xs
xsm
sm
md
lg

กดสูตรโดดเดี่ยวทหาร พท.-ปชป.ดัน“ชวน”นายกฯ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

“บิ๊กป้อม” เย้ย “เพื่อไทย” กลัวถูกยุบ พร้อมบอกดีแล้วตั้งพรรคสำรองไว้ “บิ๊กป๊อก”ยังไม่สนการเมือง-ขอคิดก่อน เผยสูตรผสมพันธุ์ “เพื่อไทย - ประชาธิปัตย์” คุยมาร่วมปี หวังเป็นหมากโค่นอำนาจ คสช. ระบุ “อภิสิทธิ์” ไม่เอาด้วย แถม พท.หวั่นเสื้อแดงโวย โยนชื่อ “ชวน” เป็นนายกฯ ตระกูล “สะสมทรัพย์” เข้าสังกัด “ภูมิใจไทย” เหตุเป็นพรรคทางสายกลาง ไม่เป็นปฏิปักษ์ คสช. พร้อมดูด “ชาดา ไทยเศรษฐ์ - ลูกเสธ.หนั่น” เข้าคอกด้วย

วานนี้ (27 กย.) ที่องค์การทหารผ่านศึก (อผศ.) พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคง และ รมว.กลาโหม กล่าวถึงกรณีพรรคเพื่อไทยแสดงประกาศไม่ยอมรับการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช.ว่า ขอให้ประชาชนเป็นผู้พิจารณา และตัดสินใจเองว่า จะให้รัฐบาลชุดนี้อยู่ทำงานต่อหรือไม่ หากประชาชนไม่เอา ใครก็ทำอะไรไม่ได้

ส่วนกรณีที่พรรคเพื่อไทยเกรงว่าอาจจะถูกยุบพรรค และเตรียมตั้งพรรคเพื่อธรรมสำรองไว้นั้น พล.อ.ประวิตร กล่าวว่า แล้วทำผิดหรือไม่ แต่เตรียมการตั้งพรรคใหม่ไว้ก็ดีแล้ว

ขณะที่ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย กล่าวถึงอนาคตทางการเมืองต่อจากนี้ว่า ตอนนี้ไม่ได้คิดอะไร ยังไม่มีใครทาบทาม ถ้าจะบอกว่าพร้อม มันก็เป็นนัยขึ้นมา ตนก็อายุมากแล้ว ถ้าต้องลงเล่นการเมืองก็ต้องพิจารณาตัวเองว่าเรามีความสามารถหรือไม่ ในประเทศชาติยังมีให้เลือกอีกมากมาย ถ้าตนตายไปวันนี้ ประเทศชาติก็ยังอยู่ได้ เป็นรัฐมนตรีมา 4 ปี ไม่เคยสนใจงานเรื่องการเมืองเลย นายกฯ ขอให้มาช่วย ก็มาช่วย และตั้งใจทำงานให้ดีที่สุด ตามความสามารถที่มี ตนมาทำแค่นั้น ไม่มีอย่างอื่น

อีกด้านมีรายงานถึงกระแสข่าวที่ระบุว่า นายโภคิน พลกุล อดีตประธานรัฐสภา ในฐานะแกนนำพรรคเพื่อไทย ได้เจรจากับ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ถึงโอกาสในการร่วมมือกันจัดตั้งรัฐบาลภายหลังการเลือกตั้ง โดยอาจจะยกตำแหน่งนายกฯให้นายอภิสิทธิ์ ก่อนที่ทั้งคู่จะออกมาปฏิเสธ โดยยอมรับว่ามีการพบปะกันที่สำนักบัญชีและกฎหมายธรรมนิติจริง แต่พูดคุยเฉพาะประเด็นกฎหมายพรรคการเมืองนั้น

รายงานข่าวอีกกระแสแจ้งว่า แนวคิดเรื่องพรรคเพือไทยและพรรคประชาธิปัตย์จับมือกันเพื่อสกัดเครือข่ายการสืบทอดอำนาจของรัฐบาลทหารนั้น มีการพูดคุยและเป็นที่รับรู้กันในระดับแกนนำที่มีอำนาจตัดสินใจของ 2 พรรคการเมืองใหญ่ ตลอดจนพรรคการเมืองบางพรรคมาระยะหนึ่งแล้ว โดยทุกฝ่ายเห็นพ้องว่า หากฝ่ายการเมืองไม่หันหน้าเข้าหากัน ก็เท่ากับเปิดทางให้รัฐบาลทหารสืบทอดอำนาจได้ตามกติกาที่ คสช.ออกแบบไว้ จึงเริ่มมีการเสนอแนวคิดในลักษณะรัฐบาลปรองดอง หรือรัฐบาลแห่งชาติขึ้นมาอีกครั้ง ทั้งนี้ทุกฝ่ายเห็นตรงกันอีกว่า หากมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทย ก็จะได้รับชัยชนะ โดยมีจำนวนที่นั่ง ส.ส.ไม่ต่ำกว่า 200 ที่นั่ง ในขณะที่ พรรคประชาธิปัตย์ จะได้ประมาณ 100 ที่นั่ง หากได้รับการสนับสนุนจากพรรคการเมืองอื่นอีกราว 70-80 ที่นั่ง ก็จะสามารถคุมทิศทางการลงมติเลือกนายกฯได้หลังการเลือกตั้ง แม้ว่าฝ่าย คสช.จะมีเสียงของสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) 250 เสียงให้การสนับสนุนก็ตาม

“หากจูนกันติด เกมจะพลิกทันที กลายเป็นการโดดเดี่ยวพรรคเครือข่ายทหาร ที่คงได้คะแนนเสียง ส.ส.ไม่เท่าไร แล้วฝ่ายการเมืองที่ถูกดูดไป แยกตัวออกมาจับขั้วกับนักการเมืองด้วยกัน มากกว่าจะยอมอยู่ใต้อำนาจของรัฐบาลทหารเหมือน 4-5 ปีที่ผ่านมา สูตรนี้ไม่เพียงแต่ส่งทหารกลับที่ตั้ง ยังจะทำให้เกิดรัฐบาลแห่งความปรองดอง หรือ รัฐบาลแห่งชาติ เลยทีเดียว” แหล่งข่าว ระบุ

รายงานข่าวแจ้งอีกว่า แนวคิดความร่วมมือเฉพาะกิจของฝ่ายการเมืองนั้น ได้มีการพูดคุยกันจริงจังมากขึ้นภายหลังเวทีเสวนาเกี่ยวกับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของสถาบันสิทธิมุนษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อเดือน มิ.ย.60 เป็นต้นมา โดยมีการนำเนื้อหาการเสวนาบนเวทีดังกล่าว ไปพูดคุยกันนอกรอบ และประสานทำความเข้าใจภายในแต่ละพรรคการเมือง อย่างไรก็ตามในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์นั้น นายอภิสิทธิ์ ในฐานะหัวหน้าพรรคได้แสดงท่าทีไม่เห็นด้วยมาตลอด โดยให้เหตุผลว่าจะผิดหลักการของพรรค หากไปร่วมกับเครือข่ายของ นายทักษิณ ชินวัตร เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่ส่วนใหญ่ยอมรับหลักการ และพร้อมร่วมมือและให้สิทธิ์คนเป็นนายกฯกับทางพรรคประชาธิปัตย์ ด้วยมองว่าเป็นหนทางเดียวที่จะต่อกรกับเครือข่าย คสช.ที่ได้เปรียบในหลายด้าน แต่ก็ยื่นคำขาดว่า ผู้ที่จะมารับนายกฯต้องไม่ใช่ นายอภิสิทธิ์ เนื่องจากมีหลายประเด็นที่ขัดแย้งกันอย่างรุนแรงในอดีต โดยเฉพาะเหตุการณ์สลายการชุมนุมทางการเมืองเมื่อช่วงปี 52-53 ที่อาจทำให้แนวร่วมพรรคเพื่อไทย รวมไปถึงแนวร่วมคนเสื้อแดงไม่ยอมรับแนวทางดังกล่าว

รายงานข่าวระบุด้วยว่า เงื่อนไขที่ยังไม่ลงตัวตอนนี้อยู่ที่นายอภิสิทธิ์ ตามที่มีกระแสข่าวว่านายโภคินไปพูดคุยกับคุณอภิสิทธิ์นั้น อาจจะเป็นการโน้มน้าวให้หันมาสนับสนุนแนวคิดดังกล่าว ขณะที่ตัวบุคคลที่จะมาเป็นนายกฯนั้น ชื่อที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดในขณะนี้คือ นายชวน หลีกภัย ประธานที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ และอดีตนายกฯ 2 สมัย ซึ่งเป็นที่ยอมรับของนักการเมืองทุกพรรค อีกทั้ง นายชวน ยังเป็นผู้ที่นายทักษิณ และคุณหญิงพจมาน ดามาพงษ์ อดีตภริยานายทักษิณ ให้ความเคารพนับถืออย่างสูงมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แต่ถึงตอนนี้ยังไม่มีรายงานว่า นายชวนตอบรับหรือปฏิเสธอย่างไร โดยมีกระแสข่าวว่า คุณหญิงพจมาน เป็นผู้พูดคุยกับ นายชวน ด้วยตัวเอง อีกทั้ง นายชวน และคุณหญิงพจมาน ก็ได้มีการพบปะกันตามงานสังคมต่างๆบ่อยครั้งด้วย

ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในการประชุมใหญ่พรรคภูมิใจไทย วันที่ 2 ต.ค. ที่จะถึงนี้ จะมีบรรดาว่าที่ผู้สมัครส.ส.บางส่วนมาแสดงตัว โดยเฉพาะจะมี “บิ๊กเซอร์ไพรส์” เป็นนักการเมืองดังแห่ง จ.นครปฐม ตระกูล “สะสมทรัพย์” นำโดยนายไชยา สะสมทรัพย์ อดีต รมว.สาธารณสุข มาร่วมกิจกรรมทางการเมืองกับพรรคภูมิใจไทย เนื่องจากเป็นพรรคที่ดำเนินการเมืองสายกลาง เน้นความปรองดอง และ ไม่เป็นปรปักษ์กับ คสช. แม้จะมีการโชว์ภาพก่อนหน้านี้ 4 พี่น้องตระกูล “สะสมทรัพย์”จะเคยถ่ายรูปร่วมกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เมื่อช่วงเดือน ธ.ค.60 ก็ตาม อีกทั้งพรรคภูมิใจไทยที่สำคัญไม่มีภาพเผด็จการที่ชัดเจน ที่จะกระทบต่อฐานเสียงเพราะชาวบ้านยังไม่ชอบทหาร นอกจากนี้การย้ายมาพรรคภูมิใจไทย ยังเป็นการประนีประนอมกับพรรคเพื่อไทยและลดความขัดแย้งกับนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี อีกทางด้วย

นอกจากนี้ยังได้มีอดีตนักการเมือง เดินทางมาที่ทำการพรรคภูมิใจไทย เพื่อสมัครสมาชิกพรรคไม่ขาดสาย อาทิ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อดีต ส.ส.อุทัยธานี พรรคชาติไทยพัฒนา นายสมควร โอบอ้อม อดีตส.ส.นครสวรรค์ พรรคประชาธิปัตย์ ได้นำทีมผู้สมัครจากนครสวรรค์ เดินทางมาสมัครด้วย โดยมีนายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรค ให้การต้อนรับ

อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 26 ก.ย.ที่ผ่านมา นายศิริวัฒน์ ขจรประศาสน์ อดีต รมช.พาณิชย์ อดีตส.ส.พิจิตร บุตรชาย พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์ อดีตเลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ และทีมผู้สมัครจากจ.พิจิตร เดินทางมาสมัครสมาชิกพรรค รวมไปถึง อดีต ส.ส. และอดีต ส.ว.เดินทางมาสมัครหลายราย อาทิ นายวิสุทธิ์ พิทยาภรณ์ อดีต ส.ส.นครราชสีมา นายมงคล ศรีกำแหง อดีต ส.ว.จันทบุรี นายประนอม โพธิ์คำ อดีต ส.ส. นายบรรจบ รุ่งโรจน์ อดีตนายก อบจ.ชลบุรี นายมานิตย์ ภาวสุทธิ์ อดีต ส.ส.ชลบุรี พรรคประชาธิปัตย์ เป็นต้น.
กำลังโหลดความคิดเห็น