xs
xsm
sm
md
lg

เติมเงินใส่บัตร เติมคะแนนให้พรรค

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


มิลตัน ฟรายด์แมน นักเศรษฐศาสตร์เจ้าของรางวัลโนเบล บัญญัติศัพท์ “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” ขึ้นเมื่อ 50 ปีก่อน โดยเสนอให้ธนาคารกลางพิมพ์เงินแจกให้ถึงมือประชาชนโดยตรง ไม่ต้องผ่านกลไกดอกเบี้ยหรือนโยบายการเงิน เมื่อประชาชนได้รับเงิน ก็เชื่อว่า จะนำไปจับจ่ายใช้สอย กระตุ้นเศรษฐกิจให้ฟื้นตัว

ประเทศไทยใช้เงินเฮลิคอปเตอร์กระตุ้นเศรษฐกิจมานานแล้ว ใช้ชื่อต่างๆ กัน ครั้งแรกเลยเรียกว่า โครงการเงินผัน สมัยรัฐบาล ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2517 จ้างชาวบ้านขุดสระ ซ่อนถนน สร้างสะพาน แลกกับเงินค่าจ้าง

โครงการมิยาซาว่า ในสมัยรัฐบาลชวน หลีกภัย ปี 2542 หลังวิกฤตต้มยำกุ้ง ใช้เงินกู้จากญี่ปุ่น 53,000 ล้านบาท กระจายสู่ท้องถิ่น จ้างงาน และแจกฟรีให้กับเด็กและคนชรา

โครงการกองทุนหมู่บ้านสมัยรัฐบาลไทยรักไทย โครงการไทยเข้มแข็ง ยุครัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มีการแจกเช็คช่วยชาติ 2,000 บาทให้กับผู้ที่มีรายได้ต่ำกว่า เดือนละ 15,000 บาทที่อยู่ในระบบประกันสังคม

เมื่อลุงตู่ขึ้นเฮลิคอปเตอร์โปรยเงินก้อนใหญ่ 86,994 ล้านบาท ให้กับประชาชนผู้มีรายได้น้อยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ข้าราชการบำนาญ และชาวสวนยาง จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยก็ทำกันแบบนี้ เพียงแต่ว่า คราวนี้เงินเฮลิคอปเตอร์ถูกโปรยลงมาในจังหวะที่กำลังจะมีการเลือกตั้ง และพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช.และนายกรัฐมนตรี แสดงเจตนาชัดเจนแล้วว่า ลุงตู่จะอยู่ต่อการโปรยเงินเฮลิคอปเตอร์ครั้งนี้ จึงเป็นมาตรการทูอินวัน หวังผลสองทาง ทางตรง เป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจให้ประชาชนที่มีรายได้น้อย มีเงินไปจับจ่ายใช้สอยในช่วงเทศกาลปีใหม่ รักษาโมเมนตั้มการบริโภคภาคเอกชน ที่ตามตัวเลขของสภาพัฒน์ขยับตัวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ และเพิ่มขึ้นสูงสุดในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา เพื่อชดเชยรายได้จากการส่งออกและท่องเที่ยวที่อาจจะชะลอตัวลง

ผลทางอ้อม ที่แม้รัฐบาลจะปฏิเสธว่า ไม่ใช่ ก็คงไม่มีใครเชื่อก็คือ ผลทางการเมืองต่อการเลือกตั้งที่กำลังจะมีขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ปีหน้า

เกือบครึ่งหนึ่งของเงินเฮลิคอปเตอร์ มีเป้าหมายที่ผู้มีรายได้น้อยถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 14.5 ล้านคน วงเงิน 38,730 ล้านบาท ประกอบด้วย 1. ค่าใช้จ่ายคนละ 500 บาทเพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ใช้จ่ายช่วงปลายปี โดยให้ถอนเงินออกจากบัตรได้ 2. ช่วยเหลือค่าน้ำ ค่าไฟผู้มีรายได้น้อย 10 เดือน ระหว่างธันวาคม 2561-กันยายน 2562 โดยโอนเงินค่าไฟเดือนละ 230 บาท และค่าน้ำประปา 100 บาท ต่อครัวเรือน/เดือน 3. ช่วยเหลือค่าเช่าบ้าน 10 เดือน ระหว่างธันวาคม 2561-กันยายน 2562 เดือนละ 400 บาท เฉพาะผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และ 4. ช่วยเหลือค่าเดินทางรักษาพยาบาลผู้สูงอายุ 65 ปีขึ้นไป คนละ 1,000 บาท โดยได้รับในเดือนธันวาคม

อีก 18,000 ล้านบาท เป็นเงินช่วยเหลือชาวสวนยางที่ประสบปัญหาราคายางตกต่ำ โดยจ่ายให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้ไร่ละ 1,800 บาท ไม่เกิน 15 ไร่ แบ่งกันระหว่างเจ้าของสวนกับคนกรีดยาง ในอัตราเจ้าของสวนได้ไร่ละ 1,100 บาท คนกรีดยางรับ 700 บาท

ข้าราชการบำนาญเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับเงินช่วยเหลือ โดยข้าราชการบำนาญที่ได้รับบำนาญไม่ถึงเดือนละ 10,000 บาท จะได้รับเพิ่มเป็น 10,000 บาท ข้าราชการบำนาญที่อายุเกิน 70 ปีขึ้นไป ได้เงินบำเหน็จดำรงชีพเพิ่มจาก 4 แสนบาท เป็น 5แสนบาท

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ถือว่าเป็นโครงการของรัฐบาล คสช.เพราะเกิดขึ้นในรัฐบาลนี้ โดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เติมเงินเข้าบัตรถึงมือประชาชนโดยตรงเดือนละ 200-300 บาท นอกเหนือจากขึ้นรถเมล์ รถไฟ รถ บขส.ฟรี

การนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ ทำให้รัฐมีฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้ถือบัตร รู้ว่า เป็นใคร อยู่ตรงไหน สามารถนำข้อมูลเหล่านี้ไปใช้ประโยชน์ได้

การที่รัฐบาลเพิ่มเงินอีก 1,000 บาท ให้กับผู้ถือบัตรที่มีอายุเกิน 65 ปีขึ้นไป เพื่อเป็นค่าเดินทางไปรักษาพยาบาล แสดงว่า รัฐบาลเลือกที่จะเจาะคนกลุ่มนี้ซึ่งมีอยู่ 3.5 ล้านคน จะอ้างว่า เพราะเห็นใจคนชราที่มีรายได้น้อยก็ตาม แต่ถ้าสามารถทำให้คนรุ่นเก่า 3.5 ล้านคนไปใช้สิทธิลงคะแนนเลือกตั้งได้ ไม่ว่าจะเลือกพรรคไหน ก็น่าจะมีผลต่อการเลือกตั้งไม่น้อยไปกว่าคนรุ่นใหม่ ที่มีสิทธิเลือกตั้งครั้งแรกประมาณ 7-8 ล้านคน

อยู่ที่ว่าจะสื่อสารกับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเหล่านี้อย่างไรว่า เติมเงินใส่บัตรให้ท่านแล้ว อย่าลืมเติมคะแนนให้พรรคที่สนับสนุนลุงตู่ด้วยนะ จะได้มีเงินเติมใส่บัตรอีกในปีต่อๆ ไป


กำลังโหลดความคิดเห็น