xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตสังคมไทยเกิดน้อยตายยาก

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


ผมคิดว่าหากเราจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า สิ่งสำคัญที่พรรคการเมืองจะต้องเสนอคือ นโยบายในการแก้ปัญหาที่เกิดจากประเทศไทยกำลังจะก้าวไปสู่ประเทศผู้สูงอายุในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า เมื่อไทยกำลังประสบกับภาวะเด็กเกิดใหม่น้อย และค่าเฉลี่ยอายุของคนไทยสูงขึ้นคือ ตายยากนั่นเอง

สังคมผู้สูงอายุหมายถึงสังคมที่มีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปที่อยู่จริงในพื้นที่ต่อประชากรทุกช่วงอายุในพื้นที่เดียวกัน ในอัตราเท่ากันหรือมากกว่าร้อยละ 20 ขึ้นไป

ปี 2560 ที่ผ่านมา ซึ่งพบว่ามีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 67.6 ล้านคน เป็นชาย 33 ล้านคน หญิง 34.6 ล้านคน และมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปจำนวน 11.3 ล้านคน หรือ 16.7% ของจำนวนประชากรทั้งหมด วัยทำงานอายุ 15-59 ปี จำนวน 44.60 ล้านคน วัยเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จำนวน 11.60 ล้านคน โดยวัยผู้สูงอายุยังคงทำงานอยู่ราว 3.9 ล้านคน

มีการคาดการณ์ว่าเราจะก้าวสู่สังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ในปี 2564 เพราะจะมีผู้สูงอายุเกิน 20% โดยมีข้อมูลว่า ในปี 2573 จะมีผู้สูงอายุ 17.6 ล้านคน หรือเป็นร้อยละ 26.3 ของประชากร และในปี 2583 จะมีผู้สูงอายุร้อยละ 32.1

ยังมีการคาดการณ์อีกว่า ในปี 2578 สังคมไทยจะมีผู้สูงอายุ 174.4 คน ต่อเด็ก 100 คน นั่นเท่ากับเราจะมีพลเมืองสูงวัยมากกว่าเด็กอย่างมาก

การมีสังคมสูงอายุเท่ากับว่า ประชากรวัยทำงานจะลดลง

เท่าที่มองง่ายๆ ตอนนี้คือ เมื่อประชาชนไทยเป็นผู้สูงอายุมากขึ้นทำให้ประชากรในวัยทำงานลดลงทางออกที่มองเห็นก็คือ ขยายระยะเวลาวัยทำงานให้สูงขึ้น

ดูเหมือนจะมีข้อเสนอต่อรัฐบาลแล้วซึ่งเราจะเห็นมีการแชร์ผ่านโซเชียลมีเดียอย่างแพร่หลายก่อนหน้านี้ ว่ารัฐบาลจะให้ต่ออายุราชการ ซึ่งอ้างจากประกาศในราชกิจจานุเบกษา ระบุว่า ผู้ที่จะเกษียณในปี 2562 และ 2563 ให้ไปเกษียณเมื่ออายุ 61 ปี ผู้ที่จะเกษียณปี 2564 และปี 2565 ให้ไปเกษียณเมื่ออายุ 62 ปี ผู้ที่จะเกษียณปี 2566 และปี 2567 ให้ไปเกษียณเมื่ออายุ 63 ปี และหลังจากนั้นให้เกษียณอายุราชการ 63 ปีทั้งหมด

ซึ่งต่อมารัฐบาลได้ออกมาชี้แจงว่า การเกษียณอายุดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอในแผนปฏิรูปประเทศด้านสังคม ซึ่งตัวแผนมีผลบังคับใช้แล้วจริง แต่ในทางปฏิบัติจะมีผลก็ต่อเมื่อสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ซึ่งไม่ได้อยู่ในคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านสังคม ไปศึกษาและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ และจะมีผลบังคับใช้จริงเมื่อมีประกาศจากสำนักงาน ก.พ.ออกมาซึ่งน่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง

แต่นั่นเท่ากับว่า นี่อาจเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้เพิ่มอายุคนวัยทำงานมากขึ้น

สำหรับประเทศไทยการเกิดที่น้อยลงมาจากผลการรณรงค์เรื่องการคุมกำเนิดเมื่อปี 2513 ด้วยสโลแกนว่า “ลูกมากยากจน” สิ่งที่ทุกคนในยุคนั้นจำได้ก็คือ ถุงยางมีชัยซึ่งมาจากชื่อมีชัย วีระไวทยะ พระเอกละครซึ่งเป็นพรีเซนเตอร์ตอนนั้น

แต่ความจริงแนวคิดเรื่องการคุมกำเนิดนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2500 สมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ เพราะรัฐบาลในสมัยนั้นเห็นว่า การเพิ่มขึ้นของประชากรเป็นภาระด้านการใช้จ่ายของรัฐในทุกด้าน แต่มีคนไม่เห็นด้วยเพราะมองว่า การคุมกำเนิดทำให้ลดลงของประชากรจะกระทบต่อความมั่นคงและขัดกับหลักพุทธศาสนา ทำให้ไม่สามารถรณรงค์ในตอนนั้นได้อย่างเต็มที่

แต่การรณรงค์ต่อมาจากยุคถุงยางมีชัยทำให้อัตราการเกิดเฉลี่ยต่อจำนวนประชากรลดลงอย่างรวดเร็วจากร้อยละ 2.7 ในปี 2513 เหลือเพียงร้อยละ 0.3 ในปี 2528 อัตราการเกิดที่ลดลงและอายุเฉลี่ยของคนไทยที่สูงขึ้น ส่งผลให้เรามีตัวเลขเด็กเกิดใหม่ที่ลดลงและมีผู้สูงอายุที่มากขึ้น

มีตัวเลขที่น่าสนใจว่า จำนวนการเกิดโดยรวมของประเทศลดลงจากปี 2506 - 2526 มีเด็กเกิดใหม่มากกว่า 1 ล้านคน แต่ปี 2559 ลดลงเหลือ 704,058 คน โดยผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์อายุ 14-49 ปี มีบุตรเฉลี่ยเพียง 1.6 คน โดยคาดว่าอีก 10 ปีข้างหน้าอัตราการเพิ่มประชากรของไทยจะเท่ากับ 0.0 หมายถึงอัตราการเกิดเท่ากับการตาย

ทำให้ในปีที่ผ่านมารัฐบาลไทยต้องรณรงค์ให้มีลูกเพิ่มขึ้นด้วยการสร้างแคมเปญว่ามีลูกเพื่อชาติ รวมทั้งได้ออกมาตรการทางภาษีโดยปรับเพิ่มค่าลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไป ที่เกิดตั้งแต่ปี 2561 สามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตร หักเป็นค่าลดหย่อนในการคำนวณภาษีเงินได้ตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่ไม่เกิน 60,000 บาท

แต่ดูเหมือนว่าแนวโน้มการปั่นประชากรเพื่อลดสัดส่วนให้พ้นจากเป็นสังคมผู้สูงวัยเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยาก ที่สำคัญปัจจุบันผู้หญิงไทยแต่งงานน้อยลงหรือช้าลง โดยนิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้นด้วย พร้อมกับค่านิยมที่เปลี่ยนไปเพราะมาจากการที่ผู้หญิงมีการศึกษาที่มากขึ้นด้วย

หากเป็นเช่นนี้ในอนาคตไม่กี่ปีข้างหน้าสถิติประชากรสูงอายุก็จะยิ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ

ถ้าผมนึกว่าอะไรจะเกิดขึ้นได้บ้างตามความเข้าใจง่ายๆ เมื่อประชากรวัยเด็กและผู้สูงอายุจะต้องพึ่งพิงทางเศรษฐกิจจากประชากรวัยทำงาน แต่ปัจจุบันเรามีข้อมูลว่า ประเทศไทยที่มีประชากรเกือบ 70 ล้านคนนั้น มีประชากรในวัยทำงานที่เสียภาษีเพียง 4ล้านคนเท่านั้น ถ้าสัดส่วนของวัยทำงานลดลงสัดส่วนคนที่เสียภาษีบุคคลธรรมดาก็น่าจะมีแนวโน้มที่ลดลงด้วยในอนาคต

และผลที่ตามมาอีกอย่างก็คือ เมื่อเรากลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ สิ่งที่จำเป็นอย่างมากก็คือ การดูแลด้านสุขภาพที่ต้องเพิ่มขึ้นตามวัฏสงสารของมนุษย์ ซึ่งแน่นอนว่ารัฐจะต้องมีค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ที่เพิ่มขึ้น

ในทางกลับกันเมื่อแนวโน้มเด็กเกิดใหม่ลดลง เราจะได้ยินข่าวว่า โรงเรียนจำนวนมากไม่มีเด็กเรียนต้องยุบรวม มหาวิทยาลัยหลายแห่งบางคณะไม่มีคนเรียน มหาวิทยาลัยหลายแห่งอยู่ในฐานะที่ง่อนแง่นเพราะจำนวนนักศึกษาที่น้อยลง การสอบแข่งขันเข้ามหาวิทยาลัยมีการแข่งขันที่น้อยลง และเด็กมีโอกาสเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยปิดของรัฐมากขึ้น บางมหาวิทยาลัยต้องยุบคณะและภาควิชา ขณะที่บางมหาวิทยาลัยหาทางออกด้วยการมุ่งรับเด็กนักศึกษาจากประเทศจีนเข้ามาเรียนเพื่อชดเชยจำนวนนักศึกษาไทยที่ลดลง

ซึ่งเราต้องดูต่อไปว่าสัดส่วนงบประมาณของกระทรวงสาธารณสุข และศึกษาธิการ จากจำนวนเด็กที่เกิดน้อยลงและคนสูงอายุที่มากขึ้นนั้นจะแปรผันไปอย่างไรในอนาคต และพรรคการเมืองแต่ละพรรคนั้นให้ความสำคัญกับวางนโยบายให้สอดคล้องกับทิศทางของประชากรไทยอย่างไร

แม้ในอนาคตเทคโนโลยีจะทำให้ความต้องการใช้แรงงานคนลดน้อยลง อาจจะเป็นการผันแปรที่สอดคล้องกับการที่ประชากรวัยทำงานของเราลดลง แต่รัฐต้องคิดว่าเราจะเอารายได้มาจากไหนเพื่อให้คนส่วนน้อยที่ทำงานสามารถเลี้ยงดูคนส่วนมากที่ไม่ทำงานได้ นั่นอาจหมายถึงการเพิ่มภาระด้านสวัสดิการสังคม

วิกฤตสังคมสูงอายุรออยู่อีกไม่กี่ปีข้างหน้า ต้องดูว่าการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้นภายในปีหน้านั้น แต่ละพรรคการเมืองมีทิศทางอย่างไรในการรับมือกับสถานการณ์นี้

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น