xs
xsm
sm
md
lg

ว่าด้วยกระบวนการละทิ้งเงินดอลลาร์ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ทับทิม พญาไท

<b>ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา</b>
ถ้าว่ากันตามความคิด ความเห็น ของนักเศรษฐศาสตร์ระดับโลกชาวอิตาลี อย่างศาสตราจารย์ “Giancarlo Elia Valori” เหตุที่ทำให้เงินดอลลาร์ ยังคงอยู่ยั้งยืนยง และทำให้คุณพ่ออเมริกาท่านสามารถพิมพ์เงินดอลลาร์ออกมาได้เรื่อยๆ โดยไม่ต้องมีอะไรต่อมิอะไรเป็นหลักประกันเอาเลยแม้แต่น้อย น่าจะประกอบด้วยเหตุปัจจัยเพียง 3 ประการเท่านั้น นั่นก็คือ 1. ด้วยเหตุเพราะเงินดอลาร์ถูกนำไปใช้ในฐานะหน่วยชำระทางบัญชี ในการซื้อ-ขายน้ำมันกันเป็นหลัก (Petrodollars) 2. ถูกนำไปใช้เป็นทุนสำรองระหว่างประเทศ และ 3. ยังคงเป็นเงินที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ถือเอาไว้ในตระกร้าสำรองเงินทุน (Special Drawing Right) เป็นจำนวนถึง 41-46 เปอร์เซ็นต์...

แต่ภายใต้เหตุปัจจัยทั้ง 3 ประการที่ว่านี้...รัฐบาลอเมริกันยุค “ทรัมป์บ้า” กลับได้ทำในสิ่งที่ประธานาธิบดี “ปูติน” แห่งรัสเซียท่านสรุปเอาไว้ว่า... “เป็นเพราะยุทธศาสตร์อันผิดพลาดของอเมริกาเอง ที่เป็นตัวบ่อนเซาะทำลายความเชื่อถือในเงินดอลลาร์ ด้วยการนำมาใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองและการค้า จนแทบไม่เหลือบทบาทที่แท้จริงของตัวเงิน” หรือทำให้การซื้อ-ขายน้ำมันกันด้วยเงินดอลลาร์ นับวันจะออกอาการสาละวันเตี้ยลงๆ อย่างเห็นได้โดยชัดเจน ไม่เพียงแต่ประเทศผู้กลายมาเป็นผู้บริโภคน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก แทนที่คุณพ่ออเมริกาอย่างประเทศจีน จะพยายามหันไปซื้อ-ขายน้ำมันด้วยเงินตราสกุลอื่น หรือด้วยเงินหยวนกันแทนที่ อันส่งผลให้ “Petroyuan” ในตลาดซื้อ-ขายน้ำมันล่วงหน้าของจีน หรือ “Shanghai International Exchange” ที่เพิ่งเปิดขึ้นมาในเดือนมีนาคมของปีนี้ มาแรงแซงโค้งยิ่งขึ้นไปทุกที...

แต่การแซงชั่นประเทศ “ผู้ผลิตน้ำมัน” รายใหญ่ๆ อย่างรัสเซีย อิหร่าน ไปจนถึงเวเนซุเอลา โดยปราศจากความร่วมมือของ “ประชาคมโลก” อย่างเป็นจริงเป็นจัง ยังทำให้เกิดการดิ้นรน เพื่อหาทางสลัดตัวออกจากเงินดอลลาร์ของบรรดาประเทศ “ผู้บริโภคน้ำมัน” รายแล้ว รายเล่า ไม่ว่ายุโรปที่กำลังหาทางซื้อ-ขายน้ำมันกับอิหร่าน ด้วยกลไกการชำระเงินแบบ “SPV” อินเดียที่อาจต้องกลายเป็นผู้ถูกแซงชั่นจากอเมริกาเป็นรายต่อไป เพราะดันไปเซ็นสัญญาซื้อ “S-400” โดยไม่ฟังคำเตือน ไปจนแม้กระทั่งญี่ปุ่นที่เริ่มหันมาญาติดีกับจีนและรัสเซียยิ่งขึ้นเรื่อยๆ อาจหนีไม่พ้นต้องเอากะเค้าด้วย ฯลฯ ฯลฯ ยิ่งถ้าหากประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ที่สุดในโลก อย่างซาอุดิอาระเบียที่ถูกดูหมิ่น ดูแคลน โดยผู้นำอเมริกาว่า “กษัตริย์ซาอุฯ” ไม่มีทางอยู่รอดเกิน 2 สัปดาห์ ถ้ากองทัพอเมริกันมาช่วยปกป้องคุ้มครองให้ ดันเกิดอาการ “หัวร้อน” ขึ้นมา จนต้องหันไปซื้อ-ขายน้ำมันกับจีนด้วย “Petroyuan” ไม่ใช่ “Petrodollars” อีกต่อไป อันนี้...ยิ่งมีแต่ตาย...กับ...ตาย หนักเข้าไปใหญ่...

เพราะถ้าว่ากันตามภาพจินตนาการ ที่หัวหน้าฝ่ายบริหารรายได้บริษัทบริหารจัดการสินทรัพย์ระดับโลก อย่าง “UBS Asset Management” ผู้มีชื่อว่า “นายSaid Hayden Briscoe” ได้วาดเอาไว้ประมาณว่า... “เราลองคิดกันดูในตอนนี้สิว่า...เมื่อไหร่ที่ประเทศผู้ผลิตน้ำมันทั้งหลาย ยินยอมที่จะซื้อขายน้ำมันเป็นเงินหยวน และเริ่มเปลี่ยนผลกำไรกลับไปเป็นการซื้อพันธบัตรที่ออกโดยรัฐบาลจีน เมื่อสิ่งเหล่านี้ดำเนินไปเป็นทศวรรษๆ อะไรจะเกิดขึ้นสำหรับเงินดอลลาร์ ก็คงหาข้อสรุปได้ไม่ยาก” คือต้องเรียกว่า...ถ้าทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามจินตนาการที่ว่า แนวโน้มของเงินดอลลาร์ ย่อมมีแต่เจ๊ง...กับ...เจ๊งลูกเดียวเท่านั้นเอง...

ส่วนการถือครองเงินดอลลาร์ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ ของบรรดาประเทศในโลกทั้งหลาย นับจาก “วิกฤตการเงินปี ค.ศ. 2008” เป็นต้นมา ได้มีส่วนทำให้หลายต่อหลายประเทศ หันมา “การกระจายความเสี่ยง” ด้วยการลดการถือครองเงินดอลลาร์ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศลงไปไม่น้อย ถ้าว่ากันตามคำกล่าวอ้างของผู้อำนวยการองค์กร “International Finance Solution Association” “นายShabbir Razvi” การใช้เงินดอลลาร์ในฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งการประกอบธุรกรรมทางการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเคยมีจำนวนสูงถึงเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์มาถึงทุกวันนี้...ได้ลดลงมาถึงประมาณ 2 ใน 3 ของเท่าที่เคยเป็นมา...

สำหรับการสำรองเงินดอลลาร์ไว้ในตะกร้าเงิน หรือในระบบ “Special Drawing Right” ของไอเอ็มเอฟนั้น แม้จะช่วยให้เกิดความสำคัญต่อเงินดอลลาร์กันในระดับไหนก็ตามที แต่ไอเอ็มเอฟตลอดไปจนถึงธนาคารโลกทุกวันนี้ ก็ใช่ว่าจะทรงอำนาจแผ่อิทธิพลบารมีอยู่ในระบบการเงินโลกโดยปราศจากคู่แข่งใดๆ ก็หาไม่ อย่างน้อยที่สุด...การก่อกำเนิดเกิดธนาคาร “New Development Bank” หรือ “NDB” ที่มีเงินทุนถึง 100,000 ล้านดอลลาร์ การจัดตั้งธนาคาร “Asian Infrastructure Investment Bank” หรือ “AIIB” อันมีสมาชิกถึง 57 ประเทศในโลกนี้ โดยความร่วมมือของประเทศบราซิล รัสเซีย อินเดีย จีน และแอฟริกาใต้ หรือกลุ่มประเทศ “BRICS” นั้น ย่อมก่อให้เกิด “ทางเลือก” ใหม่ๆ สำหรับประเทศใดก็แล้วแต่ ที่ไม่ต้องการตกอยู่ภายใต้อำนาจ อิทธิพล ของ “เผด็จการดอลลาร์” อีกต่อไป ได้ไม่มากก็น้อย...

ยิ่งโดยเฉพาะในช่วงการประชุมกลุ่มประเทศ “BRICS” คราวล่าสุด...เมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมปี ค.ศ. 2018 ที่ผ่านมา ณ กรุงโจฮันเนสเบิร์ก ในแอฟริกาใต้ หัวข้อการประชุมที่บรรดาผู้นำกลุ่มประเทศดังกล่าว ได้หยิบยกมาหารือกันอย่างเป็นงาน เป็นการ ก็คือ...ความเป็นไปได้ของกระบวนการ “De-Dollarization” นั่นเอง!!! และแม้ว่าระบบเศรษฐกิจสำหรับบางประเทศสมาชิกอย่างบราซิล และแอฟริกาใต้ ยังเป็นระบบเศรษฐกิจที่ต้องอยู่ภายใต้อิทธิพลของเงินดอลลาร์อย่างมิอาจปฏิเสธได้ หรือยังคงเป็น “ลูกหนี้” ไอเอ็มเอฟก็ตาม แต่สำหรับประเทศอย่าง รัสเซีย จีน และอินเดียนั้น ไม่เพียงแต่มีฐานะเป็นประเทศสมาชิกในกลุ่ม BRICS เท่านั้น แต่ยังรวมตัวกันในฐานะสมาชิกกลุ่มประเทศ “SCO” หรือ “Shanghai Cooperation Organization” อันเป็นกลุ่มประเทศที่ดำรงเจตนาและความมุ่งหมาย หวังจะให้กระบวนการ “De-Dollarization” เป็นสิ่งที่มีความเป็นไปได้ หรือเป็นจริง เป็นจัง มาแต่แรกเอาเลยก็ว่าได้...

ด้วยเหตุนี้...กระบวนการ “De-Dollarization” หรือกระบวนการละทิ้ง ลดบทบาทเงินดอลลาร์ที่ว่านี้ จึงน่าจะไม่ใช่เรื่องเล่นๆ หรือเรื่อง “ล้อเหล้นน์น์น์” อีกต่อไป โดยเฉพาะเมื่อมีรัฐบาลอเมริกัน หรือรัฐบาล “ทรัมป์บ้า” นั่นแหละ เป็นตัวช่วยออกแรงกระตุ้นให้กระบวนการดังกล่าว ดูเป็นจริง เป็นจัง หรือเป็นไปได้ยิ่งขึ้นเรื่อยๆ ส่วนสุดท้ายแล้ว...มันจะส่งผลให้แนวโน้มของโลกต้องเป็นไปในแบบไหน อย่างไร จากข้อเขียน บทความ เรื่อง “Global De-Dollarization Spells Jolts and Crisis for US Economy” ของ “Jon Jeter” นักเขียน นักหนังสือพิมพ์ ผู้คว้ารางวัลพูลิตเซอร์ต่อเนื่องกันมาถึง 2 ครั้ง ซึ่งเผยแพร่อยู่ในเว็บไซต์สำนักข่าว “Mint Press News” เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ได้สรุปไว้น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งคงต้องขออนุญาตมานำปิดท้ายไว้ ณ ที่นี้ นั่นคือข้อสรุปที่ว่า... “วิวัฒนาการของระบบการเงินโลกนั้น มีความสัมพันธ์อย่างยิ่งกับวิวัฒนาการของดุลอำนาจในโลก และสิ่งเหล่านี้ไม่อาจเกิดขึ้นในชั่วเวลาข้ามคืน มันคงต้องใช้เวลาและคงต้องผ่านวิกฤตอีกหลายอย่าง ถึงจะสามารถก้าวข้ามไปสู่จุดแห่งความสมดุล แม้ไม่มีใครที่พอจะรับรู้ได้จริงๆ ว่า...ระบบ หรือระเบียบใหม่ มันจะมีหน้าตาออกมาในแนวไหน...”
กำลังโหลดความคิดเห็น