xs
xsm
sm
md
lg

การชกมวย : กีฬาที่จะต้องควบคุมเป็นพิเศษ

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง


“กีฬาชกมวยคือ การทำร้ายร่างกายผู้อื่น โดยไม่เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เนื่องจากมีความเป็นกีฬารองรับ” นี่คือวาทะของนักปราชญ์ท่านหนึ่ง ถ้าผู้เขียนจำไม่ผิดก็คือ อาจารย์เสถียร โพธินันทะ

โดยนัยแห่งวาทะข้างต้น เป็นคำนิยมคำว่า กีฬามวยได้อย่างชัดเจนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กีฬามวยอาชีพที่มุ่งการแพ้ชนะ โดยมีค่าตัวเงินรางวัล และเงินเดิมพันเป็นสิ่งจูงใจให้นักชกทุกคนขึ้นเวที เพื่อต้องการชนะเหนือคู่ต่อสู้ และที่เป็นเช่นนี้เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. นักมวยอาชีพส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน และชกมวยเพื่อหารายได้เลี้ยงตนเอง และครอบครัว ส่วนชื่อเสียงเป็นเพียงผลพลอยได้ จะมีอยู่ส่วนน้อยที่ชกมวยเป็นการกีฬา เพื่อหาชื่อเสียง โดยไม่คำนึงถึงรายได้ และนักชกประเภทนี้ส่วนใหญ่จะเป็นกีฬามวยสมัครเล่น

2. การชกมวยอาชีพ นอกจากจะมุ่งหวังต่อค่าตัว เงินรางวัล และเดิมพันแล้ว ยังมีการพนันแฝงเข้ามา

ดังนั้น การแพ้โดยจงใจจะแพ้หรือที่เรียกว่า การล้มมวย อันเกิดจากการว่าจ้างของนักพนันจึงเกิดขึ้น และเป็นที่มาของการก่ออาชญากรรม ลอบทำร้าย ทั้งแก่นักมวย เจ้าของค่าย หรือแม้กระทั่งนักพนันผู้ว่าจ้าง จึงเท่ากับว่ากีฬาชกมวยเป็นบ่อเกิดการพนัน และเป็นเหตุให้เกิดอาชญากรรมด้วย

3. เมื่อการชกมวยเป็นกีฬา การนำเด็กมาฝึกหัดเพื่อเป็นนักกีฬาจึงเกิดขึ้น และนำไปสู่การขึ้นเวทีเพื่อการแข่งขันในรูปแบบของมวยอาชีพ ทั้งๆ ที่เด็กอยู่ในวัยเรียน และร่างกายกำลังเจริญเติบโต จำเป็นต้องได้รับการดูแลจากพ่อ แม่ หรือผู้ปกครอง ทั้งในด้านร่างกาย และจิตใจ แต่ต้องมาขึ้นเวทีมวยอาชีพซึ่งต้องการแพ้ชนะกันอย่างจริงจัง เพื่อผลตอบแทนในรูปของค่าตัว เงินรางวัล และผลประโยชน์ของการพนัน เช่นเดียวกันกับนักชกผู้ใหญ่ บางครั้งก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นได้ ดังเช่นที่เกิดขึ้นกับนักมวยเด็กคนหนึ่ง ซึ่งถูกคู่ต่อสู้ชกล้มลงหัวฟาดพื้นเสียชีวิต ดังที่ปรากฏเป็นข่าวเมื่อสองอาทิตย์ที่ผ่านมา และจากข้อมูลส่วนตัวของเด็ก ซึ่งเปิดเผยทางสื่อปรากฏว่า เป็นเด็กกำพร้าพ่อ แม่ ชกมวยเพื่อหารายได้ส่งตัวเองเรียนหนังสือ ซึ่งฟังดูแล้วรู้สึกหดหู่ แต่ก็ทำให้รู้ว่าในยุคที่รองนายกฯ ผู้รับผิดชอบเคยบอกว่าคนจนจะหมดไปจากประเทศไทยในปี 61 แท้จริงแล้วยังมีคนยากจนที่ขาดคนเหลียวแล และต้องดิ้นรนเพื่อความอยู่รอด โดยยอมเจ็บตัวเพื่อแลกกับเงินเล็กน้อยเป็นค่าอยู่ ค่ากิน และค่าเล่าเรียน และสุดท้ายต้องมาเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ซึ่งเป็นเรื่องที่สังคมโดยรวม และรัฐบาลไม่ควรมองข้าม และจะต้องเข้ามาดูแลแก้ไขโดยเร็ว และด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เป็นธรรม และเป็นการถาวร มิใช่เพียงเพื่อการหาเสียงทางการเมือง โดยอาศัยเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแล้วประโคมข่าวการให้ความช่วยเหลือ เฉกเช่นไฟไหม้ฟาง ดังที่เคยเกิดขึ้น และเป็นมาในสังคมไทยดังในอดีตที่ผ่านมา

การนำเด็กขึ้นเวทีชกมวย จะแก้ไขอย่างไร และที่เกิดขึ้นแล้วใครควรจะรับผิดชอบ?

ก่อนที่จะตอบประเด็นแรกของปัญหาดังกล่าวข้างต้น ผู้เขียนใคร่ขอให้ท่านผู้อ่านลองย้อนไปดูการฝึกนักกีฬาทุกประเภท รวมทั้งกีฬามวยด้วย ก็จะพบว่า นักกีฬาทุกประเภทจะเก่งได้ จะต้องฝึกการเล่นกีฬาประเภทนั้นๆ ตั้งแต่วัยเด็ก เนื่องจากฝึกง่าย และปกครองให้อยู่ในระเบียบวินัยได้ง่ายกว่าผู้ใหญ่ และเมื่อได้รับการฝึกหัดได้ในระดับหนึ่ง ก็จะต้องมีการแข่งขันเพื่อการทดสอบ และพัฒนาเทคนิคในการเล่น

แต่กีฬามวยจะต้องมีข้อยกเว้นในการแข่งขัน เพื่อการทดสอบสำหรับผู้ที่อยู่ในวัยเด็ก เนื่องจากร่างกายทนความเจ็บปวดได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ และที่สำคัญการป้องกันตนเองจากอาวุธของคู่ต่อสู้ ทำได้ไม่ดีพอ ดังนั้น ถ้าจำเป็นต้องให้นักมวยเด็กขึ้นชกเพื่อการทดสอบ ก็ควรจะสวมเครื่องป้องกันอวัยวะที่เป็นจุดอันตราย เช่น ศีรษะ เป็นต้น และนวมที่จะใช้ควรจะได้มีการออกแบบเพื่อลดความรุนแรงของน้ำหนักหมัดลง

ส่วนประเด็นที่ว่า ใครควรจะเป็นผู้รับผิดชอบในกรณีที่เกิดขึ้นแล้วนั้น ถ้าพิจารณาในแง่กฎหมายแล้ว ไม่น่าจะมีใครผิด เนื่องจากไม่มีข้อห้ามเด็กชกมวย และไม่มีข้อบังคับใดๆ ระบุให้เด็กสวมเครื่องป้องกัน

แต่ถึงกระนั้น ก็มีข้อควรตำหนิเกี่ยวกับการขาดสำนึกในการนำเด็กมาขึ้นเวทีแข่งขัน และการขาดวิจารณญาณในการปล่อยให้นักมวยที่ไม่อยู่ในภาวะที่จะต่อสู้ทำการชกต่อไป แทนที่จะยุติ
กำลังโหลดความคิดเห็น