xs
xsm
sm
md
lg

เปิดหลักฐานกว่า ๒๐๐ ปี ตำรับยา ๒ ขนานเข้ากัญชา ทูลเกล้าถวายในหลวงรัชกาลที่ ๒/ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ในยุครัตนโกสินทร์ สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงมีบทบาทสำคัญต่อการแพทย์แผนไทยเป็นอย่างยิ่ง ดังจะเห็นได้ว่า ภายหลังจากไทยได้ทำการศึกสงครามกับพม่าติดต่อกันถึง ๒ ครั้งนั้น ทำให้ตำราแพทย์แผนไทยโบราณได้สูญหายและถูกทำลายไปเป็นจำนวนมาก

ในช่วงการศึกสงครามนั้นเหล่าแพทย์ที่มีความรู้ยังถูกกวาดต้อนไปเป็นเชลยศึกอีกด้วย พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ จึงทรงให้รวบรวมคัมภีร์แพทย์ที่กระจัดกระจายมารวบรวมไว้ ณ โรงพระโอสถ โดยมีพระบรมราชโองการให้ผู้ที่มีความรู้ ผู้ชำนาญการรักษาโรค ผู้ที่มีความรู้ด้านการปรุงยา หมอหลวง หมอเชลยศักดิ์ และราษฎรที่มีตำรายา ช่วยกันรวมรวมข้อมูลเป็นตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ โดยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ ทรงมีพระบรมราชโองการไปทั่วแผ่นดินดังนี้

“๏ ศุภมัสดุ จุลศักราช ๑๑๗๔ มกฏะสังวัจฉรมฤคศิรมาศ กาฬปักษ์เตรสมีดฤถีศรุวาร บริเฉทกาลกำหนด พระบาทสมเด็จบรมธรรมฤกราาชาธิบดีศรีวิสุทธิวงษ์ องควรามหาพุทธางกูรราช บรมนารถ บรมบิตรพระพุทธเจ้าอยู่หัว ผู้ทรงทศพิธราชธรรม ประกอบด้วยพระกรุณาคุณอันประเสริฐ ได้มหาปราบดาภิเษกผ่านพิภพกรุงเทพทราวรดีศรีอยุธยามหาดิลกภพ นพรัตนราชธานีบุรีรมย์ เสด็จออก ณ พระที่นั่งบุษบกมาลามหาจักรพรรดิพิมาน โดยสถานอุตราภิมุข พร้อมด้วยเสวกากรบวรราชกระวีมนตรีมุขมาตยานุชิต อุทิตยชาติ ราชสุริยสงษ์พงษ์พฤฒาโหราจารย์พร้อมเฝ้าเบื้องบาทบงกชมาศ โดยอันดับถานาศักดิ์ จึงทรงพระดำริห์ว่า

ทุกวันนี้คัมภีร์แพทย์ณโรงพระโอสถเสื่อมสูญไป มิได้เป็นเรื่องต้นเรื่องปลาย อนึ่งเล่าแพทย์ผู้เถ้าที่ชำนิชำนาญในลักษณโรคแลสรรพคุณแห่งยานั้นก็มีอยู่น้อย ภายหลังยากที่กุลบุตรจักเล่าเรียนให้ชัดเจนได้ แล้วทรงพระมหากรุณาจะให้เปนหิตานุหิตประโยชน์แก่สมณชีพราหมณ์ อาณาประชาราชฎร์ในขอบขัณฑสีมาสืบต่อไป จึงมีพระบรมราชโองการมาณพระบัณฑูรสุรสีหนาท ดำรัสสั่งพระพงษ์อำมรินทรราชนิกูล ให้สืบเสาะหาตำราลักษณโรคทั้งปวงในข้าทูลละอองธุลีพระบาท แลราษฎร พระราชคณะอารามก็ได้ ส่งมาทูลเกล้าฯ ถวายหลายฉบับ มีวิธีต่างๆกัน”
[1]

ซึ่งตำราทั้งหมดที่ทำการรวบรวมมา แล้วเสร็จในปี พ.ศ. ๒๓๕๕ และมีการตรวจสอบข้อมูลเพื่อความถูกต้องอย่างละเอียด ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๓๕๙ ได้มึการตั้งกฎหมายที่ชื่อว่า “กฎหมายพนักงานพระโอสถถวาย” ขึ้นโดยมีใจความว่า

“ให้อำนาจพนักงานมีอำนาจออกไปค้นหาพระโอสถ คือ สมุนไพร ที่ปรากฏมีอยู่ในแผ่นดิน ผู้ใดจะคัดค้านมิได้ พนักงานพระโอสถจึงมีอำนาจในการค้นหายา และมักจะเป็นผู้ที่อยู่ในตระกูลสืบทอดกันมาทั้งนั้น”[2]

ภายหลังจากที่มีการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรค หรือที่เรียกว่า โรคห่า ครั้งรุนแรงในช่วงปี พ.ศ. ๒๓๖๓- ๒๓๖๕ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยได้โปรดเกล้าฯ พระราชทานบางส่วนให้จารึกลงบนหินอ่อนเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส บริเวณผนังด้านนอกของกำแพงพระวิหารพระพุทธไสยาศน์ วัดราชโอรสรามราชวรวิหาร กรุงเทพมหานคร [2] โดยในครั้งนั้นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓) ได้เป็นผู้ทรงเลือกตำรายาบางส่วนจากครั้งนั้นมาจารึกบนหินอ่อนและประดับไว้ที่วัดราชโอรสารามราชวรวิหาร อันเป็นที่สาธารณะเพื่อเป็นวิทยาทานแก่ราษฎรโดยทั่วไป [1]

สำหรับการจัดพิมพ์เผยแพร่ “ตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ ๒” ครั้งแรกนั้น เกิดขึ้นเมื่อต้นฉบับปีมะโรงอัฐศก พ.ศ.​๒๔๕๙ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๖ นับเป็นตำราที่ทรงคุณค่าทางการแพทย์แผนไทย เพราะถือว่าเป็นการสืบสานองค์ความรู้ทางการแพทย์แผนไทยดั้งเดิมที่ผ่านพ้นมากว่า ๑๐๐ ปี นับตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ ๒

นับเวลาล่วงเลยมาอีก ๙๙ ปี นับแต่วันที่ได้มีการจัดพิมพ์เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๕๙ “ตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ ๒” ได้กลายตำราการแพทย์แผนไทยของชาติในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๑๓๓​ ตอนพิเศษ ๗ ง มี รายชื่ออยู่ในลำดับที่ ๓ ตามแนบท้ายของประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๘ ลงวันที่ ๒๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๘ โดยเป็นเอกสารโบราณของหอสมุดแห่งชาติฉบับถ่ายสำเนาเอกสาร เลขห้อง (เก็บไว้ห้อง หนังสือหายาก ๔๑๑) เลขทะเบียน ก.๓๖๘๖๕

ทั้งนี้สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาวชิรญาณวโรรส สมเด็จพระมหาสมณะ โปรดให้พิมพ์ “ตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ ๒” ครั้งแรก ทรงช่วยหอพระสมุดวชิรญาณ และประทานเป็นของแจกในงานศพ อำมาตย์เอกพระยาประชุมประชานารถ (วัน, อมาตยานนท์) น,ช. ม, ม. บืมโรงอัฐศก พ.ศ.๒๔๕๙ มีจำนวน ๘๖ ตำรับ ประกอบด้วย ๒ เรื่อง คือ “ตำรายาในโรงพระโอสถ” มีจำนวน ๖๑ ตำรับ และ “ตำราพระโอสถ” มีจำนวน ๒๕ ตำรับ

สำหรับเรื่องที่เป็น “ตำราในโรงพระโอสถ” นั้น มีหลักฐานการบันทึกตำรับยาไว้ในรัชกาลที่ ๒ จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๕ หรือ พ.ศ. ๒๓๕๕ โดยสมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ในหนังสือ “ตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ ๒” ความตอนหนึ่งว่า

“...เรื่องตำรายาในโรงพระโอสถซึ่งพิมพ์ไว้ในข้างตอนต้น มีตำนานปรากฏมาว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๒ ปีวอก จัตวาศก จุลศักราช ๑๑๗๕ พ.ศ. ๒๓๕๕​ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาไลย ทรงพระราชปรารภว่าตำรายาในโรงพระโอสถยังบกพร่องนัก

จึงโปรดให้พระพงศนรินทร ราชนิกูล ซึ่งเป็นโอรถของเจ้ากรุงธนบุรี เวลานั้นรับราชการเปนใหญ่อยู่ในกรมหมอ เปนผู้รับกระแสรับสั่งสืบถามตามพระราชาคณะแลข้าราชการตลอดจนราษฎร ผู้ใดมีตำรายาดี ขอให้จดสรรพคุณยานั้นๆมาถวาย เพื่อจะได้ตรวจสอบเปนตำราไว้ในโรงพระโอสถ ครั้งนั้นมีผู้จดตำราซึ่งเคยใช้ เคยเห็นคุณ ถวายตามพระราชประสงค์มาก กรมหมอหลวงคงจะได้สอบสวนเลือกแต่ที่เชื่อว่าดีจริงจดลงไว้ ในตำราหลวงสำหรับโรงพระโอสถ...”
[2]

ส่วนอีกเรื่องคือ “ตำราพระโอสถ” เป็นตำรับยาที่ได้เคยประกอบถวายพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีจำนวน ๒๕ ตำรับ แต่เดิมนั้น เป็นตำรับยาในหนังสือของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้น ๒ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท ซึ่งพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทร เป็นเจ้าของหนังสือดั้งเดิมฉบับนี้ แล้วได้ประทานมายังหอสมุดวชิรญาณ

ทั้งนี้สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้อธิบาย “ตำราพระโอสถ” ในส่วนที่ ๒ นี้ว่ามีการสูญหายไปบางส่วนอย่างน่าเสียดายด้วย ความตอนหนึ่งว่า

“ตอนที่ ๒ ในเล่มนี้ ที่เปนตัวตำราพระโอสถ ซึ่งได้เคยประกอบถวายจริง บางขนาดได้จดหมายบอกวันที่ได้ตั้งพระโอสถนั้น สอบศักราชได้ความว่า เมื่อในรัชกาลที่ ๒ จึงว่าเนื่องกับเรื่องข้างตอนต้น ตำราพระโอสถนี้ หอพระสมุดวิชิรญาณได้ต้นฉบับมา ๓ เล่ม สมุดไทยขนาดบาง น่าเสียดายที่หนังสือ ๓ เล่มนี้ เล่ม ๑ จะเป็นด้วยปลวกกัดหรือไฟไหม้ ข้างปลายสมุดขาดไปน่อย ๑ แต่เฉภาะทำให้ตัวหนังสือข้างท้ายบันทัดขาดหายไปเสียมากบ้างน้อยบ้างทุกน่าสมุด ถ้าจะใช้จำต้องเดาคำที่ขาดว่าจะเป็นอย่างไร ข้าพเจ้าเห็นว่าเปนของไม่ควรทำ ด้วยพลาดพลั้งอาจจะเปนอันตรายแก่ผู้อื่น จึงยกทิ้งเสียทั้งเล่ม

คงใช้ได้แต่ ๒ เล่ม หนังสือชุดนี้เดิมเปนของพระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๒ กรมหลวงวงษาธิราชสนิท เปนมรดกตกอยู่กับพระวรวงษ์เธอ พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ แล้วได้มาแก่พระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นไชยนาทนเรนทรประทานมายังหอพระสมุดวชิรญาณเมื่อเร็วๆนี้

กรมหลวงวงษาสนิทราชสนิท ได้ทรงศึกษาวิชาแพทย์มาแต่ในรัชกาลที่ ๒ ได้ทรงรับรักษาไข้ จนปรากฏพระเกียรติคุณเมื่อในรัชกาลที่ ๓ ในปลายรัชกาลนั้นโปรดให้ทรงกำกับกรมหมอ และได้กำกับต่อมาในรัชกาลที่ ๔ จนประชววรเป็นอัมพาต พระเจ้าบรมวงษ์เธอชั้น ๒ กรมขุนวรจักรธรานุภาพ จึงได้ทรงรับน่าที่กำกับกรมหมอต่อมา

เพราะเหตุที่กรมหลวงวงษาธิราชสนิททรงชำนาญวิชาแพทย์ แลได้รับราชการกรมหมอมาช้านาน จึงทรงสะสมตำราแพทย์ไว้มาก แต่ทราบว่าเมื่อสิ้นพระชนม์ ตำราแตกกระจายไปเสียหายแห่ง พระองค์เจ้าสายสนิทวงษ์ได้ไม่ได้มาหมด แม้ที่ได้มาน่าเสียดายที่การรักษาในตอนหลัง หนังสือถูกฝนแลปลวกกัดชำรุดเสียมาก เมื่อกรมหมื่นไขยนาทนเรนทรได้มา ทรงเกรงว่าหนังสือเก่าจะเปนอันตรายเสียหมด จึงรับสั่งให้รีบส่งมาไว้ในหอพระสมุดฯ สำหรับพระนครเพื่อรักษาไว้ ให้อยู่ถาวรสำหรับชาติไทยต่อไป”
[2]

มาถึงจุดนี้เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ทราบว่าการสืบค้นข้อมูลและการรวบรวมภูมิปัญญาไทยนับวันจะมีความยากขึ้น เพราะนอกจากจะเกิดปัญหาการเมืองระหว่างประเทศและอิทธิพลของการแพทย์แผนฝรั่งที่ส่งผลทำให้ให้การแพทย์แผนไทยขาดตอนไป จึงทำให้ลูกหลานไม่สามารถสืบทอดภูมิปัญญาต่อเนื่องรุ่นต่อรุ่นได้แล้ว ครั้นเมื่อจะสืบค้นรวบรวมตำราและการจดบันทึกก็ยังมีการชำรุดทรุดโทรมเสียหายไปตามกาลเวลาอีก

แต่ด้วยเพราะบูรพมหากษัตริย์ไทยทรงมีพระปรีชาญาณและมีสายพระเนตรยาวไกล ให้ภูมิปัญญาการรักษาแบบแพทย์แผนไทยได้เผยแพร่ในทางสาธารณะพื่อเป็นประโยชน์แก่ราษฎรทั้งหลาย กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์ (ต่อมาทรงเป็นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓) ได้ทรงริเริ่มให้มีการจารึกภูมิปัญญาลงในศิลาจารึกบางส่วนที่วัดราชโอรสรามราชวรวิหารตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ พระราชทานมา

ต่อมาภายหลังจากการจารึกที่วัดราชโอรสราชวรวิหาร ๑๐ ปี เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ เสด็จขึ้นครองราชย์ ได้ทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ปฏิสังขรณ์วัดพระเชตุพนวิมลมังคลารามเป็นการใหญ่ และจารึกองค์ความรู้วิชาต่างๆลงบนศิลามากมายหลายสาขา เป็นการสมบูรณ์ทุกแขนงวิชา ส่วนตำรายาที่วัดพระเชตุพนฯนั้นมีความสมบูรณ์ครอบคลุมการรักษาความเจ็บป่วยต่างๆแทบทุกโรค จึงน่าเชื่อได้ว่าน่าจะเป็นการต่อยอดจากการปฏิสังขรณ์และจารึกตำรับยาบางส่วนไว้ทั่ววัดราชโอรสรามราชวรวิหาร โดยตำรายาในสมัยสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยน่าจะถูกนำมาเป็นส่วนหนึ่งของตรวจสอบความถูกต้องและจารึกบนแผ่นศิลาจนสมบูรณ์ ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓ [1]

อย่างไรก็ตามในหนังสือจารึกตำรายาวัดราชโอรสรามราชวรวิหาร (ฉบับพิมพ์ พ.ศ.​๒๕๔๑) ระบุไว้ว่า ก่อนการบูรณะพระวิหารพระพุทธไสยาสน์ ปี พ.ศ. ๒๕๒๕ จารึกตำรายาฯ นี้มีทั้งหมด ๙๒ แผ่น เมื่อมีการบูรณะขึ้นใหม่พบว่าปัจจุบันเหลือเพียง ๕๐ แผ่นเท่านั้น [2]

ปัญหานี้ไม่ได้มีเพียงวัดราชโอรสเท่านั้น แม้แต่ศิลาจารึกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ก็มีการสูญหายไปเป็นจำนวนมากเช่นเดียวกัน จากการสำรวจเพื่อนำยูเนสโกประกาศขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลกในทะเบียนนานาชาตินั้น ซึ่งความจริงจะต้องมีมากกว่า ๒,๐๐๐ รายการ แต่กลับพบศิลาจารึกจำนวน ๑,๔๔๐ รายการ [3]

เมื่อผนวกกับการห้ามใช้ กัญชา ฝิ่น กระท่อม เพราะถูกขึ้นทะเบียนว่าเป็นพืชเสพติด ก็ส่งผลทำให้ตำรับยาหลายขนานไม่ได้ถูกมาใช้ในทางการแพทย์แผนไทยมานานแล้ว คงเหลือภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่นในแพทย์แผนไทยท้องถิ่นไม่กี่คนที่แอบใช้กัญชาในทางการแพทย์จนถึงทุกวันนี้ ซึ่งในที่สุดแล้ว ฝิ่นได้กลายเป็นมอร์ฟีนที่ถูกบริษัทต่างชาติยักษ์ใหญ่เพียงไม่กี่รายเป็นผู้ผลิต กระท่อมก็ถูกทยอยขึ้นทะเบียนจดสิทธิบัตรในการใช้เป็นยาของต่างชาติ โดยเฉพาะกัญชานั้นคงมีแต่ทวีปอเมริกา ยุโรป และออสเตรเลีย ได้กลายเป็นผู้วิจัย และผลิต และทยอยจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์กัญชาเพื่อใช้ในทางการแพทย์ขายป้อนเข้าสู่ตลาดโลก ทั้งๆที่องค์ความรู้ภูมิปัญญาการใช้ฝิ่น กัญชา และกระท่อม เพื่อใช้ในทางการแพทย์ก็ล้วนเร่ิมต้นมาจากชาวเอเชียทั้งสิ้น ซึ่งรวมถึงแพทย์แผนไทยด้วย

แม้ว่าหลักฐานตำรับยาจะสูญหายไปบางส่วน แต่จากการตรวจสอบ “ตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ ๒” เท่าที่เหลืออยู่ซึ่งมีจำนวน ๖๑ ตำรับ พบว่าการใช้กัญชาเข้าในตำรับยานั้นมีทั้งสิ้น ๒ ขนานปรากฏใน “ตำรายาโรงพระโอสถ” ซึ่งก็เพียงพอที่จะทำให้ทราบได้ว่าแพทย์แผนไทยในกรุงรัตนโกสินทร์นั้นก็มีภูมิปัญญาการใช้กัญชาในทางการแพทย์มานานกว่า ๒๐๐ ปีแล้ว

ยาที่เข้ากัญชานั้นถูกระบุใน “ตำรายาโรงพระโอสถ” ว่าเป็นตำรับยา ๒ ใน ๓ ขนาน ของหลวงทิพรักษา ทูลเกล้าฯถวายในขนานที่ ๑ “แก้ลมเบื้องสูง” และขนานที่ ๓ “แก้อุทธังคมาวาตาฯ” ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นโรคเกี่ยวกับธาตุลมในแพทย์แผนไทยทั้งสิ้น ดังนั้นเพื่อให้ผู้อ่านได้เข้าใจตำรับยาที่เข้ากัญชาในตำรับยา ๒ ขนานที่เกี่ยวกับธาตุลมนี้ จึงขอนำความรู้เกี่ยวกับธาตุลมในแพทย์แผนไทยมาอรรถาธิบายเป็นพื้นความรู้บางส่วนดังนี้

“วาโยธาตุ หรือธาตุลม เป็นธรรมชาติที่พัดไปมา เป็ตความเคร่งตึงแห่งรูป ในพระอรรถกถาถือว่า วาโยธาตุเป็นธาตุเคลื่อนไหว เพื่อพิจารณาโดยปรมัตถ์ วาโยธาตุมีลักษณะไหวหรือเคร่งตึง มองเห็นไม่ได้ แต่สัมผัสด้วยกายได้

วาโยธาตุมีลักษณะเคร่งตึง มีหน้าที่ทำให้รูปที่เกิดร่วมไหวได้ มีผลทำให้รูปที่เกิดร่วมเคลื่อนย้ายได้ เมื่อบุคคลรู้สึกตึง ปวดเมื่อยไปทั่วร่างกาย หรือเมื่อเวลาที่เราเกร็งแขน ขา หรือ เพ่งตาอยู่นานๆโดยไม่กระพริบตา จะปรากฏเป็นอาการเคร่งตึงของวาโยนั่นเอง

การเกิดวาโยธาตุอาศัยธาตุทั้ง ๓ ที่เหลือเป็นปัจจัย คือ มีปฐวีธาตุป็น (ธาตุดิน) ที่ตั้ง มีอาโปธาตุ (ธาตุน้ำ)เกาะกุม มีเตโชธาตุ (ธาตุไฟ)ทำให้อุ่นหรือเย็น

วาโยธาตุภายในร่างกายมี ๖ อย่าง ได้แก่

๑) อุทธังคมาวาตา (ลมพัดขึ้นเบื้องบน) ทำให้หาว เรอ ไอ จาม อาเจียน สะอึก เป็นต้น
๒) อโธคมาวาตา (ลมพัดเบื้องล่าง) ทำให้ผายลม เบ่ง ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เป็นต้น
๓) กุจฉิสยาวาตา (ลมในท้อง) ทำให้ปวดท้อง เสียดท้อง เป็นต้น
๔) โกฐาสยาวาตา (ลมในไส้) ทำให้ท้องลั่น ท้องร่วง เป็นต้น
๕) อังคมังคานุสารีวาตา (ลมพัดไปตามอวัยวะน้อยใหญ่ โดยพัดไปตามช่องตามเส้นเอ็น) ทำให้งอมือและเหยียดมือ เป็นต้น
๖) อัสสาสปัสสาวาตา (ลมหายใจเข้าออก) [4]

อย่างไรก็ตามในตำราการเรียนการสอนแพทย์แผนไทยประยุกต์เล่มหนึ่งชื่อ “คัมภีร์หัตถเวชพรรณา โรค หัวไหล่ แขน และมือ” โดย ดร.วิบูลย์ นุชประมูล แพทย์แผนไทยประยุกต์มีความเห็นการเปรียบเทียบธาตุลมกับการแพทย์แผนปัจจุบัน ตีความในอีกลักษณะหนึ่งความว่า

๑) อุทธังมาวาตา หมายถึง คลื่นประสาทรับ ความรู้สึกสู่สมอง (Sensory Nerve Impulse or Afferent Nerve Impulse)
๒) อโธคมาวาตา หมายถึง คลื่นประสาทสั่งการจากสมองไปสู่กล้ามเนื้อต่างๆ (Mortor Nerve Impulse of Efferent of Nerve Impluse)
๓) กุจฉิสยาวาตา หมายถึง การบีบตัวและคลายตัวของกระเพาะอาหารและสำไส้ (Segmentation Contractions)
๔) โกฏฐาสยาวาตา หมายถึง การกลืนอาหาร (Peristalis)
๕) อังคมังคนานุสารีวาตา หมายถึง การไหลเวียนของเลือด (Blood Criculation)
๖) อัสสาสะ ปัสสาสะวาตา หมายถึง หายใจเข้า หายใจออก (Inspiration and Expiration) [5]

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นอาการลมพัดขึ้นเบื้องสูง หรือ อุทธังมาวาตา ทั้ง ๒ ตำรับที่เข้ากัญชานี้ อาจจะสามารถถูกอธิบายในการแพทย์ยุคปัจจุบันว่ามีลักษณะเกี่ยวพันกับการแก้อาการโดยอาศัยการรับสารในกัญชาผ่านต่อมรับสารแคนนาบินอยด์ในกัญชาในร่างกายมนุษย์ (Cannabinoid receptors) ต่อมรับสารกัญชาในร่างกายมนุษย์นี้จะมีความสำคัญผลต่อการบำบัดอาการหลายชนิดที่น่าสนใจ ได้แก่ บรรเทาอาการปวด, การทำให้กล้ามเนื้อคลายตัว, ต้านการอักเสบ, ลดอาการแพ้ ทำให้อารมณ์ดีขึ้น, กระตุ้นทำให้เจริญอาหาร, แก้อาเจียน, ลดความดันในลูกตา, ช่วยขยายหลอดลม, การปกป้องเซลล์ประสาท, การยับยั้งผลที่เกิดจากเนื้องอก, ฯลฯ ซึ่งในปัจจุบันนี้งานวิจัยทางการแพทย์กำลังมีความสนใจต่อสารสกัดในกัญชาทั้งในเรื่องการปวดเรื้อรัง ความผิดปกติของระบบประสาท การลดความดัน และความผิดปกติของสมอง ฯลฯ [6]

ทั้งนี้ยาที่เข้ากัญชาขนานที่ ๑ “แก้ลมเบื้องสูง” ของหลวงทิพรักษา ใน “ตำรายาโรงพระโอสถ” บันทึกเอาไว้ว่า

“๏ สิทธิการิย จะกล่าวด้วยตำรายา คือวิเศษสรรพคุณสำเร็จ อันอาจาริยเจ้าในก่อนกล่าวไว้ ให้แก้สรรพโรคทั้งปวงต่างๆสืบกันมา

ในที่นี้จะว่าแต่สรรพคุณวิเศษ คือคณะสรรพยาที่จะแก้ซึ่งโรคสรรพลมทั้งปวง อันกำเริบพัดขึ้นเบื้องบนนั้น โดยไนยดังนี้

๑ ยาแก้ลมขึ้นสูง เอายาดำ กันชา อุตพิศ ดองดึง สิ่งละ ๔ ส่วน กะเทียม ๖ ส่วน หว้านน้ำ ชะเอมเทศ โกฏน้ำเต้า โกฏพุงปลา มหาหิงคุ์ สิ่งละ ๘ ส่วน หว้านเปราะ ผลผักชี ดีปลี สิ่งละ ๑๒ ส่วน ขิงแห้ง แก่นแสมทะเล รากส้มกุ้ง สค้าน สิ่งละ ๑๖ ส่วน พริกไทย เปลือกกันเกรา สิ่งละ ๒๔ ส่วน ทำเป็นจุณ บดละลายน้ำผึ้งรวงให้กินหนักสลึง ๑ แก้ลมขึ้นสูงหายดีนัก ๚”


ทั้งนี้ กลุ่มงานวิชาการและคลังความรู้กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคำอธิบายตำราพระโอสถครั้งรัชกาลที่ ๒ บืมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙ ระบุยาขนาน “แก้ลมขึ้นสูง” ของ “หลวงทิพรักษา”ว่า:

“สรรพคุณของตำรับคือแก้ลมขึ้นสูง วิธีการปรุงยาตำรับนี้คือทำเป็นผงละเอียด และวิธีการใช้ยาคือ ละลายน้ำผึ้งรวง กินหนัก ๑ สลึง โดยใช้น้ำผึ้งรวงเป็นน้ำกระสาย”

เนื่องจากว่าตัวยาหรือสมุนไพรบางตัวในตำรับนี้ไม่มีคำอธิบายส่วนที่ใช้ว่าใช้ส่วนใด (ใบ ราก ลูก ผล ลำต้น เหง้า แก่น เปลือก ฯลฯ) ทางกลุ่มงานวิชาการและคลังความรู้กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข จึงได้ใช้ความเห็นร่วมของคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่สรุปมาจากส่วนของสมุนไพรชนิดนั้นๆ ที่นำมาใช้เป็นยากันโดยทั่วไป ดังนี้

“ยาดำให้เคี่ยวน้ำยางสีเหลืองจากใบ, กัญชาให้ใช้ส่วนใบและช่อดอก, อุตพิต (ไม่ระบุส่วนที่ใช้), ดองดึงให้ใช้ส่วนหัว (เหง้า), กระเทียมให้ใช้ส่วนหัว, ว่านน้ำให้ใช้ส่วนเหง้า, ชะเอมเทศให้ใช้ส่วนราก, โกฐน้ำเต้าให้ใช้ส่วนราก/เหง้า, โกฐพุงปลาให้ใช้ส่วนปุ่มหูด (gall) จากใบหรือกิ่งอ่อน, มหาหิงคุ์ให้ใช้ชันน้ำมัน (Oleogumresin) จากรากและลำต้นใต้ดิน, ว่านเปราะให้ใช้ในส่วนเหง้า, ผลผักชีให้ใช้ส่วนลูก, ดีปลีให้ใช้ส่วนที่เป็นผล, แก่นเสมทะเลให้ใช้ส่วนที่เป็นแก่น, รากส้มกุ้งให้ใช้ส่วนราก, สะค้านให้ใช้ส่วนเถา, พริกไทยให้ใช้ส่วนที่เป็นผล, เปลือกกันเทราให้ใช้ในส่วนเปลือก”

อีกขนานหนึ่ง คือ ยาขนานที่ ๓ ของ หลวงทิพรักษาคือ แก้อุทธังคมาวาตาฯ ปรากฏใน “ตำรายาโรงพระโอสถ”รัชกาลที่ ๒ ความว่า

“๓ หนึ่ง เอาโกฏ โกฏเขมา มหาหิงคุ์ สิ่งละ ๔ ส่วน การบูร กานพลู ดอกจันทน์ ผลพิลังกาสา กันชา สิ่งละ ๖ ส่วน โกฏบัว สมอเทศ กลำพัก จันชมด พริกหอม ดีปลี สิ่งละ ๘ ส่วน พริกไทย ๔๐ ส่วน ทำเป็นจุณบดละลายน้ำผึ้งให้กินหนักสลึง ๑ แก้อุทธังคมาวาตกล้ากระทำให้คลุ้มคลั่ง แลแก้ลมอันให้มือตายเท้าตาย แลเปนเหน็บชา แลแก้สรรพลมใหญ่ทั้งปวง อันบังเกิดในกองธาตนั้นหายวิเศษนัก ๚”

กลุ่มงานวิชาการและคลังความรู้กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดทำคำอธิบายตำราพระโอสถครั้งรัชกาลที่ ๒ บืมโรงอัฐศก พ.ศ. ๒๔๕๙ ยาขนาน “แก้อุทธังคมาวาตา” ของ “หลวงทิพรักษา”ว่า

“สรรพคุณของตำรับนี้คือ แก้อุทธังคมาวาตกทำให้คลุ้มคลั่ง แก้ลมมือเท้าตาย แก้เหน็บชา แก้สรรพลม วิธีการปรุงยาคือบดเป็นผงละเอียด วิธีการใช้ยาคือละลายน้ำผึ้ง กินหนัก ๑ สลึง โดยใช้น้ำผึ้งรวงเป็นน้ำกระสาย”

กลุ่มงานวิชาการและคลังความรู้กองวิชาการและแผนงาน กรมการแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข ได้ใช้ความเห็นร่วมของคณะผู้ทรงคุณวุฒิที่สรุปมาจากส่วนของสมุนไพรชนิดนั้นๆ ที่นำมาใช้เป็นยากันโดยทั่วไป ดังนี้

“ใช้ส่วนรากของโกฐเขมา, มหาหิงคุ์ให้ใช้ชันน้ำมัน (Oleogumeresin) จากรากและลำต้นใต้ดิน, การบูรให้ใช้เปลือกต้น, กานพลูให้ใช้ส่วนดอก, ดอกจันทน์ให้ใช้ส่วนดอก (รก), ผลพิลังกาสาให้ใช้ส่วนผล, กัญชาให้ใช้ในส่วนใบและดอก, โกฐหัวบัวให้ใช้ส่วนเหง้า, สมอเทศให้ใช้ส่วนผล, กระลำพักให้ใช้ในส่วนแก่นแห้งสีดำและมีกลิ่นหอม, จันทน์ชะมดให้ใช้ส่วนแก่น, พริกหอมให้ใช้ส่วนเมล็ด, ดีปลีให้ใช้ส่วนผล, และพริกไทยให้ใช้ส่วนผล”

จากหลักฐานดังที่ปรากฏข้างต้นย่อมแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาของชาติไทยที่รู้จักวิธีการใช้กัญชามาเป็นอย่างดี นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณอันหาที่สุดมิได้ ที่บูรพมหากษัตริย์ไทยหลายรัชกาล ทรงมีพระบรมราโชบายในการรวบรวม รักษา และเผยแพร่ภูมิปัญญาของชาตินี้มิให้สูญหาย จึงทำให้ตำรับยาที่มีการเข้ากัญชายังคงเป็นมรดกตกมาถึงคนในรุ่นนี้ได้

ถึงเวลาแล้วที่ประชาชนทุกหมู่เหล่าจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน ทวงคืนกัญชาให้กลับมาเป็นสมบัติของแพทย์แผนไทยและวงการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย ด้วยการส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการปลดล็อกกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดเพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้ทั้งการแพทย์แผนปัจจุบันและการแพทย์แผนไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยที่รอคอยอยู่เป็นจำนวนมาก และเพื่อประโยชน์ของชาติให้สามารถสืบสานมรดกภูมิปัญญาพระราชทานจากบูรพมหากษัตริย์อันล้ำค่าให้คงอยู่กับสังคมไทยสืบไป

ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต

อ้างอิง

[1] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. สำนักงานข้อมูลและคลังความรู้. ชุดการสังคายนาภูมิปัญญาการนวดไทย: ๑ คำอธิบายกล่าวเส้นสิบในตำราโรคนิทานคำฉันท์ ๑๑ และแผนนวดคว่ำในจารึกตำรายาวัดราชโอรสารามราชวรวิหาร.—-นนทบุรี: กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, ๒๕๖๐. พิมพ์ที่ ศูนย์สื่อและสิ่งพิมพ์แก้วเจ้าจอม มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทาพิมพ์ครั้งที่ ๑ มกราคม ๒๕๖๐ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม 615.822 ISBN 978-616-11-3123-4

[2] กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก. กลุ่มงานวิชาการและคลังความรู้. กองวิชาการและแผนงาน. คำอธิบายตำราพระโอสถ ครั้งรัชกาลที่ ๒ พ.ศ.​๒๔๕๙ —นนทบุรี : กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, 2561. 328 หน้า. จัดพิมพ์โดย กองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย, พิมพ์ที่ ห้างหุ้นส่วนจำกัด สินทวีกิจ พริ้นติ้ง, พิมพ์ครั้งที่ ๑ มีนาคม ๒๕๖๑ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม 615.11593 ISBN 978-616-11-3612-3

[3] สำนักคุ้มครองภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย กรมพัฒนาการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข : ตำราการแพทย์แผนไทย ในศิลาจารึกวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) เล่ม ๒ สนับสนุนงบประมาณจากกองทุนภูมิปัญญาการแพทย์แผนไทย, ๔๙๒ หน้า. พิมพ์ที่ โรงพิมพ์องค์การสงเคราะห์ทหารผ่านศึก ในพระบรมราชูปถัมภ์ พิมพ์ครั้งที่ ๑ มิถุนายน ๒๕๕๗ จำนวน ๑,๐๐๐ เล่ม ISBN: ๙๗๘-๖๑๖-๑๑-๒๐๑๓-๙

[4] กลุ่มงานวิชาการเภสัชกรรมแผนไทย สถาบัการแพทย์แผนไทย กรมการแพทย์แผนไทย กรมแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข, ตำราพื้นฐานวิชาชีพการพทย์แผนไทย เล่ม ๑ วิชาปรัชญาและพื้นฐานการแพทย์แผนไทย. 155 หน้า. พิมพ์ที่ บริษัท พิมพ์ดี จำกัด พ.ศ. ๒๕๖๑ ISBN 978-616-11-3509-6

[5] วิบูลย์ นุชประมูล, คัมภีร์หัตถเวชพรรณา โรค หัวไหล่ แขน และมือ. นนทบุรี: โครงการสวัสดิการวิชาการ สถาบันพระบรมราชชนก. 2550. 366 หน้า. พิมพ์ที่ ยุทธรินทร์ การพิมพ์ จำกัด, พิมพ์ครั้งที่ 1 พ.ศ. 2550 จำนวน 1,000 เล่ม ISBN : 974-9770-31-5

[6] Grotenhermen F, Cannabinoids, Curr Drug Targets CNS Neurol Disord. 2005 Oct;4(5):507-30.


กำลังโหลดความคิดเห็น