หลังจากยืดเยื้อมาข้ามทศวรรษ ในที่สุดโครงการจัดซื้อรถเมล์เอ็นจีวีขององค์การขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ ขสมก.ที่ตั้งไข่มาตั้งแต่ยุคที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อ พ.ศ. 2551 ก็ได้แจ้งเกิดเสียที ในยุครัฐบาล คสช.
โครงการนี้เริ่มต้นจากการจะเช่ารถเมล์เอ็นจีวี 4,000 คัน เมื่อสิบปีก่อน ในยุครัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช เมื่อปี 2551 มาถึงยุคนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นนายกรัฐมนตรี พรรคภูมิใจไทย ซึ่งได้กระทรวงคมนาคมไปดูแล พยายามผลักดันเต็มที่ แต่ถูกคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตและคอร์รัปชั่น ตั้งข้อสงสัยถึงความไม่โปร่งใส และมีการตั้งคณะอนุกรรมการศึกษาร่างทีโออาร์ อีกทั้งนายอภิสิทธิ์ ทักท้วงในเรื่องกระบวนการเช่ารถที่เสี่ยงต่อการเกิดคอร์รัปชัน จนหมดยุคนายอภิสิทธิ์ โครงการนี้ก็ไม่ได้เกิดเสียที
มาถึงยุครัฐบาลพรรคเพื่อไทย โครงการเช่าซื้อรถ 4,000 คัน ถูกเปลี่ยนมาเป็น การซื้อรถเมล์เอ็นจีวี 3,183 คันแทนในวงเงินประมาณ 13,000 ล้านบาท แต่ยังไม่ทันได้ทำอะไร รัฐบาลยิ่งลักษณ์ก็ถูกยึดอำนาจเสียก่อน
มาถึงรัฐบาล คสช.โครงการถูกลดขนาดลงไปเหลือซื้อรถแค่ 489 คัน วงเงิน1,738 ล้านบาท ที่เหลืออีก 2,694 คันให้ ขสมก.และกระทรวงคมนาคมไปดูว่า จะเปลี่ยนเป็นรถไฟฟ้าได้หรือไม่ ตามนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการผลักดันอุตสาหกรรมรถไฟฟ้า
โครงการซื้อรถเมล์เอ็นจีวีในยุค คสช.เป็นการต่อสู้กันระหว่าง 2 บริษัท คือ ช.ทวี กับ เบสท์ริน บริษัทของนักธุรกิจจีน ที่แปลงสัญชาติเป็นไทย
ช.ทวี ชนะการประมูลเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2558 แต่เบสท์รินยื่นหนังสือคัดค้านว่า การประมูล/ไม่โปร่งใส โดยยื่นหนังสือต่อพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะกรรมาธิการคมนาคม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งได้เสนอว่า ขสมก.ควรปรับปรุงเงื่อนไขการประมูล เปิดช่องให้บอร์ด ขสมก.มีมติยกเลิกการประมูล
เบสท์รินซึ่งวิ่งเต้นจนล้มการประมูลที่ตนเองเป็นผู้แพ้ได้สำเร็จ ชนะการประมูลครั้งใหม่เมื่อเดือนกรกฎาคมปี 2559 มีการเซ็นสัญญากับ ขสมก.ในเดือนตุลาคม และกำหนดว่า จะนำรถเมล์เอ็นจีวีใหม่ 100 คันจากทั้งหมด 489 คัน ส่งมอบให้ ขสมก.ในเดือนธันวาคม เพื่อให้บริการเป็นของขวัญปีใหม่ 2550 สำหรับคน กทม.
ในครั้งนั้นมีกำหนดการไว้แล้วว่า วันที่ 21 ธันวาคม จะนำรถใหม่ไปรับพล.อ.ประยุทธ์ และ ครม.จากทำเนียบรัฐบาลไปสถานีรถไฟหัวลำโพง เป็นปฐมฤกษ์ แต่อ้อยยังไม่ทันจะเข้าปากช้าง รถเมล์เอ็นจีวียี่ห้อซันลองจากประเทศจีน 100 คัน ที่เบสท์รินนำเข้าจากมาเลเซียมาไว้ที่ท่าเรือแหลมฉบัง รอส่งมอบให้ ขสมก.ถูกเจ้าหน้าที่กรมศุลกากรอายัดไว้ เพราะตรวจพบว่าเป็นรถสำเร็จรูปที่ขนจากจีนมาพักไว้ที่มาเลเซีย ไม่ใช่รถที่ประกอบในมาเลเซีย ตามที่แจ้งกรมศุลกากรเพื่อหลีกเลี่ยงภาษีนำเข้าจากจีน 40% เพราะถ้าเป็นรถที่ประกอบในมาเลเซีย ไม่ต้องเสียภาษีตามข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาฟต้า
เบสท์รินไม่สามารถส่งมอบรถให้ ขสมก.ตามกำหนด จึงถูกยกเลิกสัญญา แต่กว่าจะยกเลิกได้ พล.อ.ประยุทธ์ต้องใช้คำสั่งหัวหน้า คสช.เด้งนายสุระชัย เอี่ยมวชิรสกุล ผอ.ขสมก.พ้นจากตำแหน่ง เพราะไม่ยอมเลิกสัญญาและไม่ตัดสินใจว่า จะแก้ปัญหาอย่างไร
หลังจากนั้นไม่นาน ก็ถึงวาระเปลี่ยนบอร์ด พล.ต.อ.เอก อังสนานนท์ ซึ่งเป็นประธานบอร์ดมาตั้งแต่ ปี 2557 และบอร์เดิมถูกโละยกชุด โดยมีการแต่งตั้งนายณัฐชาติ จารุจินดา อดีตผู้บริหาร ปตท.เป็นประธานบอร์ด เพื่อให้เข้ามาขับเคลื่อนโครงการรถเมล์เอ็นจีวี
การประมูลครั้งใหม่มีขึ้น และครั้งนี้ ช.ทวีกลับมาอีก ส่วนเบสท์รินถูกแบล็กลิสต์ที่ส่งมอบรถไม่ได้ จึงไม่ได้เข้าประมูล
เดือนมีนาคมปีนี้ ช.ทวีส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีให้ ขสมก.ก่อน 100 คัน และกำหนดส่งมอบที่เหลือภายในเดือนมิถุนายน แต่แล้วก็มีมือดีไปฟ้องศาลปกครอง ว่า มติบอร์ด ขสมก.ที่เห็นชอบให้ทำสัญญาซื้อรถ 489 คันจาก ช.ทวีไม่ชอบธรรม ขอให้ศาลเพิกถอนมติ และคุ้มครองชั่วคราว ชะลอการรับมอบรถจาก ช.ทวีซึ่งศาลปกครองมีมติเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ให้การคุ้มครองชั่วคราว
โครงการรถเมล์เอ็นจีวีที่ผ่านมา 5 รัฐบาลก็ยังไม่ได้เกิด ทำท่าว่าจะทำลายสถิติใช้นายกรัฐมนตรีเปลืองที่สุด เพราะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์กำลังนับถอยหลังเข้าสู่การเลือกตั้ง แต่แล้วศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งยกฟ้องกลับคำสั่งของศาลปกครองกลาง ด้วยเหตุผลว่า บริษัท สยามสแตนดาร์ด ซึ่งเป็นผู้ฟ้องคดี ไม่ใช่ผู้เสียหาย ไม่มีอำนาจฟ้อง เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และยกเลิกคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
คำสั่งศาลปกครองสูงสุดนี้เป็นที่สิ้นสุด ทำให้ ช.ทวีส่งมอบรถเมล์เอ็นจีวีที่เหลืออีก 389 คันให้ ขสมก.นำออกบริการชาว กทม.ในสิ้นปีนี้ เพิ่มเติมจากรถ 100 คันแรก ที่ส่งมอบเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
มหากาพย์รถเมล์เอ็นจีวีที่ยืดเยื้อข้ามทศวรรษ ถูกทำลายอาถรรพ์ลงในยุค คสช. เป็นเรื่องที่ดูแล้ว ก็สะท้อนใจว่า แค่ซื้อรถเมล์ใหม่มาทดแทนรถเดิมที่ใช้มายี่สิบสามสิบปี ยังต้องใช้เวลาถึง 10 ปี อีกกี่ชาติถึงจะปฏิรูปรถเมล์ทั้งระบบได้