xs
xsm
sm
md
lg

ชักเข้าชักออก คสช. จะทำให้กฎหมายไม่ศักดิ์สิทธิ์?

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์


ผมเห็นการบังคับใช้ การตรากฎหมาย ของ คสช. หรือการใช้ ม.44 ด้วยความห่วงใยอย่างแท้จริง ถ้าเทียบกันแล้ว ม.44 ของ คสช. ดูจะไม่ศักดิ์สิทธิ์เท่า ม.17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ปัญหาใหญ่ในประเทศไทยอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย เรามีกฎหมายมากเกินไปแต่ขาดการบังคับใช้อย่างสมเหตุสมผล

ยิ่งกฎหมายที่มีอำนาจมากและครอบจักรวาลอย่าง ม.44 นั้น ก็คงเปรียบเทียบได้กับยาสเตียรอยด์ ที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่สาเหตุ แต่กดอาการต่าง ๆ ไว้ได้จนหมด ใช้มากก็อาจจะเป็นอันตรายได้ และใช้ ๆ เลิก ๆ กะทันหันก็อาจจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้เช่นกันเพราะร่างกายคนเราจะปรับตัวกันได้ไม่ทัน

ผมเห็นการชักเข้าชักออกในการบังคับใช้กฎหมายของรัฐบาลและ คสช. แล้วทำให้อดเป็นห่วงไม่ได้จริง ๆ ในความเป็นเผด็จการทหาร ต้องรู้จักใช้ความเป็นเผด็จการให้เป็นประโยชน์ การบังคับใช้กฎหมายต้องบังคับใช้ให้เด็ดขาดและต้องศึกษาวินิจฉัยมาให้ดีและถี่ถ้วนมากที่สุดก่อนที่จะมีการบังคับใช้หรือออกกฎหมายใหม่

คนไทยเราชอบคนเด็ดขาด แต่การตัดสินใจอย่างเด็ดขาดในท่ามกลางความมากคนมากความและไม่อาจจะเอาใจทุกคนได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องอาศัยสติและปัญญา ความรอบคอบอย่างสูงมาก ก่อนที่จะเด็ดขาดตัดสินใจอะไรต้องศึกษาวิเคราะห์ให้มั่นใจรอบคอบก่อนว่าจะเกิดผลเสียผลดีอย่างไร และจะเกิดความพอใจหรือไม่พอใจอย่างไร ใครที่จะพอใจหรือใครที่จะไม่พอใจ เพราะในกระแสแห่งยุติธรรมา ยากจะหาความเกษมเปรมใจ ดังที่เชคสเปียร์ได้เขียนไว้ในเวนิสวาณิช

ผมเห็นการออกกฎหมายบังคับห้ามนั่งท้ายรถกระบะเพื่อความปลอดภัย ซึ่งมีผู้รู้หลายคนได้เล่าให้ผมฟังว่าจริง ๆ ก็มีกฎหมายอยู่แล้ว เพียงแต่ขาดการบังคับใช้ ไม่ได้มีความจำเป็นต้องออกกฎหมายมาเพิ่มเติมก็ได้ แต่เมื่อออกกฎหมายมาก็เกิดการต่อต้านอย่างมากมาย ทั้ง ๆ ที่เป็นกฎหมายเพื่อความปลอดภัยของคนไทย ประเทศที่ตายด้วยอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลก ผมอยากให้คนที่ออกมาต่อต้านได้ไปเห็นภาพในโรงพยาบาลในห้องฉุกเฉินเวลาที่มีรถกระบะเทกระจาดมาเหลือเกิน ไม่เคยเห็นคงไม่เข้าใจจริง ๆ สมัยผมเป็นเด็กการได้ยืนท้ายรถกระบะที่มีโอ่งใส่น้ำเล่นน้ำสงกรานต์มันช่างสนุกเหลือเกิน แต่จริง ๆ แล้วอันตรายมากเหลือเกินเช่นกัน พอออกกฎหมายที่จริง ๆ แล้วซ้ำซ้อนออกมา แล้วมาบังคับใช้ เกิดการต่อต้านจากประชาชน คสช. ก็กลับหลังหัน เป็นเผด็จการหน่อมแน้มยกเลิกกฎหมายหรือไม่บังคับใช้กฎหมายไป ประเทศไทยก็จะยังคงมีการเทกระจาดจากท้ายรถกระบะกันอีกต่อไป เจ็บและตายกันคราวละมาก ๆ และยังคงรักษาแชมป์ประเทศที่มีอัตราการตายจากอุบัติเหตุสูงเป็นอันดับหนึ่งของโลกไปได้อีกยาวนาน ซึ่งเราควรจะภูมิใจหรือไม่

อันที่จริงรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ก็ได้กำหนดไว้ในมาตรา 77 ในการประเมินผลกระทบทางกฎหมาย (Regulatory Impact Assessment) เอาไว้อย่างชัดเจน โดยกำหนดว่า

มาตรา 77 รัฐพึงจัดให้มีกฎหมายเพียงเท่าที่จําเป็น และยกเลิกหรือปรับปรุงกฎหมายที่หมดความจําเป็นหรือไม่สอดคล้องกับสภาพการณ์ หรือที่เป็นอุปสรรคต่อการดํารงชีวิตหรือการประกอบอาชีพโดยไม่ชักช้าเพื่อไม่ให้เป็นภาระแก่ประชาชน และดําเนินการให้ประชาชนเข้าถึงตัวบทกฎหมายต่าง ๆ ได้โดยสะดวกและสามารถเข้าใจกฎหมายได้ง่ายเพื่อปฏิบัติตามกฎหมายได้อย่างถูกต้อง

ก่อนการตรากฎหมายทุกฉบับ รัฐพึงจัดให้มีการรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้อง วิเคราะห์ ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นจากกฎหมายอย่างรอบด้านและเป็นระบบ รวมทั้งเปิดเผยผลการรับฟังความคิดเห็นและการวิเคราะห์นั้นต่อประชาชน และนํามาประกอบการพิจารณาในกระบวนการตรากฎหมายทุกขั้นตอน เมื่อกฎหมายมีผลใช้บังคับแล้ว รัฐพึงจัดให้มีการประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมายทุกรอบระยะเวลาที่กําหนด โดยรับฟังความคิดเห็นของผู้เกี่ยวข้องประกอบด้วย เพื่อพัฒนากฎหมายทุกฉบับให้สอดคล้องและเหมาะสม กับบริบทต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงไป

รัฐพึงใช้ระบบอนุญาตและระบบคณะกรรมการในกฎหมายเฉพาะกรณีที่จําเป็น พึงกําหนดหลักเกณฑ์ การใช้ดุลพินิจของเจ้าหน้าที่ของรัฐและระยะเวลาในการดําเนินการตามขั้นตอนต่าง ๆ ที่บัญญัติไว้ ในกฎหมายให้ชัดเจน และพึงกําหนดโทษอาญาเฉพาะความผิดร้ายแรง


วรรคแรกของมาตรา 77 มีเจตนารมณ์ไม่ให้มีกฎหมายมากเกินไปหรือซ้ำซ้อน

วรรคสอง ให้มีการฟังความความคิดเห็นประชาชนและประเมินผลสัมฤทธิ์ของกฎหมาย

วรรคสาม กำหนดให้ระวังการใช้ดุลพินิจทางกฎหมายซึ่งอาจจะกลายเป็นการหาช่องโหว่ในการทุจริตคอรัปชั่นหรือหลีกเลี่ยงไม่ทำตามกฎหมายได้ (เพราะกฎหมายไม่ได้ห้าม)

ในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศในแถบอบอุ่นหรือหนาว มีหมอกลงจัด ได้กำหนดให้เปิดไฟตัดหมอกหน้ารถต่าง ๆ เสมอแม้จะเป็นเวลากลางวันก็ตาม เพื่อลดการเกิดอุบัติเหตุ และมีการทำวิจัยเพื่อประเมินผลกระทบและผลสัมฤทธิ์จากการบังคับใช้กฎหมายเรื่องการเปิดไฟตัดหมอกหน้ารถยนต์ในเวลากลางวันนี้กันมากมาก ทั้งในสวีเดน นอร์เวย์ อังกฤษ และสหรัฐอเมริกา ซึ่งผลการวิจัยต่างพบว่าการเปิดไฟตัดหมอกในเวลากลางวันช่วยลดอัตราการเกิดอุบัติเหตุลงไปได้อย่างมากมหาศาล

สำหรับประเทศไทย ข้าราชการไทยซึ่งผลักดันและออกกฎหมาย ยังไม่มีความตื่นตัวในการวิเคราะห์ประเมินผลกระทบทางกฎหมายกันเท่าที่ควร สาเหตุหนึ่งอาจจะมาจากปัญหาการเรียนการสอนนิติศาสตร์ศึกษาในประเทศไทย ที่เน้นการเรียนไปที่การท่องจำ ตัวบทกฎหมายและคำพิพากษาศาลฎีกา ค่อนข้างมาก ในขณะที่ในต่างประเทศ การเรียนนิติศาสตร์มีความเป็นสหวิทยาการมากกว่า อาจจะบังคับให้เรียนสถิติศาสตร์และวิธีวิจัยเชิงปริมาณด้วยซ้ำ และในบางประเทศปริญญานิติศาสตร์เป็นปริญญาใบที่สอง นักศึกษาที่มาเรียนต้องจบปริญญาตรีสาขาอื่น ๆ มาก่อนแล้ว เช่น JD ในสหรัฐอเมริกา ทำให้นักกฎหมายของสหรัฐอเมริกามีแนวโน้มที่จะมีวัยวุฒิมากกว่า และน่าจะเข้าใจโลกและชีวิตมากกว่าเพราะผ่านชีวิตมาเยอะกว่า ตลอดจนมีความรู้ ความเข้าใจ ในสาขาวิชาอื่น ๆ นอกไปเสียจากกฎหมายเพียงประการเดียว

การเรียนการสอนนิติศาสตร์ที่กว้างไปกว่ากฎหมาย เช่น เรียน สถิติ พฤติกรรมศาสตร์ ระเบียบวิธีวิจัย นั้นมีความสำคัญมาก เพราะจะช่วยให้ทำวิจัยประเมินผลกระทบของกฎหมาย RIA ได้ กฎหมายนั้นกำหนดพฤติกรรมของคนในสังคม เช่น ห้ามทำเพราะเป็นความผิดโดยตัวเอง Mala in se หรือห้ามทำเพราะกฎหมายกำหนดว่าผิด ต้องไม่ทำ เรียกว่า Mala prohibita เมื่อทำวิจัยประเมินผลกระทบของกฎหมายเป็น ก็จะช่วยให้ออกกฎหมายและบังคับใช้กฎหมายได้อย่างเหมาะสม เข้าใจวิธีการทำประชาพิจารณ์ การวิเคราะห์ข้อมูลและสรุปผลข้อมูลการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนได้อย่างถูกต้องเหมาะสม ไม่มาบังคับใช้กฎหมายแบบชักเข้าชักออก ใช้ข้อมูลในการตัดสินใจก่อนการตรากฎหมาย ก่อนการบังคับใช้กฎหมายอย่างถูกต้องเหมาะสม

การชักเข้าชักออก แบบที่ คสช. ทำอยู่นี้ หรือกระทั่งการบังคับใช้กฎหมายแล้วยกเลิกโดยใช้มาตรา 44 ทำให้กฎหมายขาดความศักดิ์สิทธิ์ และอาจจะกลายเป็นกฎหมู่อยู่เหนือกฎหมาย เพราะเมื่อจะบังคับใช้แล้วบังคับใช้กฎหมายไม่ได้จริงเกิดการต่อต้านรุนแรงก็ต้องยกเลิกเองโดยใช้มาตรา 44 ทำอย่างนี้บ่อย ๆ เข้ามาตรา 44 จะไม่ศักดิ์สิทธิ์กลายเป็นยาเสื่อมสภาพ ไม่ได้ผล และอาจจะเกิดการดื้อยาได้

อย่างในกรณีที่มีการออกประกาศโดย ป.ป.ช. ให้กรรมการสภามหาวิทยาลัย และบอร์ดองค์กรอิสระและองค์กรมหาชนแสดงบัญชีทรัพย์สินนั้น ผมค่อนข้างเห็นด้วย ยกตัวอย่างเช่น บอร์ด สสส. มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน เอาเงินเข้ามูลนิธิตัวเอง จนต้องใช้มาตรา 44 ปลดกรรมการบอร์ดทั้ง 7 คน ออกไปแล้วนั้น ก็เป็นการสมควรที่ต้องให้แสดงบัญชีทรัพย์สิน และเมื่อต่อมากรรมการสภามหาวิทยาลัยลาออกกันมาก ๆ รัฐบาลกลับเลือกที่จะไม่รักษาหลักการและใช้มาตรา 44 ในการเปิดโอกาสให้มีการยกเว้นการแสดงบัญชีทรัพย์สินของกรรมการสภามหาวิทยาลัยต่อ ป.ป.ช. ได้ นี่ก็อาจจะเรียกว่าการชักเข้าชักออกเช่นกัน และทำให้ ม. 44 ของ คสช. ไม่ศักดิ์สิทธิ์เหมือน ม. 17 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จนออกจะน่ารักกลายเป็นเผด็จการหน่อมแน้มไปได้ในสายตาประชาชน

เรื่องนี้ อาจารย์ อารีย์ หาญสืบสาย ได้ส่งบทความที่อาจารย์เขียนมา ซึ่งผมก็ค่อนข้างเห็นว่าควรรับฟังจึงนำมาเผยแพร่ต่อดังนี้

ม. 44 กำลังจะทำให้มหาวิทยาลัยกลายเป็นสมบัติส่วนตัวและเป็นมรดกตกทอดอย่างถาวร (บทความยาวกับความกังวลใจของชาวมหาวิทยาลัย)

โดย นายอารีย์ หาญสืบสาย อดีตคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์
อดีตกรรมการสภามหาวิทยาลัยประเภทผู้แทนผู้บริหาร มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ


รัฐบาล คสช. เข้าใจอะไรผิดหรือเปล่า ที่ตกลงใจใช้ ม.44 ปลดล็อคให้กรรมการสภามหาวิทยาลัยไม่ต้องแสดงบัญชีทรัพย์สิน ทั้งที่หลักการของเรื่องฯ คือ เป็นมาตรการป้องปรามการทุจริต แบบหนึ่งเท่านั้น ถ้ากรรมการสภา มีความตั้งใจทำงานเพื่อชาติจริง บริสุทธิ์ใจจริง ไม่เห็นต้องกลัวอะไร ไม่อยากอยู่ก็ลาออกไป มีคนเป็นจำนวนมากที่อยากจะเข้ามาทำงานแทน ไม่เห็นความจำเป็นที่ต้องมาใช้วิธีกดดันสังคมแบบนี้ แต่ที่ประหลาดใจ คือ คสช. กลับเกรงใจ ยอมคนกลุ่มนี้ ลืมไปเลยว่าเคยประกาศว่า เกลียดการทุจริต คอรัปชั่น ยอมเสียสัตย์ง่าย ๆ ไม่รู้เป็นเพราะได้ข้อมูลด้านเดียวรึเปล่า

กรรมการสภามหาวิทยาลัย มี 2 ประเภท ประเภทแรกคือผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก มาจากภาครัฐ และภาคเอกชน เป็นนักธุรกิจ นักบริหาร ที่มีชื่อเสียงประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน อีกกลุ่มหนึ่ง(จำนวนไม่มาก) เป็นบุคลากรภายใน นัยว่าเป็นผู้ที่ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนของบุคลากร ประเภทต่าง ๆ ผลตอบแทนของกรรมการสภาฯ พวกแรก(ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก) ได้รับผลตอบแทนในรูปเบี้ยประชุม(เป็นเงินจำนวนไม่น้อย) ไม่มีเงินเดือน ประจำ จึงดูเหมือนว่าคนกลุ่มนี้เข้ามาช่วยงานมหาวิทยาลัย อย่างผู้เสียสละ โดยไม่ได้หวังผลตอบแทน แต่นำประสบการณ์ ความรู้ ของตน มาเสนอในรูปให้คำแนะนำ ข้อคิดความเห็น ให้แก่ผู้บริหารมหาวิทยาลัย มีส่วนช่วยทำให้เป้าหมาย ทิศทางของมหาวิทยาลัย ไปถูกทาง ชัดเจน พบแต่ความเจริญรุ่งเรือง ส่วนกลุ่มหลัง จะได้รับผลตอบแทนเป็นเบี้ยประชุม(ไม่มาก) แต่จะได้มีโอกาสได้รับการสนับสนุนแต่งตั้ง ให้เป็นผู้บริหารระดับต่าง ๆ ในสถาบันฯ ตามศักยภาพและโอกาส อำนวย เมื่อหมดวาระกรรมการสภาไปแล้ว เข้าใจว่า คสช. คงจะมองมุมนี้มุมเดียว เมื่อเห็นเหล่ากรรมการสภาฯ(ผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก) ขวัญเสียพากันยื่นหนังสือลาออกกันเป็นแถว จึงเกิดความเสียดายกรรมการสภาฯ (ผู้วิเศษ) เหล่านี้จะลาออกไปกันหมด ทำให้มหาวิทยาลัยสับสนวุ่นวาย ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ จะเกิดความเสียหายใหญ่หลวงแก่มหาวิทยาลัยและนิสิตนักศึกษาเป็นจำนวนมาก จำต้องใช้ ม.44 มาช่วย

ทำไม คสช.ไม่มองให้รอบด้านเสียก่อนจะตัดสินใจ ข้อมูลข่าวสารมีอยู่มากมาย ดวงจันทร์ยังมีสองด้าน คนทั่วไป เห็นแต่ด้านสว่างที่มีกระต่ายอยู่ตัวหนึ่งเพียงด้านเดียว แต่ความจริงยังมีอีกด้านหนึ่ง เพราะดวงจันทร์มีรูปทรงกลม ซึ่งอาจมีตัวอะไร(หรือกระต่ายอีกตัวหนึ่ง) อยู่ก็ได้ แต่เรายังไม่มีโอกาสได้เห็นเท่านั้น แต่สำหรับเรื่อง “กรรมการสภามหาวิทยาลัย” มองให้ทะลุปรุโปร่ง รอบด้าน ง่ายกว่ามาก

สถาบันการศึกษา มหาวิทยาลัยของรัฐ ปัจจุบันเปลี่ยนไปเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับของรัฐเกือบหมดแล้ว ทำให้สภามหาวิทยาลัย เป็นหน่วยงานที่ใหญ่(ทรงอำนาจ)ที่สุดในสถาบันการศึกษานั้นๆ เพราะมีหน้าที่กำกับดูแลนโยบายของผู้บริหารฯ จัดการ ออกและแก้ไขระเบียบ, พรบ. ข้อบังคับต่างๆของมหาวิทยาลัยได้ทั้งหมด (นิติบัญญัติ) เป็นกรรมการสรรหาอธิการบดี คณบดี อนุมัติแผนงาน แผนเงินงบประมาณ โครงการผลประโยชน์ต่างๆของมหาวิทยาลัย ทั้งหมด (บริหาร) รวมทั้งการตรวจสอบการดำเนินงานของผู้บริหารฯและ เรื่องร้องทุกข์ ร้องเรียนต่าง ๆ (ตุลาการ) โดยที่ สกอ.และกระทรวงศึกษาธิการไม่มีอำนาจเข้าไปก้าวก่ายใด ๆ ได้เลย

มหาวิทยาลัย(ในกำกับของรัฐ) แต่ละแห่ง มีบุคลากรในสังกัด หลายร้อยคน บางแห่งเป็นพันคน มีนิสิต นักศึกษาเข้ามาเรียนรวมกันทุกชั้นปี หลายพันคน บางแห่งร่วมหมื่นคน ได้รับงบประมาณประจำปีสนับสนุนจากรัฐ เป็นค่าจ้าง เงินเดือน พัสดุ ครุภัณฑ์ ที่ดินและสิ่งก่อสร้าง และอื่น ๆ รวมแล้ว เป็นพัน ๆ ล้านบาท บางแห่งมากกว่าสี่ ห้าพันล้านบาท ในแต่ละปีมหาวิทยาลัย มีรายได้จากค่าเล่าเรียน หลายร้อยล้าน บางแห่งเป็นพันล้าน เงินเก็บเงินฝาก ผลประโยชน์จากทรัพย์สิน ที่ดิน สัมปทานต่าง ๆ อีกเป็นร้อยล้านพันล้านบาทในแต่ละปี ผลประโยชน์ทั้งหลายทั้งปวง จะอยู่ภายใต้การจัดการของอธิการบดีและกลุ่มกรรมการสภามหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่งเท่านั้น ไม่ต่างกับการยกสมบัติทรัพย์สินของราชการไปให้คนกลุ่มหนึ่งเท่านั้น ให้แบบเป็นมรดกตกทอดได้ด้วย คสช.มองไม่ออกเลยหรือไร

จะว่าไปทุกวันนี้ สภามหาวิทยาลัย ก็ทำตัวเป็น หน่วยงานหนึ่ง ที่ทำงานขึ้นตรงต่ออธิการบดีเท่านั้น ทำหน้าที่เป็นเหมือนตรายางให้อธิการบดี ออกนโยบายกันเอง อนุมัติ กันเอง ที่เห็น ๆ คือเวลามาประชุม ส่วนใหญ่ ก็มาแสดง ทอล์คโชว์ อวดอีโก้ โชว์โวหาร กันจน หมดเวลา รับเบี้ยประชุม แล้วก็แยกย้ายกลับบ้านไป จะมีซักกี่คน ที่สามารถ มีเวลา หรือตั้งใจจะเข้ามาศึกษารายละเอียดงานของมหาวิทยาลัยและ ติดตามประเมินผู้บริหาร อย่างจริงจัง เอาเข้าจริง ๆ กิจการของมหาวิทยาลัยทั้งหมดทั้งมวลก็อยู่ในมือของผู้บริหารระดับสูง(อธิการบดี)กับกลุ่มกรรมการสภาอาวุโสจำนวนหนึ่งที่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน เท่านั้น ขอบอก กรรมการสภา ใช่ว่าจะได้แค่เบี้ยประชุมเท่านั้น ความจริงยังมีผลประโยชน์ทางอื่นอีก ที่เห็น ๆ กันอยู่ เช่น ได้โควต้าฝากลูก หลานเข้าเรียนโรงเรียนสาธิตของมหาวิทยาลัย เป็นต้น

เมื่ออธิการบดีและผู้บริหารระดับกลาง(คณบดี ผู้อำนวยการ) หมดวาระพวกนี้ก็จะร่วมกันวางแผนวางตัวผู้บริหารคนใหม่(ที่เป็นพวกเดียวกัน)เข้ามาแทน เมื่อกรรมการสภาหมดวาระ กลุ่มผู้บริหารก็จะร่วมมือกันสรรหากรรมการสภา(คนเดิมและอยู่ในเครือข่ายเดียวกัน) กลับเข้ามา ดังนั้นจึงเห็นกรรมการสภาหลายคนแทบจะยึดเป็นอาชีพ เสียด้วยซ้ำไป โดยเฉพาะตัวนายกสภาฯ บางแห่ง อยู่กันมานานกว่ายี่สิบปี และเวลานี้มีการสร้างเครือข่ายในหมู่อธิการบดีและกรรมการสภาของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการเลียนแบบ แลกเปลี่ยนวิธีการสร้างผลประโยชน์ สัมปทาน ในกลุ่มเครือข่ายเดียวกัน

ดังนั้น การปลดล็อค ด้วย ม. 44 จึงเท่ากับสร้างความล่อแหลมที่จะทำให้เกิดการทุจริตเชิงนโยบาย ในมหาวิทยาลัยต่างๆทั่วประเทศ มีคนบอกว่า คสช. ทำแบบนี้ เหมือนเตะหมูเข้าปากหมา (อีกแล้ว) แต่ดูๆไป มันชักจะไม่ใช่แบบนั้นซะแล้ว คงจะมีอะไร ๆ มากกว่านี้แน่ ๆ ในท้ายที่สุดขอย้ำว่า ถ้าไม่มีการแก้ไขระบบบริหารงานมหาวิทยาลัยนอกระบบ ไม่แก้ไข การให้อำนาจกรรมการสภา แบบเอาแต่ได้อย่างนี้ ต่อไปมหาวิทยาลัยของรัฐ ก็จะกลายเป็นสมบัติส่วนตัวและ เป็นมรดกตกทอดของคนกลุ่มนี้ไปอย่างถาวร


ผมอยากฝากข้อคิดให้กับข้าราชการว่า ก่อนจะตราหรือบังคับใช้กฎหมายใดๆ ก็ตามให้ทำตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 มาตรา 77 ที่ให้ทำ RIA ให้รอบคอบเสียก่อน

คสช. เองก็ควรต้องระวังในการใช้มาตรา 44 ให้จงดี ไม่เช่นนั้นการชักเข้าชักออกจะทำให้กฎหมายคลายความศักดิ์สิทธิ์ได้ และจะไม่มีคนเกรงกลัวกฎหมายหรือปฏิบัติตามกฎหมาย อันจะกลายเป็นการทำลายหลักนิติรัฐของบ้านเมืองไปได้ในท้ายที่สุดโดยไม่ได้เจตนา


กำลังโหลดความคิดเห็น