xs
xsm
sm
md
lg

เรื่องเทอร์มินอลรูปทรงศาลเจ้า

เผยแพร่:   โดย: สุรวิชช์ วีรวรรณ


กรณีเรื่องเทอร์มินอล 2 ที่มีรูปทรงคล้ายศาลเจ้าญี่ปุ่นนั้น ยังเป็นที่กล่าวขานกันของคนในสังคม และดูเหมือนว่า แนวโน้มเราจะได้หน้าตาของสนามบินแบบนี้เพื่อรองรับแขกที่มาเยือนประเทศในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า

เพราะภายหลังจากที่ศาลปกครองมีคำสั่งไม่รับคุ้มครองชั่วคราวที่กรณีกลุ่มบริษัทที่ปรึกษา เอสเอ กรุ๊ป ฟ้องร้องบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.ต่อศาลปกครองกลาง พร้อมขอให้ศาลปกครองกลางสั่งคุ้มครองการประกวดออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ในสนามบินสุวรรณภูมิ วงเงิน 329 ล้านบาท เนื่องจากเอสเอ กรุ๊ป ได้รับคะแนนในการประกวดออกแบบมาเป็นอันดับ 1 แต่ถูกปรับตก ทอท.ได้แถลงว่าจะเดินหน้าโครงการทันที

นั่นแปลว่า กลุ่มนิติบุคคลร่วมทำงาน ดีบีเอแอลพี-นิเคนเซกเก หรือ “กลุ่มดวงฤทธิ์ บุนนาค” ที่ได้คะแนนเป็นที่ 2 จะได้งานไป โดยไม่ต้องรอฟังคำตัดสินของศาลปกครอง

ทั้งนี้ ทอท.อ้างว่า ผู้ฟ้องคดีอาจเรียกให้ชดใช้ค่าเสียหายได้ซึ่งไม่ยากแก่การเยียวยาในภายหลังหากศาลมีคำพิพากษาหรือคำสั่งให้ผู้ฟ้องคดีชนะคดี สรุปง่ายๆ คือ ถ้าแพ้ก็เอาเงินจ่ายไป

ในแถลงการณ์เดียวกัน ทอท.ชี้แจงด้วยว่า กระบวนการพิจารณาด้านการออกแบบ คณะกรรมการจะต้องมีสถาปนิกเกินกึ่งหนึ่ง ซึ่งคณะกรรมการจัดหาพัสดุงานจ้างสำรวจออกแบบโครงการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ทสภ.มีจำนวนกรรมการ 5 ท่าน ซึ่ง 1 ใน 5 ท่านเป็นผู้แทนจากสมาคมสถาปนิกสยาม โดยท่านได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิแขนงต่างๆ เข้าร่วมให้ความเห็นทางวิชาการในการประเมินคะแนนของผู้เข้าร่วมประกวดแบบ นอกจากนี้ยังมีผู้สังเกตการณ์จากสภาสถาปนิกอีก 2 ท่านเข้าร่วม

ประเด็นนี้ พล.อ.ต.ม.ล.ประกิตติ เลขาธิการสภาสถาปนิก เปิดเผยไว้ในไทยรัฐออนไลน์ ว่า ก่อนที่จะมีการจัดซื้อจัดจ้างของ ทอท.ได้เชิญไปพูดคุย จึงแนะนำไปว่า ปกติแล้ว การแข่งขันการออกแบบ จะไม่เน้นให้แข่งขันด้านราคา อัตราค่าบริการก็ควรจะได้มาตรฐาน เพื่อให้ได้ผลงานคุณภาพ หลังจากนั้น ทาง ทอท.ก็ออก TOR ออกมา ซึ่งครั้งแรกยังไม่มีใครยื่นประมวล กระทั่งครั้งที่ 2 มีผู้ยื่นมา 4 ราย

การตัดสินนั้นใช้เวลาค่อนข้างนาน และทราบว่ามีคณะกรรมการบางท่านได้ถอนตัวออกไป จากนั้น ทอท.ได้ทำหนังสือเชิญสภาสถาปนิกให้เข้ามาร่วมเป็นคณะกรรมการคัดเลือก เราได้พิจารณากันแล้วว่า “เราจะเข้าไปร่วมในช่วงท้าย..ทั้งที่ไม่ทราบรายละเอียดข้อมูลที่เขาดำเนินการมาตั้งแต่ต้นไม่ได้ เราจึงตอบปฏิเสธที่จะเป็นคณะกรรมการ แต่ยินดีที่จะร่วมเป็นที่ปรึกษาแทน”

ส่วนเรื่องที่มีโครงสร้างเป็นไม้นั้น นายเกชา ธีระโกเมน อุปนายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยว่า มีการใช้ไม้จำนวนมากเป็นองค์ประกอบสำคัญในการออกแบบ แต่ยังไม่เห็นผังอาคารส่วนอื่นๆ โดยเห็นว่าการใช้ไม้จำนวนมากมาเรียงประกอบกันที่หัวเสาและเพดาน จะมีความเสี่ยงอันตรายหากเกิดไฟไหม้ เพราะทำให้ติดไฟได้รวดเร็ว และมีความเสียหายที่รุนแรง ขณะที่ระบบดับเพลิงที่มีตามมาตรฐานจะไม่สามารถรองรับขนาดไฟที่ลุกขึ้นได้

ขณะเดียวกันตามมาตรฐานสากล NFPA101 ของสมาคมป้องกันอัคคีภัยแห่งชาติ สหรัฐอเมริกา ไม่อนุญาตให้ใช้ไม้ซึ่งเป็นวัสดุลามไฟ (ประเภท C) ในการตกแต่งอาคารชุมนุมคนจำนวนมาก อย่างเช่นอาคารผู้โดยสารของสนามบิน นอกจากนี้การใช้ไม้ยังมีปัญหาเรื่องการดูแลสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย การทำความสะอาดและการซ่อมบำรุง

ขณะที่รศ.ดร.สมเจตน์ ทิณพงษ์ อดีตกรรมการผู้จัดการ บริษัทท่าอากาศยานสากลกรุงเทพแห่งใหม่ จำกัด (บทม.) ผู้พัฒนาโครงการสนามบินสุวรรณภูมิ เปิดเผยว่าการที่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท.จะดำเนินการก่อสร้างอาคารผู้โดยสารหลังที่ 2 ใช้เงินลงทุนกว่า 4.2 หมื่นล้านบาทนั้น เป็นการดำเนินการที่ไม่สอดรับกับแผนแม่บทหรือ Master Plan เดิมที่ได้วางกรอบการพัฒนาไว้เมื่อปี 2536 ที่จะรองรับผู้โดยสารได้ถึง 120 ล้านคนต่อปี

นั่นแสดงว่า คำถามเรื่องลอกไม่ลอก เป็นประเด็นฟ้องร้องในศาล หน้าตาของสนามบินไทยมีรูปลักษณ์เหมือนกับศาลเจ้าของญี่ปุ่น เรื่องไม่สอดรับกับแผนแม่บท เรื่องโครงสร้างความปลอดภัย ไม่สามารถทำให้ ทอท.หันมาทบทวนหรือตั้งสติได้เลย แต่มุ่งจะเดินหน้าต่อไป

อย่าลืมนะครับ นอกจากนี้ประเด็นที่ล่องลอยอยู่ในสังคมทุกวันนี้ มันยังมีตั้งคำถามในเชิงความถูกต้องชอบธรรม ความเป็นธรรม ความเหมาะสม เอกลักษณ์ของชาติ และปัญหาในเชิงจรรยาบรรณวิชาชีพด้านสถาปัตยกรรม ความสัมพันธ์ของบุคคลใน ทอท.กับผู้ชนะฟาวล์ และข้อครหาเงื่อนงำต่างๆ จำนวนมาก

ผมมานั่งคิดแบบคนไม่รู้ระเบียบและไม่เคยยื่นซองอะไรเกี่ยวกับภาครัฐ แต่คิดในเชิงตรรกะนะ

การประกวดแบบน่าจะมีหลักการแรกคือ ต้องการแบบที่ดีที่สุด ซึ่งกลุ่มที่ปรึกษาเอสเอ กรุ๊ป เป็นผู้ชนะตรงนี้ อย่างที่สองน่าจะเป็นเรื่องราคา

แต่กลุ่มเอสเอ กรุ๊ปตกม้าตายที่ไม่ได้ยื่นใบเสนอราคาต้นฉบับ แต่จัดพิมพ์ขึ้นเอง ที่ TOR กำหนดว่าใบเสนอราคานอกจากนี้ไม่รับพิจารณาโดยเด็ดขาด

โอเค กลุ่มเอสเอ กรุ๊ปผิดระเบียบแน่ๆ เรื่องเอกสารตาม TOR 1 ด้วยเหตุผลนี้ ทอท.ก็เลยข้ามหลักการสำคัญเรื่องแบบที่ดีที่สุดไป

ทีนี้ก็เลือกแบบที่ดีรองลงมาของกลุ่มดวงฤทธิ์มาต่อรองราคา ซึ่งตอนแรกสูงกว่าแบบที่ดีที่สุดหลายสิบล้านบาท ให้ลดลงมาต่ำกว่าแบบที่ดีที่สุดของกลุ่มเอสเอ กรุ๊ปตกลงกันที่ 329 ล้านบาท ขณะที่เอสเอ กรุ๊ปเสนอไว้ 329.5 ล้านบาท

ส่วนกรณีที่แบบของดวงฤทธิ์ถูกพูดถึงแบบที่คล้ายศาลเจ้าญี่ปุ่น ไปลอกเลียนสนามบินที่อื่นมา แต่มีการอ้างว่า พาร์ตเนอร์ของกลุ่มดวงฤทธิ์เป็นผู้ออกแบบสนามบินนั้นเช่นกัน (แปลว่าคนเดียวกันออกแบบก็ต้องเหมือนกันนะสิ) ผมอยากให้ลองนึกว่า ถ้าเราจ้างสถาปนิกออกแบบบ้านแล้วออกแบบบ้านเราเหมือนบ้านคนอื่นเราจะยอมรับไหม

ที่สำคัญการที่ ทอท.ก็อ้างว่าจะเดินหน้าต่อไปเลย ถ้าเกิดศาลสั่งให้แพ้คดีก็จ่ายเงินไปเท่านั้นเอง จะได้ไม่เสียเวลานั้น มีคำถามว่าเป็นเงินของใคร

มันเป็นเรื่องที่แปลกมากว่า ทำไมไม่ระงับการประกวดครั้งนี้เพื่อเริ่มต้นใหม่ แน่นอนว่า เหตุผลที่หยิบยกมาอ้างว่า ถ้าไม่เร่งก่อสร้างเทอร์มินอลใหม่จะไม่เพียงพอต่อการรองรับผู้โดยสารในอนาคต ซึ่งเป็นการเอาตัวประกันเรื่องประเทศจะได้ประโยชน์มากกว่าความสนใจเรื่องคำถามด้านความถูกต้องในการประมูล และรูปแบบหน้าตาของเทอร์มินอลที่หลายฝ่ายออกมาท้วงติง

ช่วยวิเคราะห์ให้ฟังหน่อยสิว่าถ้าช้าไปสักปีจะส่งผลกระทบอย่างไร

หากจะว่าไปการเลือกแบบที่เป็นที่สองของ ทอท.เปรียบไปคล้ายกับการวิ่งร้อยเมตรที่ 1 ถูกจับแพ้ฟาวล์แล้วเลื่อนที่ 2 มารับเหรียญทอง แต่ในการวิ่งร้อยเมตรนั้นมันกระทบต่อคนวิ่งคนเดียว ไม่ได้กระทบต่อประโยชน์ของส่วนรวม แต่กรณีเทอร์มินอล 2หลักสำคัญคือแบบที่ดีที่สุดที่ ทอท.เป็นตัวแทนของรัฐหรือประชาชนในการดำเนินการ เท่ากับรัฐและประชาชนไม่ได้ใช้แบบที่ดีที่สุด

แล้วโดยสรุปคือกลุ่มเอสเอ กรุ๊ปชนะแบบและชนะราคา แต่ถูกตัดสินให้แพ้กลุ่มดวงฤทธิ์ที่ชนะเรื่องเอกสารเป็นฝ่ายได้งานไป

ถ้าเป็นเช่นนี้แสดงว่า เอกสารสำคัญกว่าแบบที่ต้องการใช่หรือไม่ แล้วตกลงเราประกวดเอกสารหรือแบบเทอร์มินอลใหม่

ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan


กำลังโหลดความคิดเห็น