xs
xsm
sm
md
lg

ห้างเซียร์ส โรบัค อาการร่อแร่

เผยแพร่:   โดย: โสภณ องค์การณ์

<b>ห้างสรรพสินค้าเซียร์ส โรบัค มีสาขาในเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ</b>
กลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่ มีอิทธิพลมากเพียงใดก็มีสิทธิล้มครืนได้ ถ้าไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมได้ทัน กิจการขนาดยักษ์ เป็นเจ้าตลาดในหลายทศวรรษก่อนต้องจบเห่แบบสิ้นท่าเมื่อพ่ายแพ้ให้กับแนวคิดใหม่ในการทำธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็ว

เช่นเดียวกันกับกลุ่มเซียร์ส โฮลดิงส์ ซึ่งประกอบกิจการเครือห้างสรรพสินค้าเซียร์ โรบัค ขนาดใหญ่มีสาขาในเมืองใหญ่ทั่วสหรัฐฯ ก็หนีไม่พ้นชะตากรรมเช่นเดียวกับยักษ์ใหญ่อื่นๆ ที่ล้มหายตายจาก หรือถูกซื้อกิจการไปก่อนหน้านี้

เซียร์ถูกคาดหมายว่าจะยื่นคำร้องเพื่อขอเวลาในการฟื้นฟูกิจการใหม่ ภายใต้กฎหมายล้มละลาย มาตรา 11 จะทำได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับว่าคณะผู้บริหารจะตกลงกับกลุ่มเจ้าหนี้รายใหญ่ และผู้ถือหุ้นรายใหญ่ได้หรือไม่ ในการชิงอำนาจอย่างเข้มข้น

เซียร์สถือว่าเป็นเจ้าแห่งตำนานห้างสรรพสินค้า อาคารเซียร์ส ทาวเวอร์ ในใจกลางเมืองชิคาโก เคยเป็นตึกสูงที่สุดในสหรัฐฯ ใครไปเยือนชิคาโกต้องขึ้นตึกไปชมเมือง

เซียร์สเป็นยักษ์ใหญ่ หาผู้ท้าชิงได้ยากในยุคทองของปี 1960 เป็นต้นมา แต่มาประสบชะตากรรมถดถอยเมื่อยอดขายเริ่มตกเนื่องจากมีคู่แข่งรายใหม่ และการเกิดเป็นดอกเห็ดของซูเปอร์สโตร์ต่างๆ หรือห้างค้าปลีกสินค้าราคาเยาเช่นวอลมาร์ต

ห้างสรรพสินค้าในสหรัฐฯ มีหลายระดับสำหรับผู้บริโภค ทั้งระดับซูเปอร์พรีเมียม พรีเมียม จนถึงระดับรากหญ้า คนรายได้น้อย การแข่งขันรุนแรง ในฤดูการขายลดราคา แจกแถมโละสต็อกด้วยราคาจูงใจ เจ๊งไม่ว่า อย่าให้เสียส่วนแบ่งการตลาด

ยุคเฟื่องฟู เซียร์สขายสินค้าประเภทไม้จิ้มฟันยันเรือรบ ขายผ่านทุกช่องทาง แม้กระทั่งสั่งของทางไปรษณีย์ เซียร์สมีสาขาอยู่ในแทบทุกศูนย์การค้าทั่วประเทศ ถือว่าเป็นเจ้ายุทธจักร ครอบคลุมทุกขนาดของห้าง ทุกคนต้องพึ่งเซียร์สถ้าต้องการสินค้าเมื่อถึงยุครุ่งสุดขีด ปรับตัวไม่ทัน ก็ต้องมีวันร่วงโรยลา เหมือนไดโนเสาร์ครองโลกเมื่อไม่สามารถปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมใหม่ได้ ก็ต้องสูญพันธุ์

เซียร์ส เริ่มตระหนักว่าความใหญ่เกินไปทำให้ขาดความคล่องตัว เทอะทะ เสียเปรียบห้างระดับเล็กกว่าซึ่งมุ่งยอดขาย เน้นต้นทุนต่ำ ไม่ต้องตกแต่งห้างให้หรูหราเอาใจคนเดินห้างแต่ซื้อน้อย ยิ่งเข้าสู่ยุคขายออนไลน์ เซียร์สก็หลุดจากวงการ

โดนอเมซอน อีเบย์ และกลุ่มอื่นๆ แย่งชิงส่วนแบ่งการตลาด จนทำให้เจ้าของอเมซอนเป็นผู้ร่ำรวยที่สุดในโลกในเวลาเพียงไม่กี่ปี แต่ห้างสรรพสินค้าปลีกอยู่ในสภาวะถดถอย แม้แต่กลุ่ม “ทอยส์ อาร์ อัส” ก็ต้องปิดตัวเพราะทนแบกภาระไม่ไหว

ความตกต่ำของเซียร์สส่วนหนึ่งเกิดจากความขัดแย้งระหว่างกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กับคณะบริหาร การเจรจากับเจ้าหนี้เพื่อหาทางออกไม่สำเร็จโดยง่าย ยอดขายตก ทำให้ราคาหุ้นของเซียร์สซึ่งเคยรุ่งถึงกว่า 100 ดอลลาร์ต่อหุ้นใน 10 ปีก่อน ต้องตกเรื่อยๆ

มาจอดอยู่ที่ 1 ดอลลาร์ต่อหุ้นในปีที่ผ่านมา การซื้อขายหุ้นไม่กี่วันก่อน ทำให้ราคาหุ้นตก 31 เปอร์เซ็นต์ไปอยู่ที่ 40.5 เซนต์เท่านั้น มูลค่าการตลาดตกเหลือ 40 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ยอดหนี้สะสมอยู่ที่ 5 พันล้านดอลลาร์เมื่อวันที่ 4 สิงหาคมปีนี้

เซียร์สมีพันธะต้องจ่ายหนี้สิน 134 ล้านดอลลาร์ในวันจันทร์ที่จะถึง แต่ตัวผู้นำ ซีอีโอ ย้ำว่าจะจ่ายเงินก้อนนี้เพื่อใช้หนี้ ขึ้นอยู่กับว่าคณะกรรมการพิเศษจะเห็นด้วยกับแผนฟื้นฟูกิจการของเซียร์สที่ตัวเองเสนอหรือไม่ และมีกรรมการบางคนไม่เอาด้วย

ซีอีโอ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร เอ็ดดี้ แลมเพิร์ต ถือว่าเป็นตัวหลักจะทำให้เซียร์สอยู่หรือล้ม เพราะตัวเองเป็นทั้งผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และเป็นเจ้าหนี้ หลังจากได้ทุ่มเงินเพื่ออุ้มเซียร์สให้รอดด้วยการลงทุน และซื้อกิจการอื่นๆ เข้าเสริมฐานและเครือข่าย

เซียร์สยังเป็นเจ้าของ “เคมาร์ท” ซึ่งมีเครือข่ายของร้านค้าปลีกสินค้าหลากหลายมียอดขายรวม 25.5 พันล้านดอลลาร์ในปี 2015 และแลมเพิร์ต ยังหวังว่าอาณาจักรของตัวเองจะยังอยู่รอดได้ ถ้าเซียร์สมีโอกาสได้ฟื้น และกลุ่มอื่นๆ ในเครือไม่แย่กว่านี้

เซียร์ก่อกำเนิดมาตั้งแต่ 132 ปีก่อน ปัจจุบันมีเหลือเพียง 506 สาขา หลังจากทยอยปิดตัวลงเพราะถึงวาระตกต่ำเหมือนห้างอื่นๆ ที่จำเป็นต้องเลิกราไป ยอดรายได้ปีที่ผ่านมาอยู่ที่ 13.8 พันล้านดอลลาร์ เคยเป็นห้างใหญ่ที่สุดจนถึงปี 1989

จากนั้นได้เสียตำแหน่งแชมป์ให้ห้างวอลมาร์ต ปัจจุบันเป็นห้างค้าปลีกใหญ่อันดับ 23 ในสหรัฐฯ เซียร์สเคยมีสาขานอกสหรัฐฯ ด้วย เช่นในแคนาดา เม็กซิโก และเปอร์โตริโก แต่ได้ปิดกิจการในแคนาดา และขายออกไปเพราะยอดขายเริ่มตกต่ำ

ต้องดูว่าแลมเพิร์ตจะกอบกู้เซียร์สได้หรือไม่ เพราะที่ผ่านมาถือว่าเป็นนายทุนใหญ่ ซื้อขายกิจการต่างๆ ทั้งเสริมและเพิ่มภาระให้เซียร์ส ทุกวันนี้ยังเป็นเจ้าหนี้ของเซียร์สด้วยเงิน 2.5 พันล้านดอลลาร์ มีหุ้นต่ำกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ เป็นรายใหญ่ที่สุด

จากการที่มีธุรกิจเครือข่ายกว้างขวาง นักวิเคราะห์ยังไม่สามารถระบุได้ว่า แลมเพิร์ตได้กำไรหรือขาดทุนหลังจากได้เข้าซื้อกิจการ เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของเซียร์สพร้อมกับการปรับโครงสร้างด้วยการซื้อขายกิจการอื่นๆ เพื่อสร้างรายได้ให้เซียร์ส

จะรอดหรือไม่รอด ยอดขายของเซียร์สในช่วงฤดูเทศกาล มีการจับจ่ายใช้สอยสิ้นปีจะเป็นตัวกำหนด ถ้ายอดขายยังดีอยู่ โอกาสจะฟื้นฟู ก็ยังพอมี ถ้าไม่กระเตื้องเหมือน “ทอยส์ อาร์ อัส” ช่วงปรับแผน ก็อาจต้องอยู่ในสภาพเกินกว่าเยียวยาได้

เซียร์สต้องสร้างความมั่นใจให้กับผู้ขายสินค้าในห้างด้วยเช่นกัน และต้องพิสูจน์ว่าจะมีช่องทางระดมทุนก้อนใหม่เพื่อฟื้นฟูได้หรือไม่ เป็นภาระของแลมเพิร์ต เจ้าหนี้รายอื่นๆ และคณะกรรมการพิเศษ ว่าจะหาข้อตกลงร่วมกันได้หรือไม่


กำลังโหลดความคิดเห็น