ตลาดเงินดิจิทัลเกิดความระส่ำระสายอย่างหนัก หลังจากราคา “บิทคอยน์” ทรุดฮวบลงจากระดับ 1.97 ดอลลาร์สหรัฐต่อเหรียญ เมื่อเดือนธันวาคมปี 2560 เหลือเพียง 3,767 ดอลลาร์ต่อเหรียญ หลุดทุกแนวรับทางเทคนิค จนไม่อาจคาดการณ์ทิศทางได้
บิทคอยน์ถือเป็นเงินสกุลดิจิทัลตัวแม่ที่ได้รับความนิยมสูงสุด และทำให้เกิดเงินดิจิทัลสกุลอื่นๆ ตามมา เมื่อบิทคอยน์เกิดความปั่นป่วน จึงฉุดให้เงินดิจิทัลทุกสกุลก้าวสู่จุดวิกฤต
กระแสการต่อต้านบิทคอยน์จากหน่วยงานกำกับดูแลตลาดทุนในหลายประเทศ โดยการออกมาตรการกำกับดูแลอย่างเข้มข้น ประกาศเตือนถึงความเสี่ยงจากเงินดิจิทัล ทำให้กระแสความคลั่งเก็งกำไรเงินดิจิทัลถูกบั่นทอนลง จนนักลงทุนเริ่มถอยฉาก
ขณะที่บิทคอยน์ได้แตกตัวเป็นสกุลที่แยกย่อย ทำให้นักลงทุนเกิดความไม่เชื่อมั่น จุดชนวนให้เกิดการเทขาย ฉุดให้ราคาร่วงผล็อย
ในช่วงที่กระแสเก็งกำไรร้อนแรง มีการคาดการณ์ว่า ราคาบิทคอยน์จะพุ่งไปถึง30,000 ดอลลาร์ต่อเหรียญ แต่หลังจากเดือนกุมภาพันธ์ 2561 ราคาบิทคอยน์ตกลงตลอด นับจากราคา 1.97 หมื่นดอลลาร์ต่อเหรียญ ใครเข้าไปจับไว้ เจ็บตัวกันหมด
และถ้าไม่ชิงตัดขาด ยิ่งเจ็บหนัก โดยเฉพาะนักลงทุนที่ยังถือติดมือไว้ เพราะราคามีแนวโน้มที่จะหล่นลงก้นเหว
แม้ราคาจะตกลงมาเหลือ 3,767 ดอลลาร์ แต่มูลค่าตามราคาตลาดหรือมาร์เก็ตแคปของบิทคอยน์ยังอยู่ที่ 65.42 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
ปริมาณบิทคอยน์ที่หมุนเวียนในตลาดมีจำนวนประมาณ 17.4 ล้านเหรียญ และเหลือบิทคอยน์ให้นักขุดอีกประมาณ 3.6 ล้านเหรียญ และคำนวณกันว่า จะใช้เวลาอีกประมาณ 20 ปีจึงขุดหมด
การร่วงหล่นของบิทคอยน์ ทำให้นักขุดหน้าใหม่ สายป่านไม่ยาวพอ ต้องถอดใจ ขายเครื่องทิ้ง ยอมตัดขาดทุน เพราะขุดต่อไปไม่คุ้มกับค่าไฟ แต่นักขุดรุ่นเก่าที่ถอนทุนได้แล้ว ยังก้มหน้าก้มตาขุดหาต่อ
ราคาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ขุดบิทคอยน์ เคยขึ้นไปถึงเครื่องละ 120,000 บาท แต่ปัจจุบันลงมาเหลือเพียงเครื่องละ 15,000 -18,000 บาทเท่านั้น
บริษัทผู้ผลิตและจำหน่ายเครื่องขุดค้นบิทคอยน์ กอบโกยกำไรเต็มไม้เต็มมือ เพราะสินค้าขายดิบขายดี ในช่วงที่ตลาดมีความต้องการสูง แต่เมื่อบิทคอยน์เข้าสู่ขาลง ความต้องการของตลาดก็ลดลง ทำให้ต้องลดราคาและลดกำลังผลิตลง
ส่วนนักเก็งกำไร ตายกันเป็นเบือทั่วโลก
ประเทศไทยเคยหวั่นไหวกับผลกระทบจากการเก็งกำไรเงินดิจิทัลอยู่พักหนึ่ง ต้องเร่งศึกษาออกมาตรการกำกับดูแล และออกประกาศเตือนนักลงทุนถึงความเสี่ยงเป็นระยะๆ แต่ก็ยังมีผู้เสียหายจากการ “ลองดี” กับเงินสกุลใหม่ในโลกดิจิทัล ทั้งถูกโกง ถูกหลอก หรือเข้าไปลงทุนไว้
บริษัทในเครือบริษัท เจ มาร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ JMART เป็นบริษัทแห่งแรกและแห่งเดียว ที่สามารถออกเงินดิจิทัล ระดมทุนครั้งแรก ตีกินเงินจากประชาชนไปกว่า 600 ล้านบาท โดยเสนอขาย JFin Coin จำนวน100 ล้านเหรียญ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2561 และขายหมดเกลี้ยงภายใน 2 วัน
แต่ JFin Coin ปัจจุบันกลายเป็นคริปโทเคอร์เรนซีที่ตายซาก ไม่ได้รับความนิยมตั้งแต่วันแรกที่เข้าซื้อขายในตลาดรอง ราคาทรุดฮวบลงกว่า 50% เมื่อเทียบกับราคาที่เสนอขายประชาชน ที่สำคัญคือ ยังไม่มีธุรกรรมตามที่ประกาศไว้ในไวท์เปเปอร์ช่วงที่เสนอขาย และไม่รู้ว่า นักลงทุนจะฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายจากบริษัทที่ออก JFin Coin ได้หรือไม่
แม้ผู้เชี่ยวชาญบิทคอยน์ยังมีความเชื่อว่า เงินดิจิทัลตัวแม่จะกลับมาได้รับความนิยมในอนาคต และจะไม่ดับสูญจากโลกใบนี้ แต่ไม่รู้ว่า อีกนานเท่าไหร่ บิทคอยน์จะกลับมาได้รับความนิยมอีกครั้ง
ในระยะสั้น ไม่มีใครทำนายได้ว่า แนวโน้มราคาจะเป็นอย่างไร จะดิ่งลงลึกขนาดไหน เพราะแรงขายยังมีอยู่ และเป็นแรงขายด้วยความตื่นตระหนก และต้องการหนีตายจากบิทคอยน์
นักลงทุนทั้งโลกกำลังเข็ดเขี้ยวกับเงินดิจิทัล เพราะกระเป๋าฉีกไปตามๆ กัน แต่เงินสกุลนี้ยังหมุนเวียนในตลาด 17.4 ล้านเหรียญ และใครที่ถือไว้ กลายเป็น “ของร้อน” ไปเสียแล้ว เนื่องจากราคาอยู่ในภาวะหัวทิ่มหัวตำ และถูกประเมินว่า น่าจะถอยลงไปต่ำกว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ
ไม่มีสถิติข้อมูลว่า นักลงทุนไทยตกเป็นเหยื่อของการเก็งกำไรบิทคอยน์จำนวนเท่าใด แต่ไม่น่าจะมากมายเหมือนบางประเทศ
เพราะกระแสบิทคอยน์ในประเทศไทย บูมสนั่นในช่วงเวลาสั้นๆ ช่วงรอยต่อระหว่างปลายปี 2560 ถึงต้นปี 2561 เท่านั้น
ช่วงกระแสบิทคอยน์มาแรง รัฐบาล แบงก์ชาติ และสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ต้องออกประกาศเตือนถึงหายนะของการเก็งกำไรเงินดิจิทัลกันยกใหญ่
ถึงตอนนี้ไม่ต้องเตือนแล้ว เพราะมีแต่คนหนีตายจากเงินดิจิทัล