xs
xsm
sm
md
lg

ทุ่ม1.8หมื่นล้านอุ้มยาง เคาะจ่ายไร่ละ1,800บาท

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360- ครม.ทุ่ม 1.8 หมื่นล้าน แก้ปัญหาราคายาง เคาะจ่ายไร่ละ1,800 บาท นายกฯ ยันจะทยอยช่วยเหลือ วอนอย่าก่อม็อบประท้วง ต้องปรับตัวเข้าใจการลงทุนด้วย ด้าน"ประธานเครือข่ายยาง" แนะ นายกฯ ใช้ ม. 44 สั่งทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์

นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี และโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมครม.ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการ ในการช่วยเหลือผู้กรีดยางในพื้นที่กรีดยาง ที่เปิดให้กรีดไร่จริง 1,800 บาท ไม่เกินรายละ 15ไร่ แบ่งเป็นของเจ้าของสวนยางได้ 11,00 บาท คนกรีดได้ 700 บาท โดยอนุมัติงบประมาณ18,604.95 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม จะต้องนำเรื่องเข้าหารือในคณะกรรมการนโยบายยางธรรมชาติ (กนย.) ทั้งนี้ ยังมีพื้นที่ที่ไม่ลงทะเบียน และไม่มีเอกสารสิทธิ์อีกประมาณ 4 ล้านไร่ ในส่วนนี้ กระทรวงกระเกษตรฯ และสำนักงานกฤษฎีกา กำลังหารือว่า จะมีช่องทางอย่างไรในการช่วยเหลือ

นายกฤษฏา บุญราช รมว.เกษตรฯ กล่าวถึงเรื่องนี้ ว่า มอบหมายให้การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งดำเนินการจัดทำงบประมาณเพื่อจ่ายให้กับเกษตรกรสวนยาง ที่มีเอกสารสิทธิ์ และคนกรีดยาง ที่ขึ้นทะเบียนไว้กับ กยท. กว่า 1.4 ล้านราย แยกเป็นเจ้าของสวนยาง 1,054,396 ราย คนกรีดยาง 304,246 ราย ในอัตราส่วน 60:40

ขณะเดียวกัน ให้ตั้งคณะทำงานระดับจังหวัด อำเภอ ตำบล สร้างการรับรู้ แก่เกษตรกรสวนยาง และดำเนินการตรวจสอบสิทธิ์ คาดว่า จะจ่ายเงินได้ในวันที่ 18 ธ.ค.นี้ รวมงบจำนวน 1.8 หมื่นล้านบาท โดยให้ ธ.ก.ส.จ่ายให้เกษตรกรไปก่อน และปีงบประมาณต่อไป กยท. จะตั้งงบชดเชยให้ ธ.ก.ส. โดยไม่มีดอกเบี้ย พร้อมกับให้ กยท. หาแนวทางช่วยเหลือชาวสวนยางที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ อีกกว่า 2.9 แสนราย

รมว.เกษตรฯ กล่าวว่า วันนี้ (21 พ.ย.) จะแถลงถึงมาตรการยกระดับราคายางพารา และมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ในโครงการส่งเสริมเพิ่มรายได้ชาวสวนยาง พร้อมกันนี้ ทางบริษัทผู้ส่งออกรายใหญ่ 5 แห่ง รับมาตรการพยุงราคายางไปซื้อยางจากเกษตรกร หรือสถาบันเกษตรกร ในราคาน้ำยางสด 37 บาท ต่อกก. ยางก้อน ถ้วน 37 บาท ต่อกก. ยางแผ่นดิบรมควัน 40 บาท ต่อ กก.โดย กยท.จ่ายชดเชยให้ 2 บาท ต่อกก. ทุกผลิตภัณฑ์ยาง

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการลดปริมาณยาง โดย กยท.จะเข้าไปพัฒนาอาชีพอื่น ทดแทนการทำสวนยางที่มีอายุเกิน 25 ปี หรือสวนยางอายุ 15 ปีไปแล้ว แต่ต้นโทรมให้น้ำยางน้อย กยท. จะมีรายได้มากขึ้นโดยปลูกพืชอื่นหรือปลูกพืชแซมต้นยาง สำหรับการหยุดกรีดยาง เป็นมาตรการที่ต้องรอฟังความเห็นจากเกษตรกรถ้าเห็นด้วยเกิน 80% ขึ้นไป ให้ กยท.ดำเนินการมาตรการส่งเสริม ชดเชยรายได้ช่วงหยุดกรีดยาง 1-2 เดือน ต่อปี ทั้งนี้บริษัท ทำล้อยาง และบริษัทผลิตฟอร์นิเจอร์ทำจากไม้ยาง ให้ความร่วมมือ ซื้อจากเกษตรกร สถาบันเกษตรกรกร โดยตรงเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายาง" นายกฤษฏา กล่าว

** "บิ๊กตู่"ยันช่วยปาล์ม-ยาง-มะพร้าว

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคสช. กล่าวถึง มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรชาวสวนยาง ปาล์ม และมะพร้าว ว่า มีหลายมาตรการในการช่วยเหลือเกษตรกร ทั้งมาตรการเร่งด่วน เช่น การรับซื้อน้ำมันปาล์ม 18 บาทต่อกก. ประมาณ 1.6 แสนตัน ส่วนระยะยาว จะมีการเพิ่มการใช้น้ำมันบี 20 โดยตั้งเป้าปีละประมาณ 5 แสนตัน

ส่วนยางพารา ประเทศไทยมีการผลิตยางถึง 4.6 ล้านตัน ใช้ในประเทศไม่เกิน 7 แสนตัน แต่วันนี้ใช้ถึง 6 แสนตัน ยังเหลืออีก 4 ล้านตัน ที่ต้องส่งออกไปขายต่างประเทศ รวมแล้วเรามียางมากกว่าประเทศอื่นในโลก ดังนั้นราคายางจึงขึ้นอยู่กับปริมาณ

ทั้งนี้ ตนสั่งการให้ด่านตรวจทุกจุดของทุกหน่วยงานบูรณาการร่วมกันแก้ปัญหาการลักลอบนำสินค้าเกษตรเข้ามาในประเทศ จะต้องมีผลสัมฤทธิ์ในการจับกุม และการดำเนินการ เราจำเป็นต้องใช้นโยบายทางด้านความมั่นคงเข้าไปเกี่ยวข้องโดยใช้ กอ.รมน. เข้าไปดำเนินการด้วย

ส่วนเรื่องการประท้วงของเกษตรกร ตนเข้าใจว่าเดือดร้อน ขอร้องอย่าประท้วงเลย ขออย่างเดียวให้เข้าใจว่าทุกอย่างในกรณีที่รัฐบาลให้เงินไป เพียงแค่บรรเทาความเดือดร้อนเป็นการชั่วคราว สิ่งที่อยากขอคือ การปรับเปลี่ยนตัวเอง และเข้าใจบริบทการค้าการลงทุนในปัจจุบันด้วย

** แนะทำถนนยางพาราหมู่บ้านละ 1 กม.

นายอุทัย สอนหลักทรัพย์ ประธานสภาเครือข่ายยางและสถาบันเกษตรกรยางพาราแห่งประเทศไทย (สยยท.) สยยท. เสนอแนวทางแก้ปัญหาโดยให้รัฐบาล ช่วยเกษตรกรโดยตรงในราคา กก. ละ 60 บาท เพราะตอนนี้ ต้นทุนอยู่ที่ 63.65 บาท แล้วให้นายกฯใช้ มาตรา 44 ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วประเทศ ทำถนนยางพาราซอยซีเมนต์ หมู่บ้านละ 1 กม. ซึ่งจะใช้ยางพารากม. ละ 3 ตัน (เนื้อยางแห้ง) เป็นราคา 1.8 แสนบาท จะได้ ถนนยางพาราซอยซีเมนต์ 84,000 กม. จะดูดทรัพย์น้ำยางออกจากตลาด 252,000 ตัน ใช้เงิน 15,120 ล้านบาท จะทำให้เกิดการขายจริง เกษตรกรได้ขายยางของตัวเองโดยไม่ต้องไปผ่านนายหน้า แต่ถ้า นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ จะใช้แนวทางชดเชย ที่เสนอมา ซึ่งต้องใช้เงินถึง 20,000 ล้าน จะเป็นวิธีเก่า ที่เงินจะไปตกที่นายทุน แล้วเกษตรกรจะไม่ได้อะไรเลย


กำลังโหลดความคิดเห็น