ผู้จัดการรายวัน360- ม็อบสวนยางเมืองคอน เคลื่อนทัพเข้าสุราษฎร์ฯ เรียกร้องรัฐบาลแก้ปัญหาราคาตกต่ำ อย่างจริงจัง เตรียมแผนสอง หากถูกสกัด ด้าน"กฤษฎา" หารือผู้ส่งออกยางพารารายใหญ่ เตรียมชงครม.ของบกว่า 2 หมื่นล้านบาท ช่วยเหลือเกษตรกร โดยให้เงินสนับสนุนไร่ละ 1,500 บาท ดันราคายางแผ่น กก.ละ 40 บาท และทบทวนข้อกฎหมาย การจัดซื้อจัดจ้าง เพื่อส่งเสริมการใช้ยางในประเทศให้มากขึ้น
วานนี้ (14 พ.ย.) จากการที่แกนนำตัวแทนชาวสวนยางพารา จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฏร์ธานี นัดประชุมหามาตรการในการเรียกร้องให้รัฐบาล ช่วยเหลือชาวสวนยางพารา และผู้ประกอบการธุรกิจเกี่ยวกับไม้ยางพารา หลังจากที่ราคายางพาราตกต่ำเป็นประวัติการณ์ สร้างความเดือดร้อนให้กับชาวสวนยางเป็นอย่างมาก
ล่าสุด มีมติในที่ประชุมให้ชาวสวนยางพาราออกมาร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลหันมาช่วยเหลือชาวสวนยางอย่างจริงจัง โดยมีการส่งหนังสือเชิญชวนชาวสวนยาง ปฏิบัติตามมติของตัวแทนชาวสวนยางที่ระบุว่า
"ให้พี่น้องชาวสวนยางออกมารวมเคลื่อนไปตามถนนสายเอเชีย ตั้งแต่เวลา 12.09 น. ของวันพุธที่ 14 พ.ย. 61 โดยมีจุดสตาร์ท 6 จุดพร้อมกันคือ จุดที่1. จากแยกควนหนองหงส์ จุดที่ 2. แยกสวนผัก จุดที่ 3. จากหน้าโลตัสทุ่งสง จุดที่ 4. จากแยกหนองดี จุดที่ 5. จากบริเวณยูเทิร์นหน้าตลาดถ้ำพรรณรา จุดที่ 6. จากแยกเวียงสระตรงข้ามโลตัส เพื่อต่อสายเป็นขบวนกระพริบไฟเรื่อยๆไปเป้าหมายโคออป"
เวลา 12.30 น. ขบวนเริ่มเคลื่อนไปตามถนนเอเซีย มุ่งหน้าไปยังจุดนัดหมายโคออป จ.สุราษฏร์ธานี เริ่มต้นด้วยขบวนรถยนต์และรถจักรยานยนต์กว่า 30 คัน อย่างไรก็ตาม ชาวสวนยางได้ออกมาสมทบตลอดรายทาง มีการเขียนป้ายข้อความเรียกร้องต่างๆ และเมื่อผ่านจุดตรวจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ทางเจ้าหน้าที่ตำรวจและทหารจะเข้าตรวจค้นรถทุกคน บุคคลทุกคนอย่างละเอียด เพื่อป้องกันการลักลอบพกพาอาวุธ และสิ่งผิดกฎหมาย ในเบื้องตนไม่พบสิ่งผิดกฎหมายแต่อย่างใด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ สภ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช เจ้าหน้าที่ตำรวจของจังหวัดนครศรีธรรมราช ได้แก่ สภ.จุฬาภรณ์ สภ.ร่อนพิบูลย์ สภ.ทุ่งสง และ สภ.ถ้ำพรรณรา ได้เริ่มตั้งแถวเตรียมพร้อมเพื่อตรวจตราความเรียบร้อยและดูแลความสงบ รวมทั้งป้องกันกลุ่มผู้ชุมนุม ที่จะเคลื่อนขบวนไปที่ โคออป จ.สุราษฎร์ธานี
ขณะที่ พ.ต.อ.สุขเกษม นาควิไล ผกก.สภ.เมืองทุ่งสง สั่งการให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ ปฏิบัติการตรวจตราเกี่ยวกับอาวุธ และพูดจาให้สุภาพกับชาวสวนยาง และให้ควบคุมอารมณ์ อย่าใช้อารมณ์ในการปฏิบัติงาน เนื่องจากเกรงว่าจะเกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้นได้
ในขณะที่แกนนำชาวสวนยาง กล่าวว่า หากทางตำรวจสกัดการเคลื่อนขบวนครั้งนี้จะมีแผนสองรองรับต่อไป แต่จะไม่เปิดเผยเนื่องจากเกรงว่าข่าวจะรั่วไหล และหากทางเจ้าหน้าที่ได้ทำการสกัดมวลชน ที่โคออป จ.สุราษฎร์ธานี ก็จะมีการยกคนพลจาก จ.นครศรีธรรมราช มาสมทบเพื่อกดดันให้รัฐบาลช่วยเหลือชาวสวนยาง อย่างจริงจัง
วันเดียวกันนี้ นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ ได้หารือร่วมกับ 5 บริษัทเอกชนผู้ส่งออกยางรายใหญ่ของประเทศ ได้แก่ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) บริษัท วงศ์บัณฑิต จำกัด บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) บริษัทยางไทยปักษ์ใต้ และ บริษัท เซาท์แลนด์ รับเบอร์ จำกัด ที่ห้องประชุม 124 กระทรวงเกษตรฯ
หลังการหารือ นายกฤษฎา เปิดเผยว่า เป็นการประชุมเพื่อหาแนวทางร่วมกัน ในการแก้ไขปัญหาราคายางพารา ตามที่นายกฯได้สั่งการลงมา ให้กระทรวงเกษตรฯ หามาตรการแก้ไขยางพาราตกต่ำ โดยเร่งด่วน ภายใน 7วัน โดยที่ประชุมได้เห็นชอบร่วมกันในมาตรการช่วยเหลือชาวสวนยาง ดังนี้
1. โครงการเสริมความเข้มแข็งของเกษตรกรชาวสวนยาง โดยให้ กยท.ไปพิจารณาจำนวนเงินสนับสนุน โดยมีเงื่อนไขต้องเป็นเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้กับ กยท. เบื้องต้น ไม่ต่ำกว่าเดิมคือ 15 ไร่ ไร่ละ 1,500 บาท เพื่อพัฒนาอาชีพและเพิ่มรายได้ให้ชาวสวนยาง โดยคิดจากฐานของปีที่ผ่านมาใช้เงินประมาณ 10,200 ล้านบาท ทำให้เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินไม่ต่ำกว่า 10,000 ล้านบาท
2. โครงการรักษาเสถียรภาพราคายาง คาดจะใช้งบประมาณ 10,000 ล้านบาท ให้ กยท. จ่ายเงินส่วนต่างให้กับเกษตรกรที่ขายยาง 3 ชนิด โดย กยท. กำหนดราคายางขั้นต่ำ 3 ชนิด ได้แก่ น้ำยางสด ไม่ต่ำกว่า กก. ละ 37 บาท ยางก้อนถ้วยไม่ต่ำกว่า กก.ละ 35 บาท และยางแผ่นรมควัน ไม่ต่ำกกว่า กก.ละ 40 บาท หากขายให้สถาบันเกษตรกรแล้วได้ราคาต่ำกว่าที่ประกาศไว้ ให้ใช้เงินจากกองทุนสงเคราะห์สวนยางช่วยเหลือรายบุคคล กก.ละ 2-3 บาท นอกจากนี้ บริษัทผู้ส่งออกได้แสดงความจำนงให้ความร่วมมือ โดยช่วงระหว่างรอ ครม.พิจารณาโครงการฯ จะช่วยรับซื้อยางเพื่อรักษาเสถียรภาพราคายางไม่ให้ต่ำกว่าราคาที่กำหนด โดยจะเริ่มตั้งแต่พรุ่งนี้เป็นต้นไป
3. ทบทวนข้อกฎหมายการจัดซื้อจัดจ้าง ในการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ เพื่อทำถนน เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบราคากันกับแอสฟัลท์ติกแล้วยางพารามีราคาสูงกว่า แต่คงทนมากกว่า
"กระทรวงเกษตรฯ เตรียมเสนอนายกฯ ให้เห็นชอบอีกแนวทางคือ ให้ กยท.เป็นผู้ดูแลการผลิตเครื่องอุปกรณ์การนอนให้กับส่วนราชการ อาทิ โรงพยาบาล โรงเรียน ซึ่งขณะนี้กำลังสำรวจจำนวนความต้องการจากกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกระทรวงกลาโหม จากนั้นมอบหมาย กยท. ติดต่อซื้อน้ำยางสดมาผลิตแจกจ่ายให้ทั้ง 4 หน่วย เพื่อช่วยดูดซับปริมาณยางในประเทศได้" รมว.เกษตรฯกล่าว