ใบ รง.4 คือ ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงงาน
พระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 แบ่งโรงงานเป็น 3 ประเภท ประเภทที่ 1 คือ โรงงานที่มีเครื่องจักรซึ่งมีแรงม้ารวมกัน 5-20 แรงม้า และ/หรือมีคนงาน 7-20 คน ประเภทที่ 2 มีแรงม้าเครื่องจักร 20-50 แรงม้า มีคนงานไม่เกิน 50 คน ประเภทที่ 3 ใช้เครื่องจักร 50 แรงม้าขึ้นไปใช้คนงาน 50 คนขึ้นไป
โรงงานแบบที่ 1 และ 2 ถ้าไม่ใช่โรงงานที่ก่อให้เกิดมลพิษ ตั้งโรงงานได้เลย ไม่ต้องขออนุญาต แต่ต้องทำให้ถูกต้องตามหลักเกณฑ์กฎกระทรวง
โรงงานแบบที่ 3 ต้องขออนุญาตตั้งโรงงานต่อกรมโรงงาน กระทรวงอุตสาหกรรม เมื่อได้รับใบอนุญาตซึ่งเรียกว่า ใบ รง.3 แล้ว ยังต้องขอใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน คือ ใบ รง.4 ด้วย จึงจะเปิดโรงงานได้ ใบ รง.4 มีอายุ 5 ปี เจ้าของโรงงานต้องไปต่ออายุทุกๆ 5 ปี เสียค่าธรรมเนียม 1,500-60,000 บาท ขึ้นอยู่กับขนาดเครื่องจักร
ปัจจุบันประเทศไทยมีโรงงานอุตสาหกรรมประมาณราวๆ ครึ่งหนึ่ง อยู่ในนิคมอุตสาหกรรม ซึ่งได้รับการยกเว้นไม่ต้องต่ออายุใบ รง.4 ที่เหลืออีกประมาณ 60,000 แห่งไม่ได้อยู่ในนิคม ส่วนใหญ่เป็นโรงงานขนาดกลาง ขนาดเล็ก หรือเอสเอ็มอีต้องต่อใบอนุญาตใบ รง.4
การต่อใบ รง.4 เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของผู้ประกอบการ นอกจากต้นทุนค่าใบอนุญาตซึ่งความจริงก็ไม่มากเท่าไรแล้ว ที่สำคัญคือ ต้นทุนที่ไม่ใช่ตัวเงิน เพราะต้องเสียเวลาเตรียมเอกสารจำนวนมาก และขั้นตอนที่ยุ่งยากตามประสาระบบราชการที่ใช้กันมาไม่ต่ำกว่า 30 ปี
ปัญหาคือ ใบ รง.4 เป็นที่มาของต้นทุนที่เป็นเม็ดเงินที่เปิดเผยไม่ได้ คือ ค่าน้ำร้อน น้ำชา แลกกับการอำนวยความสะดวกในการต่ออายุใบอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นกับเรื่องอะไรก็ตาม ที่ต้องขอใบอนุญาตต่อใบอนุญาตขึ้นทะเบียนกับทางราชการ
ในยุคประชาธิปไตย รัฐบาลมาจากการเลือกตั้ง ค่าน้ำร้อนน้ำชา ใบ รง.4 ซึ่งเป็นการกินตามน้ำ ยกระดับขึ้นเป็นการตั้งโต๊ะกินกันเป็นเรื่องเป็นราว เมื่อพรรคการเมืองที่เคยคุมกระทรวงพลังงานย้ายไปคุมกระทรวงอุตสาหกรรม โรงงานไฟฟ้าพลังงานทดแทนที่ได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานแล้ว ไม่สามารถเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าได้ เพราะยังไม่มีใบ รง.4 เนื่องจากมีผู้มีอำนาจไป “ตั้งด่าน” เก็บค่าต๋งใบ รง.4 ใบหนึ่งหลายสิบล้านบาท
ปัญหาการต่อใบ รง.4 เป็นหนึ่งในความต้องการของผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมมาโดยตลอด ที่ต้องการให้ภาครัฐแก้ไข นอกจากนั้นยังเป็นประเด็นที่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันเรียกร้องให้ คสช.หลังยึดอำนาจไม่นานให้แก้ไข เพราะว่า เป็นที่มาของการคอร์รัปชันจากการเรียกรับสินบนในการออกใบอนุญาตต่างๆ
ที่ผ่านมา การแก้ไขปัญหาใบ รง.4 เป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไข พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติรับหลักการไปแล้วเมื่อสองปีก่อน แต่ เป็นการแก้ให้กระบวนการต่อใบอนุญาตรวดเร็วขึ้นเท่านั้น การต่อใบ รง.4 ยังคงมีอยู่ หนำซ้ำในร่างแก้ไขนี้ยังขึ้นค่าธรรมเนียมการประกอบกิจการโรงงานเป็นปีละ 300,000 บาทด้วย
การแก้ปัญหาการขอต่อใบ รง.4 ถูกหยิบยกขึ้นมาอีกครั้งหนึ่ง คราวนี้ไม่ใช่การแก้รายละเอียด ขั้นตอน วิธีการแล้ว แต่เป็นการแก้ที่ต้นเหตุเลย คือ การยกเลิกการต่ออายุใบ รง.4 ไปเลย โดยการผลักดันของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายอุตตม สาวนายน
ใบ รง.4 ยังคงมีอยู่ ใครจะตั้งโรงงานยังต้องมีใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน แต่ขอครั้งเดียวตอนตั้งโรงงานแล้วใช้ได้ตลอดไปไม่มีหมดอายุจนกว่าจะเลิกกิจการ
นายอุตตม บอกว่า เรื่องนี้มองจากมุมของกระทรวงอุตสาหกรรม เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูประบบราชการของกระทรวงอุตสาหกรรมแบบ 2 เพิ่ม 2 ลด คือ เพิ่มความสะดวกให้ผู้ประกอบการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ ลดระยะเวลาการทำเรื่องขอใบอนุญาตแบบเดิม และลดปัญหาข้อร้องเรียนความโปร่งใส
สำหรับผู้ประกอบการเอสเอ็มอีแล้ว การยกเลิกการต่ออายุใบ รง.4 คือ การปลดแอกยกเลิกขั้นตอนที่ไม่จำเป็นต้องมีซึ่งควรทำมานานแล้ว แต่ไม่มีใครกล้าตัดสินใจ ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาด
ความจำเป็นที่จะต้องควบคุม กำกับดูแลโรงงานอุตสาหกรรมยังมีอยู่ เพราะต้องคำนึงถึงชุมชน สังคม ว่าจะได้รับผลกระทบในเรื่องความปลอดภัย และสิ่งแวดล้อม หรือไม่ เมื่อเลิกระบบการต่ออายุใบ รง.4 แล้ว จะเปลี่ยนหลักการให้ผู้ประกอบการโรงงานเป็นฝ่ายรับรองตนเอง ซึ่งผู้ประกอบการจะต้องแสดงข้อมูลเพื่อรับรองตนเองว่าประกอบกิจการถูกต้องตามกฎหมาย และแจ้งข้อมูลที่จำเป็นต่อการกำกับดูแล ด้านความปลอดภัยและสิ่งแวดล้อม หรือระบบ Self Declare โดยจะมีเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือผู้ตรวจสอบเอกชนที่ขึ้นทะเบียนเจ้าหน้าที่ตรวจโรงงานกับกรมโรงงานอุตสาหกรรม ไปทำการตรวจภายหลังและเป็นผู้รับรองข้อเท็จจริงความถูกต้องอีกขั้นหนึ่ง เพื่อป้องกันการรับรองเท็จ
เป็นการเปลี่ยนจากการกำกับดูแลโดยรัฐ เป็นการกำกับดูแลตนเอง โดยผู้ประกอบการ
การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.โรงงานอุตสาหกรรม พ.ศ. 2535 ที่จะตัดเรื่องการต่ออายุ ใบ รง.4 ออกไป จะมีผลบังคับใช้ปลายปีนี้หรือต้นปีหน้า หวังว่า คงไม่ถูกดองหรือถูกทำแท้งจากฝ่ายที่เสียประโยชน์ เหมือนร่างกฎหมายบางฉบับที่ถูกแช่เย็นไว้ในสภานิติบัญญัติ หรือถูกแปรรูป ตัดตอน จนไม่เหลือสาระที่เป็นเจตนารมณ์เดิมของการแก้ไข