xs
xsm
sm
md
lg

ปตท.รวบเอราวัณ-บงกช คนไทยเฮ!ค่าไฟลง17สตางค์ กกพ.คว่ำดีล“โกลว์”อีก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ผู้จัดการรายวัน360 - ครม. อนุมัติ "ปตท.สผ." ชนะประมูล2แหล่งก๊าซ”เอราวัณ-บงกช” หลังดัมพ์ราคาขายก๊าซต่ำสุด 116 บาทต่อล้านบีทียู ทำประเทศประหยัดทันที5แสนล้านใน10ปี ส่วนคนไทยได้เฮค่าไฟเฉลี่ยลดลง 17 สตางค์ต่อหน่วย รวมไทยได้ประโยชน์กว่า 6.5 แสนล้านบาท นักลงทุนผิดหวังแห่ทิ้งหุ้น PTTEP กดราคาดิ่ง 6.72% ด้าน"จีพีเอสซี"ช้ำอีกรอบ กกพ.คว่ำอุทธรณ์ฮุบ "โกลว์" หวั่นผูกขาดขายไฟฟ้าเจ้าเดียว

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)นอกสถานที่อย่างเป็นทางการ (ครม.สัญจร) จ.หนองคาย ซึ่งมีพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบให้บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมกับบริษัท เอ็มพี จี2 (ประเทศไทย) จำกัด ผู้ชนะการประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G1/61 (แหล่งเอราวัณ) และบริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ชนะประมูลยื่นขอสิทธิสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจในทะเลอ่าวไทยหมายเลข G2/51 (แหล่งบงกช) ทั้งนี้เนื่องจากได้มีการเสนอเงื่อนไขที่ดีสุดให้กับรัฐบาล โดยหลังจากนี้กระทรวงพลังงานจะลงนามสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC) ภายในเดือนก.พ.2562 ระยะเวลาสัมปทาน 20+10 ปี

สำหรับข้อเสนอผู้ชนะประมูลได้เสนอราคาขายก๊าซฯคงที่ระดับ 116 บาทต่อล้านบีทียูต่ำกว่าราคาในปัจจุบันทั้ง 2แหล่งที่ปัจจุบันตามสัญญาขายแหล่งบงกชอยู่ที่ 214 บาทต่อล้านบีทียู แหล่งเอราวัณปัจจุบันขายที่ราคา 165 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้การซื้อก๊าซถูกลงตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไปและทำให้ราคาถูกลงในช่วง 10 ปีข้างหน้าคิดเป็นมูลค่า 550,000 ล้านบาท หรือทำให้ประเทศประหยัดลงทันทีปีละ 55,000 ล้านบาท สามารถลดค่าไฟฟ้าลงได้หน่วยละ 29 สตางค์ไปอย่างน้อยระยะ 10 ปี

"การลดค่าไฟได้ 29 สตางค์ต่อหน่วย หรือคิดเป็น 8 % แต่เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ต้องแบ่งไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมและในรูปของก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ด้วย ส่วนลดจึงต้องเฉลี่ยออกไป ค่าไฟฟ้าจริงต่อหน่วยจึงลงได้เพียง 17 สตางค์ต่อหน่วยเท่านั้น" นายศิริกล่าว

นอกจากนี้ ผู้ชนะประมูลข้อเสนอผลประโยชน์ตอบแทนรัฐมากกว่า 50% มากกว่าเงื่อนไขที่กำหนดให้ในเอกสารเชิญชวน โดยแหล่งเอราวัณเสนอผลประโยชน์ให้รัฐ 68% ผู้รับสัญญารับกำไร 32% แหล่งบงกชเสนอให้รัฐ 70% ผู้รับสัญญารับกำไร 30% ส่งผลให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มขึ้นรวมอีก 1 แสนล้านบาท สร้างประโยชน์ให้ประเทศได้รวม 6.5 แสนล้านบาทและ 10 ปีแรก จะสามารถสร้างผลประโยชน์ให้รัฐในรูปค่าภาคหลวง ภาษีเงินได้ปิโตรเลียม และส่วนแบ่งปิโตรเลียมส่วนที่เป็นกำไรที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ ก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทยในสัดส่วน 98% และยังช่วยลดการนำเข้าก๊าซปิโตรเลียมเหลว (แอลพีจี) ได้ประมาณ 22 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4.6 แสนล้านบาท ทำให้เกิดการลงทุนหมุนเวียนในประเทศอีก 1.1 ล้านล้านบาท

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าบริหาร บมจ.ปตท.สผ.กล่าวว่า รู้สึกภูมิใจและยินดีที่ได้รับอนุมัติให้เป็นผู้ชนะการประมูลแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณและบงกช ภายใต้ระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต(PSC ) ที่จะสิ้นสุดอายุสัมปทานในปี 2565-66 โดยขั้นตอนหลังจากลงนามในสัญญาแล้วจะสามารถเดินหน้าเข้าไปสำรวจและผลิตเพิ่มเติมเพื่อรักษาระดับการผลิตก๊าซฯในแหล่งบงกชและเอราวัณให้ไม่ต่ำกว่า 700และ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ตามลำดับตามเงื่อนไขรัฐที่กำหนดไว้ โดยการลงทุนประเมินเบื้องต้น 5 ปีแรก(ปี66-70 )แหล่งบงกชลงทุนประมาณ 400 -500 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีและแหล่งเอราวัณ 600-650 ล้านเหรียญฯต่อปีหรือเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปีคิดรวม 5 ปีลงทุนกว่า150,000- 160,000 ล้านบาท

สำหรับการประมูลครั้งนี้ ปตท.สผ. ได้ยื่นประมูลเองด้วยสัดส่วนการลงทุน 100% ในแหล่งบงกช ในขณะที่แหล่งเอราวัณนั้น ปตท.สผ. ประมูลร่วมกับบริษัท มูบาดาลา ปิโตรเลียม (ประเทศไทย) จำกัด ในสัดส่วนการลงทุน 60% และ 40% ตามลำดับ อย่างไรก็ตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ว่าต้องให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมถือหุ้นไม่เกิน 25% นั้นมติครม.ระบุว่าได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอว่าการให้สิทธิ์ในครั้งนี้ได้บรรลุวัตถุประสงค์ตามข้อกำหนดในเอกสารเชิญชวนให้ยื่นขอ(IFP) ที่ต้องการให้หน่วยงานรัฐเข้าร่วมลงทุนเพื่อตอบสนองความมั่นคงด้านพลังงานแล้วเพราะปตท.สผ.เป็นหน่วยงานรัฐ

สำหรับราคาก๊าซฯที่เสนอค่าคงที่ 116 บาทต่อล้านบีทียูทั้งสองแหล่งในปีแรกจากนั้นจะอ้างอิงราคาน้ำมันซึ่งถือว่าเป็นราคาต่ำเนื่องจากการได้สิทธิ์ฯทั้งสองแหล่งเป็นเพียงการต่อยอดการลงทุนและสามารถลดต้นทุนด้านการบริหารจัดการให้ต่ำลงได้มากขึ้นเช่น ในเรื่องของการจัดซื้อจัดจ้าง การขนส่ง ฯลฯ ซึ่งผลประโยชน์ที่เสนอเป็นผลตอบแทนสูงสุดให้กับประเทศและประชาชนคนไทยจะได้รับประโยชน์ ขณะที่ปตท.สผ.เองฐานะบริษัทมหาชนก็ยังสามารถรักษาระดับผลตอบแทนการลงทุน(IRR)ที่ระดับ 10-15%

แห่ทิ้งหุ้น PTTEP ราคาร่วง 6.72%

ด้านความเคลื่อนไหวราคาหุ้นบมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตเลียม (PTTEP) ถูกแรงเทขายออกมาอย่างหนักในช่วงบ่าย หลังจากบริษัทย่อยได้รับสิทธิในการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมแหล่งอาราวัณ-บงกช โดยแตะราคาต่ำสุดที่ 124.50 บาท สูลสุดที่ 135.50 บาท และปิดการซื้อขายที่ 125.00 บาท ลดลงจากวันก่อน 9.00 บาท หรือ 6.72% มูลค่าการซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งรวม 7,994.14 ล้านบาท

นักวิเคราะห์กล่าถึง กรณีที่นักลงทุนเทขายหุ้น PTTEP จนราคาปรับตัวลดลงค่อนข้างหนัก ว่า การชนะประมูลไม่ได้สร้างผลดีต่อ PTTEP แต่กลับสร้างความผิดหวังให้แก่นักลงทุน เพราะเสนอค่าคงที่ราคาก๊าช (Pc) ต่ำมาก โดย PTTEP เสนอค่าคงที่ราคาก๊าซ (Pc) แค่ 116 บาท/ล้าน BTU จากราคากลางที่ภาครัฐฯกำหนดให้ไม่เกิน 214 บาท/ล้าน BTU

กกพ.ตีตกอุทธรณ์ GPSC ควบ GLOW

น.ส.นฤภัทร อมรโฆษิต เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.มีมติยกคำอุทธรณ์ของบริษัทโกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอยี จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC (จีพีเอสซี) ผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการพลังงาน กระทำการรวมกิจการกับบริษัท โกลว์ พลังงาน จำกัด (มหาชน) หรือ "GLOW"(โกลว์) ผู้รับใบอนุญาตอีกรายที่ได้ยืนคำอุทธรณ์เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.มายังสำนักงานกกพ.หลังจากที่เมื่อวันที่ 10 ธ.ค.2561 กกพ.มีมติไม่เห็นชอบให้ GPSCเข้าควบรวมกับ GLOW

"เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2561 กกพ.ได้มีมติให้สำนักงาน กกพ. เสนอเรื่องอุทธรณ์ GPSC เข้าสู่การพิจารณาของ คณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์คำวินิจฉัยคำสั่ง ระเบียบ ข้อบังคับ ประกาศ หรือข้อกำหนดของ กกพ.และเมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2561 ที่ผ่านมา กกพ.มีมติให้ยกอุทธรณ์ของ GPSC ที่ใช้สิทธิอุทธรณ์คำสั่ง กกพ. ที่ไม่เห็นชอบให้รวมกิจการกับ GLOW แต่เนื่องจากมติครั้งนั้นมีกรรมการ 2 ท่านติดภารกิจจึงต้องนำรายงานการประชุมเข้าสู่วาระกับรับรองอีกครั้งเมื่อ 11 ธ.ค.ที่ผ่านมา"น.ส.นฤภัทรกล่าว

ทั้งนี้การยกคำอุทธรณ์ดังกล่าวกกพ.ที่มีนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธานกกพ.ได้วินิจฉัยแล้ว เห็นว่า แม้ในธุรกิจของการจำหน่ายไฟฟ้าจะเป็นการผูกขาดโดยธรรมชาติ และในพื้นที่นิคมอุตสาหกรรมโดยส่วนใหญ่จะมีผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าเพียงรายเดียว แต่ตามข้อเท็จจริงปรากฏว่า ในพื้นที่ที่มีการอุทธรณ์มีผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าจำนวน 2 รายในพื้นที่ การที่มีการรวมกิจการจนทำให้เหลือผู้ให้บริการจำหน่ายไฟฟ้าเพียงรายเดียว โดยสภาพจึงเป็นการลดการแข่งขันอย่างมีนัยสำคัญ ดังนั้น การไม่เห็นชอบให้กระทำการรวมกิจการตามที่ยื่นขออนุญาต เนื่องจากเป็นการลดการแข่งขันจึงเป็นการพิจารณาที่เป็นไปตามกฎหมายแล้ว

"กกพ. ได้เห็นชอบตามความเห็นของคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ฯ ที่ได้พิจารณาประเด็นข้อกฎหมายตามที่ GPSC โต้แย้งคำสั่ง กกพ. แล้ว เห็นว่า การที่ กกพ. ไม่เห็นชอบให้กระทำการรวมกิจการตามที่ยื่นขออนุญาตเนื่องจากเป็นการลดการแข่งขัน จึงเป็นการพิจารณาที่เป็นไปตามกฎหมายแล้วคำอุทธรณ์ของ GPSC ในประเด็นข้อกฎหมายและข้อเท็จจริงที่ได้ยื่นอุทธรณ์มาจึงฟังไม่ขึ้น แม้ในปัจจุบันอาจไม่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจน แต่ในระยะยาวการที่ยังคงมีการแข่งขันในพื้นที่ย่อมดีกว่ามีผู้ประกอบกิจการเพียงรายเดียว" น.ส.นฤภัทรกล่าว

สำหรับความเป็นมาของประเด็นดังกล่าวเกิดก่อนหน้านี้ GPSC มีแผนซื้อกิจการ GLOW ด้วยมูลค่าราว 1.4 แสนล้านบาท โดยจะเป็นการซื้อหุ้นจากกลุ่ม Engie ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้น GLOW สัดส่วน 69.11% วงเงินรวม 9.59 หมื่นล้านบาทหากได้รับอนุมัติจากกกพ. หลังจากนั้นจะทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ส่วนที่เหลือต่อไป โดยภายหลังการเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้มีกำลังการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มGPSCเพิ่มเป็นราว 5,000 เมกะวัตต์ คิดเป็นสัดส่วน 6.9% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศซึ่งต่อมากกพ.เมื่อ 10 ต.ค. 2561ได้มีมติไม่เห็นชอบให้การซื้อขายหุ้นดังกล่าวเนื่องจากเป็นการลดกาแข่งขันตามนัยของมาตรา 60 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงานฯ และข้อ 8 ของระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการกำหนดหลักเกณฑ์เพื่อมิให้มีการรวมกิจการอันก่อให้เกิดการผูกขาด ลดการแข่งขัน หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการพลังงาน พ.ศ. 2552.
กำลังโหลดความคิดเห็น