xs
xsm
sm
md
lg

สทศ. คือใคร ทำอะไร?

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน


ศ.ดร.อุทุมพร จามรมาน


1. สทศ.คือใคร
คือ องค์การมหาชน ชื่อเต็มคือ สถาบันทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐ ใช้ภาษีประชาชนมาบริหารและจัดการ

2. สทศ. ทำอะไรบ้าง
งานหลัก คือ การจัดสอบให้กับผู้เรียนและผู้จบการศึกษาตามหลักสูตรต่าง ๆ ทั้งในและนอกระบบโรงเรียน

3. ใครนำคะแนนสอบไปทำอะไรบ้าง
ผู้ใช้คะแนนสอบจาก สทศ. มี 8 กลุ่ม คือ
3.1 นักเรียนนำคะแนนสอบไปสมัครเข้าเรียนต่อหรือมาพัฒนาตนเอง
3.2 ผู้ปกครองนำคะแนนสอบไปพิจารณาเพื่อแก้ไขจุดอ่อนของลูกหลานของตนให้เป็นผู้มีความรู้ความสามารถ
3.3 ครูนำคะแนนสอบไปประเมินผลการสอนของตน เพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนในครั้งต่อไป
3.4 ผู้บริหารโรงเรียนนำคะแนนสอบไปพิจารณาเพื่อแก้ไข ปรับปรุงจุดอ่อน เสริมจุดแข็งเพื่อให้แข่งขันกับโรงเรียนอื่นได้
3.5 ผู้บริหารเขตพื้นที่การศึกษานำคะแนนสอบไปประเมินผลงานของโรงเรียนในเขตของตนว่าจะต้อง ช่วยเหลือด้านใดบ้าง เสริมจุดแข็งด้านใดบ้างเพื่อให้ได้โรงเรียนที่มีคุณภาพสูงทุกโรง
3.6 ต้นสังกัด (ทั้งกระทรวงศึกษาธิการและองค์การปกครองส่วนท้องถิ่นที่จัดการศึกษา) นำคะแนนไปประเมินแผ่นงานเดิมให้สอดคล้องกับความเป็นจริง ตลอดจนจัดสรรงบประมาณ กำลังคนไปช่วยโรงเรียนที่ด้อย
3.7 รัฐนำคะแนนสอบระดับชาติมาประเมินและปรับปรุงนโยบายเพื่อให้เด็กไทยสามารถแข่งขันในเวทีโลกได้
3.8 ต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยต่างประเทศ บริษัทใหญ่ ๆ ใช้คะแนนสอบไปคัดเลือกคนเข้าเรียน/ทำงาน (แสดงว่าคะแนนสอบของ สทศ.เป็นที่น่าเชื่อถือ) เช่นเดียวกับการสอบของศูนย์ทดสอบต่างประเทศ จะเห็นว่ามีการใช้คะแนนสอบของ สทศ.ในวงกว้าง
คำถาม คือ ทำอย่างไรสทศ.จึงจะไปสู่จุดนั้น คำตอบคือ การได้ผู้อำนวยการที่มีความรู้ความสามารถในทฤษฎีใหม่ๆด้านการทดสอบและกล้าที่จะใช้ความรู้ดังกล่าวมาจัดกระทำงานของสทศ.

4. ความรู้ใหม่ที่พูดถึงมีอะไรบ้าง
4.1 ปัจจุบันสาขาทดสอบมี Computer Program ที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อวิเคราะห์คะแนนสอบและปรับเทียบคะแนนสอบ ตัดความคลาดเคลื่อนจากการทดสอบออกไป เหลือคะแนนที่แท้จริง (True Score) ซึ่งเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องการ จึงควรนำโปรแกรมดังกล่าวมาใช้กับคะแนนสอบของ สทศ.
คะแนนจริง คือ คะแนนที่บอกความสามารถที่แท้จริงของผู้เข้าสอบ เช่น เขาได้คะแนนสอบ 50 ซึ่งเจือปนความคลาดเคลื่อนต่างๆไป 10 คะแนน ดังนั้นคะแนนจริงของเขาคือ 40 การหาค่าความสามารถที่แท้จริงทำได้แล้ว โดยใช้ทฤษฎี IRT (3 Parameter) และกำลังพัฒนาไปถึงความสามารถสูงสุดในการทำข้อสอบแต่ละข้อ
4.2 การสอบวิชาต่าง ๆ ซึ่งมีลักษณะต่างกัน เช่น วิทยาศาสตร์ สังคมศึกษา ภาษาไทย ฯลฯ ถ้าจะเปรียบเทียบกันต้องมีการจัดกระทำให้เป็นหน่วยกลางก่อนโดยการใช้ T-Score หรือการทำ Equating ซึ่งจะทำให้คะแนนดังกล่าวน่าเชื่อถือมากขึ้นแทนการนำเสนอด้วยคะแนนดิบดังที่เป็นอยู่
4.3 รูปแบบของข้อสอบในโลกมีมากกว่า 10 รูปแบบ (สทศ.ใช้ 1-2 รูปแบบเท่านั้น) ควรขยายรูปแบบออกไป เช่น ใช้ข้อสอบแบบอัตนัยตรวจด้วยเครื่อง (ปัจจุบันตรวจด้วยคน) หรือใช้รูปแบบอื่น ๆ จะทำให้ได้คะแนนสอบที่ตรงตามธรรมชาติของเนื้อหามากขึ้น
4.4 การพัฒนาคนโดยเฉพาะด้านคุณธรรม จริยธรรม ความซื่อสัตย์ ยังขาดการทดสอบที่เชื่อถือได้ สทศ. ควรนำความรู้เรื่อง Psychometrics มาใช้ เพราะสามารถวัดได้จริงและมีความน่าเชื่อถือสูง
4.5 การทดสอบด้วย Computer ที่เรียกว่า E-Testing เป็นที่แพร่หลายและพัฒนาไปถึง M-Testing แล้ว สทศ. ควรพิจารณาเรื่องนี้
4.6 การทดสอบที่ให้คำตอบแต่ละคนที่เรียกว่า Tailored Testing ซึ่งบอกจุดแข็ง จุดอ่อนรายบุคคลได้ จะน่าสนใจมากกว่าคะแนนรวมเพราะเรากำลังทดสอบ “คน” ซึ่งมีความซับซ้อนและมีหลายมิติ
4.7 ในปัจจุบันการสร้างข้อสอบที่เน้นความยาก ง่าย ได้เลิกทำกันแล้วหันมาสร้างข้อสอบแต่ละข้อที่เน้นความซับซ้อน (Complexity) เพราะวัดได้จริงว่าแต่ละคนมีกระบวนการคิดแบบ Simple Minded หรือคิดแบบซับซ้อนซึ่งประเทศไทยต้องการคนที่คิดซับซ้อนได้ ดังนั้น ข้อสอบของสทศ.แต่ละข้อจะต้องเป็นข้อสอบที่บอกความซับซ้อนมิใช่ความยากง่าย
4.8 การจัดสอบในโลกเน้นการสอบที่ใช้เวลาให้น้อยแต่ได้ผลสอบที่มาก ดังนั้นสทศ.ควรออกข้อสอบให้มีจำนวนน้อย โดยแต่ละข้อให้คำตอบที่หลากหลายมากกว่า 1 อย่าง
4.9 การสร้างข้อสอบที่นำไปสู่การรายงานผลสอบของผู้เข้าสอบว่าเขามีความรู้ความสามารถระดับใด เช่น ที่ข้อสอบ TOEFL รายงานเป็น A0, A1, B0, B1 จะให้รายละเอียดเกี่ยวกับความสามารถของผู้สอบแต่ละคนว่าเขามีความรู้ คำศัพท์ กี่คำ รู้ไวยากรณ์มากน้อยเท่าไร อะไรบ้าง ฯลฯ ควรนำมาใช้ที่สทศ. เพราะจะทำให้รู้ละเอียดมากขึ้นกว่าปัจจุบันที่เสนอเป็นค่าร้อยละของคะแนนรวม เช่น 70% ซึ่งมิได้มีความหมายอะไร นำไปใช้ประโยชน์ได้น้อย
4.10 สุดท้าย สทศ. จะต้องเป็นหน่วยงานระดับโลกที่พิสูจน์ให้เห็นว่าคะแนนสอบของสทศ.สามารถนำไปใช้ในระดับนานาชาติได้ เช่น นำคะแนนสอบจากสทศ.ไปสมัครเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ นำคะแนนวัดระดับทักษะในงานประเภทต่างๆ ไปใช้สมัครเข้าทำงานในบริษัทต่างประเทศหรือองค์กรต่างประเทศ จะเห็นว่า การเป็นผอ.สทศ. มิใช่ใครก็ได้ที่มานั่งไปวันหนึ่งๆรับเงินเดือน 100,000 – 250,000 บาท/เดือน เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้นอีกต่อไป

ผอ.สทศ.คนใหม่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้แม้จะไม่ทุกเรื่อง แต่ก็ต้องรู้จักที่จะแสวงหาความรู้หรือเชิญผู้รู้มาร่วมงาน เพื่อทำในสิ่งที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อประเทศ

ดังนั้น ดิฉันจึงขอเรียกร้องให้ทุกท่านเห็นแก่ประโยชน์ของประเทศชาติ เลือกผอ.สทศ.คนใหม่ที่มีทั้งความรู้ความสามารถ มีองค์ความรู้ใหม่ มีประสบการณ์ทดสอบทั้งในและต่างประเทศ ตลอดจนเป็นผู้มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อนำพาสทศ.ไปสู่การเป็นหน่วยงานของรัฐที่ใช้ภาษีของประชาชนอย่างคุ้มค่าและทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพื่อให้ประเทศชาติของเราโดยเฉพาะด้านการศึกษาได้เกิดปฏิรูปคุณภาพคนไทยอย่างจริงจัง ถูกต้องและเหมาะสม

โปรดให้ความสนใจกับผอ.สทศ.คนใหม่ด้วยว่าคือใครมีความสามารถมากน้อยเพียงใดจะนำพาสทศ.ไปสู่การเป็นศูนย์ทดสอบระดับโลกได้หรือไม่



กำลังโหลดความคิดเห็น