xs
xsm
sm
md
lg

จวกรัฐประเคน"เอราวัณ-บงกช" หวังเงินทอนไว้สู้ศึกเลือกตั้ง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"รสนา" ฉะกระทรวงพลังงาน ออกแบบสัมปทานจำแลง รีบร้อนประเคนปิโตรเลียม แปลงเอราวัณ และบงกช ให้เอกชน 2 กลุ่มเดิมโดยไม่รอฟังศาลปกครองตัดสินเพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม หวังเงินทอน เพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่

น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา กรุงเทพฯ และ อดีตสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ด้านพลังงาน โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊ก หัวข้อ "รีบร้อนประเคน บงกช เอราวัณ เพื่อเงินทอนสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่ ?" โดยระบุว่า

กระทรวงพลังงานเดินหน้าออกแบบการประมูลเทียมๆ อ้างว่าเป็นการใช้ระบบใหม่ ใน“ระบบแบ่งปันผลผลิต”แต่แท้ที่จริง เป็นแค่การจัดสรรแบ่งเค้กในรูปแบบ “แบ่งกันผลิต”คนละแปลง ของผู้รับสัมปทาน 2 เจ้าเดิมเท่านั้น ใช่หรือไม่ ?

ทั้งนี้ทั้งนั้น โดยไม่รอฟังศาลปกครอง ว่าจะตัดสินอย่างไรกับคดีที่กระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการปิโตรเลียม ถูกมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคและพวกฟ้องเพิกถอนประกาศคณะกรรมการปิโตรเลียม เรื่องหลักเกณฑ์และวิธีการกำหนดพื้นที่ ที่จะดำเนินการสำรวจหรือผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบของสัมปทาน สัญญาแบ่งปันผลผลิต หรือสัญญาจ้างบริการ ปี 2560 และ กฎกระทรวง กำหนดแบบสัญญาแบ่งปันผลผลิต ปี 2561

กฎกระทรวง และประกาศหลักเกณฑ์ฯ ที่นำมาใช้เปิดประมูลกำมะลอครั้งนี้ เป็นการกำหนดเงื่อนไข ของหลักเกณฑ์ที่ทำให้ระบบจ้างผลิตเป็นหมัน

ส่วนระบบแบ่งปันผลผลิตถูกกำหนดเงื่อนไข ทำให้พื้นที่ทั้งประเทศ ทำได้แค่ แปลงบงกช เอราวัณเท่านั้น ที่เหลือกลับไปใช้ระบบสัมปทาน ซึ่งน่าจะเข้าข่ายเป็นการหลีกเลี่ยงกฎหมายปิโตรเลียม ที่บัญญัติไม่ให้ต่อสัมปทานในแปลงเอราวัณ บงกช หลังหมดสัมปทานในปี 65, 66 ใช่หรือไม่ ?

เจตนารมณ์ของ พ.ร.บ ปิโตรเลียม 2560 ที่ได้แก้ไขเพิ่มเติมให้มีระบบจ้างผลิต และระบบแบ่งปันผลผลิต เพื่อทำให้รัฐบาลมีทางเลือกมากขึ้นในการทำสัญญาสำรวจผลิตปิโตรเลียม กับเอกชนเพื่อประโยชน์สูงสุดของประเทศ และประชาชน แต่ในทางปฏิบัติ ผู้เกี่ยวข้องได้ทำลายเจตนารมณ์ของกฎหมายนี้ ด้วยการกำหนดเงื่อนไขที่บิดเบี้ยว จนระบบจ้างผลิตทำไม่ได้ และอาศัยระบบแบ่งปันผลผลิต เพียงเพื่อเอื้อประโยชน์กลุ่มทุนเดิม ให้ได้สิทธิผลิตต่อไปในแปลงเอราวัณ และบงกช โดยการเปลี่ยนป้ายชื่อใหม่ จากระบบสัมปทาน เป็นระบบแบ่งปันผลผลิต แต่เนื้อใน เป็นสัมปทานจำแลง ใช่หรือไม่ ?

ส่วนระบบจ้างผลิต ที่รัฐบาลจะได้เป็นเจ้าของปิโตรเลียมทั้งหมด กลับกำหนดเงื่อนไขจนไม่สามารถจ้างผลิตได้ ซึ่งแสดงอย่างชัดเจนว่า ไม่ได้ทำเพื่อประโยชน์ของประเทศ และประชาชนอย่างแท้จริง ใช่หรือไม่ ?

กระทรวงพลังงานรีบร้อนเดินหน้าจะประเคน ปิโตรเลียม 2 แหล่งนี้ ให้เอกชน 2กลุ่มเดิม แทนที่จะให้เกียรติศาลปกครอง ด้วยการชะลอเพื่อรอคำตัดสินของศาลปกครอง ที่รับคำฟ้องในคดีนี้เสียก่อน ใช่หรือไม่

เหตุใดจึงต้องรีบร้อน ยกทรัพยากรปิโตรเลียม 2 แปลงนี้ ที่มีมูลค่ามหาศาลถึง ปีละ 2 แสนล้านบาท ให้เอกชนเป็นเวลายาวนานถึง 36 ปี ภายใต้รัฐบาลรัฐประหาร แทนที่จะปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ยิ่งรีบร้อนมากเท่าไหร่ ยิ่งทำให้สังคมเกิดคำถามได้ว่า หรือดีลใหญ่นี้ เป็นการหาเงินทอนเพื่อสู้ศึกเลือกตั้ง ใช่หรือไม่ ?
กำลังโหลดความคิดเห็น