xs
xsm
sm
md
lg

โจทย์คณิตศาสตร์หลังเลือกตั้ง คำตอบที่อาจคาดไม่ถึง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

ค่อนข้างจะชัดเจนแล้วว่า การเลือกตั้งครั้งแรกหลังการรัฐประหารของคสช.ที่ยึดอำนาจมาตั้งแต่ปี 2557 จะมีขึ้นประมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2562 เอาเป็นว่า เราจดปฏิทินนี้เอาไว้ว่าวันนั้นอำนาจจะกลับมาอยู่ในมือประชาชนอีกครั้ง เพราะหนึ่งคนจะมีหนึ่งเสียงเท่ากันไม่ว่าคุณจะเป็นใคร

แม้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดขึ้นภายใต้กติกาที่ฝ่ายคสช.เป็นคนกำหนดขึ้นผ่านรัฐธรรมนูญ2560 ที่ทำให้เกิดความได้เปรียบกัน และฝ่ายกำหนดกติกาก็กลับมาลงแข่งขันในสนามเลือกตั้งด้วยค่อนข้างจะแน่นอนแล้ว

และหากการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริงก็เท่ากับจะเป็นครั้งแรกในรอบ8ปี หลังจากที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ชนะเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีในปี 2554 คนที่อายุ 17 ปีในวันนั้นถึงวันนี้มีอายุ 25 ปี และจะมีอายุ 26 ปีในปีหน้า เท่ากับการเลือกตั้งครั้งหน้าเรามีช่วงอายุของคนที่อายุ 18-26 ปีที่จะมีโอกาสเข้าคูหาเลือกตั้งเป็นครั้งแรกของชีวิต มีตัวเลขยืนยันว่า คนที่อยู่ในช่วงอายุนี้มีจำนวนถึง 7 ล้านคน

แน่นอนคน 7 ล้านคนในช่วงอายุนี้จะเลือกพรรคการเมืองที่หลากหลายออกไป แต่สมมติว่า พวกเขาไปเลือกตั้งครบทุกคนและเลือกไปในทิศทางเดียวกันทั้งหมด เขาจะเลือก ส.ส.ได้ 100 คน จากการคำนวณตัวเลขจากหลายฝ่ายที่ตรงกันว่า ค่าเฉลี่ย ส.ส.ต่อ1ที่นั่ง เท่ากับประมาณ 70,000 คะแนน

คนรุ่นนี้จึงเป็นกลุ่มเป้าหมายที่พรรคการเมืองจะมองข้ามไปไม่ได้ เราจึงเห็นพรรคต่างๆ พยายามเปิดตัวคนรุ่นใหม่ออกมาเพื่อซื้อใจคนกลุ่มนี้

อย่างไรก็ตามถ้าการเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง เราจะมองเห็น 3 กลุ่มก้อนใหญ่ๆในสนามการเมืองหรือเราเรียกกันว่า สามก๊ก นั่นคือ 1.ฝั่งที่สนับสนุนพรรคเพื่อไทยซึ่งรวมถึงพรรคอื่นๆเช่นอนาคตใหม่ และเพื่อธรรม ฯลฯ 2.ฝั่งที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ 3.พรรคประชาธิปัตย์ นอกจากนั้นก็ยังมีพรรคเล็กน้อยอีกจำนวนหนึ่ง เช่น ชาติไทย ชาติพัฒนา ฯลฯ

แต่เชื่อไหมว่า เมื่อดูกติกาของรัฐธรรมนูญ 2560 แล้ว มีโอกาสสูงมากที่จะไม่มีพรรคไหนที่จะชนะแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด และได้เสียงข้างมากแบบพรรคเดียวที่พรรคเพื่อไทยเคยทำได้

ที่สำคัญกติกาใหม่ที่กล่าวไว้ข้างต้นคือ การโหวตนายกรัฐมนตรี หลังการเลือกตั้งครั้งหน้า บทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญกำหนดให้สมาชิกวุฒิสภาที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลนี้ร่วมโหวตด้วย

ดังนั้นจะมีผู้โหวตเลือกนายกรัฐมนตรี คือ ส.ว. 250 คน และส.ส.จากการเลือกตั้ง 500 คน เสียงเกินครึ่งหนึ่งของ2สภา คือ 376 เสียง

ตอนนี้เป้าหมายสู่เก้าอี้นายกรัฐมนตรีนั้น ฝั่งเพื่อไทยต้องการเสียงส.ส.ให้ได้ 376 เสียง เพื่อให้ตัวเองมีเสียงมากกว่าครึ่งหนึ่งของสองสภาในขณะที่ฝั่งพล.อ.ประยุทธ์ ต้องการเสียงส.ส.251เสียงขึ้นไปเพื่อให้มีเสียงในสภาผู้แทนเกินครึ่ง

แน่นอนว่า ถ้าพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชาจะเป็นนายกรัฐมนตรีอีกก็จะมีเสียงส.ว.250คน ยกมือสนับสนุน เพราะตั้งมากับมือ เท่ากับว่า พล.อ.ประยุทธ์ต้องการส.ส.อีกเพียง 126 เสียง ก็เป็นนายกรัฐมนตรีได้

แต่ถ้ามีการพิจารณากฎหมายและอภิปรายไม่ไว้วางใจในสภาผู้แทนราษฎร พล.อ.ประยุทธ์ต้องมีเสียงส.ส.เกินครึ่งของสภาอยู่ดี คือ ต้องมีเสียงอย่างน้อย 251 คน

ดังนั้นโดยสรุป ถ้าแค่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ต้องการเสียงส.ส.เพิ่มอีก 126 คน แต่ถ้าทำให้รัฐบาลมั่นคงและบริหารประเทศได้ต้องมีเสียงส.ส.อย่างน้อย 251 คน

ส่วนฝั่งตรงข้ามของพล.อ.ประยุทธ์ หากจะตั้งรัฐบาลให้ได้ต้องการเสียงส.ส.อย่างน้อย 376 คน เกินครึ่งของสองสภา

จะเห็นว่า ฝ่ายได้เปรียบคือ พล.อ.ประยุทธ์

แต่เมื่อมองถึงความเป็นไปได้ มีโอกาสสูงมากที่พรรคเพื่อไทย เพื่อธรรม เพื่อชาติ และอนาคตใหม่จะรวมกันได้ส.ส.มากกว่า 251 เสียงขึ้นไป แต่ยากที่จะได้ส.ส.ถึง 376 เสียงเพื่อตัดโอกาสของพล.อ.ประยุทธ์

การที่ฝั่งตรงข้ามพล.อ.ประยุทธ์ได้เสียงส.ส.เกิน 251 เสียง แม้พล.อ.ประยุทธ์จะชิงตั้งรัฐบาลก่อนด้วยการได้เสียง2สภาเกิน376เสียง พล.อ.ประยุทธ์จะได้เป็นนายกรัฐมนตรี แต่จะมีเสียงส.ส.ไม่ถึง251เสียง จะบริหารประเทศได้ไม่นาน เพราะเมื่อมีการพิจารณาร่างกฎหมายในสภาผู้แทนหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจก็จะอยู่ไม่ได้ แต่เชื่อว่า ฝั่งพล.อ.ประยุทธ์จะชิงตั้งรัฐบาลไปก่อน เพราะในช่วงปีแรกจะไม่มีการอภิปรายไม่ไว้วางใจ รัฐบาลก็จะมีอายุประมาณ 1 ปี

มองไปอีกฝั่ง ถ้าฝั่งเพื่อไทยจะตั้งรัฐบาล มีโอกาสไหมที่จะรวบรวมเสียงส.ส.ได้เกิน 376 เสียง

คำตอบคือ ถ้าฝั่งสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์แน่ๆคือ พรรคพลังประชารัฐ รวมพลังประชาชาติไทย ประชาชนปฏิรูป ภูมิใจไทย มีเสียงรวมกันเกิน126 เสียง และเมื่อดูรายชื่อพรรคฝั่งนี้แล้ว ก็ชัดเจนว่าจะต้องได้ส.ส.รวมกันเกิน126เสียงไปมากแน่ๆแต่ก็จะไม่ถึง251เสียงแน่ๆเช่นกัน เมื่อฝ่ายนี้ได้ส.ส.126คน ส.ส.ก็จะเหลือเพียง374คน

ดังนั้นน่าจะชัดเจนว่า ฝั่งพล.อ.ประยุทธ์ก็ไม่สามารถรวบรวมเสียงส.ส.ได้เกิน 251 เสียง ฝั่งเพื่อไทยก็ไม่สามารถรวบรวมเสียงส.ส.ได้ไม่เกิน376เสียง

สรุปโอกาสตั้งรัฐบาลด้วยเสียง 126 เสียงของพล.อ.ประยุทธ์จะเกิดขึ้นค่อนข้างแน่ แต่หากได้เสียงส.ส.ไม่ถึง 251 เสียงก็อยู่ได้ไม่นาน

และในความเป็นจริงการได้เสียงในสภาผู้แทนตั้งแต่251คนขึ้นไปนั้น หากมากกว่าอีกฝ่ายเพียง1 เสียงไม่น่าจะเพียงพอ เพราะอาจเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันได้เช่นส.ส.ฝ่ายตัวเองป่วยหรือไม่อยู่ในห้องประชุม ดังนั้นในความเป็นจริงต้องมีส.ส.มากกว่ากึ่งหนึ่งไปอย่างน้อย20-30คนจึงจะมีเสถียรภาพที่แท้จริง

แต่ถ้าฝ่ายเพื่อไทยรวบรวมส.ส.ได้ 376 คนก็ไม่มีปัญหา เพราะเหลือส.ส.ในสภาอีก124 คนเท่านั้น

อย่างไรก็ตามเป้าหมายของฝั่งพล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องการ 251 คนขึ้นไป และฝ่ายเพื่อไทยที่ต้องการ 376 คนขึ้นไปนั้น ยากที่จะเดินไปถึงจุดหมายทั้งสองฝ่าย

แล้วพรรคประชาธิปัตย์อยู่ตรงไหน
มีคนบอกว่ามีความเป็นไปได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะไปรวมกับฝั่งเพื่อไทยเพื่อจัดตั้งรัฐบาล โดยฝั่งเพื่อไทยจะยอมให้ประชาธิปัตย์เป็นนายกรัฐมนตรี

คำตอบคือ หากฝ่ายพล.อ.ประยุทธ์ถือส.ส.อยู่อย่างต่ำ 126 เสียง แม้ประชาธิปัตย์จะไปรวมกับฝั่งเพื่อไทยก็เป็นไปไม่ได้ที่จะได้เสียงส.ส.ถึง 376 เสียง เพราะเมื่อเอา 126 เสียงลบจาก500เสียงก็จะเหลือเพียง 374เสียง ดังนั้นฝั่งเพื่อไทยรวมกับประชาธิปัตย์ยังไงก็ตั้งรัฐบาลไม่ได้

ถามว่า ถ้าสองฝ่ายตกอยู่ในสภาพแบบนี้หลังเลือกตั้งจะเกิดอะไรขึ้น

ฝั่งพล.อ.ประยุทธ์ตั้งรัฐบาลได้ เพราะมีเสียงเกินครึ่งของ2สภา แต่เป็นรัฐบาลที่ไม่มีเสถียรภาพและบริหารประเทศในระยะยาวไม่ได้

ฝั่งเพื่อไทยมีเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนแต่ตั้งรัฐบาลไม่ได้

ส่วนประชาธิปัตย์หรือแม้กระทั่งพรรคอื่นเช่นชาติไทย ชาติพัฒนา ฯลฯ ไปรวมกับฝั่งไหนก็ตั้งรัฐบาลที่มีเสียงเกินครึ่งหนึ่ง ไม่ว่าของฝั่งพล.อ.ประยุทธ์ที่ต้องการเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนและฝั่งเพื่อไทยที่ต้องการเสียงเกินครึ่งของ2สภาไม่ได้ทั้งสองทาง

คำถามว่า ถึงวันนั้น เป็นไปได้ไหมที่ฝั่งที่ชิงตั้งรัฐบาลได้ก่อนจะยอมต่อรองเพื่อให้ได้เสียงส.ส.เกิน251คน ซึ่งมีหนทางเดียวที่จะเกิดรัฐบาลที่มีเสถียรภาพได้คือ ต้องดึงฝั่งเพื่อไทยที่ถือเสียงเกินครึ่งของสภาผู้แทนเข้าร่วมรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ที่ชิงตั้งรัฐบาลไปก่อนแล้วด้วยเสียงส.ส.เกิน126เสียงบวกกับส.ว.250เสียง

นั่นหมายความว่า ถ้าดึงเพื่อไทยเข้าร่วมฝั่งพล.อ.ประยุทธ์จะได้เสียงในสภาผู้แทนเกินครึ่งไปอย่างมากเป็นรัฐบาลที่มีความมั่นคงอย่างมาก ส่วนพรรคประชาธิปัตย์และพรรคอื่นก็เป็นฝ่ายค้านไป

นี่เป็นทางออกเดียวหลังเลือกตั้งจะทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้ บอกก่อนว่านี่เป็นคณิตศาสตร์การเมืองที่คิดอยู่บนความเป็นจริง ไม่ใช่การชอบหรือไม่ชอบฝ่ายไหน

คิดดูสิว่า เมื่อเป็นทางออกเดียวที่จะตั้งรัฐบาลที่มีเสียงข้างมากในสภาผู้แทนราษฎรได้ฝั่งพล.อ.ประยุทธ์จะต้องรวมกับฝั่งเพื่อไทยเท่านั้น มันจะมีโอกาสเกิดขึ้นไหม

แล้ววันนั้นกองเชียร์สองฝ่ายจะยอมรับได้ไหม

แต่ถ้าสมการนี้เดินไปไม่ได้ เพราะฝั่งเพื่อไทยประกาศชัดเจนแล้วว่าจะไม่เข้าร่วมกับรัฐบาลทหาร การเมืองไทยหลังเลือกตั้งก็จะประสบกับวิกฤตเพราะไม่มีทางออกนั่นเอง เพราะรัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์แม้จะชิงตั้งได้ก็ไม่มีเสถียรภาพที่มั่นคง และถ้ามีรัฐบาลและนายกรัฐมนตรีใหม่แล้ว วันนั้นอำนาจตามมาตรา 44ของรัฐธรรมนูญ 2557 ที่เขียนไว้ในบทเฉพาะกาลก็จะหมดฤทธิ์ลงทันที

อย่างไรก็ตามฝั่งพล.อ.ประยุทธ์จะชิงตั้งรัฐบาลเสียก่อนด้วยจำนวนส.ส.ที่อยู่ในมือเกิน126 คนที่อยู่ในมือก็อาจเกิดความปั่นป่วนวุ่นวายตามมา หากปล่อยให้บ้านเมืองอยู่ในบรรยากาศที่มีส.ส.จากการเลือกตั้งแล้ว แต่ยังตั้งรัฐบาลไม่ได้กินเวลายาวนานเกินไป ที่สำคัญก็คือ รัฐธรรมนูญ2560 ไม่ได้กำหนดไว้ด้วยสิครับว่า หลังเลือกตั้งแล้วจะต้องมีนายกรัฐมนตรีภายในกี่วัน
แต่ข้อดีหากยังตั้งรัฐบาลไม่ได้ก็คือ นายกรัฐมนตรีที่มาจากการรัฐประหารจะยังคงมีอำนาจตามมาตรา44ของรัฐธรรมนูญ2557 ที่ต้องบอกว่านายกรัฐมนตรีตามรัฐประหารเพราะไม่มั่นใจหรือคาดเดาได้ว่า หากพล.อ.ประยุทธ์ลงมาอยู่ในรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอจะยังนั่งอยู่ในเก้าอี้นายกรัฐมนตรีหรือไม่หรือลุกออกมาให้คนอื่นรักษาการแทนเพื่อความสง่างาม

ฉะนั้นถ้ามองจากตัวเลขทางคณิตศาสตร์หลังเลือกตั้ง ดูเหมือนจะมีสมการเดียวที่เป็นทางออก แต่จะเป็นไปได้หรือไม่นั้นต้องจับตาดูกันต่อไป

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น