xs
xsm
sm
md
lg

ประชาชนหนุนปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ วัดใจรัฐบาล “ไทยนิยมยั่งยืน” จริงหรือลวง

เผยแพร่:   โดย: นายหม้อ


โดย...นายหม้อ

หากนับย้อนไปช่วงปลายปี 2560 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมประมง ได้พยายามที่จะนำเสนอให้ปลากัดไทยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติมาแล้วครั้งหนึ่ง มีการจัดกิจกรรมการขับเคลื่อนให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติบริเวณตลาดคลองผดุงกรุงเกษม หรือตลาดนัดลุงตู่ ข้างทำเนียบรัฐบาลอย่างใหญ่โต พร้อมจัดพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ โครงการพัฒนาผู้ประกอบการใหม่ (Start Up) ปี 2561 ระหว่างกรมประมงและสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เพื่อส่งเสริมพัฒนาเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลากัดให้ก้าวสู่ผู้ประกอบการ 4.0 มุ่งเพิ่มมูลค่าการส่งออกปลากัด ซึ่งปีที่ผ่านมูลค่าการส่งออกกว่า 1,000 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ครั้งนั้นคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ซึ่งมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ได้ปฏิเสธปลากัดน้อย ด้วยเหตุผลว่า “ข้อเสนอดังกล่าวนั้นไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับมิติเรื่องเอกลักษณ์ของชาติแต่อย่างใด”

อย่างไรก็ตาม เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กลุ่มผู้รักปลากัดไทยได้รวมตัวกันและตั้งแคมเปญ “ประกาศให้ปลากัดเป็นสัตว์น้ำประจำชาติ Siamese Fighting Fish as National Aquatic Animal” ผ่านเว็บไซต์ change.org ซึ่งจนถึงปัจจุบันมีผู้สนับสนุนแคมเปญนี้กว่า 12,000 คน และเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหว กรมประมงซึ่งมั่นใจในศักยภาพของปลากัดน้อยมาโดยตลอด จึงเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาส เริ่มศึกษาและค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม ระดมความคิดจากผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่างๆ โดยเฉพาะประเด็นเรื่องมิติเอกลักษณ์ของชาติซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน จนมาเป็นข้อเสนอที่สมบูรณ์แบบครบทุกมิติ รวมทั้งด้านชีวภาพและศักยภาพอีกด้วย

จากการทำงานร่วมกันระหว่างข้าราชการและประชาชนอย่างแข็งขัน ในที่สุดข้อเสนอดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบจาก อธิบดีกรมประมง ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จนถึงรองนายกรัฐมนตรี ด้านเศรษฐกิจ ผู้กำกับดูแลกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยตรง ได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นำเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตั้งแต่กลางเดือนกันยายนที่ผ่านมา ณ เวลานั้นถือเป็นสัญญาณดีว่าปลากัดน้อยเชื้อชาติไทยจะได้สัญชาติไทยอย่างเป็นทางการเสียที

แต่เส้นทางนี้มิใช่พรมแดง ปลากัดน้อยยังต้องเผชิญอุปสรรคต่อไป หลังจากที่กรมประมงดำเนินการตามคำสั่งรองนายกรัฐมนตรี ส่งเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะเป็นผู้นำเสนอเรื่องต่อคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติ ตามขั้นตอนปฏิบัติเหมือนในครั้งแรกที่มีการนำเสนอ แต่ครั้งนี้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีปฏิเสธที่จะดำเนินการใดๆ และแจ้งกรมประมงให้เป็นผู้นำเสนอต่อคณะกรรมการเอกลักษณ์ของชาติโดยตรง

ความไม่ชัดเจนของระบบราชการไทย โดยไม่มีคำตอบว่าเหตุผลใดขั้นตอนการทำงานจึงเปลี่ยนไปภายในระยะเวลาไม่ถึงปี สร้างความสับสนให้กับปลากัดน้อยและคนรักปลากัด แต่นั่นยังไม่สำคัญเท่ากับ คำปฏิเสธอย่างไร้เหตุผล กลายเป็นเรื่องเด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว สะท้อนถึงศักยภาพของหน่วยงานซึ่งอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรีโดยตรง ปฏิบัติงานแบบตามใจฉัน ระเบียบตามความพอใจ สร้างความล่าช้า ขัดแย้งกับแผนพัฒนาประเทศไทยที่เรารับรู้กันทุกคืนวันศุกร์ ไม่ว่าจะเป็นนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 จนถึงไทยนิยมยั่งยืน ที่มุ่งแก้ปัญหาให้กับประชาชน

เมื่อการเดินทางตามหาสัญชาติไทยของปลากัดน้อยยังอีกไกล และยังไม่อาจรู้ได้ว่าจะต้องรออีกนานแสนนานเพียงใด ในฐานะประชาชนและคนรักปลากัด ขอเรียกร้องให้ท่านนายกรัฐมนตรีและผู้เกี่ยวข้อง โปรดทบทวนขั้นตอนการทำงานและชี้แจงข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นโดยเร็ว ก่อนที่ประเทศใดจะเห็นความสำคัญของเรื่องนี้และมอบสัญชาติให้ปลากัดน้อยเป็นสัตว์น้ำประจำชาติไปเสียก่อน หวังว่าจะไม่ต้องอ่านเรื่องจริง ”กว่าจะถึงโหลปลากัดก็สายเสียแล้ว” เพียงเพราะความเขลาของใครสักคน !


กำลังโหลดความคิดเห็น