xs
xsm
sm
md
lg

จับโกหก “สิทธิบัตรกัญชาต่างชาติ” ปานเทพจินตนาการมากไป หรือ รัฐมนตรี สุวิทย์ เมษินทรีย์ แห่ง “พรรคพลังประชารัฐ” ตอบไม่เคลียร์ !?

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

จากบทความที่แล้ว ซึ่งได้ตั้งคำถามไป 5 ข้อถึง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ในฐานะอดีตรัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาตร์และเทคโนโลยี และอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในปัจจุบัน ซึ่ง 2 คนนี้ต่างอยู่ในฐานะแกนนำคนสำคัญของ “พรรคพลังประชารัฐ”ว่า มีจุดยืนอย่างไรในเรื่องการจดสิทธิบัตรกัญชาของต่างชาติในประเทศไทย

ประเด็นสำคัญที่สุดในกรณีนี้ก็คือ บริษัทยาได้ทำการจดสิทธิบัตรสารสกัดกัญชา และการนำสารสกัดกัญชาไปใช้ในการรักษาโรคจำนวนมาก “ดักหน้า” เอาไว้ก่อนที่จะมีการแก้ไขกฎหมายยาเสพติดให้โทษ ปลดล็อกกัญชาให้สามารถนำมาใช้ในทางการแพทย์ได้นั้น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ และพรรคพลังประชารัฐ มีจุดยืนอย่างไรกันแน่?

โดยเฉพาะจุดยืนที่ว่าคนเหล่านี้ มีจุดยืนเพื่อบริษัทต่างชาติ หรือมีจุดยืนเพื่อประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน “สัญชาติไทย”

เหตุผลก็เพราะว่ากฎหมายไทยกำหนดให้กัญชาเป็นยาเสพติด จึงไม่มีนักวิจัยไทยสามารถทดลองในมนุษย์ได้เพราะถือว่าเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย ผลงานวิจัยไทยจึงไม่เพียงพอไปจดสิทธิบัตร “เพื่อการรักษาโรค”ได้  การปล่อยให้ต่างชาติจดสิทธิบัตรไม่ว่าจะเป็น “สารสกัดกัญชา” หรือ “การนำสารสกัดกัญชาไปใช้เพื่อรักษาโรค” ก็ย่อมเป็นไปเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กับต่างชาติทั้งสิ้น จริงหรือไม่?

หยุดอ้างเสียทีว่าเพราะประเทศไทยมีข้อตกลงกันระหว่างประเทศ จึงต้องปล่อยให้ต่างชาติจดสิทธิบัตรไป   เพราะข้อตกลงระหว่างประเทศจะมีอย่างไรก็ต้องไม่ขัดหรือแย้งกับกฎหมายในประเทศ ดังนั้นเมื่อกัญชาเป็นยาเสพติดให้โทษ ก็ต้องไม่มีใครสามารถจดสิทธิบัตรได้ เพราะเป็นเรื่องที่ขัดต่อความสงบหรือศีลธรรมอันดีของประเทศไทย

เพื่อเป็นการทบทวนความทรงจำในการตั้งคำถาม 5 ข้อจากบทความที่แล้ว ให้ผู้อ่านพิจารณาเปรียบเทียบว่าคำตอบล่าสุดของ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ มีความชัดเจนเพียงใด ดังนี้

1. “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” ณ วันที่ 5 มีนาคม 2561 ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เหตุใดจึงต้องเดินทางเข้าเยี่ยมถึงสถานที่บริษัทยา ซึ่งบังเอิญว่ามีความเกี่ยวพันกับการยื่นคำขอสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชา ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ใช่หรือไม่?

2.“นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” จบปริญญาตรีด้านเภสัชศาสตร์ คณะเภสัชศาสตร์ จากมหาวิทยาลัยมหิดลมาก่อน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ จึงมีสถานภาพเป็นเภสัชกรด้วย ย่อมมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องยาเป็นอย่างดี จึงเกิดคำถามว่าการที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์เข้าเยี่ยมบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 นั้น ได้มีการเจรจาพูดคุยนอกเหนือจากที่ปรากฏเป็นข่าวในหัวข้อเรื่องนวัตกรรมอาหารเพื่อสุขภาพหรือไม่? โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อที่กำลังมีข่าวการวิพากษ์วิจารณ์การยื่นคำขอการจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชา ต่อกรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ ใช่หรือไม่?

3. โดยก่อนหน้านี้ประมาณเกือบ 2 ปีก่อน “นายสุวิทย์ เมษินทรีย์” เคยเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในช่วงระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ถึง วันที่ 15 ธันวาคม 2559 นั้น ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าวนั้น กรมทรัพย์สินทางปัญญา กระทรวงพาณิชย์ มีการประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผ่านระบบพีซีทีอย่างน้อยให้กับกลุ่มบริษัท จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา จำกัด 2 ฉบับ ใช่หรือไม่? ดังต่อไปนี้

3.1 ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผ่านระบบพีซีที ของสารสกัดสำคัญจากกัญชาร่วมกับยาต้านโรคลมชัก รักษาโรคลมชักให้กับกลุ่มบริษัท จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด เลขที่คำขอ1301003751เลขที่ประกาศโฆษณา 153710 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2559ใช่หรือไม่?

3.2 ประกาศโฆษณาคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์ผ่านระบบพีซีที ขององค์ประกอบในสารสกัดกัญชาอันจำเป็นซึ่งประกอบด้วย ไฟโตแคนนาบินอยด์ แคนนาบิดิววาริน (CBDV) และ แคนนาบิไดออล (CBD) ให้กับกลุ่มบริษัท ที่มีบริษัท จีดับเบิ้ลยู ฟาร์มา เลขที่คำขอ1401001619 เลขที่ประกาศโฆษณา 156801 ลงประกาศโฆษณาวันที่ 28 กันยายน 2559 ใช่หรือไม่?

4. เมื่อ 1 ปีก่อนหน้านี้ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เพื่อออกสิทธิบัตรยาที่ค้างกว่า 3,000 รายการ? และในจำนวนนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับกัญชาในทางการแพทย์ด้วยใช่หรือไม่?

โดยเฉพาะมีข่าวปรากฏเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ที่ทำเนียบรัฐบาลว่า พลโท สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.)ว่า

“ที่ประชุมเห็นชอบออกคำสั่งตามมาตรา 44 ตามที่กรมทรัพย์สินทางปัญญา เสนอแก้ไขปัญหาทางออกสิทธิบัตร ซึ่งค้างกว่า 20,000 โดยไม่กำหนดเกณฑ์เข้มงวดสำหรับผู้ที่ผ่านการขอสิทธิบัตรจากต่างประเทศมาแล้ว แต่จะตรวจสอบเรื่องของการลอกเลียนแบบ คาดว่าจะสามารถออกสิทธิบัตรให้ได้กว่า 12,000 รายการ ภายใน 3 เดือน นอกจากนี้ยังจะมีมาตรการพิเศษควบคุมเรื่องการจดสิทธิบัตรยา ซึ่งมีมากกว่า 3,000 รายการ เพื่อป้องกันราคายาแพงด้วย”

นับเป็นบุญของประเทศที่องค์กรภาคประชาชนอย่าง กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ภาคประชาชน (FTA Watch) มูลนิธิเข้าถึงเอดส์และเครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี ที่รู้ทันในเรื่องนี้ ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2560 เพื่อคัดค้านการใช้คำสั่ง คสช. มาตรา 44 เร่งอนุมัติสิทธิบัตรด้วยทางลัด เพราะจะทำให้ประเทศชาติเสียหายอย่างใหญ่หลวง จึงเป็นผลทำให้ไม่ได้มีการใช้ คำสั่ง คสช. ตามมาตรา 44 ในที่สุด

คำถามใครเป็นผู้อยู่เบื้องหลังเสนอมาตรการแบบนี้ และเพื่อผลประโยชน์ใครกันแน่?

เนื่องจากเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อต้นปี พ.ศ. 2560 จึงน่าจะมีการนำเสนอมาก่อนหน้านี้ใช่หรือไม่ ซึ่งต้องดูต้นเรื่องว่าเป็นการเสนอมาจากใครกันแน่ ระหว่าง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ก่อนหน้านี้ หรือนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ อดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ก่อนหน้านี้ และมาเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน หรือแท้ที่จริงเป็นการรับลูกส่งลูกกันเป็นปี่เป็นขลุ่ย ใช่หรือไม่?


และไม่ว่าจะเป็นนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ หรือ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ที่อาจเกี่ยวข้องกับเรื่องกัญชานี้หรือไม่? ต่างก็เป็นแกนนำสำคัญในพรรคเดียวกัน คือ “พรรคพลังประชารัฐ” ซึ่งได้ดูดอดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรเข้ามาจำนวนมากเข้ามาในพรรคของตัวเอง และอาสาจะเป็นพรรคการเมืองรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง ควรจะตอบคำถามนี้ให้กับประชาชนว่าเป็นอย่างไรกันแน่ จริงหรือไม่?

5. แทนที่จะยกเลิกตามกฎหมายสิทธิบัตร ระวัง คสช. ออกคำสั่ง มาตรา 44 ยกเลิกสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับกัญชาจะเป็นกลลวงให้ประเทศไทยแพ้และต้องจ่ายค่าเสียหายในเวทีอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ

กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) ได้คัดค้านด้วยเหตุผลความตอนหนึ่งว่า

“เพราะการใช้คำสั่งพิเศษของคณะรัฐประหารในเรื่องระหว่างประเทศ อาจไม่เป็นที่ยอมรับตามหลักนิติรัฐปกติ ขัดกับหลักการสากลระหว่างประเทศ การใช้อำนาจเช่นนี้จึงมีความเสี่ยงที่จะถูกผู้ขอสิทธิบัตรชาวต่างชาติ จะนำเรื่องขึ้นฟ้องร้องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ ตามกลไกระงับข้อพิพาทระหว่างรัฐและเอกชน เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย เช่นเดียวกับกรณีเหมืองทองจังหวัดเลย และรัฐบาลไทยก็มีโอกาสจะแพ้คดีเนื่องจากความไม่ชอบธรรมในอำนาจที่ออกคำสั่ง”

เพราะในความเป็นจริงแล้ว กัญชาถูกขึ้นบัญชีเป็นยาเสพติดให้โทษ เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย และคนไทยไม่สามารถจะจดสิทธิบัตรเกี่ยวข้องกับการรักษาโดยใช้กัญชาได้ จึงต้องอาศัยอำนาจของอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญายกเลิกการจดสิทธิบัตร อันเนื่องมาจากมีการฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติสิทธิบัตร ตามมาตรา 9 ที่ระบุถึงสิ่งที่ห้ามจดสิทธิบัตร เพราะเป็นสารสกัดตามธรรมชาติ จุลชีพ การใช้เพื่อการบำบัดรักษา และสิ่งที่ฝ่าฝืนต่อศีลธรรมอันดี อนามัย หรือสวัสดิภาพของประชาชน

นอกจากนั้นกรมทรัพย์สินทางปัญญายังสามารถยกเลิกโดยอาศัยเงื่อนไขตาม มาตรา 5 ที่ว่าด้วยคุณสมบัติของสิ่งประดิษฐ์ที่สามารถจดสิทธิบัตรได้ ซึ่งต้องมีความใหม่ และมีนวัตกรรมที่สูงขึ้น แต่กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับไม่ยกเลิกคำขอเหล่านี้ทิ้งไป ปล่อยให้คำขอเหล่านี้อยู่ในระบบจนถึงเวลานี้

ขอคำตอบจาก 5 คำถาม ข้างต้นนี้ จาก “พรรคพลังประชารัฐ”ในเรื่องกัญชานี้ ให้ประชาชนได้ทราบความจริงนี้ก่อนจะตัดสินใจได้ว่าพรรคการเมืองนี้จะเป็นพรรคที่มีนโยบายใช้กัญชากู้ชาติเพื่อประโยชน์ของประชาชน หรือเป็นพรรคที่มีนโยบายใช้กัญชาขายชาติ ปล้นประเทศไทยกันแน่?

ท่านผู้อ่านลองพิจารณา 5 คำถามข้างต้นว่าเป็นคำถามที่มีการเชื่อมโยงสัมพันธ์ถึงกัน โดย 2 คำถามแรก เป็นการปูพื้นจากภาพที่คนเห็นและตั้งคำถาม และที่สองคำถามนั้นเกิดขึ้น เพราะเกิดคำถามใน 3 ข้อหลัง ดังนั้นหากเลือกตอบแบบไม่ครบ หรือตอบไม่ชัดเจน ก็อาจจะทำให้ประชาชนหลงประเด็นไปได้ จริงหรือไม่?

ซึ่งน่าสนใจว่าคำตอบของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์นั้น เลือกตอบเฉพาะ 2 คำถามแรก ซึ่งเป็นคำถามปูพื้น แต่กลับไม่ตอบอีก 3 คำถามหลัง ซึ่งเป็นคำถามชี้ขาดการตัดสินใจเรื่องสำคัญของชาติบ้านเมือง
โดย นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ปรากฏป็นข่าวในหลายสำนักข่าว เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2561 ความว่า

“ไม่มีความเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกันตามที่นายปานเทพ กล่าวหา ตนเองไปประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร เมื่อวันที่ 5 มีนาคม ที่ผ่านมา ที่ จ.เพชรบุรี และได้เข้าเยี่ยมชมบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เนื่องจากเป็นบริษัทที่ตั้งอยู่ในเมืองนวัตกรรมอาหารและมีการทำวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมทางด้านอาหารทางการแพทย์ ในโรงงานดังกล่าวมีการผลิตผลิตภัณฑ์อยู่ 2 กลุ่มใหญ่ คือน้ำเกลือและอาหารทางการแพทย์ และบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เป็นลูกค้าของโครงการเมืองนวัตกรรมอาหาร หรือ ฟู้ดอินโนโพลิส ภายใต้สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ซึ่งเป็นการดูงานปกติก่อนประชุมคณะรัฐมนตรีและมีหลายหน่วยงานที่ตนเองไปตรวจเยี่ยม

ส่วนที่มีการระบุว่าบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด มีการพัฒนายาร่วมกับบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา จำกัดนั้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง บริษัท โอซูกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ไทยโอซูก้า ประเทศไทยและงานวิจัยนี้ได้ยกเลิกไปตั้งแต่ปี 2560 เนื่องจากผลการทดลองด้านการศึกษาทางการแพทย์หรือการทดลองทางคลินิก (Clinical trial) ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ไม่ประสบความสำเร็จ แต่ไม่เกี่ยวกับเรื่องกัญชา

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่า ตนเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการขอจดสิทธิบัตรเกี่ยวกับกัญชาในทุกๆ ทาง โดยรูปถ่ายการเข้าเยี่ยมบริษัทดังกล่าว เป็นเรื่องปกติ ไปเยี่ยมชมโรงงานก็มีการถ่ายรูปที่ระลึกกันธรรมดา นายปานเทพ อย่าจินตนาการสูง”

การที่ท่านรัฐมนตรีสุวิทย์ เมษินทรีย์ ทักท้วงว่านายปานเทพอย่าจินตนาการสูงนั้น ความจริงจะเป็นเช่นไรกันแน่ จึงขอเชิญท่านผู้อ่านมาแสวงหาความจริงนับตั้งแต่บรรทัดต่อไปนี้เป็นต้นไป

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ตอบคำถามที่จะพยายามให้ครอบคลุมเพียง 2 คำถามแรกจาก 5 คำถามเท่านั้น แต่เฉพาะที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เลือกตอบ 2 คำถามแรกที่ปรากฏข้อความขีดเส้นใต้นั้น นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ช่วยแก้ต่างใน 2 ประเด็น คือ

ประเด็นที่หนึ่ง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ แก้ต่างว่า บริษัท โอซูกะ ที่ประเทศญี่ปุ่นที่ทำงานร่วมกันกับบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มานั้น ไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ไทยโอซูก้า ประเทศไทย

และประเด็นที่สอง นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ แก้ต่างว่า บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา จำกัดนั้น ทำงานร่วมกับ บริษัท โอซูกะ ประเทศญี่ปุ่นในการพัฒนายานั้น ไม่เกี่ยวกับเรื่องกัญชา

อย่างไรก็ตามสำหรับในประเด็นแรกนั้น สำนักข่าวอิศราได้เปิดเผยข้อมูลเมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2561 ไปในอีกทางหนึ่ง ความว่า :

“สำหรับข้อมูลบริษัทไทยโอซูก้านั้น จากการตรวจสอบพบว่า จดทะเบียนจัดตั้งในประเทศไทย เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2516 ทุน 35 ล้านบาท ตั้งอยู่ที่ 323 อาคารยูไนเต็ด เซ็นเตอร์ ชั้น 15 ห้อง 1501-1502 ถนนสีลม แขวงสีลม เขตบางรัก กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจ ยารักษาโรค อาหารทางการแพทย์ ปรากฎชื่อ นายธนัญ สันตโยดม นายชินสึเกะ ยุอาสะ เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ รายชื่อผู้ถือหุ้น ณ20 มีนาคม 2561 บริษัท โอซูก้า ฟาร์มาซูติคอล คัมปะนี ลิมิเต็ด ถือหุ้นใหญ่สุด 30% สัญชาติญี่ปุ่น”

“จากการตรวจสอบพบว่า บริษัท ไทยโอซูก้า มีบริษัทแม่ ชื่อว่า Otsuka Holding สำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศญี่ปุ่น โดยข้อมูลบริษัท Otsuka Holding ที่ปรากฎบนเว็บไซต์ asia.nikkei.com ระบุว่า เมื่อเดือน ธ.ค. 2560 บริษัทแจ้งว่ามีรายได้ 11,057 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (364,593,518,000 บาท) มีสินทรัพย์รวม22,017.36 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (725,988,558,000 บาท) มีหนี้สินรวม 5,843.79 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (192,700,056,000 บาท)”

ถ้าข้อมูลตามที่สำนักข่าวอิศราเป็นความจริง ก็แสดงให้เห็นว่า ไทยโอซูก้า มีฐานะเป็นบริษัทในเครือของบริษัทญี่ปุ่นคือ โอซูก้า โฮลดิ้ง จริงหรือไม่? และบริษัท ไทยโอซูก้านั้น มีบริษัท โอซูก้า ฟาร์มาซูติคอล คัมปะนี ลิมิเต็ด สัญชาติญี่ปุ่น ถือหุ้นใหญ่สุดถึง 30% จริงหรือไม่?

ถ้าเป็นเช่นนั้น การแก้ต่างในประเด็นแรก ของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ที่ว่าความร่วมมือระหว่างบริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา จำกัดนั้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง บริษัท โอซูกะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับบริษัท ไทยโอซูก้า ประเทศไทยเลย เป็นเรื่องจริงหรือเท็จกันแน่?

มีหรือที่ระดับนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ จะไม่รู้ว่าความจริงแล้วไทยโอซูก้า กับโอซูก้าที่ญี่ปุ่นเกี่ยวพันกัน หรือไม่อย่างไร? เพราะภายหลังที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้เข้าเยี่ยมบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัดเมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561 แล้ว นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ยังได้โพสต์ในเฟสบุ๊คเมื่อวันที่ 6 มีนาคม 2561 เวลา 13.59 น. กล่าวถึงการเข้าเยื่ยมบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด ซึ่งมีความสัมพันธ์กับบริษัท โอซูก้า ประเทศญี่ปุ่น ความว่า :

“บริษัท “โอซูก้า” เป็นหนึ่งในกลุ่มผู้นำบริษัทยา ที่มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของญี่ปุ่น มีรายได้กว่า 350,000 ล้านบาท ในปี 2560 มุ่งเน้นผลิตสินค้าเพื่อดูแลสุขภาพแบบองค์รวมในผู้ป่วย โดยในช่วง 2559 ท่านรองนายกฯ ดร.สมคิด และผม ได้มีโอกาส ผู้บริหารบริษัทฯ และเชิญชวนมาร่วมใน Food Innopolis ของไทย ซึ่งได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีครับ ปัจจุบัน “ไทยโอซูก้า”ได้อยู่ใน Food Innopolis...”

ส่วนประเด็นที่สอง กรณีที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ชี้แจงว่า บริษัท จีดับเบิลยู ฟาร์มา จำกัดนั้น เป็นการทำงานร่วมกันระหว่าง บริษัท โอซูกะ ประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่เกี่ยวกับกัญชา จริงหรือไม่? ก็ขอให้ท่านผู้อ่านติดตามในประเด็นที่จะนำเสนอต่อไปนี้

ในระหว่างที่ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ คือระหว่างวันที่ 19 สิงหาคม 2558 ถึง วันที่ 15 ธันวาคม 2559 นั้น ในช่วงเวลานั้นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์คือ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ คำถามมีอยู่ว่าในช่วงเวลานั้นใครเป็นผู้ดูแลกรมทรัพย์สินทางปัญญา?

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ในช่วงเวลานั้น ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องกรมทรัพย์สินทางปัญญา ใช่หรือไม่?

เพราะบังเอิญว่าในช่วงเวลาที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์นั้น บังเอิญว่ากรมทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสังกัดกระทรวงพาณิชย์ ได้มีการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรเกิดขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเกี่ยวข้องกับสารสกัดกัญชา หรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้จริงหรือไม่?

คำขอหนึ่ง คือ เลขที่คำขอ 1301003751เลขที่ประกาศโฆษณา 153710 ลงวันที่ 30 มิถุนายน 2559 ซึ่งยังเป็นช่วงเวลาที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อยู่ จริงหรือไม่?

อีกคำขอหนึ่ง คือ เลขที่คำขอ 1401001619เลขที่ประกาศโฆษณา 156801 ลงประกาศโฆษณาวันที่ 28 กันยายน 2559 ก็ยังเป็นช่วงเวลาที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์อยู่อีกเช่นกัน ใช่หรือไม่?

และทั้ง 2 คำขอข้างต้นนั้น ท่านรัฐมนตรีสุวิทย์ เมษินทรีย์ ช่วยบอกประชาชนให้ทราบหน่อยว่า ผู้รับขอสิทธิบัตร 2 คำขอที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดกัญชาหรือการนำสารสกัดกัญชาไปใช้นั้น มีชื่อ 2 บริษัทร่วมกันขอทั้ง 2 คำขอใช่หรือไม่ และมีชื่อเดียวกันทั้ง 2 คำขอด้วย ใช่หรือไม่?

รายหนึ่งชื่อ “จีดับเบิลยู ฟาร์มา ลิมิเต็ด” ใช่หรือไม่?

อีกรายหนึ่งเขียนชื่อว่า “โอซึกะ ฟาร์มาคิวติคอล คอมปะนี ลิมิเต็ด” ใช่หรือไม่?

ใครคนไหนที่ออกมาบอกว่า 2 บริษัทนี้ร่วมกันพัฒนายา แต่ไม่เกี่ยวกับกัญชา ช่วยออกมาอธิบายการประกาศโฆษณาคำขอสิทธิบัตรทั้ง 2 ฉบับให้ประชาชนทราบหน่อยได้ไหม ว่าความจริงเป็นอย่างไรกันแน่

โดยเฉพาะชื่อหลังที่อ่านออกเสียงว่า “โอซึกะ” มาจากภาษาอังกฤษว่า “Otsuka” ใช่หรือไม่? ถ้าใช่ก็สามารถอ่านออกเสียงว่าเป็น โอซูกะ หรือ โอซูก้า ได้ด้วย ใช่หรือไม่?

ชื่อดังกล่าวบังเอิญเหมือนกันอย่างร้ายกาจหรือไม่ ที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้เข้าเยี่ยมบริษัท ไทยโอซูก้า จำกัด เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2561ซึ่งสะกดชื่อคำว่าโอซูก้าด้วยภาษาอังกฤษว่า “Otsuka” เหมือนกัน !!!

ส่วนอีกประเด็นหนึ่งที่นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ยังไม่ได้ตอบคำถาม ก็คือคำถามที่ 4 ที่ได้ตั้งคำถามว่า เมื่อ 1 ปีก่อนหน้านี้ใครคือผู้อยู่เบื้องหลังความพยายามให้คณะรักษาความสงบเรียบร้อยแห่งชาติ (คสช.) ใช้มาตรา 44 เพื่อออกสิทธิบัตรยาที่ค้างกว่า 3,000 รายการ? และในจำนวนนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับกัญชาในทางการแพทย์ด้วยใช่หรือไม่?

เพราะถึงเวลานี้เราอาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าใครคือ “ไอ้โม่ง” ที่เป็นต้นเรื่องทำให้มติ คสช.เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 ออกมาว่าเตรียมจะใช้มาตรา 44 เพื่อเร่งออกสิทธิบัตรที่คงค้างอยู่ และในจำนวนนั้นมีเรื่องเกี่ยวกับกัญชาในทางการแพทย์ด้วยใช่หรือไม่?

แต่มีข้อความที่น่าสนใจของนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้โพสต์ในเฟสบุ๊คตัวเองเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2558 เวลา 18.05 น. ว่ามีความห่วงใยภาพลักษณ์ของไทยในสายตาต่างชาติเกี่ยวกับการคั่งค้างสิทธิบัตร ในหัวข้อ “ปลดล็อค คำขอจดทะเบียน IP ค้างกว่า 100,000 รายการ: พาณิชย์จับมือ ก.พ. กพร. กรมบัญชีกลาง แก้ปัญหาคำขอจดสิทธิบัตร ครื่องหมายการค้าคั่งค้าง” ใช่หรือไม่ ด้วยข้อความบางตอนดังต่อไปนี้?

“...ตัวชี้วัดที่บอกว่าไทย “ยังทำได้ไม่ดี” ได้แก่ ไทยยังคงอยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องถูกจับตามองเป็นพิเศษ (PWL) ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่จัดทำโดยสหรัฐอเมริกา ซึ่งส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการจัดอันดับ “Ease of Doing Business” ของ World Bank ที่ได้ประกาศผลไปแล้วเมื่อวันก่อน (ไทยอยู่ในอันดับ 49 จาก 189 ประเทศ)....ยังส่งผลต่อไปถึงการจัดอันดับ Global Competiveness Index ด้านทรัพย์สินทางปัญญา ที่ไทยอยู่อันดับที่ 72 จาก 144 ประเทศทั่วโลก

นั่นคือ “ปฏิกิริยาลูกโซ่” จาก “คำขอทะเบียนที่คั่งค้าง” ส่งผลถึง “ความง่ายในการทำธุรกิจ” และ “ความสามารถเชิงแข่งขัน” ของประเทศไทย”

และนายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ได้โพสต์ในตอนท้ายเอาไว้อย่างน่าจับตายิ่งความตอนหนึ่งว่า

“ซึ่งผมจะพยายามจะแก้ปัญหานี้อย่างรอบด้านเพื่อให้ปัญหางานค้างสะสมหมดสิ้นไป”

ท่านผู้อ่านลองพิจารณาดูว่าตกลงแล้วนายปานเทพจินตนาการมากเกินไป หรือ นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ ตอบไม่เคลียร์กันแน่!!!

เชื่อมั่นว่าคนไทยทุกคนกำลังตั้งตารอคำตอบเรื่องนี้ก่อนถึงวันเลือกตั้งแน่นอน !!!!

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต


กำลังโหลดความคิดเห็น