xs
xsm
sm
md
lg

โลกเปลี่ยน การผลิตไฟฟ้าของไทยจะไม่เปลี่ยนตามหรือไง?

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

ในช่วง 1 ถึง 2 ปีมานี้อาคารสถานที่ซึ่งต้องจ่ายค่าไฟฟ้าจำนวนมาก เช่น ห้างสรรพสินค้า โรงงานอุตสาหกรรมรวมทั้งมหาวิทยาลัยบางแห่งได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์บนหลังคาเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองในเวลากลางวันเพราะไฟฟ้าที่ผลิตเองมีราคาถูกกว่าที่ต้องซื้อจากสายส่งของการไฟฟ้าประมาณ 10 ถึง 15% แต่ในเวลากลางคืนก็ใช้ไฟฟ้าจากสายส่งตามปกติ โดยมีบริษัทรับติดตั้งมาลงทุนให้ทั้งหมด เงินที่ประหยัดได้ก็นำมาแบ่งกันระหว่างเจ้าของอาคารกับบริษัทรับติดตั้ง เมื่อเวลาผ่านไประยะหนึ่ง เช่น 15-20 ปีผลประโยชน์ทั้งหมดที่เหลือก็จะตกกับเจ้าของอาคาร โดยมีอายุการใช้งานนาน 25 ปี ธุรกิจดังกล่าวจึงได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว

ต่อมาทางการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้เรียกเก็บเงินที่เรียกว่า “สำรองความสามารถในการจ่ายไฟฟ้า” จากเจ้าของอาคาร โดยอ้างว่าในเวลากลางคืนซึ่งอาคารที่ติดโซลาร์เซลล์ไม่สามารถผลิตไฟฟ้า ทางการไฟฟ้าฯ จะต้องสำรองไฟฟ้าไว้ให้ จึงขอเรียกเก็บค่าสำรองไฟฟ้าดังกล่าวในราคา (รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) จำนวนประมาณ 6 หมื่นบาทสำหรับผู้ติดตั้งขนาดหนึ่งเมกะวัตต์

ผมคำนวณอย่างคร่าวๆ ได้ว่าค่าสำรองดังกล่าวประมาณ 12%ของมูลค่าไฟฟ้าที่ประหยัดได้ ส่งผลให้ธุรกิจดังกล่าวไม่สามารถดำเนินการได้ อาคารสถานที่ที่คิดจะติดตั้งก็ต้องลังเลเพราะแทบไม่เหลือผลตอบแทน

คำถามก็คือว่า ได้มีการสำรองไฟฟ้าเกิดขึ้นจริงหรือเปล่า หรือเป็นแค่การขาดรายได้ที่เคยได้ของทางการไฟฟ้าฯ เท่านั้น ซึ่งในตอนท้ายของบทความผมจะนำเสนอข้อมูลการบริหารจัดการระบบไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนียสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ยังได้มีการประณามผู้มีส่วนร่วมในการติดตั้งดังกล่าว ทั้งเจ้าของอาคารและบริษัทรับติดตั้งว่าเป็นผู้เห็นแก่ตัวที่จ่ายค่าไฟฟ้าถูกกว่ารายอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ติด เก่งจริงก็ผลิตเพื่อใช้เองให้หมดทั้ง 100% ตลอดทั้งกลางวันและกลางคืนซิ

ผมเองซึ่งเป็นผู้เขียนสนับสนุนโซลาร์เซลล์ก็เคยโดนด่าและถูกประณามมาตลอดเมื่อเขียนถึงเรื่องทำนองนี้ครับ

การพิจารณาถึงเรื่องนี้เราจำเป็นจะต้องมีความคิดที่เป็นระบบพร้อมข้อมูลที่ทันสมัยครบถ้วน

ความคิดที่เป็นระบบดังกล่าวพอสรุปได้เป็น 3 ประการ คือ (1) เทคโนโลยีของมนุษย์กำลังก้าวหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีพลังงานจากโซลาร์เซลล์ (2) ภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เรียกกันว่าปัญหาโลกร้อนกำลังเกิดขึ้นในอัตราเร่งทั้งจำนวนครั้งที่เกิดและความรุนแรง โดยมีต้นเหตุหลักมาจากการเผาพลังงานฟอสซิล และ (3) ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางรายได้ในสังคมกำลังเพิ่มสูงขึ้นในอัตราเร่งเช่นกัน

หากย้อนไปดูประวัติศาสตร์พบว่า กว่า 1.5 แสนปีมาแล้ว มนุษย์เราใช้หินเป็นเครื่องมือในการผลิตหรือดำรงชีวิต ไม่ว่าจะเป็นการขุด (13 หมูป่าติดถ้ำก็ใช้หินในการขุดดิน) และตัด แต่ก็ต้องยกเลิกไปเมื่อประมาณ 3 พันปีที่แล้ว ไม่ใช่เพราะว่าหินหมดไป แต่เพราะว่าสิ่งใหม่คือเหล็กมีประสิทธิภาพสูงกว่า อย่างไรก็ตามหินก็ยังคงมีประโยชน์ในการก่อสร้าง แต่บทบาทในฐานะเครื่องมือการผลิตได้สมัยไปแล้ว

เมื่อประมาณ 15 ปีที่แล้ว ฟิล์มมีบทบาทสำคัญในการถ่ายรูป แต่ก็ต้องถูกยกเลิกไปไม่ใช่เพราะไม่มีอุปกรณ์ในการผลิตฟิล์ม แต่เพราะว่ามีสิ่งใหม่ที่มีประสิทธิภาพสูงกว่าคือกล้องดิจิตอลเกิดขึ้น ฟิล์มจึงเป็นสิ่งล้าสมัย แม้บริษัทฟิล์มได้พัฒนาให้ระยะเวลาในการล้างและอัดภาพให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งชั่วโมงแล้วก็ตาม (ยังพอจำได้นะครับ) ปัจจุบันฟิล์มอาจจะยังพอมีบทบาทในการสอนนักศึกษาอยู่บ้าง การผลิตภาพจากฟิล์มยิ่งผลิตจำนวนมากก็ยิ่งต้องเสียเงินมากขึ้น แต่การใช้ภาพจากกล้องดิจิตอลจำนวนนับล้านภาพก็เสียค่าใช้จ่ายเท่ากับภาพเดียว

ในเชิงจำนวน ไม่ว่าจะเป็นเชื้อเพลิงที่เป็นน้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหินเมื่อมีความต้องการมากขึ้น ราคาก็จะขึ้นตามไปด้วย (ตามหลักอุปสงค์ อุปทาน) แต่แผ่นโซลาร์เซลล์ราคาจะลดลงถึง 22% เมื่อจำนวนความต้องการเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าตามหลักขนาดของเศรษฐกิจ (จากหนังสือ Clean Disruptive of Energy and Transportation โดย Dr.TonySeba มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด)

โรงไฟฟ้าถ่านหินและโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติเป็นระบบเผาไหม้ภายใน ต้องใช้น้ำจืดและเชื้อเพลิงจำนวนมาก โดยการต้มน้ำให้เดือดจนเป็นไอแล้วใช้ไอน้ำไปหมุนไดนาโมเพื่อผลิตไฟฟ้า พลังงานร้อยละ 65 ต้องสูญเสียไปตั้งแต่ในโรงไฟฟ้า แต่การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ไม่ต้องใช้น้ำ เชื้อเพลิงก็ไม่ต้องซื้อเพราะได้ฟรีจากแสงแดด ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องผลิตแบบรวมศูนย์การผลิตกำลังทยอยกันเลิกใช้ ไม่ใช่เพราะมันหมดไป แต่เป็นเพราะความล้าสมัยในบทบาทของการผลิตไฟฟ้า แต่ก๊าซธรรมชาติยังจะมีบทบาทในการผลิตปิโตรเคมีต่อไป โซลาร์เซลล์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพมากกว่าก็เข้ามาแทนที่ เช่นเดียวกับฟิล์มถ่ายรูปและกล้องดิจิตอลนั่นเอง

ผลงานวิจัยของมหาวิทยาลัยมินนิโซตา สหรัฐอเมริกาพบว่า การใช้โซลาร์เซลล์พร้อมกับแบตเตอรี่ในการผลิตไฟฟ้าในช่วงพีค (ช่วงที่มีความต้องการสูงสุด) จะให้ผลตอบแทนดีกว่าการผลิตจากโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติแล้วตั้งแต่ปี 2018 และจะมากขึ้นอย่างชัดเจนในปี 2023 (อ่านบทความของผมเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา)

โดยสรุปก็คือ การผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ (และกังหันลมซึ่งมีต้นทุนถูกกว่าโซลาร์เซลล์) รวมกับแบตเตอรี่สามารถแก้ปัญหาทางวิศวกรรมไฟฟ้าได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการตอบสนองความสมดุลของไฟฟ้า ช่วงพีค รวมทั้งมายาคติเรื่อง “โรงไฟฟ้าหลัก(base-load)”

อ่านมาถึงตอนนี้คงจะทำให้เราเข้าใจได้แล้วว่าเจ้าของอาคารที่ติดโซลาร์เซลล์ดังกล่าวมีความเห็นแก่ตัวหรือไม่ ในเมื่อโลกมันกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว องค์กรที่ไม่ยอมปรับตัวนั่นแหละจะเป็นปัญหา

Jack Welch ผู้บริหารสูงสุดของบริษัท General Electric ได้เคยกล่าวไว้ว่า “ถ้าอัตราการเติบโตของระบบภายนอกมากกว่าอัตราการเติบโตของระบบภายใน แสดงว่าจุดจบใกล้เข้ามาแล้ว (If the rate of change on the outside is greater than the rate of change on the inside, the end is near.)”

ก่อนจะพูดถึงการผลิตไฟฟ้าของรัฐแคลิฟอร์เนีย ผมขอพูดถึงข้อเสียของโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ไม่ว่าจะเป็นถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ ทันทีที่โรงไฟฟ้าสร้างเสร็จไม่ว่าจะได้ผลิตหรือไม่ก็ตาม ทางการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยจะต้องเสียค่าความพร้อมจ่ายให้กับเจ้าของโรงไฟฟ้า (ซึ่งเป็นกติกาทั่วไปทั่วโลก) ที่เป็นเช่นนี้ก็เพื่อความมั่นคงของระบบไฟฟ้าให้สมดุลระหว่างจำนวนไฟฟ้าที่ผลิตกับจำนวนไฟฟ้าที่ต้องใช้

ผมเข้าใจว่าในระบบการผลิตที่ใช้โซลาร์เซลล์ กังหันลม และแบตเตอรี่ ความสมดุลจะเกิดขึ้นเองโดยอัตโนมัติ ภาระเรื่องค่าความพร้อมจ่ายน่าจะลดลง เพราะระบบมันพร้อมตามธรรมชาติและตามหน้าที่ของแบตเตอรี่ที่ทำหน้าที่จ่ายไฟฟ้าออกเมื่อระบบต้องการ และเก็บไฟฟ้าที่เหลือใช้ลงแบตเตอรี่

ในเรื่องการผลิตไฟฟ้าในรัฐแคลิฟอร์เนีย ผมมี 3 ภาพเพื่อนำเสนอโดยย่อดังนี้ครับ

ภาพแรกแสดงประเภทของโรงไฟฟ้าที่ผลิตเมื่อเวลา 15.25 น. ของวันที่ 29 กันยายน 2561 พบว่ามีสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนสูงถึง 48.8% ในจำนวนนี้เป็นโซลาร์เซลล์และกังหันลมจำนวน 9,145 และ 2,352 เมกะวัตต์ตามลำดับ

ขณะที่ผมกำลังเขียนถึงตอนนี้ (เวลา 01.10 น. ของท้องถิ่น) การผลิตจากพลังงานหมุนเวียนเหลือเพียง 14.9% ต่างจาก 48.8% มาก แต่ทำไมเขาจึงสามารถบริหารได้

ภาพที่สอง แสดงการผลิตรายชั่วโมง โดยตลอด 24 ชั่วโมงของวันที่ 27 กันยายน สามารถผลิตจากโซลาร์เซลล์ได้ถึง 81 ล้านหน่วย

นี่แค่วันเดียวเท่านั้น เราสามารถประหยัดก๊าซธรรมชาติที่รัฐบาลกำลังเร่งรีบสัมปทานแหล่งบงกฎและเอราวัณได้จำนวนมาก

แสดงกำลังการผลิตโดยไม่นับที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์และกังหันลม ประเด็นสำคัญที่อยากให้ช่วยกันพิจารณาก็คือ ในช่วงที่ไม่มีแสงแดดแล้ว กำลังการผลิตไฟฟ้าได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 หมื่นเมกะวัตต์ในเวลาประมาณ 3 ชั่วโมง ทำไมเขาสามารถบริหารได้โดยไม่เกิดปัญหาใดๆ

ผมขอจบบทความนี้ด้วยคำพูดของ Dr.Tony Seba ที่ว่า “ภายใต้อัตราส่วนระหว่างประสิทธิภาพและต้นทุนของแบตเตอรี่ในปัจจุบัน ไม่มีเหตุผลใดๆ ที่จะต้องสร้างโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติที่ตอบสนองในเวลาที่มีความต้องการสูงสุด (peaker) และก็ไม่เหตุผลใดที่เราจะต้องสร้างโรงไฟฟ้าเหล่านี้ในที่ไหนๆ อีกเลยหลังปี 2020 อย่างแน่นอน”

ดูอ้างอิงที่ http://www.infrastructure-channel.com/sustainability/a-clean-disruption-of-energy-and-transportation-is-around-the-corner/

ปัจจุบันในรัฐแคลิฟอร์เนียซึ่งมีประชากรประมาณ 40 ล้านคน แต่มีการติดตั้งโซลาร์เซลล์แล้วจำนวนกว่า 8.4 แสนราย โดยส่วนใหญ่เป็นการติดตั้งบนหลังคา ทำไมเขาสามารถบริหารจัดการได้

ผมยังค้นไม่เจอว่ามีการเรียกเก็บค่าสำรองความสามารถในการจ่ายไฟฟ้าเหมือนในบ้านเราหรือไม่ ใครทราบช่วยบอกผมด้วยจะขอบพระคุณมากครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น