xs
xsm
sm
md
lg

ดันซื้อปาล์มผลิตไฟฟ้าแก้ล้นสต๊อก-ราคาตกต่ำ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน360-"พาณิชย์"เตรียมชงมติ กนป.แก้ปัญหาน้ำมันปาล์มล้นสต๊อกเข้าครม. เสนอใช้มาตรการเร่งด่วน ดึงโรงไฟฟ้าซื้อน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตันในราคาสูงกว่าต้นทุน "พลังงาน"เด้งรับลูกให้โรงไฟฟ้าราชบุรี-บางปะกงผลิตไฟ 3 เดือนดูดซับทันที 1.6 แสนตันลั่นต้นทุน 1,000 ล้านบาทแต่ไม่กระทบค่าไฟเหตุมีงบกลางฯดูแล 500 ล้านบาทและให้กฟผ.รับภาระ 500 ล้านบาท

นายวิชัย โภชนกิจ อธิบดีกรมการค้าภายใน กล่าวว่า กระทรวงพาณิชย์จะนำมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ (กนป.) ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อแก้ไขปัญหาราคาปาล์มน้ำมันทั้งระบบโดยเฉพาะมาตรการที่ให้นำน้ำมันปาล์มดิบ(CPO)ไปผลิตไฟฟ้า 1.6แสนตันต่อปี เพื่อปรับสมดุลให้สต๊อกน้ำมันปาล์มที่ปัจจุบันมีอยู่ 4.4 แสนตัน กลับเข้าสู่ภาวะเหลือสต๊อกน้ำมันปาล์มดิบประมาณ 2-2.5 แสนตัน ให้ได้ภายในสิ้นปีนี้

" ราคารับซื้อจะสูงกว่าราคาตลาดปัจจุบัน เพื่อดึงราคาCPOให้สูงขึ้น ส่วนราคารับซื้อจะเป็นเท่าไร ที่ประชุมกนป.ได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาที่มีตัวแทนจากทุกส่วนที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง พร้อมกันนี้ได้เร่งให้พลังงานส่งเสริมการใช้ดีเซลบี 20 และเพิ่มสัดส่วนการผสมในบี 7 ที่จะช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มมากขึ้นอีกเกือบ 6 หมื่นตัน"นายวิชัยกล่าวว่า

นอกจากนี้ ยังมีมาตรการที่จะช่วยแก้ไขปัญหาน้ำมันปาล์มทั้งระบบ โดยกระทรวงอุตสาหกรรมได้ออกประกาศกำหนดให้โรงงานสกัดรับซื้อผลปาล์มที่มีเปอร์เซ็นต์น้ำมันขั้นต่ำ โดยโรงสกัดเอ (ซื้อทั้งปาล์มทะลาย) ต้องซื้อเปอร์เซ็นต์น้ำมันปาล์มขั้นต่ำสูงกว่า 18% ขึ้นไป ส่วนโรงสกัดบี (ซื้อผลร่วง) ต้องซื้อขั้นต่ำสูงกว่า 30% ขึ้นไป หากต่ำกว่านั้นไม่ให้รับซื้อ และหากใครรับซื้อจะมีความผิดทางกฎหมาย ควบคู่ไปกับการประสาน กรมศุลกากรในเข้มงวดตรวจสอบชายแดน ควบคุมการขนย้ายน้ำมันปาล์ม

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานได้ดำเนินงาน 3 มาตรการเร่งด่วนเพื่อดูดซับปริมาณปาล์มได้แก่ 1. การนำน้ำมันปาล์มดิบ 1.6 แสนตันมาเป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าราชบุรีและบางปะกงเป็นระยะเวลา 3 เดือนซึ่งขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.)กำลังปรับปรุงโรงไฟฟ้าให้พร้อมดำเนินการได้ทันที

" โรงไฟฟ้าราชบุรีและบางปะกงปกติใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงแต่บางกรณีฉุกเฉินที่ก๊าซฯขาดหรือหยุดจ่ายมาก็จะเดินเครื่องเป็นดีเซลดังนั้นการดึงปาล์มมาใช้แทนก็จะเหมาะสมกว่าที่จะไปใช้ในโรงไฟฟ้าที่ใช้น้ำมันเตาที่มีต้นทุนสูงถึง 6-7 บาทต่อหน่วยขณะที่ใช้น้ำมันปาล์มจะกระทบต้นทุนค่าไฟสูงขึ้น 20-30 สตางค์ต่อหน่วยหรือคิดเป็นค่าไฟเฉลี่ย 3-3.20 บาทต่อหน่วย "นายศิริกล่าว

ทั้งนี้การดำเนินการดังกล่าวจะกระทบต่อต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเบื้องต้นประมาณ1,000 ล้านบาทจากการรับซื้อCPO ที่จะซื้อตรงกับผู้ผลิตที่ขณะนี้ราคา CPO จะอยู่ระดับ 18-19 บาทต่อกิโลกรัม(กก.) อย่างไรก็ตามต้นทุนดังกล่าวจะไม่มีการผลักภาระไปยังค่าไฟฟ้าที่เรียกเก็บกับประชาชนเนื่องจากรัฐบาลจะมีการนำเงินมาจากงบกลางไปชดเชย 500 ล้านบาทและส่วนที่เหลือ 500 ล้านบาทจะเป็นการเกลี่ยจากค่าสายส่งที่กฟผ.จะเป็นผู้รับผิดชอบรับภาระไป

นอกจากนี้เมื่อวันที่ 1 พ.ย.คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.)ยังได้มีมติที่จะดำเนินการช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มเพิ่มด้วยการเห็นชอบให้เพิ่มสัดส่วน ผสมน้ำมันปาล์มในดีเซลB7 (น้ำมันดีเซลที่ผสมน้ำมันปาล์ม 7% ในทุกลิตร)ที่ปัจจุบันผสม 6.6% เพิ่มเป็น 6.9% ซึ่งจะช่วยดูดซับCPO เพิ่มอีก 8 หมื่นตันต่อปี โดยขั้นต้นจะบังคับเพิ่มสัดส่วนเป็น 6.8% ก่อนนำร่องวันที่ 8 พ.ย.นี้เป็นต้นไป ซึ่งส่วนนี้จะทำให้เกิดการซื้อ CPO เพิ่มขึ้นทันทีก่อน 1.5 หมื่นตัน

มาตรการสุดท้ายได้สนับสนุนการใช้น้ำมันดีเซลB20ด้วยความร่วมมือกับองค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพฯ (ขสมก.)และบริษัท ขนส่ง จำกัด(บขส.) เพื่อทดลองใช้ในรถประจำทาง เป็นเวลา 1 เดือน โดยตั้งเป้าหมายจะเพิ่มการใช้CPOในส่วนนี้ให้ได้ 6 แสนตันต่อปี ในอีก 3 เดือนข้างหน้า จากเป้าหมายรวม 15 ล้านตันต่อวัน ในอนาคต ซึ่งล่าสุดมีกลุ่มสหกรณ์การเกษตรและร้านค้าที่แจ้งขอปั๊มเพื่อใช้บี 20 เพิ่มเติมมาโดยอยู่ระหว่างการพิจารณา

"แผนบี 20 นั้นยอมรับว่าอาจต้องใช้เวลาแต่ทั้ง 3 แผนที่เราวางไว้ทั้งการผลิตไฟ การเพิ่มสัดส่วนผสมในดีเซลก็จะทำให้มีการดูดซับน้ำมันปาล์มส่วนเกินได้เกือบหมดและเมื่อภาพรวมเมื่อสต๊อกปาล์มลดลงก็เชื่อว่าจะทำให้เกิดการยกระดับราคาผลปาล์มทะลายที่ขณะนี้เฉลี่ย 3 บาทต่อกก.เป็น 3.50 บาทต่อกก.ได้ "นายศิริกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น