xs
xsm
sm
md
lg

รมต.พลังงานให้คำมั่น “ค่าไฟฟ้าจะไม่เกิน 3.60 บาทต่อหน่วยจนถึงปี 2580” แต่อย่าเพิ่งดีใจ!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

หนังสือพิมพ์มติชนรายวันได้ลงรายงานในสกู๊ปหน้า 1 เกี่ยวกับการจัดทำแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (หรือแผนพีดีพี) ฉบับใหม่โดยกระทรวงพลังงานซึ่งคาดว่าแผนดังกล่าวจะประกาศใช้ในปลายเดือนนี้ ผมได้คัดลอกประเด็นที่ผมสนใจมาลงไว้ในแผ่นภาพซึ่งสรุปได้ว่า “รัฐมนตรีพลังงานได้ให้คำมั่นว่าค่าไฟฟ้าตลอดแผนฯจนถึงปี 2580 จะไม่เกิน 3.60 บาทต่อหน่วย” ในขณะที่ปัจจุบันนี้ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทผู้อยู่อาศัยจำนวน 500 หน่วยต่อเดือน ได้จ่ายค่าไฟฟ้ารวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้วอย่างน้อยเฉลี่ยประมาณ 4.16บาทต่อหน่วย

นั่นหมายความว่าค่าไฟฟ้าในอนาคตจะลดลงและจะลดลงตลอดไปจนถึงปี 2580 เลยทีเดียวซึ่งดูเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับคนไทยเราที่ค่าครองชีพมีแต่จะสูงขึ้นๆ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความชัดเจนมากพอในแผนพีดีพีดังกล่าว เพราะมติชนใช้คำว่า “แง้มดู” แต่ก็พอจับความได้ว่าจะมีการใช้พลังงานหมุนเวียนมากขึ้น และนักวิเคราะห์บางคนได้ให้ความเห็นว่า “ต้นทุนในการผลิตจากพลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนถูกลง”

นี่อาจจะเป็นการยอมรับครั้งแรกๆ ของคนกลุ่มซึ่งมักจะเชียร์รัฐบาลอยู่เสมอว่า “พลังงานหมุนเวียนมีต้นทุนแพง”

อย่างไรก็ตาม อย่าเพิ่งดีใจไปครับ เพราะเมื่อปลายปี 2560 ผู้ชนะการประมูลเพื่อขายไฟฟ้าที่ผลิตจากโซลาร์เซลล์พร้อมแบตเตอรี่ซึ่งสามารถจ่ายไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่องไม่ว่าจะเป็นเวลากลางวันหรือกลางคืน ให้กับประเทศชิลีในทวีปอเมริกาใต้จำนวน 140 ล้านหน่วยในราคา 1.13 บาทต่อหน่วยเท่านั้น โดยจะเริ่มส่งกระแสไฟฟ้าเข้าระบบได้ในปี 2024 และมีอายุสัญญานานถึง 20 ปี หรือนานถึงปี พ.ศ. 2587 นานกว่าในแผนพีดีพีของไทยเราถึง 7 ปี

แน่นอนว่า ราคา 1.13 บาทต่อหน่วยเป็นราคาขายส่งครับ แต่เมื่อรวมทุกอย่างทั้งค่าสายส่ง ค่าปรับแรงดัน และค่าภาษีจนถึงบ้านผู้บริโภคก็ไม่น่าจะสูงไปจากนี้มากนัก ถึงอย่างไรก็ยังต่ำกว่า 3.60 บาทตามที่รัฐมนตรีพลังงานของไทยได้ให้คำมั่นสัญญาไว้

ผมได้ตัดข่าวทั้งสองชิ้นมาไว้ในภาพเดียวกัน ท่านที่สนใจสามารถค้นคว้าเพิ่มเติมได้ครับ

ในขณะที่ความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องโซลาร์เซลล์ กังหันลม และแบตเตอรี่ที่เราได้รับรู้จากต่างประเทศมีราคาลดลงอย่างรวดเร็วมาก ถูกกว่าพลังงานจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ

แต่เมื่อวันที่ 18 กันยายนที่ผ่านมา ทางสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ได้จัดสัมมนาเรื่อง “พลังงานไทย ทำอย่างไรให้มั่นคง ยั่งยืน” ซึ่งเท่าที่ผมได้ดูเอกสารพบว่ายังคงเชียร์ถ่านหินและก๊าซธรรมชาติกันอย่างเต็มที่ พร้อมยกข้อจำกัดซึ่งได้กลายเป็นสิ่งล้าหลังไปแล้ว เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ว่า “ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ต้นทุนสูง ใช้พื้นที่มาก” และพลังงานลมว่า “ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะเวลาที่มีลม ต้นทุนสูง ใช้พื้นที่มาก”

ผมได้นำสไลด์หนึ่งที่นำเสนอในที่สัมมนาดังกล่าว โปรดสังเกตว่า ต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์เท่ากับ 8.69 บาทต่อหน่วย โดยไม่ระบุแหล่งอ้างอิง และไม่ใช่การพิมพ์ผิดเพราะมีค่าสูงกว่ารายการอื่นๆ ในกราฟ (หมายเหตุ ผมรู้สึกว่าเคยเห็นกราฟนี้มาอย่างน้อย 3 ปีมาแล้ว ตั้งแต่ที่มีการชี้แจงในคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรณีโรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา)

นอกจากนี้ยังได้บอกว่าต้นทุนเฉลี่ยในการผลิตไฟฟ้า (ไม่รวมค่าสายส่งและค่าจัดจำหน่าย) เฉลี่ย 2.58 บาทต่อหน่วย

เป็นที่น่าสังเกตว่า ประเทศไทยเราได้เป็นสมาชิกขององค์กรระหว่างรัฐบาลที่ชื่อว่า “International Renewable Energy Agency, IRENA” ซึ่งกระทรวงพลังงานได้ร่วมทำวิจัยกับ IRENA ในหัวข้อ “Renewable Energy Outlook Thailand (2017)” นอกจากนี้ยังมีผลงานวิจัยอีกจำนวนมาก แต่กระทรวงพลังงานของไทยไม่เคยนำผลงานเหล่านี้มาอ้างถึงแม้แต่นิดเดียว

การประมูลไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์พร้อมแบตเตอรี่ไม่ได้มีเฉพาะที่ประเทศชิลี ก่อนหน้านี้ได้มีการประมูลที่รัฐ Arizona สหรัฐอเมริกา ขนาด 100 เมกะวัตต์ พร้อมแบตเตอรี่ 30 MW/120 MWh โดยจะเริ่มจ่ายกระแสไฟฟ้าภายในปี 2019 ในราคา 4.5 เซนต์ (สหรัฐอเมริกา) ต่อหน่วย แพงกว่าที่ชิลีเล็กน้อย (ดูรายละเอียดได้ที่ https://www.utilitydive.com/news/updated-tucson-electric-signs-solar-storage-ppa-for-less-than-45kwh/443293/)

จากผลงานวิจัยของ IRENA พบว่า ในตอนกลางปี 2016 มีประเทศทั้งที่พัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาจำนวน 67 ประเทศได้ใช้วิธีการประมูล โดยเพิ่มจากเพียง 5 ประเทศในปี 2005 (http://www.irena.org/publications/2017/Jun/Renewable-Energy-Auctions-Analysing-2016)

ในขณะที่ของประเทศไทยเราใช้ดุลพินิจของคณะกรรมการในการพิจารณาให้กับโซลาร์ฟาร์มซึ่งมีขนาดใหญ่ ในราคาล่าสุดที่ 4.12 บาทต่อหน่วย (ก่อนหน้านี้ 5.66 บาท) ซึ่งเป็นราคาที่แพงกว่าผู้ชนะการประมูลในประเทศจีนและเยอรมนีในเวลาไล่เลี่ยกันค่อนข้างเยอะ

แต่ไม่ยอมพิจารณาข้อเรียกร้องของภาคประชาชนที่ให้เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากหลังคา หรือ “โซลาร์รูฟเสรี” ตามข้อเสนอของสภาปฏิรูปแห่งชาติ

แต่กลับมาอ้างว่า “ผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะเวลาที่มีแสงอาทิตย์ ต้นทุนสูง ใช้พื้นที่มาก” ซึ่งภาครัฐไทยมีความชำนาญมากในการบิดประเด็นและทำให้สังคมสับสน

ผมอยากจะสรุปเรื่องต้นทุนการผลิตไฟฟ้าด้วยผลงานวิจัยของ IRENA อีกสักชิ้นครับ อย่าเพิ่งเบื่อกันนะครับ เพราะรัฐบาลไทยเราจ่ายเงินค่าสมาชิกให้กับองค์กรนี้มาตลอด เพียงเพื่อให้ดูมีหน้ามีตาเท่านั้นเอง แต่ไม่ยอมนำผลงานวิจัยของเขามาใช้ประโยชน์ เพราะผลงานวิจัยนี้อาจจะไปขัดคอกับผลประโยชน์ของคนบางกลุ่ม

งานวิจัยชิ้นนี้สรุปว่า “ไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนทุกชนิดจะถูกกว่าไฟฟ้าจากพลังงานฟอสซิลทุกชนิดภายในปี 2020” หรืออีก 2 ปีเท่านั้น

ผมยังเหลือประเด็นสำคัญที่จะต้องย้ำอีกนิดเดียวครับ

ประเด็นที่ว่า ไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์และกังหันลมนั้นมีความไม่แน่นอน ในขณะที่ระบบไฟฟ้าจะต้องทำให้พลังงานไฟฟ้าที่ผลิตได้กับพลังงานไฟฟ้าที่ใช้จะต้องเท่ากันตลอดเวลา มิฉะนั้นจะทำให้ไฟฟ้าดับสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ

แต่เมื่อมีแบตเตอรี่มาเก็บไฟฟ้าที่เหลือใช้ และจ่ายไฟฟ้าออกไปในยามที่ไฟฟ้าไม่พอใช้ได้อย่างทันทีทันควัน ข้อเสียของโซลาร์เซลล์และกังหันลมจึงหมดไปถ้าไม่ทำให้ต้นทุนในการผลิตสูงขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงที่มีความต้องการใช้จำนวนมาก หรือในช่วงพีค (peak)

โดยปกติโรงไฟฟ้าที่จะสามารถตอบสนองในช่วงพีคได้ก็มักจะเป็นพลังงานน้ำจากเขื่อนและโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติ เพราะเปิดปุ๊บติดปั๊บ แต่เมื่อมีแบตเตอรี่เก็บไฟฟ้า ตัวแบตเตอรี่ก็สามารถทำหน้าที่ดังกล่าวได้ หรือเป็นพีคเกอร์ (peaker)ได้ดีเช่นเดียวกัน

ผมได้นำผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมินนิโซตา (เมื่อเดือนกรกฎาคม 2017) พบว่า ในปี 2018 การใช้โรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติมาเป็น peaker จะมีต้นทุนมากกว่าผลประโยชน์ที่ได้รับ แต่ในปี 2023 การใช้แบตเตอรี่อย่างเดียวจะให้ผลประโยชน์มากกว่าการใช้โรงไฟฟ้าก๊าซฯ และจะได้ผลประโยชน์มากขึ้นอีกเมื่อนำแบตเตอรี่มาใช้ร่วมกับแผงโซลาร์เซลล์ หรือ B/C ratio สูงขึ้น (ดูภาพประกอบ)

ผมไม่อยากสรุปอะไรอีกนะครับ นอกจากว่าสิ่งที่ผมนำมาเสนอนี้มาจากผลการศึกษาขององค์กรที่น่าเชื่อถือสามารถตรวจสอบได้และไม่ได้มีผลประโยชน์ทับซ้อนใดๆ นอกจากช่วยกันลดปัญหาโลกร้อนและจะมีการกระจายรายได้ไปสู่ผู้บริโภคหากมีการรับซื้อไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์บนหลังคา

อ้อ ที่ รมต.พลังงานได้ให้คำมั่นว่าค่าไฟฟ้าจะไม่เกิน 3.60 บาทต่อหน่วยนั้นก็ไม่ใช่ข่าวดี เพราะที่ประเทศอื่นๆ ส่วนใหญ่ของโลกจะมีราคาถูกกว่านี้เยอะเลยครับ ผมมั่นใจครับ



กำลังโหลดความคิดเห็น