xs
xsm
sm
md
lg

E-commerce ไทยแลนด์ ฝันให้ไกล ต้องไปให้ถึงด้วย

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


ลาซาด้า (Lazada) แพล็ตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ ในเครืออาลีบาบา ยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซของโลก ประกาศเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ภายในปี 2030 จะส่งเสริมผู้ประกอบการจำนวน 8 ล้านราย ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้ขึ้นไปทำมาค้าขายบนแพล็ตฟอร์มของตน

แน่นอนว่า ประเทศไทย คือ หนึ่งในประเทศเป้าหมายสำคัญ เพราะมีความพร้อมทั้งในด้านดีมานด์ คือ ผู้บริโภคที่เข้าถึง เข้าใจ และนิยมระบบชอปปิ้งออนไลน์ ด้านซัพพลายคือ ผู้ประกอบการ โดยเฉพาะขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ปรับตัวใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัลในการเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง เปิดร้านค้าบนแพล็ตฟอร์มชอบปิ้งออนไลน์มากขึ้นเรื่อยๆ

ไม่ใช่เฉพาะลาซาด้าเท่านั้น แพล็ตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ ชั้นแนวหน้าของเอเชียอย่าง เจดี ดอทคอม (JD.com) ก็ให้ความสำคัญกับตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยเช่นกัน นอกจากนั้นยังมีแพล็ตฟอร์มอีคอมเมิร์ซของผู้ประกอบการไทยอีกจำนวนหนึ่ง

ในภาพรวมแล้ว ตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยดูดี มีผู้ซื้อและผู้ขายคึกคัก มีอนาคตสดใส แต่จะเป็นตลาดที่มั่นคง ยั่งยืน มีการเติบโตที่ต่อเนื่องหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน นอกเหนือจากเรื่องนโยบายของรัฐบาล กฎหมาย โครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอีคอมเมิร์ซ คือ ระบบโลจิสติกส์ และระบบชำระเงิน ทั้งสองเรื่องนี้เป็นจุดที่สร้างความแตกต่าง ความได้เปรียบในการแข่งขันระหว่างแพล็ตฟอร์ม และระหว่างตลาดอีคอมเมิร์ซของแต่ละประเทศ

ส่งของถึงมือผู้บริโภคได้เร็ว ส่งของตรงตามคำสั่งซื้อ เป็นข้อได้เปรียบ ในทางตรงกันข้ามถ้าส่งช้า สินค้าไม่ตรงตามที่ลูกค้าต้องการ คือจุดอ่อน โดยทั่วไปแล้ว ระบบโลจิสติกส์ เป็นสิ่งที่แพล็ตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์ เป็นผู้ลงทุน สามารถบริหารจัดการได้เอง

ในขณะที่ระบบชำระเงิน โดยเฉพาะการชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนต์ (e-payment) ในบ้านเรา เป็นของสถาบันการเงินต่างๆ ซึ่งในช่วงปีนี้ มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด มีการเปิดบริการอย่างเต็มตัว มีฟีเจอร์ใช้งานที่หลากหลายขึ้น และมีต้นทุนที่ต่ำ หรือไม่มีเลย คือ ใช้ฟรี ไม่มีค่าธรรมเนียม

อย่างไรก็ตาม ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรือ อี-เพย์เมนต์ที่ดี มีเสถียรภาพ นอกจากจะต้องสามารถใช้งานได้สม่ำเสมอ คงเส้นคงวา คือ เปิดใช้เมื่อไรก็ได้แล้ว ยังต้องรองรับธุรกรรมจำนวนมหาศาลได้ตลอดเวลา โดยไม่มีข้อแม้ คือ จะต้นเดือน ปลายเดือนวันเงินเดือนออก ระบบต้องไม่ล่ม ด้วยเหตุผลว่า มีคนใช้บริการเยอะในช่วงนั้นๆ

แพล็ตฟอร์มชอปปิ้งออนไลน์นั้นเป็นระบบเปิด คือ ใครๆ ก็เข้ามาซื้อสินค้าได้ ไม่จำกัดจำนวน และไม่จำกัดเวลา ระบบอี-เพย์เมนต์ของธนาคารต่างๆ จึงต้องมีการออกแบบ และมีการลงทุนให้รองรับธุรกรรมจำนวนมากๆ ที่เข้ามาพร้อมๆ กันได้ โดยเฉพาะในช่วงโปรโมชั่นที่มีการลดแลกแจกแถม ที่นักชอปทั้งหลายต่างเฝ้ารอ เมื่อถึงเวลาคำสั่งซื้อ คำสั่งชำระเงินผ่านโมบายล์แอพพลิเคชั่น ก็จะโหมกระหน่ำเข้ามาพร้อมๆ กัน ราวกับคลื่นลูกใหญ่ ซัดเข้ามาระลอกแล้วระลอกเล่า

มหกรรมชอปปิ้งยิ่งใหญ่ของโลกนักชอปของอาลีบาบาเมื่อวันคนโสด วันที่ 11 เดือน 11 ที่ผ่านมา อี-เพย์เมนต์หลายๆ ระบบ “ล่ม” เพราะในวันนั้น มีธุรกรรมเกิดขึ้นมหาศาล ไม่เป็นข่าวตามสื่อหลัก แต่มีเสียงบ่นหนาหูในเว็บ และโซเชียลมีเดียต่างๆ ทั้งจากร้านค้า และลูกค้าที่ประสบปัญหาโอนเงินไม่ได้

ปัญหา อี-เพย์เมนต์ล่มเมื่อวันคนโสด แม้ว่าจะไม่มีคำชี้แจงอย่างเป็นทางการจากสถาบันการเงินเจ้าของ “แอพ” เหล่านั้นว่า เกิดจากอะไร เพราะไม่กระทบกับประชาชนทั่วไป และไม่เป็นข่าว แต่ก็พอจะเดาได้ว่า เพราะระบบที่ออกแบบไว้เล็กเกินไป รองรับธุรกรรมได้ในยามปกติ แต่เอาไม่อยู่ เมื่อเจอกับมหกรรมชอปปิ้งสนั่นโลก

รัฐบาลประกาศนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ขับเคลื่อนเศรษฐกิจ สังคมเข้าสู่ระบบดิจิทัล ส่งเสริมให้เกิดสังคมไร้เงินสด หรือ Cashless Society ซึ่งเป็นทิศทางที่ถูกต้องแล้ว เพราะวันนี้โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลแล้วอย่างรวดเร็ว เราต้องตามกระแสเทคโนโลยีให้ทัน แต่ไทยแลนด์ 4.0 หรือ Cashless Society จะเป็นจริงได้ ต้องมีโครงสร้างพื้นฐานที่มั่นคง มีเสถียรภาพ และระบบนิเวศที่ครบถ้วนเกิดขึ้นเสียก่อน

สำหรับอีคอมเมิร์ซ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของไทยแลนด์ 4.0 โครงสร้างพื้นฐานที่เป็นหัวใจสำคัญ ก็คือ ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ หรืออี-เพย์เมนต์นี่แหละ เราพร้อมหรือยัง?


กำลังโหลดความคิดเห็น