xs
xsm
sm
md
lg

ชงแก้ร่าง กม.ยาเสพติด4ข้อ คลายล็อกกัญชารอบคอบ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"ปานเทพ" นำคณะเครือข่ายกัญชาเพื่อการแพทย์ ยื่นหนังสือปธ.สนช. แก้ร่างพ.ร.บ.ยาเสพติด พร้อมแนะ 4 ข้อ ไม่ให้ผูกขาดใช้ประโยชน์ ยกเลิกจดสิทธิบัตร ปลดล็อคการใช้กัญชาให้แพทย์แผนไทย ด้าน “BIOTHAI” แฉคู่มือตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร ใช้แนวทางสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น เอื้ออุตสาหกรรมยา เหตุสารธรรมชาติที่ถูกทำให้บริสุทธิ์ ไม่ถือเป็นสารธรรมชาติให้รับจดได้ ขัดต่อกฎหมายหลักของไทย ซัดเป็นคู่มือขายทรัพยากรประเทศ

วานนี้ (22 พ.ย.) นายปานเทพ พัวพงษ์พันธ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายประชาสังคมกัญชาเพื่อการแพทย์สำหรับประชาชน พร้อมด้วยสมาชิกเครือข่ายฯ ได้ยื่นหนังสือถึง ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ผ่าน นายสมชาย แสวงการ วิป สนช. เพื่อขอให้แก้ไขปรับปรุง ร่าง พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่...) พ.ศ... ฉบับเสนอโดยสมาชิกสนช. จำนวน 44 คน ตามข้อเสนอของเครือข่ายประชาสังคมกัญชาทางการแพทย์สำหรับประชาชน โดยมีการยื่นแถลงการณ์เครือข่ายฯ เมื่อวันที่16 พ.ย.ที่ผ่านมา จำนวน 2 ฉบับ

ทั้งนี้ทางเครือข่ายมีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาลและสนช. รวม 4 ข้อ คือ

1. ให้พิจารณาไม่ให้เกิดการผูกขาดการใช้ประโยชน์จากกัญชาไว้เฉพาะทางราชการ หรือต่างชาติ หรือเอกชนรายใดรายหนึ่งโดยเด็ดขาด และต้องให้ผู้ป่วย ประชาชน และเอกชน มีสิทธิทำทุกกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นการทั่วไป

2. ให้ยกเลิกคำขอการจดสิทธิบัตรกัญชาทุกฉบับโดยทันที

3. หยุดสร้างอุปสรรคขัดขวางการสร้างนวัตกรรม และการวิจัย รวมถึงการใช้ข้ออ้างเรื่องงานวิจัยเพื่อขัดขวางการใช้ประโยชน์ของกัญชาในทางการแพทย์

4.ปลดล็อกการใช้กัญชาให้แพทย์แผนไทย เพื่อสืบสานมรดกการแพทย์ภูมิปัญญาพระราชทานจากบุรพมหากษัตริย์ไทย และรัฐมีหน้าที่ต้องทำตามรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 มาตรา 55 ในอันที่จะส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการพัฒนาภูมิปัญญาด้านการแพทย์แผนไทยให้เกิดประโยชน์

นายปานเทพ กล่าวว่า การให้ความเห็นชอบร่างดังกล่าวในขณะที่ยังมีการปล่อยให้มีการจดสิทธิบัตรสารสกัด การผลิต และวิธีการใช้สารสกัดกัญชา เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์เป็นการล่วงหน้านั้น เป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับนักวิจัย และกลุ่มทุนต่างประเทศเท่านั้น เป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 27 จึงขอให้แก้ไขใน มาตรา 3 และ มาตรา 6 โดยให้เพิ่มข้อความ...เป็นไปเพื่อประโยชน์ในทางการแพทย์ สำหรับประชาชนเป็นการทั่วไป และได้รับใบอนุญาตจากผู้อนุญาต โดยตัดข้อความ "เฉพาะในกรณีจำเป็นเพื่อประโยชน์ของทางราชการ" ออก และ บัญญัติเพิ่ม (3) ในมาตรา 19 สถาบันอุดมศึกษาของรัฐ หรือเอกชน ซึ่งทำการศึกษาวิจัย หรือจัดการเรียนการสอนในทางการแพทย์ หรือเภสัชกรรม อีกทั้งการกำหนดเขตพื้นที่ในการทดลองเพาะปลูก ต้องไม่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ขอรับใบอนุญาตตามมาตรา 16,18 และ 19

อีกด้าน มูลนิธิชีววิถี (BIOTHAI) โพสต์รูปภาพและข้อความผ่านเฟซบุ๊กเพจ BIOTHAI ถึงเรื่องสิทธิบัตรกัญชา ว่า เบื้องหลังปัญหาสิทธิบัตรกัญชา ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญารับคำขอสิทธิบัตรสารสกัดกัญชาของบริษัทต่างชาติเป็นจำนวนมาก มาจากแนวทางปฎิบัติของกรมทรัพย์สินทางปัญญาที่ขัดต่อ พ.ร.บ.สิทธิบัตร มาตรา 9(1) ซึ่งระบุอย่างชัดเจนว่าห้ามการจดสิทธิบัตรใน "สารสกัดจากสัตว์หรือพืช"

แต่ในคู่มือ "การตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตรการประดิษฐ์และอนุสิทธิบัตร ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี 2555" ของสำนักสิทธิบัตร กรมทรัพย์สินทางปัญญา กลับดำเนินการรับคำขอสิทธิบัตรที่ขัดต่อกฎหมายเสียเอง กล่าวคือไปใช้แนวปฏิบัติ การให้สิทธิบัตรของสหรัฐ ยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งทราบกันดีว่าเป็นแนวปฏิบัติที่เอื้อประโยชน์ต่ออุตสาหกรรมยาของพวกเขา

ในคู่มือดังกล่าวของกรมทรัพย์สินทางปัญญา หน้า 29 ระบุว่า "ผลิตภัณฑ์ตามธรรมชาติที่ถูกทำให้บริสุทธิ์ USPTO EPO JPO ไม่ได้ถือว่าเป็นผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ หรือการค้นพบ เพราะว่าสารเหล่านี้ไม่ได้มีอยู่ในธรรมชาติในรูปลักษณะที่บริสุทธิ์"

นี่คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่กรมทรัพย์สินทางปัญญาปล่อยให้ต่างชาติเข้ามายื่นขอจดสิทธิบัตรกัญชา ที่เอื้อต่อบริษัทยาต่างชาติเป็นจำนวนมาก โดยขัดต่อกฎหมาย
กำลังโหลดความคิดเห็น