจารณาอนุมัติตำแหน่งทางวิชาการเช่นนี้เป็นการสมควรหรือไม่ ทำให้กรรมการสภาสถาบันคนอื่น ๆ อึดอัดหรือไม่ ในอนาคตต่อไปถ้าเมียจะขอตำแหน่งศาสตราจารย์ ผัวผู้เป็นรักษาการอธิการบดีจะทำแบบเดิม มีผลประโยชน์ทับซ้อนชงหา reviewer หวาน ๆ ง่าย ๆ ชงให้เมียกินได้ตำแหน่งศาสตราจารย์ได้ง่าย ๆ หรือไม่?
นอกจากนี้ในการสรรหาอธิการบดี/รองอธิการบดีสถาบันแห่งหนึ่งแถวทุ่งบางกะปิ รศ.ดร. AP ภรรยาเป็นกรรมการสรรหารองอธิการบดี และ ศ. ดร. KP สามีเป็นผู้สมัครอธิการบดี ปรากฎว่ากรรมการสรรหาอธิการบดีหนึ่งคน ผศ. ดร. ND ผู้ทำงานวิจัยเรื่องธรรมาภิบาลและการใช้เงินของวัด ออกมารณรงค์ให้วัดมีธรรมาภิบาล ในระหว่างที่ตนเองทำหน้าที่กรรมการสรรหาอธิการบดีกลับยอมลงนามสมัครเป็นรองอธิการบดี และในการแสดงวิสัยทัศน์ของว่าที่อธิการบดีได้ขึ้นเวทีไปเป็นคณะกรรมการคัดเลือกคำถามในระหว่างการสรรหาด้วย เมื่อสมัครเป็นรองอธิการบดีก็มี รศ. ดร. AP ภรรยาก็เป็นกรรมการสรรหารองอธิการบดี แม้จะอ้างว่ามาประชุมแค่ครั้งเดียวแล้วลาคลอดไป
คำถามคือการเข้าไปปรากฎตัวทำให้เกิดการแสดงอำนาจหรือเกิดความเกรงใจหรือไม่ แล้วเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนตามพรบ. ปปช. มาตรา 126 หรือไม่ ? ท้ายที่สุดกรรมการสรรหาอธิการบดีคนนั้นคือ ผศ. ดร. ND ก็ได้รับเลือกเป็นรองอธิการบดีโดย ศ.ดร. KP สามี โดยมี รศ. ดร. AP ภรรยาเป็นกรรมการสรรหารองอธิการบดี บทสรุปคือ ผศ. ดร. ND เลือกผัวคือ ศ. ดร. KP เป็นอธิการบดี แล้ว รศ. ดร. AP เมียของ ศ. ดร. KP เป็นกรรมการสรรหารองอธิการบดีส่ง shortlist ให้ผัว ศ. ดร. KP เลือก ผศ. ดร. ND มาเป็นรองอธิการบดีต่างตอบแทนกลับคืนมาหรือไม่? เกาหลังกันวนเวียนไปมาอีนุงตุงนังหรือไม่ เป็นความผิดตามพรบ. ปปช. 2560 มาตรา 126 หรือไม่? (โปรดดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากบทความธรรมาภิบาลอันเสื่อมทรามของสถาบันอุดมศึกษาไทย https://mgronline.com/daily/detail/9610000116646)
หลายคนไม่รู้จะยังจำคดีที่ดินรัชดา ที่ทำให้อดีตนายกรัฐมนตรีของไทยกลายเป็นนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ไร้แผ่นดินสัมภเวสีหรือไม่ นี่ก็เป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนระหว่างผัว-เมีย เพราะผัวคือนักโทษชายทักษิณ ชินวัตรเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ (นายกรัฐมนตรี) ร่วมกันเป็นคู่สัญญาหรือมีส่วนได้ส่วนเสียในสัญญาที่ทำกับหน่วยงานของรัฐ (กองทุนฟื้นฟู) ปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐซึ่งมีอำนาจกำกับ ดูแล ควบคุม ตรวจสอบหรือดำเนินคดี และเป็นเจ้าพนักงาน และสนับสนุนเจ้าพนักงาน มีหน้าที่จัดการหรือดูแลกิจการใด เข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียเพื่อประโยชน์สำหรับตนเองหรือผู้อื่นฯ" ซึ่งเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 100 และความผิดในตำแหน่งหน้าที่ราชการตามประมวลกฎหมายอาญา เมื่อวันที่ 21 มิถุนายน 2550 และศาลรับฟ้องเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2550
ที่ดินใกล้ศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทยแปลงนี้คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชรขอประมูลซื้อได้ไปในราคาที่ถูกแสนถูก ผัวคือนักโทษชายทักษิณ ชินวัตร ก็ลงนามยินยอมในฐานะคู่สมรสให้เมียซื้อที่ดินแปลงนี้ (ทั้ง ๆ ที่ ตัวเองเป็นนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น) และที่เลวร้ายมากคือคณะรัฐมนตรีโดยมีสามีนั่งเป็นประธานหัวโต๊ะประชุมได้กำหนดให้วันศุกร์ที่ 2 มกราคม 2547 เป็นวันหยุดราชการเป็นกรณีพิเศษ และให้วันพุธที่ 31 ธันวาคม 2546 เป็นวันปฏิบัติราชการเพื่อให้ซื้อที่ดินได้สะดวกมากขึ้น และได้ผลตามเงื่อนเวลา
วันที่ 17 กันยายน 2551 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองพิพากษาว่า นักโทษชายทักษิณ ชินวัตร มีความผิดจริงให้ลงโทษจำคุกสองปี คุณหญิงพจมาน ชินวัตรให้ยกฟ้อง ทำให้ทักษิณ ชินวัตรหนีคดีกลายเป็นสัมภเวสีเพราะผลประโยชน์ทับซ้อนแบบผัว ๆ เมีย ๆ ไร้แผ่นดินอยู่ และหนีคดีไปนับตั้งแต่นั้น
คดีที่ธรณีสงฆ์สนามกอล์ฟอัลไพน์ ก็มีเรื่องผัว ๆ เมีย ๆ และผลประโยชน์ทับซ้อนเช่นกัน เนื่องจากนางเนื่อม ชำนาญชาติศักดามีศรัทธาปสาทะในพระพุทธศาสนาได้บริจาคที่ดินของตนผืนงามที่จังหวัดปทุมธานีให้เป็นที่ธรณีสงฆ์ให้กับวัดธรรมิการามวรวิหาร จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เมื่อตนเองเสียชีวิต ต่อมานายเสนาะ เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ดูแลกรมที่ดินในสมัยนั้นใช้อำนาจเพิกถอนที่ธรณีสงฆ์ที่อำเภอคลองหลวงที่นางเนื่อมบริจาคไว้ ทำให้เมื่อไปเป็นที่ธรณีสงฆ์ก็สามารถซื้อขายได้ ที่ดินผืนงามผืนนี้ก็เลยขายได้ โดยผู้ขายคือมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย และผู้ซื้อคือบริษัทอัลไพน์จำกัด ทั้งนี้บริษัทอัลไพน์มีคนในนามสกุลเทียนทองเป็นกรรมการและผู้ถือหุ้นหลายคนรวมไปถึงนางอุไรวรรณ เทียนทอง ถือว่าเป็นผลประโยชน์ทับซ้อนแบบผัว ๆ เมีย ๆ เช่นกัน
ที่ดินผืนนี้ต่อมาคือสนามกอล์ฟอัลไพน์และนักโทษชายทักษิณ ชินวัตรได้ซื้อเอาไว้ มีอธิบดีกรมที่ดินหนึ่งท่านที่เพิกถอนการซื้อขายที่ดินผืนนี้เพราะเป็นที่ธรณีสงฆ์แต่นายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ อดีตหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรองปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้เพิกถอนคำสั่งของอดีตอธิบดีกรมที่ดินท่านนั้น ทำให้ที่ผืนนี้ซื้อขายได้อีก ผลสุดท้ายนายยงยุทธ์ วิชัยดิษฐ์ในวันนี้จึงถูกศาลอาญาทุจริตพิพากษาจำคุก 2 ปี ทันที ไม่รอลงอาญาเพราะทำผิดตามมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา
ในส่วนของนายเสนาะ เทียนทองนั้น กลับพ้นวิบากกรรม เพราะคดีหมดอายุความ ทั้ง ๆ ที่มีความผิดเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนผัว ๆ เมีย ๆ ดังที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. เมื่อวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2553 มีมติว่า ที่ดินเป็นกรรมสิทธิ์ของวัดธรรมิการามวรวิหาร ผู้รับพินัยกรรมโดยผลของกฎหมายทันทีตกเป็นที่ธรณีสงฆ์ตั้งแต่นางเนื่อมถึงแก่กรรม การจดทะเบียนโอนขายที่ธรณีสงฆ์จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย การกระทำของนายเสนาะ จึงเป็นคำสั่งที่มิชอบด้วยกฎหมาย รวมทั้งยังใช้อำนาจโดยมิชอบตามมาตรา 157 และมาตรา 148 ประมวลกฎหมายอาญา แต่ความผิดตามมาตรา 157 ขาดอายุความแล้ว แม้ ป.ป.ช. พยายามฟ้องนายเสนาะ เทียนทองต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแต่ศาลก็ยกฟ้องเพราะขาดอายุความ อันสะท้อนปัญหาความยุติธรรมที่ล่าช้าคือความไม่ยุติธรรมในประเทศไทย
เรื่องผัว ๆ เมีย ๆ นี้นอกจากพึงระวังเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนแล้วการวางตัวของภรรยาก็สำคัญมาก ผมจำได้ว่าเห็นสามียศพลเอกขึ้นมาเป็นนายกรัฐมนตรีเพื่อสืบทอดอำนาจ คุณหญิงผู้เป็นภรรยาให้นักข่าวนั่งกับพื้นคลานเข้ามาหาเพื่อสัมภาษณ์แล้วพูดแบบแสดงอำนาจทางโทรทัศน์ คนไทยส่วนใหญ่รับไม่ได้ มองว่านี่เพิ่งขึ้นมามีอำนาจภรรยายังกร่างแสดงอำนาจเจ้ายศเจ้าอย่างและดูถูกคนอื่น ๆ ขนาดนี้ ต่อไปยิ่งผัวมีอำนาจมั่นคงแล้วจะยิ่งไม่หนักไปกว่านี้หรือ ไม่นานหลังจากนั้นก็เกิดการชุมนุมและนำไปสู่การขับไล่นายกรัฐมนตรีผู้นี้ออกไปจนทำให้เกิดเหตุการณ์นองเลือดและท้ายที่สุดก็คลี่คลายด้วยพระบารมีปกเกล้าปกกระหม่อม
เรื่องนี้ต้องขอชมเชยภรรยานายกรัฐมนตรี รองศาสตราจารย์นภาพร จันทร์โอชา ผู้สง่างามด้วยกิริยาท่าทางและการวางตัวที่เหมาะสมอย่างยิ่ง มีความสงบเยือกเย็นมากกว่าสามีคือนายกรัฐมนตรีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาเสียอีก หลายครั้งสังเกตได้ในโทรทัศน์ว่านายกรัฐมนตรีมีความเกรงใจภรรยาค่อนข้างมากพอสมควร ทำให้ไม่มีใครตำหนิได้ว่าภรรยานายกรัฐมนตรีวางตัวไม่เหมาะสม กระทั่งการปล่อยข่าวว่าซื้อกระเป๋าแบรนด์เนมราคาแพง แท้จริงแล้วก็เป็นกระเป๋างานศิลปาชีพฝีมือดีของไทย ราคาไม่ได้สูงมากอะไร อย่างที่ข่าวปล่อยกันไป
เบื้องหลังของผู้ชายที่ยิ่งใหญ่จะมีผู้หญิงที่ดีเสมออยู่หนึ่งคน บางครั้งก็เป็นเมีย บางคนก็เป็นแม่หรือพี่สาว แม้กระทั่งพระพุทธเจ้าหลวงก็ทรงมีเสด็จยายสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูร ซึ่งทรงอุปการะเลี้ยงดูเจ้าฟ้าชายจุฬาลงกรณ์ในฐานะลูกกำพร้าพระราชมารดามาจนเติบใหญ่เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่คนไทยทั้งชาติรักและเคารพศรัทธาอย่างสูงสุด และเมื่อเกิดวิกฤติ รศ. 112 พระพุทธเจ้าหลวงก็ได้ทรงอาศัยเงินถุงแดงที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงค้าขายและสะสมไว้เพื่อไถ่บ้านไถ่เมือง ว่ากันว่าเมื่อเงินไม่พอ สมเด็จยายหรือสมเด็จกรมพระยาสุดารัตนราชประยูรก็ทูลเกล้าถวายเงินตราต่างประเทศที่ทรงสะสมมาทั้งพระชนม์ทั้งหมดให้พระพุทธเจ้าหลวงได้ไปไถ่บ้านไถ่เมืองจากฝรั่งเศส จนประเทศไทยเราอยู่รอดพ้นเป็นเอกราชจากลัทธิล่าอาณานิคมได้จนทุกวันนี้
การวางตัวของภรรยาจึงสำคัญมากต่อความสำเร็จของสามี และผู้หญิงย่อมอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ และในทางตรงข้ามความล้มเหลวของผู้ชายเสมอ หากวางตัวไม่ดี ทำในสิ่งไม่ดี และไม่ตักเตือนห้ามปรามผู้ชายไม่ให้ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เขียนมาถึงตรงนี้ทำให้นึกถึงคราวที่แม่พลอยในสี่แผ่นดินจะออกเรือน เสด็จได้ประทานพรและพระโอวาทแก่แม่พลอยเอาไว้อย่างน่ารับฟังที่สุดดังนี้
"ข้าอยากจะบอกกะเจ้าว่า อยู่กับข้ามาหลายปี จนเติบโตจะออกไปมีเหย้ามีเรือนวันนี้ เจ้าทำให้ข้าพอใจตลอดมา เพราะเจ้าเป็นคนว่านอนสอนง่าย มีความอดทน มีความเพียรไม่เกียจคร้าน และเจ้าได้ทำตัวให้ข้าเห็นว่า เจ้าเป็นคนดี มีกตัญญูสมกับที่เกิดมามีสกุล และได้อบรม มาแล้วอย่างดี ข้าพอใจในตัวเจ้ามาก และข้าขอขอบใจที่เจ้ารักข้ากตัญญูต่อข้า เจ้าจะออกไปวันนี้ ขอให้เจ้าจงพบแต่ความสุขความเจริญ ทำมาค้าขึ้น คิดอะไรให้สมความปรารถนา ให้อายุมั่นขวัญยืน อย่าเจ็บอย่าไข้"
"เจ้าจะได้ผัวเป็นข้าราชการ" เสด็จรับสั่งต่อ "เจ้าจึงต้องถือว่า ต่อไปเจ้าก็เป็นคนในราชการเหมือนกัน เจ้าต้องคอยดูรักษาหน้าที่ภรรยาที่ดี ปรนนิบัติลูกผัวให้มีความสุข คอยดูแลเอาใจให้เขารุ่งเรืองต่อไป อย่าให้เสียราชการได้ สิ่งใดที่ควรห้ามควรเตือนก็ต้องเตือน สิ่งใดที่ควรหนุนก็ต้องหนุน สำหรับตัวเจ้าเอง ก็ต้องระมัดระวังรักษาตัวให้ดี ต้องอดออมทั้งกายและใจ จงประพฤติเฉพาะสิ่งที่ควร สิ่งใดที่ควรเว้นก็ต้องเว้น จงคิดถึงผัวและฐานะวงศ์ตระกูลของเขา ก่อนความสุขสบายของตัว"