xs
xsm
sm
md
lg

ศึกม้าไม้เมืองทรอยใน ปชป. ความบอบช้ำที่ซ้ำเติมพรรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์


“หนึ่งความคิด”
“สุรวิชช์ วีรวรรณ”

การต่อสู้ช่วงชิงอำนาจใน พรรคประชาธิปัตย์ นั้น แม้มองผิวเผินจะเป็นเรื่องธรรมดาของพรรคการเมืองเก่าแก่พรรคนี้ที่เรียกได้ว่า ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรคเหมือนกับพรรคการเมืองอื่นๆ แต่เอาเข้าจริงๆ ครั้งนี้ก็มีความแตกต่างกับหลายครั้งที่ผ่านมา

ในส่วนตัวผมมองว่า ครั้งนี้เป็นครั้งที่วิกฤตที่ซับซ้อนที่สุดของพรรคประชาธิปัตย์ หลายคนบอกว่าใช่เหรอ เพราะไม่มีใครเชื่อว่า นายแพทย์วรงค์ เดชกิจวิกรม จะเป็นคู่ต่อกรที่สูสีกับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะเลย แม้จะมีคนอย่างถาวร เสนเนียมหนุนหลังก็ตาม

ที่น่าสนใจในการเลือกหัวหน้าพรรคครั้งนี้พรรคประชาธิปัตย์จะให้สมาชิก2.5ล้านคนที่เป็นสมาชิกดังเดิมที่ยังไม่เคยลาออก แต่ขาดสมาชิกภาพเพราะคำสั่งของคสช.ได้มีสิทธิ์เลือกตั้งด้วย ซึ่งเชื่อว่าอย่างไรเสียอภิสิทธิ์ก็น่าจะมีแต้มต่ออยู่มาก

พรรคประชาธิปัตย์นั้นผ่านศึกภายในในการแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคมาแล้วหลายครั้ง มีทั้งการจบลงด้วยการร่วมหัวจมท้ายในการสร้างพรรคกันต่อไป และจบลงด้วยการแยกทางกันออกไปตั้งพรรคใหม่

ความขัดแย้งครั้งสำคัญก็คือ การก่อเกิดของกลุ่มที่เรียกว่า กลุ่ม10มกรา ที่นำโดย นายเฉลิมพันธ์ ศรีวิกรม์ กับนายวีระ มุสิกพงษ์(ชื่อในขณะนั้นก่อนเปลี่ยนมาเป็นวีระกานต์) ตอนนั้นนายวีระเป็นเลขาธิการพรรคมี นายพิชัย รัตตกุล เป็นหัวหน้าพรรค แต่ฝั่งนายวีระถูกเบี้ยวเก้าอี้รัฐมนตรีในการร่วมรัฐบาลเปรม1จนเกิดความไม่พอใจกัน 

เมื่อมีการประชุมใหญ่ในวันที่10มกราคม 2530 ได้เกิดการแข่งขันแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรค โดยฝั่งนายวีระสนับสนุนนายเฉลิมพันธ์แต่ก็พ่ายแพ้ต่อนายพิชัย ตอนนั้นนายวีระและนายเฉลิมพันธ์ก็ไม่ได้แยกตัวจากพรรคทันที แต่กลายเป็นมุ้งในพรรคประชาธิปัตย์ในนามของกลุ่ม10มกรานั่นเอง

แต่เมื่อถึงเวลาเลือกตั้งนายพิชัยจะไม่ส่งกลุ่ม10มกราลงสมัครเลือกตั้ง ทำให้นายวีระและนายเฉลิมพันธ์นำกลุ่มออกไปตั้งเป็นพรรคประชาชน

อีกหนึ่งการแข่งขันหัวหน้าพรรคครั้งสำคัญที่เกิดขึ้นในพรรคประชาธิปัตย์ก็คือ การแข่งขันระหว่างนายบัญญัติ บรรทัดฐาน กับนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่มี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ หนุนหลัง แต่ครั้งนั้นนายบัญญัติได้รับชัยชนะ

ต่อมาเมื่อพ่ายแพ้การเลือกตั้งนายบัญญัติจึงเปิดทางให้นายอภิสิทธิ์ขึ้นมาเป็นหัวหน้าพรรค แต่นายอภิสิทธิ์ก็นำพรรคแพ้การเลือกตั้งในปี 2548และได้ขอลาออกจากหัวหน้าพรรค แต่สุดท้ายสมาชิกพรรคก็เลือกนายอภิสิทธิ์กลับมาดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคเช่นเดิม

ไม่รู้ว่าการเลือกตั้งครั้งนี้จะเกิดปรากฎการณ์อะไรบ้าง แต่เมื่อไปดูประวัติของพรรคประชาธิปัตย์จะพบว่า หลายครั้งที่มีการแข่งขันผู้พ่ายแพ้จะแยกตัวออกไป เช่น นายอุทัย พิมพ์ใจชน แยกตัวออกจากพรรคไปตั้งพรรคปฏิวัติเมื่อพ่ายแพ้ต่อ พ.อ.ถนัด คอมันตร์ นายประจวบ ไชยสาส์น ซึ่งผลักดัน นายมารุต บุนนาค แย่งชิงหัวหน้าพรรคกับ นายชวน หลีกภัย แต่พ่ายแพ้ นายประจวบได้ออกจากพรรคประชาธิปัตย์ไป รวมถึงกรณีของกลุ่ม10มกรา ที่ออกไปตั้งพรรคประชาชน

น่าสนใจที่มีคนตั้งสังเกตว่า การแย่งชิงหัวหน้าพรรคครั้งนี้ของนายแพทย์วรงค์เพื่อต่อกรกับนายอภิสิทธิ์นั้น น่าจะมีนายสุเทพหนุนหลัง เป็นนายสุเทพคนเดียวกันกับที่เคยผลักดันอุ้มชูนายอภิสิทธิ์ตั้งแต่แย่งชิงหัวหน้าพรรคกับนายบัญญัติและเป็นเลขาธิการพรรคคู่ใจของนายอภิสิทธิ์มาตลอด และยังร่วมทุกข์ร่วมสุขกันในการฟันฝ่ากับการชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553

บางคนอาจจะสงสัยว่าหากนายสุเทพต้องการพรรคประชาธิปัตย์ นายสุเทพไม่จำเป็นต้องแยกไปตั้งพรรคใหม่ในตอนแรก ถ้ากลับมาเข้าพรรคนายอภิสิทธิ์ก็น่าจะยกย่องนายสุเทพเหมือนเดิม

แต่ถ้าให้ผมวิเคราะห์ผมคิดว่า การตั้งพรรครวมพลังประชาชาติไทยของนายสุเทพนั้น น่าจะเกิดจากอาการ “มวลชนหลอน” เพราะนายสุเทพนั้นหลังจากนำทัพ กปปส.โค่นล้มรัฐบาลยิ่งลักษณ์แล้วสถานะของนายสุเทพเปลี่ยนไป จากนักการเมืองเทาๆ ในฟากประชาธิปัตย์ ก็รู้สึกว่าตัวเองมีสถานะที่โดดเด่นเป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป ที่สำคัญนายสุเทพลั่นวาจาหลายครั้งระหว่างชุมนุมว่า จะไม่เข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมืองอีก

ดังนั้นการกลับไปพรรคประชาธิปัตย์ก็เป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ ถ้าจะกลับไปแบบที่ดำรงสถานะแบบผู้นำโดยพฤตินัยแบบที่นำพรรครวมพลังประชาชาติไทยอยู่ตอนนี้แต่ในพรรคประชาธิปัตย์คงทำแบบนี้ไม่ได้ เพราะพรรคประชาธิปัตย์เป็นสถาบันมีการจัดตั้งองค์กรที่เป็นระบบทำให้เสียหลักการของพรรค

อีกด้านนายสุเทพได้ใกล้ชิดกับแกนนำผู้ชุมนุมสายพันธมิตรฯ ที่มีความมุ่งหมายจะเข้าสู่การเมืองอยู่แล้ว ความเห็นจึงลงตัวสอดคล้องกันเพราะต่างเชื่อว่า มวลชนกปปส.ที่เนืองแน่นมาที่สุดตั้งแต่การชุมนุมทางการเมืองน่าจะเป็นฐานสำคัญในการเข้าสู่การเมือง

หากว่าไปแล้วคนกลุ่มนี้น่าจะมีบทเรียนมาแล้วในการตั้งพรรคการเมืองใหม่หลังการชุมนุมของพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แต่ไม่ประสบความสำเร็จ แม้จะมีปัจจัยแทรกหลังจากนายสนธิ ลิ้มทองกุลได้ลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรค แล้วนายสมศักดิ์ โกศัยสุข เข้ามานำพรรคต่อ แต่ต่อมาพันธมิตรฯ ได้ประกาศรณรงค์โหวตโน
และมวลชนที่ร่วมชุมนุมกับพันธมิตรฯจำนวนไม่น้อยเป็นกลุ่มคนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ ดังนั้นการตั้งพรรคของพันธมิตรฯจึงกลายเป็นความขัดแย้งระหองระแหงกับพรรคประชาธิปัตย์รวมถึงตอนนั้นมีเรื่องพื้นที่ทับซ้อนกับชายแดนเขมรเข้ามาด้วย

บทบาทการนำการชุมนุมตลอดหลายเดือนของการชุมนุมกปปส.นั้น ก็น่าจะทำให้หลายคนเกิดอาการ “มวลชนหลอน” เพราะได้รับการอุ้มชูฟูมฟักจากมวลชนจำนวนมาก ความคิดเรื่องการตั้งพรรคจึงบรรเจิด แต่พอถึงเวลาจริงๆ นายสุเทพ คงเห็นแล้วว่า มันไม่ใช่เรื่องง่าย แม้จะประกาศว่าจะได้เป็นรัฐบาลแน่และจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้กลับมาเป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง

เพราะมวลชนที่ห้อมล้อมกปปส.นั้นส่วนหนึ่งก็คือมวลชนที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ และเมื่อ พล.อ.ประยุทธ์มีพรรคของตัวเองที่ตอนนี้คงไม่ต้องอำพรางแล้วว่าคือพรรคพลังประชารัฐ มวลชนที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็ต้องไปสนับสนุนพรรคนี้โดยตรง คนที่จะเลือกพรรครวมพลังประชาชาติไทยก็เหลือแต่คนที่สนับสนุนตัวของนายสุเทพหรือสนับสนุนบุคคลในพรรคซึ่งไม่น่าจะมีมาก เพราะเอาเข้าจริงๆ มวลชนพันธมิตรฯ เดิมก็ไม่สนับสนุนพรรคนี้

ถามว่าคนที่แวดล้อมนายสุเทพรู้หรือไม่ว่าอาจเกิดปรากฎการณ์แบบนี้ ผมว่าน่าจะรู้นะ เพราะคนใกล้ชิดนายสุเทพส่วนใหญ่แม้แต่ลูกภรรยาของนายสุเทพเองก็ไม่ยอมไปอยู่พรรคของนายสุเทพ กลับมาอยู่พรรคประชาธิปัตย์กันหมด แต่ผมคิดว่าในแว่บแรกนายสุเทพก็ยังเชื่อว่า ตัวเองมีบารมีที่จะสร้างพรรคใหม่ให้เกิดขึ้นได้ แต่พอระยะเวลาผ่านไปคนที่เจนจัดทางการเมืองนายสุเทพก็รู้ได้ในเวลาไม่นานว่า มันเป็นไปไม่ได้เลย ว่าพรรคนี้จะได้เสียงสนับสนุนมาจากไหนที่จะทำให้ได้ส.ส.เป็นกอบเป็นกำ หวังสัก20เสียงก็ยังยากมาก

ในตอนแรกพรรคประชาธิปัตย์เองก็อาจจะยินดีที่คนเหล่านั้นกลับเข้าพรรคไม่ไปร่วมกับนายสุเทพตั้งพรรคใหม่ แต่มารู้ตอนนี้ว่าคนเหล่านั้นเป็นไพร่พลที่ซ่อนมาในม้าไม้โทรจันนั่นเอง

ที่ต้องทำเช่นนี้เพราะนายสุเทพรู้ดีว่า ในทางคณิตศาสตร์การเมืองนั้น แม้ พล.อ.ประยุทธ์ที่ตัวเขาสนับสนุนจะมี ส.ว.ในมือ250เสียง ตั้งรัฐบาลได้ไม่ยากเพราะต้องการ ส.ส.อีกแค่126เสียง แต่ถ้าไม่ได้ ส.ส.251เสียงก็บริหารประเทศไม่ได้ และกุญแจสำคัญที่จะให้ฝั่งสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ได้251เสียงก็คือ พรรคประชาธิปัตย์นั่นเอง

แต่ที่ผ่านมานายอภิสิทธิ์มีท่าทีชัดเจนว่า จะไม่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของพล.อ.ประยุทธ์ และก่อนหน้านี้ก็เป็นฝ่ายไม่รับรัฐธรรมนูญ2560ในการลงประชามติมาก่อน ดังนั้นนี่อาจเป็นจุดสำคัญที่ทำให้มีการเข้าเพื่อแย่งชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์

แน่นอนว่า กลุ่มนายแพทย์วรงค์ที่หนุนหลังโดยกลุ่มของนายถาวรและสมาชิกพรรคที่เคยเข้าร่วมในวงลึกกับนายสุเทพในการชุมนุมของ กปปส.จะต้องปฏิเสธว่า การสมัครชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคจากนายอภิสิทธิ์นั้น ไม่เกี่ยวข้องกับนายสุเทพ แต่คำพูดกับความเชื่อของคนโดยสามัญสำนึกปกตินั้นน่าจะสวนทางกัน พูดง่ายๆ ว่าไม่มีใครเชื่อหรอก

แน่นอนถ้าถามว่า นายอภิสิทธิ์ หากนำพรรคลงเลือกตั้งในฐานะหัวหน้าอีกจะชนะไหม ผมคิดว่า ทุกคนตอบเหมือนกันว่าไม่มีทางเลย และเชื่อว่า หากนำพรรคแพ้เลือกตั้งอีกครั้งนายอภิสิทธิ์ก็น่าจะถอยจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคอยู่ดี แต่ถ้ามองตัวที่ลงชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคอย่างนายแพทย์วรงค์หรืออาจมี นายอลงกรณ์ พลบุตร อีกคนก็ไม่สามารถเทียบชั้นกับนายอภิสิทธิ์ได้เลยในเกือบทุกๆด้าน และก็ไม่น่าจะนำพรรคชนะได้เช่นกัน

คนจำนวนหนึ่งจึงมองว่า เจตนาการแย่งชิงพรรคครั้งนี้แม้จะมีผลลัพธ์ที่เหมือนเดิม แต่เหมือนเจตนาจะสร้างความปั่นป่วนระส่ำระสายให้เกิดขึ้นกับพรรค แม้เรื่องการแข่งขันชิงหัวหน้าพรรคแบบนี้จะเป็นเรื่องปกติของพรรคประชาธิปัตย์ที่ไม่มีใครเป็นเจ้าของพรรค เคยมีการแข่งขันกันมาแล้วหลายครั้ง และทุกคนยืนยันว่า หากพ่ายแพ้แล้วจะคนสนับสนุนพรรคในการต่อสู้ทางการเมืองเหมือนเดิมแต่หลายคนก็ยังเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องปกติของการต่อสู้ตามจิตวิญญาณประชาธิปไตยของคนในพรรค

เป้าหมายสำคัญที่มีการพูดกันก็คือ ต้องทำให้มั่นใจได้ว่า เสียงสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์หลังเลือกตั้งต้องมีมากพอถึง251เสียง และพรรคประชาธิปัตย์เป็นจุดชี้เป็นชี้ตายที่สำคัญ เพราะถ้าพรรคประชาธิปัตย์สวิงไปทางหนึ่งที่เริ่มมีการพูดกันว่า พรรคเพื่อไทยอาจยอมให้นายชวนกลับมาเป็นนายกฯ โอกาสที่จะรวมกันในกลุ่ม ส.ส.เพื่อให้ได้376เสียงเพื่อดับฝันของ พล.อ.ประยุทธ์ก็มีความเป็นไปได้มากทีเดียว

ดังนั้นจึงเชื่อว่านี่แหละคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องยึดพรรคประชาธิปัตย์จากมืออภิสิทธิ์ให้ได้ หรือไม่ก็บั่นทอนเสียงของพรรคประชาธิปัตย์ทำให้อ่อนแอลง เพราะเชื่อว่าอย่างไรเสียเสียงของฝั่งนี้ไม่มีทางเทไปฝั่งเพื่อไทยซึ่งจะเกิดผลดีกับพรรคของนายสุเทพและพรรคที่สนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์นั่นเอง

ศึกครั้งนี้จึงเป็นการต่อสู้กันภายในของพรรคประชาธิปัตย์ที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อนมากกว่าครั้งไหน และจะส่งผลที่รุนแรงกว่าศึกภายในทุกครั้งที่ผ่านมา

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan




กำลังโหลดความคิดเห็น