xs
xsm
sm
md
lg

ลุงตู่ในโลกโซเชียลมีเดีย

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


สัปดาห์ที่ผ่านมาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช.สร้างเครือข่ายในโลกโซเชียลมีเดียของตัวเองด้วยการสร้างเพจในเฟซบุ๊กชื่อ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” ตามมาด้วยทวิตเตอร์ @prayutofficial รวมทั้งหน้าอินสตาแกรมก็ใช้ชื่อ @prayutofficial ปรากฏว่ามีคนเข้ามาติดตามอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว

และเท่าที่ผมเข้าไปอ่านการแสดงความเห็นผ่านเพจในเฟซบุ๊กที่ตั้งขึ้น แล้วนึกถึงอารมณ์ร้อนของพล.อ.ประยุทธ์แล้ว ก็อดเป็นห่วงไม่ได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์จะทนอ่านความเห็นทั้งหมดได้หรือไม่

แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์บอกว่า ได้อ่านความเห็นทั้งหมดแล้ว มีทั้งคนชอบและไม่ชอบเป็นเรื่องปกติ และพร้อมจะรับฟัง ก็นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่อารมณ์ความรู้สึกของคนไทยจะได้สะท้อนไปถึงนายกรัฐมนตรีโดยตรง

ก็คาดหวังว่าจะได้เห็นนิวประยุทธ์ที่มีตบะกล้าแกร่งที่พร้อมจะรับฟังเสียงสะท้อนกลับโดยตรงจากประชาชน เพียงแต่ห่วงว่า แอดมินที่ได้รับมอบหมายจะเอาข้อความทั้งหมดให้พล.อ.ประยุทธ์รับทราบหรือไม่ หรือจะมีคนคอยนั่งลบข้อความด้านลบออกไปไหม

การเปิดตัวเข้ามาใช้เครื่องมือสื่อสารในช่วงที่กำลังจะพ้นตำแหน่ง และมีการเปิดโอกาสให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมบางส่วนเพื่อเตรียมการเลือกตั้งนั้น มันบ่งบอกนัยได้ว่า ท่านต้องการใช้โซเชียลมีเดียเป็นเครื่องมือในการสื่อสารกับประชาชน และรับรู้ว่าโลกวันนี้นั้นไม่อาจหนีการสื่อสารบนโซเชียลมีเดียได้ แต่แน่นอนจะถูกครหาว่าใช้โซเชียลมีเดียเพื่อหาเสียง

เพราะหลายคนอาจจะงุนงงว่า ไม่กี่วันก่อนนักการเมืองเพิ่งออกมาโวยวายว่า รัฐบาลห้ามใช้โซเชียลมีเดียในการหาเสียง และทำไมวันนี้นายกรัฐมนตรีซึ่งเป็นผู้ออกคำสั่งดังกล่าวในฐานะหัวหน้า คสช.จึงเข้ามาใช้โซเชียลมีเดียเสียเอง

แล้วการใช้โซเชียลมีเดียของนายกรัฐมนตรีครั้งนี้หวังผลหาเสียงใช่หรือไม่

คำสั่ง คสช.ดังกล่าวคือ คำสั่งที่ 13/2561 (เพิ่มเติม) เมื่อวันที่ 14 กันยายน 2561 ข้อ 6 พรรคการเมืองจะดําเนินการประชาสัมพันธ์หรือติดต่อสื่อสารกับผู้ดํารงตําแหน่งใดๆ ภายในพรรคการเมืองและสมาชิกของพรรคการเมืองของตน โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่การดําเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง ทั้งนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้งและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อาจกําหนดลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสารที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนหรือสั่งให้มีการระงับการดําเนินการดังกล่าวก็ได้

จะเห็นว่า “โดยวิธีผ่านทางเทคโนโลยีสารสนเทศ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ก็ได้ แต่การดําเนินการนั้นต้องไม่มีลักษณะเป็นการหาเสียง” มีขอบเขตแค่ไหน แล้วจะแยกแยะได้อย่างไรว่า อย่างไหนคือการหาเสียง อย่างไหนไม่ใช่การหาเสียง เพราะความหมายของการหาเสียงก็คือ การสร้างแรงจูงใจให้บุคคลอื่นสนับสนุนตัวเองนั่นเอง

การบอกเล่าความคิดความเห็น หรือการแสดงกิจกรรมผลงานที่ตัวเองได้กระทำลงไปทางโซเชียลมีเดียในฐานะนายกรัฐมนตรีถือเป็นการหาเสียงหรือไม่

แน่นอนล่ะว่า ต่อให้ไม่มีคำสั่งดังกล่าว วันนี้ก็ยังห้ามนักการเมืองหาเสียงอยู่ แต่เมื่อพล.อ.ประยุทธ์หันมาใช้โซเชียลมีเดียในเวลานี้มันก็ดูขัดแย้งกับคำสั่งและการกระทำของตัวเองนั่นแหละ

แม้พล.อ.ประยุทธ์ยังคงเป็นนายกรัฐมนตรี และถึงวันนี้ยังไม่ได้เป็นคนของพรรคการเมืองใด แต่สารภาพแล้วว่า สนใจการเมือง แน่นอนในฐานะนายกรัฐมนตรีการประชาสัมพันธ์การทำงานการใช้ช่องทางโซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับประชาชนก็อาจจะมองว่าทำได้อยู่เพราะไม่มีกฎหมายหรือคำสั่งไหนห้าม แต่ถ้าในเวลาต่อมาพล.อ.ประยุทธ์ไปอยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอเป็นนายกรัฐมนตรีในระหว่างเลือกตั้งจะตอบคำถามนี้ต่อสังคมอย่างไร เพราะมันก็สะท้อนว่า เป็นการเอาเปรียบคู่แข่งขัน แถมมีกติกาอื่นที่เขียนขึ้นมาได้เปรียบมากอยู่แล้ว

แต่ข้อดีของการเข้าสู่โซเชียลมีเดียของพล.อ.ประยุทธ์ครั้งนี้ ก็สะท้อนว่าพล.อ.ประยุทธ์เข้าใจแล้วว่าการสื่อสารของคนในยุคนี้ที่เชื่อมโยงกันผ่านโซเชียลมีเดีย เป็นเครื่องมือที่ทรงพลังที่สุดในการกระจายข่าวสารเข้าสู่สังคมได้อย่างรวดเร็ว และที่สำคัญเป็นเครื่องมือสื่อสารที่ทุกคนมีอำนาจและพลังเท่าๆ กัน

น่าจะเรียนรู้แล้วว่าตัวเองต้องเป็นฝ่ายกระโดดลงไปในโลกของโซเชียลมีเดียมากกว่าการหาทางปิดกั้น

การประกาศว่า เราจะเป็นไทยแลนด์ 4.0 และการใช้เครื่องมือโซเชียลมีเดียในการสื่อสารกับประชาชนนั้นจึงเป็นเรื่องที่ถูกต้องและสอดคล้องกับยุคสมัย แต่ข้อห้ามในคำสั่งที่ 13/2561 ข้อ 6 นั้น มันสะท้อนด้านตรงข้ามของคำว่าไทยแลนด์ 4.0 อย่างแน่นอน

ไม่รู้ว่า เมื่อเป็นช่วงที่ห้ามหาเสียงอยู่แล้วจะมีข้อห้ามตามคำสั่งที่ 13/2561 อยู่อีกไหม หรือจะห้ามเฉพาะช่วงนี้ที่ยังไม่เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองหาเสียงหรือไม่ แต่ยังแอบคิดในแง่ดีว่าคำสั่งนี้น่าจะถูกยกเลิกในช่วงเปิดให้พรรคการเมืองหาเสียงได้ หากรัฐบาลเข้าใจความจริงของโลกยุคนี้

ดังนั้นผมอยากได้ยินรัฐบาลออกมาอธิบายเรื่องนี้ เพื่อไม่ให้ข้อครหาเรื่องห้ามหาเสียงทางโซเชียลมีเดียกับการเปิดช่องทางโซเชียลมีเดียของพล.อ.ประยุทธ์นั้น กลายเป็นความไม่เท่าเทียมกันของการต่อสู้ทางการเมืองในวันที่ตัวท่านเองเข้าสู่การเลือกตั้ง

และเมื่อพล.อ.ประยุทธ์ก้าวเข้ามาในโซเชียลมีเดียอย่างเปิดเผยแล้ว ต้องยอมรับให้ได้ว่าความเห็นและการแสดงออกของท่านจะไม่มีแต่เสียงชื่นชมของคนรอบข้างอย่างเดียว แต่มีความเห็นที่หลากหลายสะท้อนกลับมา ทั้งที่เสียงสะท้อนนั้นจะมองจากข้อเท็จจริง มองจากอคติ และมองจากความไม่นิยมและใจที่ต่อต้านเพราะคนเหล่านั้นมีเครื่องมือสื่อสารนี้เช่นเดียวกัน และหวังว่าแอดมินที่ดูแลเรื่องนี้จะไม่เสิร์ฟให้พล.อ.ประยุทธ์รับทราบแต่การชื่นชมป้อยอ

พล.อ.ประยุทธ์จะได้รับรู้ว่า โลกวันนี้มันพ้นจากการทำให้คนเชื่อเหมือนกันคิดเหมือนกัน มันมีเสียงของฝั่งตรงข้ามสะท้อนกลับมาเสมอ แม้ว่าความเชื่อนั้นจะเป็นความเชื่อที่ตัวเองคิดว่าดีที่สุดและถูกต้องที่สุดแล้ว และไม่ใช่โลกที่ปกครองด้วยอำนาจที่เหนือกว่าและสั่งลงมาตามลำดับชั้นแบบที่เคยชิน

ย้อนไปตอนที่พล.อ.ประยุทธ์และพวกเข้ามาสู่อำนาจนั้นอาจจะเป็นทางเลือกเดียวที่จะช่วยให้บ้านเมืองพ้นจากความเป็นรัฐล้มเหลว พาบ้านเมืองออกจากความจลาจลและกลียุคที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในสถานการณ์ขณะนั้น แต่ ณ วันนั้นสิ่งที่ควรจะทำและผู้คนคาดหวังก็คือ การทำบ้านเมืองให้กลับสู่ปกติ จัดการกับโครงสร้างที่พิกลพิการของระบบการเมืองไทยที่ทำให้คนชนะเลือกตั้งเข้ามาแล้วกลับใช้อำนาจโดยไม่ฟังเสียงประชาชนให้หมดไป ปฏิรูปการเมืองเพื่อป้องกันคนไม่ดีเข้ามาสู่อำนาจและปิดช่องทางการแสวงหาประโยชน์และการใช้อำนาจอย่างฉ้อฉลให้หมดไป

แต่ถึงวันนี้สิ่งที่คาดหวังทั้งหมดไม่ได้ถูกแก้ไขเลย

นอกจากการเตรียมตัวเข้าสู่การเมือง แล้วสร้างพรรคขึ้นมาเพื่อกลับสู่อำนาจเพื่อเตรียมการเลือกตั้ง ซึ่งเป็นตัวสะท้อนวัฏจักรของการเมืองไทย ที่เลือกตั้งแล้วรัฐประหาร แล้วเลือกตั้งใหม่ แล้วรัฐประหารหมุนวนกันไป

คงได้แต่ฝันว่าการเข้าสู่โซเชียลมีเดียและเสียงสะท้อนจากรอบด้านจะช่วยให้เราได้เห็นนายกรัฐมนตรีคนเดิมที่จะเปลี่ยนไปในทางที่ดีกว่าที่เคยเป็น

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น