xs
xsm
sm
md
lg

ปลดล็อกการเมือง : ยกก้อนหินออกหญ้างอกเช่นเดิม

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

<b>พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี</b>
ตลอดเวลา 4 ปีกว่าที่ คสช.ประกาศห้ามชุมนุมทางการเมือง สังคมไทยเงียบสงบปราศจากการเรียกร้องใดๆ

ภาวะเงียบสงบเช่นนี้ในระยะแรกๆ ดูเหมือนว่าผู้คนในสังคมจะชื่นชม และยอมรับว่าเป็นผลงานที่ดีของ คสช.และรัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่นานเข้า ความเงียบสงบที่ว่านี้ได้กลายเป็นความอึดอัดคับแค้นใจ และในขณะนี้กำลังจะกลายเป็นความกดดัน ทั้งในทางสังคม และในทางการเมือง จะเห็นได้จากการพูด การเขียน หรือแม้กระทั่งการร้องเพลงกระทบกระเทียบเปรียบเปรย เยาะเย้ย และถากถางการทำงานของรัฐบาล และที่เป็นเช่นนี้ก็เนื่องจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. คนส่วนใหญ่ของประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คนจนในภาคเกษตร ผู้ใช้แรงงานในภาคอุตสาหกรรม และผู้มีรายได้น้อย ซึ่งประกอบอาชีพการค้าขายเล็กๆ น้อยๆ ได้รับความเดือดร้อนเนื่องจากรายได้ลดลง หรือเท่าเดิม หรือแม้กระทั่งเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับราคาสินค้าจำเป็นต่อการครองชีพแล้ว มีกำลังซื้อลดลง จึงทำให้เป็นทุกข์กันถ้วนหน้า

2. การแก้ปัญหาด้านเศรษฐกิจ ไม่สามารถทำให้ความจนลดลง ในทางตรงกันข้าม กลับทำให้ความจนเพิ่มขึ้น เนื่องจากว่าคนชั้นกลางที่เคยมีรายได้พออยู่ พอกิน กลับมีรายได้ลดลงและกลายเป็นคนจน จึงทำให้จำนวนคนจนเพิ่มขึ้น แทนที่คนจนจะมีรายได้เพิ่มขึ้น และคนจนลดจำนวนลงหรือหมดไปตามที่รองนายกฯ ฝ่ายเศรษฐกิจเคยบอกไว้

3. ความไม่ปลอดภัยในชีวิต และทรัพย์สินเพิ่มขึ้น จะเห็นได้จากการลักเล็กขโมยน้อย จี้ปล้น ชิงทรัพย์ และการหลอกลวงปรากฏเป็นข่าวเกือบทุกวัน

4. การที่ผู้นำรัฐบาล ซึ่งยังมีอำนาจเต็มในระบอบเผด็จการ แสดงเจตนาและท่าทีว่าจะกลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้งหลังจากการเลือกตั้งเป็นการสืบทอดอำนาจ ทำให้นักการเมืองฝ่ายตรงกันข้ามมองว่าไม่เป็นธรรมกับพวกตน และในขณะเดียวกัน ประชาชนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการทำงานไม่มีประสิทธิภาพของรัฐบาล ไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจเพราะนอกจากแก้ปัญหาของประเทศไม่ได้แล้ว ยังทำให้ปัญหาเพิ่มขึ้นอีกด้วย

จากเหตุปัจจัย 4 ประการข้างต้น ถ้ามีการยกเลิกประกาศการห้ามชุมนุมทางการเมืองเมื่อใด เชื่อได้ว่าจะมีการชุมนุมทางการเมืองต่อต้านการสืบทอดอำนาจเกิดขึ้น และเหตุผลที่นำมาอ้างในการต่อต้านคงหนีไม่พ้นการนำผลงานใน 4 ปีกว่าที่ผ่านมา โจมตีให้เห็นถึงความล้มเหลวในแต่ละด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การแก้ปัญหาความยากจน และการปราบปรามการทุจริต คอร์รัปชัน ซึ่งล้มเหลวอย่างเห็นได้ชัด เพื่อเป็นการตัดโอกาสทางการเมืองของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และรัฐมนตรีร่วมรัฐบาลทุกคนที่ต้องการสืบทอดอำนาจ ถ้าเป็นเช่นนี้จริง ก็เท่ากับบอกให้รู้ว่า ความสงบที่เกิดขึ้นระหว่างที่ คสช.ประกาศห้ามชุมนุม ไม่ต่างอะไรกับหญ้าที่ถูกก้อนหินทับไว้เจริญงอกงามไม่ได้ แต่เมื่อก้อนหินถูกยกออกไปหญ้าก็ขึ้นเหมือนเดิม

อีกประการหนึ่ง ถ้ามีการเลือกตั้งในภาวะที่ความขัดแย้งเกิดขึ้น ท่านผู้อ่านลองนึกวาดภาพดูว่า หลังการเลือกตั้งจะวุ่นวายขนาดไหน และที่เป็นเช่นนี้น่าจะเกิดจากเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. ในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น ถ้าดูจากพฤติกรรมของนักการเมืองส่วนใหญ่ และภาวะแวดล้อมทางสังคมซึ่งเป็นอยู่ในขณะนี้ ก็คงจะไม่มีพรรคใดหรือแม้กระทั่งรวมกันเป็นกลุ่ม ก็จะไม่มีกลุ่มใดได้เสียงมากพอที่จะจัดตั้งรัฐบาลเพียงพรรคเดียวหรือกลุ่มเดียวได้ โดยไม่อาศัยเสียงของ ส.ว. 250 คน หรือถ้าบังเอิญตั้งได้ก็ไม่มีเสถียรภาพพอจะอยู่ได้ครบเทอม ทั้งไม่สามารถจะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองในระบอบรัฐสภาได้โดยสะดวกด้วย

ดังนั้น ถ้ามีการเลือกตั้งภายใต้เงื่อนไข และภาวะแวดล้อมทางสังคมและการเมืองดังที่เป็นอยู่เช่นนี้ ก็คงหนีไม่พ้นความวุ่นวายและการกลับไปสู่วงจรทางการเมืองแบบเดิมคือ เกิดความวุ่นวายทางการเมือง และจบลงด้วยการทำรัฐประหาร ในทำนองเดียวกับในอดีตที่ผ่านมา 80 กว่าปี

2. ถ้าไม่มีการเลือกตั้งตามกำหนด โดยอ้างเหตุความวุ่นวาย และเลื่อนการเลือกตั้งออกไปโดยที่รัฐบาลชุดนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่ง และทำงานแบบเดิมๆ ประชาชนก็คงจะลุกขึ้นต่อต้าน และนักการเมืองก็จะอาศัยจังหวะนี้เข้าแทรก ก็จะทำให้เกิดความวุ่นวายขึ้น

ด้วยเหตุปัจจัย 2 ประการข้างต้น อนุมานได้ว่าเลือกตั้งก็วุ่นวาย และไม่เลือกตั้งโดยที่รัฐบาลชุดนี้ยังคงทำงานอยู่ต่อไปก็วุ่นวาย

ดังนั้น ทางเดียวที่จะแก้ปัญหาดังกล่าวก็คือ รัฐบาลชุดนี้ต้องออกไป และมีการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะกิจขึ้นมาทำการปฏิรูปในด้านที่จำเป็น เช่น ด้านการศึกษา ด้านการเมือง และด้านเศรษฐกิจ เป็นต้น แล้วประกาศเลือกตั้งซึ่งอาจใช้เวลา 1-2 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น