มองต่างแดนวันนี้ ผมมาเยือนกรุงไทเป เมืองหลวงของไต้หวันครับ เป็นแขกของรัฐบาลไต้หวันซึ่งต้องการให้สื่อมวลชนมาดูสภาพของการเมือง เศรษฐกิจ สังคมว่าเป็นอย่างไร ได้พบปะพูดคุยเจ้าหน้าที่ด้านเศรษฐกิจ ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ
ออกจากสนามบินสุวรรณภูมิผู้โดยสารส่วนใหญ่เป็นชาวจีนไต้หวันครับ มีคนไทยปนอยู่บ้างเมื่อมาถึงกรุงไทเปเป็นจังหวะไม่ดี ท้องฟ้ามืดครึ้มติดต่อกันหลายวันมาแล้วมีฝนตกพรำๆ อากาศเย็นสบายอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 17 องศาถึง 20 กว่าองศา
ผมมาเยือนไต้หวันครั้งแรกเมื่อปี 2000 ช่วงนั้นประธานาธิบดีของไต้หวัน คือนายพลลี เต็ง ฮุย ซึ่งเป็นผู้สืบทอดอำนาจของนักการเมืองพรรคก๊กมินตั๋ง ซึ่งได้หนีมาจากการสู้รบช่วงสงครามกลางเมืองและพรรคคอมมิวนิสต์จีนเป็นฝ่ายชนะศึก
ไม่น่าแปลกใจครับเมื่อเห็นสภาพกรุงไทเปมีรถยนต์มากมายถึงแม้จะมีระบบขนส่งมวลชนเป็นรถไฟฟ้าแล้ว ที่ผ่านมาการพัฒนาเศรษฐกิจของไต้หวัน ทำให้สภาพของเมืองเปลี่ยนแปลงไปเยอะ การก่อสร้างถนนยกระดับมีมากมาย แต่สะอาด
ดูแล้วสภาพนครหลวงไทเปก้าวไปไกลจริงๆ นั่นก็หมายถึงด้านค่าครองชีพและความพยายามของคนเมืองหลวงที่จะต้องดิ้นรนหารายได้ให้เพียงพอเพื่อความอยู่รอดไม่ต่างจากประชาชนในประเทศอื่นๆ ซึ่งเผชิญกับความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจ
เมื่อไปต่างประเทศผมมักสังเกตสีหน้าท่าทางของผู้คนว่าเป็นอย่างไร เช่นยิ้มแย้มแจ่มใสหรืออยู่ในสภาวะซึมเศร้าสีหน้าอมทุกข์ หรือแสดงให้เห็นอาการกังวลอย่างไรหรือไม่ และก็เป็นจริงอย่างที่ว่า จะหาคนที่รื่นเริงอย่างคนไทย ไม่ง่ายนัก.
อย่างที่ว่ากัน คนไทยทุกข์สุขก็ตั้งวงดื่มเหล้าเพื่อฉลองและดับความกลุ้ม แต่ที่ผมเห็นโดยรวมในไทเปสีหน้าของคนไม่ว่าจะนั่งหรือยืนตามป้ายรถดูจะไม่ร่าเริง เท่าที่ควรจะเป็นทั้งที่ไต้หวันดูแล้วสภาวะเศรษฐกิจไม่ได้เลวร้ายอะไรนัก ทุกอย่างยังดูดี
แต่ก็นั่นแหละ ทุกประเทศย่อมมีปัญหาของตัวเอง มากบ้างน้อยบ้าง คนไต้หวันก็เช่นเดียวกันยังมีความกังวลเกี่ยวกับอนาคตของประเทศ ทั้งด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม และช่วงนี้มีปัญหาเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ไม่พอกับรายจ่าย การออม
ผมสอบถามเจ้าหน้าที่ซึ่งติดตามคณะ ถึงความไม่ร่าเริงดังกล่าว เธอก็ตั้งข้อสังเกตว่าอาจเป็นเพราะปัญหาเรื่องเศรษฐกิจ โดยเฉพาะคนที่มีรายได้น้อยและต้องพยายามให้อยู่รอดในสังคมเศรษฐกิจของเมืองหลวง ที่มีความเสี่ยงเรื่องการงาน
คนไต้หวันดูแล้วอาจจะมีรายได้เริ่มต้นมากกว่าคนไทย อย่างน้อยหนึ่งเท่าตัวเช่นพนักงานบริษัท รายได้เริ่มต้นอาจจะประมาณ 30,000 ถึง 35,000 บาท ซึ่งก็เพียงพออยู่ได้เท่านั้นเอง และถ้าไม่มีบ้านเป็นของตัวเองก็ต้องเกือบชักหน้าไม่ถึงหลัง
แต่ความกังวลโดยรวมคือการเมือง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความวิตกว่าประเทศจีนอาจจะใช้กำลังเพื่อยึดเกาะไต้หวันซึ่งผู้นำจีนทุกคณะได้ประกาศว่าไต้หวัน เป็นส่วนหนึ่งของจีนและสักวันหนึ่งจะต้องรวมกันให้ได้ ไม่ว่าคนไต้หวันจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม
ผมได้พูดคุยกับเจ้าหน้าที่ซึ่งทำงานวิจัยศึกษาด้านการเมืองและเศรษฐกิจ พร้อมกับถามว่าอยากจะให้เป็นไปในสภาพใดในด้านความสัมพันธ์ระหว่างจีนแผ่นดินใหญ่กับไต้หวัน ซึ่งก็ได้รับคำตอบว่า “ขอให้เป็นไปอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้”
นั่นก็คือทั้งสองประเทศต่างคนต่างอยู่อย่างนี้แหละ และมีความสัมพันธ์ด้านการเมืองเศรษฐกิจอย่างที่เป็นอยู่ ไม่จำเป็นต้องรวมประเทศหรืออยู่ในสภาพหนึ่งประเทศสองระบบเหมือนดังจีนกับฮ่องกงเพราะประเด็นสิทธิเสรีภาพเป็นเรื่องสำคัญ
คนไต้หวันเชื่อว่าคำมั่นในด้านหนึ่งประเทศสองระบบจะไม่เป็นความจริงเพราะเห็นชัดเจนในการที่รัฐบาลปักกิ่งไม่ยอมให้ชาวฮ่องกงได้มีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ และรัฐบาลจีนใช้อำนาจในด้านการดูแลจัดการเพื่อให้ฮ่องกงต้องอยู่ในร่องในรอย
เมื่อถามว่าความกังวลนี้เป็นเรื่องที่ทำให้คนไต้หวันรู้สึกถึงกับกินไม่ได้นอนไม่หลับหรือไม่ มีคำตอบว่าไม่ถึงขั้นนั้น แต่ทุกคนพร้อมที่จะต่อสู้และต่อต้านความพยายามที่จะบุกเข้ายึดครองด้วยกำลังทางทหารหรือมาตรการอื่นๆ
เมื่อถามว่าเป็นไปได้หรือไม่ถ้าจีนจะพยายามเข้าครอบงำผ่านทางด้าน เศรษฐกิจ เช่น ส่งนักท่องเที่ยวหรือนักลงทุนเข้ามาในไต้หวันและพยายามแทรกซึมในด้านอิทธิพลการเงินและพลังเศรษฐกิจ ก็ได้รับคำตอบว่าไต้หวันมีมาตรการป้องกัน
ไต้หวันมีมาตรการควบคุมนักท่องเที่ยว การลงทุนโดยตรงจากประเทศจีนจำกัดเวลาอยู่ภายในประเทศ โดยสภาวะปกติจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนแผ่นดินใหญ่เข้ามาในไต้หวันประมาณปีละกว่า 5,000,000 คน แต่ปัจจุบันตัวเลขได้ลดลง
ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากจีนเข้ามาประมาณ 4,000,000 คนเท่านั้น ถือว่าจำนวนลดลงมาก ดังนั้นจึงไม่มีข้อวิตกในด้านมาตรการว่าจีนจะส่งคนเข้ามาในรูปแบบต่างๆ เพราะมีการตรวจสอบการเข้าออกอย่างเข้มงวดนั่นเอง
เมื่อถามว่ามีมาตรการทางการเมืองอย่างอื่นหรือไม่เพื่อรักษาอิสรภาพ และอธิปไตยของไต้หวันให้อยู่ได้นานที่สุดโดยปราศจากความเสี่ยง ก็ได้รับคำตอบจากเจ้าหน้าที่ว่าส่วนหนึ่งยังมีความหวังและความเชื่อมั่นว่าสหรัฐฯ จะปกป้องคุ้มครองอยู่
ไม่เพียงเฉพาะสหรัฐฯ เท่านั้น ไต้หวันหวังว่าประเทศอื่นและประชาคมโลกจะมีพลังที่ทำให้รัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ไม่กระทำการโดยใช้อำนาจหักหาญ แม้โอกาสที่จะดำเนินการทางการทูตเพื่อให้เพิ่มจำนวนมิตรประเทศมากกว่าที่เป็นอยู่จะดูยาก
ถ้าประเมินความรู้สึกของคนไต้หวันตามที่ได้คุยกับเจ้าหน้าที่ รัฐบาลไต้หวันจะพยายามรักษาความสัมพันธ์และยกระดับด้านการลงทุนและเศรษฐกิจการค้ากับประเทศอื่นๆ เพื่อเสริมความแข็งแกร่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ด้านเศรษฐกิจ การเงิน การคลัง
ในด้านความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับประเทศไทยก็ได้รับคำตอบว่าอยู่ในขั้นที่น่าพอใจ โดยการค้าของทั้งสองประเทศและการลงทุน โดยนักธุรกิจไต้หวันในประเทศไทยยังอยู่ในระดับที่น่าพอใจเช่นกัน แม้ส่วนหนึ่งจะหันไปลงทุนในเวียดนาม