ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
“หมอสยามไม่พยายามที่จะศึกษาสรรพคุณของตัวยาแต่ละชนิดนอกจากจะถือเอาตามตำรับที่ปู่ย่าตายายสั่งสอนกันต่อๆ กันมาเท่านั้น และเขาจะไม่ปรับปรุงแก้ไขตำรับนั้นแต่ประการใดเลย หมอสยามมิพักพะวงถึงลักษณะอาการเฉพาะโรคแต่ละโรค แม้กระนั้นก็ยังบำบัดให้หายไปได้มิใช่น้อย ทั้งนี้ ก็เพราะชาวสยามไม่ค่อยดื่มเครื่องของดองของเมามากนัก จึงเป็นเครื่องให้พ้นภัยจากโรคที่รักษาให้หายได้ยากเป็นอันมาก”[1]
ข้อความข้างต้น เป็นส่วนหนึ่งของการเขียนจดหมายเหตุพระราชพงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยา โดย เมอสิเออร์ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ (Simon de La Loubère) เอกอัครราชทูตจากราชสำนักสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งเข้ามาในกรุงสยามประมาณ 3 เดือนเศษ ระหว่าง พ.ศ.๒๒๓๐ - ๒๒๓๑
บันทึกข้อความประวัติศาสตร์ข้างต้นสะท้อนให้เห็นว่าแม้ มองสิเออร์ ซีมง เดอ ลา ลูแบร์ จะไม่มีความเข้าใจแพทย์แผนไทยสักเท่าไหร่นัก หรือมีสมมุติฐานที่สรุปเอาเองว่าอาจเป็นเพราะชาวสยามไม่ค่อยดื่มเครื่องของดองของเมามากนักจึงสามารถรักษาบำบัดได้มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพทย์แบบภูมิปัญญาของชาวสยามในสมัยกรุงศรีอยุธยานั้นมีประสิทธิภาพทำให้บำบัดโรคต่างๆ ได้มิใช่น้อย แม้แต่โรคร้ายที่หายได้ยากก็ยังสามารถรักษาด้วยการแพทย์ของชาวสยามในยุคนั้นได้
ทั้งนี้ ในสมัยอยุธยาตอนปลาย มีหลักฐานสำคัญชิ้นหนึ่งที่จัดเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นแรก ที่บันทึกภูมิปัญญาไทยในการใช้ยาสมุนไพรไว้อย่างเป็นระบบคือ “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ซึ่งตำรานี้สืบทอดมาถึงปัจจุบันได้อย่างเกือบสมบูรณ์ จะมีคลาดเคลื่อนไปบ้างก็ในการคัดลอกชื่อสมุนไพร ชื่อโรคหรืออาการของโรค หรือศัพท์ลางคำผิดเพี้ยนไปบ้างเท่านั้น
สมเด็จพระนารายณ์มหาราชทรงครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๑๙๙ ถึง ๒๒๓๑ ตำรับยาในตำราพระโอสถพระนารายณ์ในส่วนที่ระบุวันเดือนปีที่แพทย์ประกอบยาถวายส่วนมากจะอยู่ในช่วงปีกุน เอกศก จุลศักราช ๑๐๒๑ หรือ พ.ศ. ๒๒๐๒ อันเป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช กับปีฉลู ตรีศก จุลศักราช ๑๐๒๓ หรือ พ.ศ. ๒๒๐๔ อันเป็นที่ ๖ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช มีเพียงยาขนานเดียวที่ระบุว่าประกอบถวายในปีขาล อัฐศก จุลศักราช ๑๐๕๘ หรือ พ.ศ. ๒๒๓๐ อันเป็นปีที่ ๓๒ ในรัชกาลสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
จากหลักฐานตำราพระโอสถพระนารายณ์ขนานที่ ๒๒ กล่าวถึงยาแก้ขัดปัสสาวะว่าได้ทูลเกล้าฯถวายสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนิพพานท้ายสระให้เสวย
ทั้งนี้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้เคยทรงมีพระวินิจฉัยไว้ในพระนิพนธ์คำอธิบายไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๖๐ ว่า“สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนิพพานท้ายสระ” พระองค์นี้หมายถึง “สมเด็จพระเพทราชา” ซึ่งครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระนารายณ์มหาราชระหว่างปี พ.ศ. ๒๒๓๑ ถึง ๒๒๔๖ รวมเวลา ๑๕ ปี
เหตุที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเหตุว่าในสมัยก่อนมีโบราณนิยมที่จะไม่เรียกชื่อพระมหากษัตริย์ตรงๆ ในระหว่างรัชกาล มักเรียกพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงครองราชย์อยู่ว่า “พระเจ้าอยู่หัว” หรือ “ในหลวง” เมื่อสมเด็จพระเพทราชาสวรรคตแล้วที่พระที่นั่งท้ายสระ ประชาชนทั่วไปจึงเรียกเป็น “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนิพพานท้ายสระ”
แต่ก็ยังมีอีกข้อสมมุติฐานหนึ่งว่า “สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงนิพพานท้ายสระ”อาจจะหมายถึง “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวท้ายสระ หรือ สมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ ซึ่งครองราชย์ระหว่างปี พ.ศ. ๒๒๕๑-๒๒๗๕ รวม ๒๕ ปี ก็ได้
ดังนั้น แม้ตำรานี้จะชื่อว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์ แต่ก็น่าจะมีการรวบรวมและจัดทำเมื่อเวลาผ่านพ้นไปจากสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชอย่างน้อย ๒ รัชกาล หรือไม่อย่างช้าก็อาจจะเกินกว่ารัชกาล “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ” ซึ่งครองราชย์ต่อจากสมเด็จพระสรรเพชญ์ที่ ๙ ระหว่าง ปี พ.ศ. ๒๒๗๕ -๒๓๐๑
หมายความว่าอายุของตำราพระโอสถพระนารายณ์นับจากปัจจุบันย้อนกลับไป ก็อาจจะมีการรวบรวมจัดทำครั้งแรกในสมัยกรุงศรีอยุธยาประมาณช่วงระหว่าง ๒๖๐-๓๑๕ ปี !!!
ทั้งนี้ การที่การแพทย์แผนไทยของชาวสยามสามารถรักษาบำบัดโรคให้หายไปได้มิใช้น้อยก็ดี หรือแม้แต่จะรักษาโรคที่รักษาได้ยากให้หายได้เป็นอันมากก็ดีนั้น ย่อมแสดงให้เห็นว่าการแพทย์ของสยามจะต้องมีหลักการและระบบบางอย่างที่อาจจะไม่เหมือนการแพทย์แผนตะวันตก แต่สามารถรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพที่ชาวต่างชาติในระดับเอกอัครราชทูตจากราชสำนักสมเด็จพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศส ซึ่งยังไม่มีความเข้าใจในแพทย์แผนไทยยังต้องบันทึกเอาไว้เป็นหลักฐานผ่านจดหมายเหตุพระราชพงศาวดารสยามครั้งกรุงศรีอยุธยา
“ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ได้มีการสรุปทฤษฎีการแพทย์แผนไทยในยุคนั้นไว้อย่างกระชับและได้ใจความยิ่งใน ๑ ย่อหน้า พร้อมกับระบุตำราอ้างอิงไว้อีกอย่างน้อย ๒ เล่ม คือ “คัมภีร์มหาโชติรัต” อันเป็นตำราเกี่ยวกับโรคสตรี และ “คัมภีร์โรคนิทาน” อันเป็นตำราเกี่ยวกับเรื่องราวของโรคหรือเหตุแห่งโรค
โดยเฉพาะตำรับยาไทยที่มีการใช้ “กันชา”เข้าไปเป็นองค์ประกอบด้วยนั้นมีทั้งสิ้น ๔ ขนาน จากจำนวนตำรับยาทั้งสิ้น ๘๑ ขนาน ดังนี้ คือตำรับยาขนานที่ ๑๑ อัคคินีคณะ, ตำรับยาขนาน ที่ ๔๓ ยาทิพากาศ, ตำรับยาขนานที่ ๔๔ ยาศุขไสยาศน์ และ ตำรับยาขนานที่ ๕๕ ยามหาวัฒนะ[2]โดยมีรายละเอียดดังนี้
ลำดับที่ ๑๑ ชื่อ “อัคคินีคณะ” ให้เอา กันชา ยิงสม สิ่งละส่วน เปลือกอบเชย ใบกระวาน กานพลู สค้าน สิ่งละ ๒ ส่วน กระทำเปนจุณน้ำผึ้งรวงเป็นกระสาย ดีปลี สิ่งละ ๔ ส่วน น้ำตาลกรวด ๖ ส่วน กระทำเปนจุณน้ำผึ้งรวงเป็นกระสาย บดเสวยหนักสลึง ๑ แก้อาเจียน ๔ ประการ ด้วยติกกะขาคินีกำเริบ แลวิสมามันทาคินีอันทุพล จึงคลื่นเหียนอาเจียน มิให้เสวยพระกระยาหาร เสวยมีรศชูกำลังยิ่งนัก
ข้าพระพุทธเจ้า ขุนประสิทธิโอสถจีน ประกอบทูลเกล้าฯถวาย ครั้งสมเด็จพระนารายณ์เปนเจ้าเมืองลพบุรี เสวยเพลาเข้าอัตรา ดีนักแลฯ [2]
สำหรับยา “อัคคินีคณะ” นี้ได้มีการวิเคราะห์ในคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกิยรติ ๗๒ พรรษามหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ความตอนหนึ่งว่า
“กัญชาที่ใช้ในปริมาณน้อยๆ เช่นที่ใช้ในตำรับนี้ คนไทยรู้จักใช้ในการปรุงแต่งอาหารมาแต่โบราณ เพื่อช่วยให้กินอาหารได้อร่อยขึ้น กินข้าวได้มากขึ้น เป็นยาเจริญอาหาร ปัจจุบันก็พิสูจน์ได้ในเชิงวิทยาศาสตร์แล้วว่า ในกัญชามีสารที่ช่วยให้กินอาหารได้มีรสชาติมากขึ้น และกินได้ปริมาณมากขึ้น
เครื่องยาอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ในยาขนานนี้ ตำราพระโอสถพระนารายณ์บันทึกชื่อไว้ว่า “ยิงสม” ชื่อนี้ไม่เคยเห็นปรากฏในตำรายาใดมาก่อนเลย เข้าใจว่าน่าจะเป็นเครื่องยาจีนที่ปัจจุบันเรียกว่า “โสม” ซึ่งภาษาจีนแต้จิ๋วเรียก “หยิ่นเซียม” หรือ ภาษาจีนกลางเรียกว่า “เหรินเซิน”โดยขุนประสิทธิโอสถจีน แพทย์หลวงผู้ปรุงยาตำรับนี้ถวายสมเด็จพระนารายณ์มหาราชเมื่อครั้งเป็นเจ้าเมืองลพบุรีผู้นี้น่าจะเป็นหมอจีน จึงรู้จักใช้ “โสม” ซึ่งชาวจีนรู้จักกันดีว่าเป็นยาร้อน มีสรรพคุณบำรุงร่างกาย ช่วยให้เจริญอาหาร
จากปรากฏการณ์ข้างต้น ทำให้เรารู้ว่าอย่างน้อยจนถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช เรายังไม่มีชื่อ “โสม” ใช้ มีแต่ชื่อที่เรียกทับศัพท์ภาษาจีนแบบไทยๆ ว่า “ยิงสม” ซึ่งในสมัยนั้นคนไทยรู้จักกันน้อย เนื่องจากเป็นของนอก หายาก และมีราคาแพง ต่อๆมาเมื่อคนไทยรู้จักกันมากขึ้น อาจเรียกชื่อสั้นลงให้สะดวกเรียกตามลิ้นคนไทยเป็น “โสม” เช่นที่เรียกต่อเนื่องกันมาจวบจนปัจจุบัน [3]
ภูมิปัญญาการใช้ยา “อัคคินีคณะ”ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนั้น น่าจะถูกสืบทอดต่อกันมาจนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ได้สำเร็จ ด้วยเพราะตำรับยาขนานนี้ยังมีความคล้ายคลึงกับยาขนานหนึ่งในตำรายาที่ปรากฏในศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) ซึ่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี) ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕ ในศาลา ๑ เพื่อแก้มันทธาตุยิ่งไปด้วยกองเสมหะความว่า
“สิทธิการิยะ จะกล่าวลักษณะมันทธาตุอันเป็นคำรบ ๔ นั้น ยิ่งไปด้วยเสมหะมีกำลัง คือเพลิงธาตุนั้น หย่อนเผาอาหารมิได้ย่อยกระทำให้ลงไปวันละ ๒-๓ เพลา ให้สวิงสวาย ให้ถอยแรงยิ่งนักและกระทำให้ท้องขึ้นมีรู้วาย ให้อุจจาระเป็นเมือกมัน เป็นเปลวหยาบและละเอียดระคนกัน ให้ปวดมวนเป็นกำลัง โทษทั้งนี้เกิดขึ้นในกองทวาทสอาโปให้เป็นเหตุฯ
ถ้าจะแก้ให้เอา ยิ่งโสม กันชา อบเชย ใบกระวาน กานพลู สะค้าน ขิงแห้ง เจตมูล ดีปลี น้ำตาลกรวด เอาเสมอภาคทำเป็นจุณบดละลายน้ำผึ้งกิน แก้มันทธาตุยิ่งไปด้วยกองเสมหะ กล่าวคืออาโปธาตุอันวิปริตนั้นหาย” [4]
นอกจากนั้นวิชาความรู้ดังกล่าวยังสืบทอดต่อกันมาจนปรากฏในคัมภีร์แพทย์แผนไทยโบราณเล่ม ๓ เขียนโดยขุณโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร) ความว่า
“ยาเจริญธาตุ เอากัญชา โสม อบเชยญวณ เอาสิ่งละ ๑ สลึง ใบกระวาน กานพลู สะค้าน เอาสิ่งละ ๒ สลึง ขิงแห้ง ๓ สลึง เจ็ตมูลเพลิง ดีปลี สิ่งละ ๑ บาท น้ำตาลกรวด ๖ สลึง บดละลายน้ำผึ้งกิน แก้กินข้าวไม่ได้ นอนไม่หลับ”[5]
ตำรับยา “อัคคินีคณะ” นอกจากจะสะท้อนให้เห็นภูมิปัญญาไทยที่มีความชาญฉลาดรู้จัก “ประยุกต์และบูรณาการ” สมุนไพรจากชาติอื่นแล้ว ยังมีเรื่องที่น่ายินดีว่าตำรับยานี้น่าจะสืบทอดจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์ได้โดยถูกนำมาบันทึกใช้ในตำราแพทย์แผนไทยอีกหลายยุคหลายสมัยอีกด้วย
ลำดับที่ ๔๓ ชื่อ “ยาทิพากาศ” ให้เอา ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๘ ส่วน ใบกันชา ๑๖ ส่วน สุราเปนกระสายบดทำแท่ง น้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น กินพอควร แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย กินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแล ฯ [2]
สำหรับ “ยาทิพากาศ” นี้ได้ปรากฏการวิเคราะห์ในคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกิยรติ ๗๒ พรรษามหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ความตอนหนึ่งว่า
“ยาทิพากาศเป็นยาขนานที่ ๔๓ ที่บันทึกไว้ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ใช้แก้ “สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย” คือ ใช้แก้ความไม่สบายทุกอย่าง โดยเฉพาะที่ทำให้ “กินเข้า (กินข้าว)” ไม่ได้ นอนไม่หลับ ตกเลือด ตกหนอง ลงแดง ตามที่บันทึกไว้
ทั้งนี้ กัญชาและฝิ่น เป็นยาที่ทำให้กินข้าวได้ นอนหลับ ไม่รู้สึกเจ็บปวดทรมาน ยาดำที่ใช้ในตำรับนี้เป็นยาถ่าย โดยโบราณเชื่อว่าเมื่อถ่ายได้ ก็จะกินได้ ผู้ป่วยก็จะแข็งแรงและรู้สึกดีขึ้นเอง ส่วนเทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน และการบูร เป็นยาขับลม และอาจแสดงฤทธิ์อื่นๆด้วย ตำราพระโอสถฯให้เอาเครื่องยาทั้งหมดบด ทำเป็นแท่ง โดยใช้สุรา(เหล้า) เป็นกระสาย เมื่อจะกินก็ให้ละลายน้ำกระสาย โดยให้เลือกน้ำกระสายให้ถูกกับโรคว่าร้อนหรือเย็น” [3]
ลำดับที่ ๔๔ “ยาศุขไสยาศน์” ให้เอาการบูรส่วน ๑ ใบสเดา ๒ ส่วน สหัศคุณเทศ ๓ ส่วน สมุลแว้ง ๔ ส่วน เทียนดำ ๕ ส่วน โกฏกระดูก ๖ ส่วน ลูกจันทน์ ๗ ส่วน ดอกบุนนาค ๘ ส่วน พริกไทย ๙ ส่วน ขิงแห้ง ๑๐ ส่วน ดีปลี ๑๑ ส่วน ใบกันชา ๑๒ ส่วน ทำเปนจุณละลายน้ำผึ้ง เมื่อจะกินเศกด้วยสัพพีติโย ๓ จบ แล้วกินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลังกินเข้าได้นอนเปนศุขนักแล ฯ [2]
สำหรับ “ยาศุขไสยาศน์” นี้ได้ปรากฏการวิเคราะห์ในคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกิยรติ ๗๒ พรรษามหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ความตอนหนึ่งว่า
“ยาศุขไสยาศน์ เป็นยาขนานที่ ๔๔ ที่บันทึกไว้ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ มีสรรพคุณครอบจักรวาล แก้ได้ “สรรพโรค” กินแล้วจะทำให้มีกำลัง กินข้าวได้ นอนหลับสบาย นอกจากจะนำเครื่องยามาบดให้ละเอียด ละลายน้ำผึ้งแล้ว เมื่อจะกินก็ให้เสกด้วย “สัพพีติโย” ๓ จบ โดยยาขนานนี้เป็นยาที่ทำให้สบายตัว นอนหลับสบาย และเจริญอาหาร
ทั้งนี้ “สัพพีติโย” เป็นบทสวดอนุโมทนา พระใช้สวดให้พรญาติโยมในโอกาสต่างๆ บทสวดนี้มีเนื้อความดังนี้
“สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสันตุ มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ อภิวาทะนะสีสีสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน จัตตาโร ธรรมาวัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง” แปลได้ว่า
“ความจัญไรทั้งปวงจงบำราศไป โรคทั้งปวงของท่านจงหาย อันตรายจงอย่ามีแก่ท่าน ขอท่านจงเป็นผู้มีความสุขและมีอายุยืน พร ๔ ประการ อายุ วรรณะ สุขะ พละ ย่อมเกิดแก่ท่านซึ่งเป็นบุคคลผู้กราบไว้และอ่อนน้อมต่อผู้ใหญ่เป็นนิจ” [3]
ลำดับที่ ๕๕ “ยามหาวัฒนะ” ให้เอา ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน กานพลู สิ่งละส่วน เทียนดำ เทียนขาว เทียนแดง เทียนสัตบุษ เทียนเยาวภานี โกฏสอ โกฏเขมา โกฏกัตรา โกฏพุงปลา บรเพ็ด ใบกันชา สหัสคุณทั้ง ๒ ลูกพิลังกาสา รากไคร้เครือ แห้วหมูใหญ่ ขมิ้นอ้อย พริกหอม พริกหาง สิ่งละ ๒ ส่วน ดีปลีเท่ายาทั้งนั้น จึงเอาใบกระเพราแห้ง ๒ เท่าดีปลี จึงจะรู้จักคุณยาเห็นประจักษ์อันวิเศษ แก้ฉันนวุตติโรค ๙๖ ประการให้กับพยาธิทั้งหลายทุกประการดีนักแลฯ [2]
สำหรับยา “ยามหาวัฒนะ” นี้ได้ปรากฏการวิเคราะห์ในคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกิยรติ ๗๒ พรรษามหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ความตอนหนึ่งว่า
ยามหาวัฒนะเป็นยาขนานที่ ๕๕ ที่บันทึกไว้ในตำราพระโอสถพระนารายณ์ ยาขนานนี้เข้าเครื่องยา ๒๕ สิ่ง ตามที่ระบุเอาไว้ โดยมีดีปลีเท่ายาทั้งหลายคือ ๔๒ ส่วน และใบกระเพราแห้งปริมาณ ๒ เท่าของดีปลี คือ ๘๔ ส่วน ผสมกัน บดให้ละเอียด ผสมน้ำผึ้งรวง ปั้นเป็นลูกกลอน กินครั้งละ ๑ สลึง ทุกวันให้ครบ ๑ เดือน ก็จะเห็นผลอันวิเศษของยานี้ ซึ่งตำราพระโอสถพระนารายณ์บันทึกไว้ว่าใช้แก้ฉันนวุตติโรค ๙๖ ประการ กับความไม่สบายทั้งหลายทุกอย่าง
ทั้งนี้ “ฉันนนวุฒิ” มาจากภาษาบาลี “ฉ” แปลว่า “หก”, “นวุฒิ” แปลว่า “เก้าสิบ”, “ฉนวุติ” หรือ “ฉันนวุติ” จึงแปลว่า โรคเก้าสิบหกประการ (ที่เกิดใน ๑๒ เดือน)” ปัจจุบันนี้โรคทั้งเก้าสิบหกประการที่กล่าวถึงนั้น มีอะไรบ้างนั้นยังไม่สามารถตรวจสอบได้ แต่เชื่อว่าตำราโบราณที่มีรายละเอียดเหล่านี้อาจยังมีเหลืออยู่บ้าง [3]
ในขณะที่งานวิจัยในยุคปัจจุบันที่กำลังพิสูจน์สารสำคัญในกลุ่มแคนนาบินอยด์ในกัญชาว่าช่วยในเรื่องทำให้นอนหลับ ทำให้เจริญอาหาร ช่วยลดอาการคลื่นไส้ ลดอาการปวดฯลฯ แต่ความจริงเป็นสิ่งที่ตำรับยาไทยรู้มานานกว่า ๓๐๐ ปีมาแล้ว แต่ภูมิปัญญาไทยอาจจะรู้มากกว่านั้นเพราะได้สั่งสมประสบการณ์ในการใช้จริงในมนุษย์จากรุ่นสู่รุ่น จึงได้กำหนดออกมาเป็นตำรับยาและกำหนดปริมาณยาเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างปลอดภัยและใช้รักษาโรคตามที่กำหนดและวิเคราะห์ในแนวทางการแพทย์แผนไทย
แต่ภายหลังจากการที่กรุงศรีอยุธยาเสียกรุงครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา ตำรับตำราแพทย์แผนไทยจำนวนมากถูกเผา สูญหาย กระจัดกระจาย ไม่มีใครคาดคิดว่าจะมีใครสามารถรวบรวมตำราพระโอสถพระนารายณ์สืบทอดกลับมาได้อีก
แต่เดชะบุญของวงการแพทย์แผนไทย เพราะตำราโอสถพระนารายณ์เดิมเป็นคัมภีร์ใบลาน ๑ ผูก ได้กลายมาเป็นสมบัติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงดำรงพระชนม์ชีพอยู่ในช่วงปี พ.ศ.๒๓๔๑ ถึง ๒๔๑๓ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๔๙ ในพระบาทสมเด็จะพระพุทธเลิศหล้านภาลัย (รัชกาลที่ ๒ แห่งราชวงศ์จักรี)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงเป็นแพทย์หลวงในราชสำนักตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๓ แห่งราชวงศ์จักรี) ครั้งนั้นทรงดำรงพระยศเป็น “กรมหมื่นวงศาธิราชสนิท” และทรงรับราชการกำกับกรมหมอหลวงต่อเนื่องมาจนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๔ แห่งราชวงศ์จักรี)
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงมีบทบาทสำคัญมากในการพัฒนาการแพทย์แผนไทยให้ทันสมัยขึ้น ทรงมีส่วนร่วมในกาจัดทำตำรายาจารึกไว้ที่วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ทรงพระนิพนธ์ “ตำราสรรพคุณยา” ซึ่งเป็นตำรายาสมุนไพรที่แตกต่างจากตำรายาสมัยก่อนๆ ตำรานี้จะกล่าวถึงสรรพคุณสมุนไพรกว่า ๑๐๐ ชนิดโดยแยกวิเคราะห์สรรพคุณของส่วนต่างๆ ของพืชสมุนไพร เช่น ราก เปลือก กระพี้ ทรงสนพระทัยที่จะศึกษาการแพทย์แบบฝรั่ง เพื่อเอาส่วนดีมาประยุกต์กับการแพทย์แผนไทยเดิม
นอกจากนี้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ทรงศึกษาการแพทย์แบบฝรั่งจากหมอบรัดเลย์ ทรงพระนิพนธ์ตำราที่มียาฝรั่งอยู่ ๔๒ ชนิด อันได้รับการยกย่องว่าเป็นตำราโอสถสารวิทยาเล่มแรกของไทยที่กล่าวถึงยาฝรั่ง
ทั้งนี้ กรมหลวงวงศาธิราชสนิททรงเป็นต้นสกุล “สนิทวงศ์” ทรงถ่ายทอดความรู้ด้านการแพทย์ให้กับพระโอรส คือ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งกำกับกรมหมอหลวงต่อจากพระองค์ท่าน จนถึงสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ แห่งราชวงศ์จักรี) ซึ่งทรงดำรัสเรียก “หมอสาย” อยู่จนตลอดพระชนมายุ
ต่อมา “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ได้ตกทอดมายัง “พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร” (พระยศในขณะนั้น) มีพระนามเดิม “พระองค์เจ้ารังสิตประยูรศักดิ์” ทรงดำรงพระชนม์ชีพในช่วงปี พ.ศ. ๒๔๒๘ ถึง ๒๔๙๔ ทรงเป็นพระราชโอรสองค์ที่ ๕๒ ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๕ แห่งพระราชวงศ์จักรี) กับเจ้าจอมมารดา หม่อมราชวงศ์หญิงเนื่องผู้เป็นพระธิดาในพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์ อย่างไรก็ตามเมื่อพระองค์ท่านประสูติได้ ๑๒ วัน เจ้าจอมมารดาเนื่องก็ถึงแก่กรรม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้าสว่างวัฒนาจึงทรงรับพระองค์ไว้ในพระอุปถัมภ์เป็นพระโอรสบุญธรรม
ต่อมา “พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร” ได้ประทาน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์”ให้หอพระสมุดฯอีกต่อหนึ่ง
สำหรับการพิมพ์เผยแพร่ให้ประชาชนได้รับทราบนั้นเกิดขึ้นเมื่อ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนารถ บรมราชชนนีพันปีหลวงในพระบาทสมเด็จพระมงกฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯให้พิมพ์ตำราพระโอสถพระนารายณ์เป็นครั้งแรก เพื่อพระราชทาานในงานพระราชทานเพลิงศพพระยาแพทย์พงษาวิสุทธาธิบดี (นาก โรจนแพทย์) เมื่อปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๔๖๐ (ประมาณกว่า ๑๐๐ ปีก่อน)
ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงพระนิพนธ์คำอธิบายในการจัดพิมพ์ตำรานี้ เมื่อโปรดเกล้าฯให้จัดพิมพ์ครั้งแรกดังนี้ความว่า
“หนังสือที่เรียกว่า ตำราพระโอสถพระนารายณ์นี้ คือตำราพระโอสถตั้งแต่สมเด็จพระนารายณ์มหาราชกรุงเก่า หอพระสมุดได้ต้นฉบับของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นชัยนาทนเรนทร ประทานมา เป็นหนังสือลานผูก ๑...” [3]
เป็นเรื่องที่น่าภูมิใจในชนชาติไทยมีตำรับยาซึ่งสืบทอดมากจากภูมิปัญญาที่มีการใช้จริงในราชสำนักตั้งแต่อดีตกาล และเป็นเรื่องที่น่ายินดีกว่านั้นว่าการจดบันทึกและการจัดทำศิลาจารึกได้ทำให้ประเทศชาติมีหลักฐานว่าดินแดนแห่งนี้เคยมีภูมิปัญญาวิธีการปรุงและการใช้กัญชาในการรักษาโรคต่างๆมานับหลายร้อยปีแล้ว
จึงสมควรแล้วที่ว่าการปลดล็อก “สารสกัดกัญชา” เพื่อให้ใช้ในทางการแพทย์นั้นจะต้องปลดล็อก “สมุนไพรกัญชา” ในทางกฎหมายเพื่อให้ครอบคลุมพืชสมุนไพรที่ใช้ในวงการแพทย์แผนไทยด้วย อย่าได้ละเลยรากฐานภูมิปัญญาไทยที่มีมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะหากนำภูมิปัญญาของชาติมาประยุกต์และบูรณาการร่วมกับองค์ความรู้และงานวิจัยสมัยใหม่ด้วยแล้ว ก็ยิ่งมีโอกาสจะทำให้การแพทย์แผนไทยมีความก้าวหน้าและพัฒนาในการรักษาโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพไม่แพ้ชาติใดในโลก
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] มองซิเออร์ เดอ ลาลูแบร์, แปลโดย สันต์,ท. โกมลบุตร, จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม พิมพ์ครั้งที่ ๒ พ.ศ. ๒๕๔๘, พิมพ์ที่ : โสภณการพิมพ์, ISBN 974-93533-2-3
[2] ตำราพระโอสถพระนารายน์ สมเด็จพระบรมราชินีนารถ พระบรมราชชนนี โปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระราชทาน ในงานศพพระยาแพทยพงษา (นาก โรจนแพทย์). พระนคร: โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร ๒๔๖๐
[3] ดร.ชยันต์ พิเชียรสุนทร, คุณหญิงแม้นมาส ชวลิต และ ดร.วิเชียร จีรวงส์, คำอธิบาย ตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ พิมพ์ครั้งที่ ๒ กรุงเทพฯ:อมรินทร์ และมูลนิธิภูมิปัญญา ๒๕๔๘, ๗๗๗ หน้า ISBN 974-272-347-8
[4] ศิลาจารึกในวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) พระนคร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้จารึกไว้เมื่อ พ.ศ.๒๓๗๕
[5] ขุนโสภิตบรรณลักษณ์ (อำพัน กิตติขจร), คัมภีร์แพทย์ไทยแผนโบราณ, พระนคร: อุตสาหกรรมการพิมพ์ ๒๕๐๔)