xs
xsm
sm
md
lg

ใครอยู่เบื้องหลัง ยุครัฐบาลบิ๊กตู่ ประกาศ 6 โฆษณา คำขอสิทธิบัตรกัญชาให้กับ “กลุ่มโอซูกะ และ จีดับเบิลยู”เพียงกลุ่มเดียวเท่านั้น/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

ภาพถ่ายที่ “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” ได้เข้าเยื่ยมบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 นั้น จะไม่ควรเป็นประเด็นพิรุธใดๆเลย ถ้าไม่เกิดเหตุการสัมภาษณ์ของนายสุวิทย์ เพื่อตอบโต้ประเด็นดังกล่าวนี้เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 ลงในมติชนออนไลน์ แล้วเกิดข้อสงสัยว่ามีการโกหก บิดเบือนประเด็น หรือไม่? โดยมีข้อความสำคัญคือ :

“ไม่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันตามที่นายปานเทพ กล่าวหา ตนเองไปประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 5 มีนาคมที่ผ่านมา ที่ จ.เพชรบุรี และได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เนื่องจากเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองนวัตกรรมอาหารและมีการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมทางด้านอาหารทางการแพทย์ ในโรงงานดังกล่าวมีการผลิตผลิตภัณฑ์อยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือน้ำเกลือและอาหารทางการแพทย์ ...

ส่วนที่มีการระบุว่าบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด มีการพัฒนายาร่วมกับบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา จำกัดนั้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง บริษัท โอซูกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ไทยโอซูก้า ประเทศไทยและงานวิจัยนี้ได้ยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากผลการทดลองด้านการศึกษาทางการแพทย์หรือการทดลองทางคลินิก (Clinical trial) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องกัญชา

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาในทุกๆ ทาง โดยรูปถ่ายการเข้าเยี่ยมบริษัทดังกล่าว เป็นเรื่องปกติ ไปเยี่ยมชมโรงงานก็มีการถ่ายรูปที่ระลึกกันธรรมดา”

หากจะมีใครสงสัยว่า มติชนออนไลน์ลงข่าวดังกล่าวคลาดเคลื่อนก็ไม่น่าจะถูกต้อง เพราะนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้นำลิงค์ข่าวดังกล่าวข้างต้นมาลงเผยแพร่ในเฟซบุ๊กของตัวเองเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2561 เวลา 14.49 น. ย่อมแสดงว่านายสุวิทย์น่าจะเห็นชอบด้วยกับข้อความในข่าวดังกล่าวแล้ว ใช่หรือไม่?

โดยเฉพาะข้อความดังกล่าวได้ถูกลงซ้ำอีกครั้งในวันที่ 2 ธันวาคม 2561 ในเว็บไซต์ของ MGR Online เพียงแต่มีข้อความเพิ่มขึ้นว่า “นายปานเทพอย่าจินตนาการสูง”

จากการสัมภาษณ์ของนายสุวิทย์เมื่อวันที่ 1 และ 2 ธันวาคม 2561 จึงทำให้เกิดประเด็นคำถามตามมาคือ

1.บริษัท โอซูกะ ประเทศญี่ปุ่น “ไม่เกี่ยวข้อง” กับ บริษัท ไทยโอซูก้า ประเทศไทย จริงหรือ? โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อปรากฏข้อมูลจากสำนักข่าว อิศราเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ว่า “บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ประเทศญี่ปุ่นถือหุ้นใหญ่ที่สุดถึง 30% ในบริษัท ไทยโอซูก้า” จริงหรือไม่?

โดย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้โพสต์ในเฟซบุ๊กข้อความเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 เวลา 13.59 น. แสดงให้เห็นว่านายสุวิทย์ รู้ดีว่าไทยโอซูก้า และโอซูกะมีความเกี่ยวข้องกัน ความว่า

“บริษัท “โอซูก้า” เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำบริษัทยา ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น มีรายได้กว่า 350,000 ล้านบาท ในปี 2560 มุ่งเน้นผลิตสินค้าเพื่อดูแลสุขภาพแบบองค์รวมในผู้ป่วย โดยในช่วง 2559 ท่านรองนายกฯ ดร.สมคิด และผม ได้มีโอกาส ผู้บริหารบริษัทฯ และเชิญชวนมาร่วมใน Food Innopolis ของไทย ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีครับ ปัจจุบัน “ไทยโอซูก้า”ได้อยู่ใน Food Innopolis...”

ถ้าไทยโอซูก้า ประเทศไทย กับ โอซูกะประเทศญี่ปุ่นไม่มีความเกี่ยวข้องกัน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ จะโพสต์ข้อความวันที่ 6 มีนาคม 2561 อธิบายความสัมพันธ์และการพูดคุยกับโอซูกะประเทศญี่ปุ่น เพื่อขยายความการเข้าเยื่ยมบริษัท ไทยโอซูก้า ประเทศไทย เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ไปเพื่ออะไร? จริงไหม?

แต่พอถึงวันที่ 1 ธันวาคม 2561 เหตุใด นายสุวิทย์ กลับให้สัมภาษณ์มติชนออนไลน์ว่า “บริษัท โอซูกะ ประเทศญี่ปุ่น ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ไทยโอซูก้า ประเทศไทย” ?

2. ในบทความตอนที่แล้วได้เปิดเผยว่า ในสมัยที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาและการนำสารสกัดกัญชาไปใช้อย่างน้อย 2 คำขอ ใช่หรือไม่? ซึ่งในช่วงเวลานั้น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ก็เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งได้รับมอบหมายให้กำกับดูแล “กรมทรัพย์สินทางปัญญา” ด้วยใช่หรือไม่?

และทั้ง 2 คำขอก็ปรากฏชื่อ “ผู้รับคำขอสิทธิบัตรร่วม”ในสารสกัดกัญชาหรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ คือ บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา กับ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล คอมปานี ลิมิเต็ด ประเทศญี่ปุ่น ใช่หรือไม่? และบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล คอมปานี ลิมิเต็ด ประเทศญี่ปุ่นนี้ ก็เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ถึง 30% ในบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ด้วยถูกต้องหรือไม่?

คำถามมีอยู่ว่า นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ มีวัตถุประสงค์ใด และมีแรงจูงใจอย่างไร จึงได้ให้สัมภาษณ์เบี่ยงเบนประเด็นไปว่า จีดับเบิลยู ฟาร์มา กับโอซูกะประเทศญี่ปุ่นร่วมกันพัฒนายาแต่ไม่เกี่ยวกับเรื่อง “กัญชา”?

จาก 2 ประเด็นที่เป็นข้อพิรุธที่ทำให้เกิดข้อสงสัยข้างต้น จึงค้นพบความจริงเพิ่มเติมด้วยว่านายสุวิทย์ ได้เคยโพสต์เฟสบุ๊คตัวเองในขณะดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เวลา 18.05 น. ว่ามีความคิดที่จะเร่งรัดสิทธิบัตรที่ค้างสะสมอยู่ให้หมดสิ้นไป

ถึงขนาดกล้าหาญประกาศว่าจะทำให้สิทธิบัตรที่ค้างสะสมอยู่หมดสิ้นไป จะมีอะไรทำได้เร็วไปกว่าการใช้คำสั่ง คสช.มาตรา 44 จริงหรือไม่?

จึงเกิดคำถามว่านายสุวิทย์ เมษินทรีย์ พอจะทราบหรือไม่ว่าใครเป็นต้นเรื่อง รัฐมนตรีคนไหน และใครผู้เสนอต่อที่ประชุมคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ จนออกมาเป็นมติ คสช.ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ให้เตรียมใช้คำสั่ง คสช.มาตรา 44 เพื่อออกสิทธิบัตรที่คั่งค้างอยู่ รวมถึงสิทธิบัตรยาที่ค้างกว่า 3,000 รายการ และในจำนวนนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับกัญชาในทางการแพทย์ด้วยใช่หรือไม่?

อย่างไรก็ตามในบรรดาขั้นตอนการจดสิทธิบัตรนั้น ขั้นตอนหนึ่งที่ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งก็คือการ “ตรวจสอบเบื้องต้น” เพราะถ้าตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าไม่ถูกต้องก็สามารถที่จะยกคำขอ หรือให้แก้ไขในเวลาที่กำหนด แต่ถ้าตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าถูกต้องแล้ว ผู้ยื่นคำขอก็จะต้องชำระค่าธรรมเนียมการประกาศ หลังจากนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญาก็จะดำเนินการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรนั้น เพื่อให้ผู้มีส่วนได้เสียขอให้มีการตรวจสอบและคัดค้านในเวลาที่กำหนด

ดังนั้นจะเห็นได้ว่าขั้นตอนการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรจึงย่อมมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะเท่ากับเป็นการยืนยันว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาตรวจสอบเบื้องต้นแล้วเห็นว่าสิทธิบัตรมีความถูกต้อง แต่ที่จะมองข้ามไม่ได้ก็คือข้อตกลงระหว่างประเทศหรือพีซีที จะขัดหรือแย้งกฎหมายของไทยไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อกัญชาอยู่ในบัญชียาเสพติดให้โทษประเภทที่ 5 ใครจะมาอ้างว่าเป็นการจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา หรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์ก็ย่อมไม่สามารถทำได้ทั้งนั้น

นอกจากนั้นในตำราการแพทย์แผนไทยได้ระบุในเรื่องกัญชาเป็นสมุนไพรอยู่ตำรับยาจำนวนมาก ในการช่วยรักษาทำให้นอนหลับ เจริญอาหาร และรักษาอาการระบบประสาทในการเกร็งหรือชัก ฯลฯ ซึ่งอยู่ภายใต้พระราชบัญญัติคุ้มครองส่งเสริมภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย พ.ศ. 2542 ดังนั้นจะให้ต่างชาติมาจดสิทธิบัตรกัญชาตามอำเภอใจมิได้

แต่สิ่งที่น่ากังวลก็คือการปล่อยให้มีการประกาศโฆษณาคำขอการจดสิทธิบัตรต่างชาติในเรื่องสารสกัดกัญชา หรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้นั้น ก็เพื่อเตรียมการ “ดักหน้า” รอให้มีการปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์เท่านั้น การจดสิทธิบัตรของต่างชาติเหล่านั้นก็ย่อมจะมีผลใช้บังคับใช้ได้ทันที ใช่หรือไม่?

แต่เมื่อตรวจสอบดูแล้วนับตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศนับตั้งแต่วันที่ 24 สิงหาคม 2557 จนถึงปัจจุบัน พบว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญาได้มีการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับสารสกัดกัญชา หรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ในทางการแพทย์จำนวนถึง 6 ฉบับ

แต่สิ่งที่น่าสนใจไปกว่านั้นคือการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตร ทั้ง 6 ฉบับ มีผู้ขอรับสิทธิบัตรเป็นรายเดียวกันทั้งหมด โดยเป็นการขอรับสิทธิบัตรร่วมกันระหว่าง “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล และจีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด”

สิทธิบัตรสารสกัดกัญชาและการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ทั้ง 6 ฉบับนั้น ครอบคลุมไปถึง การรักษาโรคลมบ้าหมู โรคลมชัก โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งลำไส้ ใช้ร่วมกับยาต้านโรคจิต ฯลฯ เป็นสารสกัดจากพืช เป็นยาเสพติดขัดต่อความสงบเรียบร้อยและศีลธรรมอันดี ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นการขัดต่อ พรบ.สิทธิบัตรในมาตรา 9 ทั้งสิ้น จริงหรือไม่?

โดยในการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาหรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้จำนวน 6 ฉบับนั้น ปรากฏว่า 2 ฉบับเกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2557

ส่วนประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาหรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ ที่มากที่สุดให้กับ “โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล และจีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด” เกิดขึ้นในปี พ.ศ. 2559 ถึง 4 ฉบับ ซึ่งบังเอิญเป็นปีที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้เดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่นและได้พบปะพูดคุยเจรจากับบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ด้วย

การเดินทางของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ที่ได้เดินทางไปที่ประเทศญี่ปุ่น และพบปะพูดคุยเจรจากับผู้บริหารกลุ่มบริษัทโอซูกะนั้น เกิดขึ้นระหว่างวันที่ 29 พฤษภาคม ถึง 1 มิถุนายน 2559

โดยภายหลังจากการเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นและเจรจากับกลุ่มโอซูกะแล้ว ปลายเดือนมิถุนายน 2559 เพียงเดือนเดียว กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาให้กับบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ดเพิ่มขึ้นถึง 2 ฉบับ และหลังจากนั้น 3 เดือนต่อมา ก็ประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรให้กับบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา เพิ่มให้อีก 1 ฉบับ

คุณค่าของการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรหลายฉบับนั้นมีมากน้อยเพียงใด ก็ขอให้พิจารณาเปรียบเทียบ “ระยะเวลาการรอคอย” ของ บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรมาตั้งแต่เกิดก่อนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาทั้งสิ้น

โดยการยื่นขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาและการนำสารสกัดกัญชาไปใช้นั้น บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ได้เฝ้ารอคอยมานานแสนนานตั้งแต่ “ 3 ปีครึ่งถึง 7 ปี” จนมาถึงกรมทรัพย์สินทางปัญญา ในสมัยรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ได้ประกาศโฆษณาคำขอให้กับบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ร่วมกับบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ถึง 6 ฉบับ เมื่อรวมกับ 2 ฉบับก่อนหน้านั้น จึงกลายเป็นกลุ่มบริษัทยาที่ได้ประกาศโฆษณาคำขอการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาและการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ทางการแพทย์มากที่สุดในประเทศไทยด้วย

ทำถึงขนาดนี้กลุ่มบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จะไม่ให้ปลื้มรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาได้อย่างไร ซึ่งภายหลังจากการเจรจาของผู้แทนรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา กลุ่มบริษัทโอซูกะก็เข้าร่วมโครงการมหานครนวัตกรรมทางอาหาร ผ่านบริษัทลูกที่ชื่อ บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ในเวลาต่อมาใช่หรือไม่?

บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ซึ่งรัฐมนตรีสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้เข้าไปเยี่ยมถึงโรงงานเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา จนเป็นที่มาของหลายคำถามในวันนี้ ใช่หรือไม่?

นอกเหนือจากความสัมพันธ์ระหว่างบริษัทญี่ปุ่นยักษ์ใหญ่มาตราฐานสูงอย่าง โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล ซึ่งถือหุ้นใหญ่ใน บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัดแล้ว หากได้มีโอกาสอ่านข้อมูลจากข้อความในเว็บไซต์ของบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด จะทำให้ต่อภาพจิ๊กซอว์ความสัมพันธ์ทางธุรกิจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นดังนี้

“บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด จึงได้ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2516 และนับเป็นบริษัทร่วมทุนนอกประเทศญี่ปุ่นแห่งแรกของกลุ่มโอซูกะอีกด้วย”

“ปี พ.ศ. 2529 เริ่มมีการจำหน่ายกลุ่มยารักษาโรค โดยนำเข้าจากโอซูกะประเทศญี่ปุน ซึ่งเป็นยาที่ผ่านการคิดค้น วิจัย พัฒนา เพื่อให้ตรงกับความต้องการของผู้ป่วยมากขึ้น”

จากข้อความดังกล่าวข้างต้นแสดงให้เห็นว่าบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ซึ่งนายสุวิทย์ ได้เข้าเยี่ยมเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 นั้น จึงไม่ได้อยู่ในฐานะเพียงแค่ผลิตน้ำเกลือหรือการผลิตอาหารทางการแพทย์ดังที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้ให้สัมภาษณ์เอาไว้เมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 เท่านั้น แต่บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ยังอยู่ในฐานะผู้นำเข้ายาจากโอซูกะประเทศญี่ปุ่นอีกด้วย

ดังนั้นในวันข้างหน้าเมื่อกฎหมายปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์แล้ว บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ก็อาจจะเป็นผู้นำเข้ายาที่มีสารสกัดกัญชา หรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ จาก บริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล และจีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด ซึ่งได้ยื่นคำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับสารสกัดกัญชาร่วมกับจีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด มาก่อนล่วงหน้าแล้วก็ได้ ใช่หรือไม่?

ทั้งนี้ปรากฏว่าเมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2561 นายซินสึเกะ ยุอาสะ ประธานบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ได้ทำหนังสือถึงผู้เขียนเพื่อโต้แย้งบทความที่ผ่านมา โดยสรุปความว่า

“ในวันที่ 5 มีนาคม 2561 นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ไม่ได้มีการเจรจาธุรกิจกับทางบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด และยืนยันว่านายสุวิทย์ ไม่เคยทราบเรื่องบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล จำกัด ประเทศญี่ปุ่น กับ จีดับเบิลยู ฟาร์มา ได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา, และบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ไม่เคยจดทะเบียนสิทธิบัตรกัญชา ส่วนยาซาติเว็กซ์เป็นเรื่องการพัฒนายาระหว่างโอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล กับ จีดับเบิลยู ฟาร์มา ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด และขอให้เผยแพร่ชี้แจงหนังสือฉบับนี้”

แต่จะเห็นได้ว่าแม้แต่บทความนี้ผู้เขียนได้ระบุชัดเจนอยู่แล้วว่าความพันธ์ระหว่างกลุ่มโอซูกะนั้นอยู่ในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ใช่หรือไม่?

และบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล กับ จีดับเบิลยู ฟาร์มาเป็นผู้ร่วมกันยื่นขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา ตามหมายเลขคำขอที่ระบุในตาราง จึงระบุในบทความอยู่แล้วว่า บริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ไม่ได้เป็นผู้ขอจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา การตอบคำถามของประธานบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด จึงไม่ตรงประเด็นกับคำถามของบทความที่ผ่านมาแต่ประการใด

ส่วนที่อ้างว่านายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ไม่เคยทราบเรื่องว่าบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล กับ จีดับเบิลยู ฟาร์มา ได้ยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาหรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้นั้น บริษัทรู้ได้อย่างไรจึงสามารถตอบแทนได้นายสุวิทย์ว่าทราบหรือไม่ทราบเรื่องดังกล่าว?

และมีคำถามตามมาว่า ในช่วงเวลาที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ออกประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาของบริษัท โอซูกะ ฟาร์มาซูติคอล กับบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา ถึง 4 ฉบับนั้น เกิดขึ้นในสมัยที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และดูแลทรัพย์สินทรัพย์สินทางปัญญาด้วยใช่หรือไม่? ดังนั้นจะอ้างว่าไม่รู้ไม่เห็นได้อย่างไร? ซึ่งคำตอบนี้ควรจะให้นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นผู้มาตอบคำถามนี้แทนดีกว่าหรือไม่?

สุดท้ายนี้มีเรื่องเก็บตกให้ชวนคิดจากยุคไทยแลนด์ 4.0 ว่า ในเว็บไซต์กูเกิล หากค้นหาคำว่า “สุวิทย์ ไทยโอซูก้า” เราจะเห็นลิงค์ของบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เห็นเป็นลำดับแรก เป็นภาพและข่าวการเข้าเยี่ยมของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ที่เข้าเยี่ยมบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 แต่เมื่อคลิ๊กเข้าไปแล้ว จึงพบว่าภาพและข่าวดังกล่าวนั้นหายไปหมดแล้ว ท่านผู้อ่านลองคิดดูว่าเพราะอะไร? มีพิรุธหรือไม่? ระดับรัฐมนตรีเข้าเยื่ยมบริษัทเอกชนไม่ได้เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจแล้วหรอกหรือ?

ดังนั้นหลังจากนี้เป็นต้นไป ขอให้ประชาชนจับตาว่ากระทรวงพาณิชย์จะยกเลิกสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาและการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ทางการแพทย์ทั้งหมดหรือไม่ และสิทธิบัตรของกลุ่มโอซูกะและจีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด จะถูกยกเลิกทั้งหมดหรือไม่ ถึงเวลานั้นประชาชนก็คงหาคำตอบชัดเจนแล้วว่า รัฐบาลชุดนี้และพรรคพลังประชารัฐจะมีจุดยืนในเรื่องกัญชาว่าเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน หรือเป็นไปเพื่อผลประโยชน์ของกลุ่มทุนบริษัทยาข้ามชาติอย่างถูกต้องหรือไม่ อย่างไร?

ด้วยความปรารถนาดี

ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต



กำลังโหลดความคิดเห็น