ดร.จิรยุทธ์ สินธุพันธุ์ คณะนิเทศศาสตร์ และศูนย์เอเชียใต้ศึกษา
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
การแสดงชุด “Born to the Tradition: The Dance and Musical Heritage of the Court of Tanjavur”
ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ระหว่างเวลา ๑๖.๓๐ ถึง ๑๙.๐๐ นาฬิกา
หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บัตรราคา ๑,๕๐๐ /๑,๐๐๐ / ๕๐๐ บาท สำรองบัตรได้ที่ natha.v@chula.ac.th หรือ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๑๘ ๓๙๔๕
ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ระหว่างเวลา ๑๖.๓๐ ถึง ๑๙.๐๐ นาฬิกา
หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
บัตรราคา ๑,๕๐๐ /๑,๐๐๐ / ๕๐๐ บาท สำรองบัตรได้ที่ natha.v@chula.ac.th หรือ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๑๘ ๓๙๔๕
นับแต่โบราณกาล นาฏศิลป์และการละครถือเป็นเครื่องราชูปโภคที่สำคัญยิ่งของราชอาณาจักร ทั้งในซีกโลกตะวันตกและในซีกโลกตะวันออก แม้ในภายหลังเมื่อระบอบราชาธิปไตยในหลายดินแดนจะได้เสื่อมถอยไปตามกาลเวลา นาฏศิลป์และการละครก็ยังถือเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นชาติและความเจริญรุ่งเรืองของเมือง หากเราเดินทางไปเยี่ยมเยือนเมืองสำคัญๆ ในทวีปยุโรป ทวีปอเมริกา หรือเมืองอย่างโตเกียว โซล ไทเป หรือสิงคโปร์ในทวีปเอเชีย เราก็จะพบโรงละครตั้งเด่นเป็นที่เชิดหน้าชูตาของเมือง ตลอดจนกิจกรรมทางนาฏศิลป์และการละครที่คึกคัก อันเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงความเจริญรุ่งเรืองทางปัญญาและเศรษฐกิจของคนที่อาศัยอยู่ในเมือง
ในช่วงของการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชของอินเดียก็เช่นเดียวกัน นาฏศิลป์และการละครได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือเพื่อต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์กับเจ้าอาณานิคมอังกฤษ และเพื่อสร้างอัตลักษณ์ที่เด่นชัดทางวัฒนธรรมที่จะสามารถโยงใยจิตสำนึกของผู้คนในชาติที่กำลังเกิดขึ้นใหม่นี้เข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้เมื่ออินเดียได้รับเอกราชแล้ว วิทยาลัยสังคีต-นาฏกและกระทรวงวัฒนธรรมแห่งอินเดียก็ได้ประกาศให้นาฏศิลป์ ๖ รูปแบบจากทั่วประเทศให้เป็นสมบัติที่สำคัญของชาติ ซึ่งนาฏศิลป์ทั้ง ๖ รูปแบบนั้นได้แก่
• ระบำโอดิสสิ จากรัฐโอดิชา หรือที่คนไทยจะรู้จักในชื่อแคว้นโอริสสาทางภาคตะวันออกของประเทศ
• ระบำกถักกฬิ และระบำโมหิณีอัตตัม จากรัฐเกราละทางภาคตะวันตกเฉียงใต้
• ระบำกถก จากรัฐทางตอนเหนือของประเทศ
• ระบำมณีปุรี จากรัฐมณีปุระทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
• ระบำคุชิปุดี จากรัฐมัธยประเทศทางตอนกลางของประเทศ
• ระบำภรตนาฏยัม จากรัฐทมิฬนาฑูทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ
ทั้งนี้ ผู้คนก็มักจะกล่าวอ้างกันว่า ภรตนาฏยัมนั้นเป็นนาฏศิลป์ที่เก่าแก่ที่สุดและสืบทอดต่อกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งที่ภรตมุนีได้ยลพระศิวะนาฏราชที่วิหารจิฎัมบาราม (Chidambaram - சிற்றம்பலம்) ทั้งที่ในความเป็นจริงนั้น ภรตนาฏยัมอย่างที่เรารู้จักกันนั้นเพิ่งจะได้รับการคิดค้นขึ้นมาในช่วงคริสตทศวรรษที่ ๑๙๓๐ นี้เอง อีกทั้งชื่อภรตนาฏยัมก็เป็นชื่อที่ประดิษฐ์คิดค้นกันขึ้นมาในสมัยหลัง
กำเนิดภรตนาฏยัมและอัตลักษณ์อินเดียใหม่
ก่อนที่ภรตนาฏยัมจะเกิดขึ้นนั้น ในดินแดนที่เป็นรัฐทมิฬนาฑูในปัจจุบันจะมีนาฏศิลป์ที่แสดงกันอย่างแพร่หลายและมีรูปแบบที่ใกล้เคียงกันอยู่ ๒ ชนิดด้วยกันคือ สัทธีร์ (Sadhir) และ ทาสีอัตตัม (Dasi Attam) การแสดงทั้งสองชนิดนี้มักจะแสดงกันในวัดฮินดู เพื่อใช้เป็นเครื่องบูชาเทพเจ้าในงานประเพณีต่างๆ ด้วยเหตุนี้ นักดนตรีและนักแสดงในการแสดงทั้งสองชนิดนี้จึงได้รับการขนานนามว่า “เทวะทาสี” หรือ ทาสรับใช้ของทวยเทพ
ในครั้งโบราณ เทวะทาสีถือว่าเป็นศิลปินฐานันดรสูงที่ได้รับการเลี้ยงดูอุ้มชูโดยราชสำนักต่างๆ ของอินเดียทางตอนใต้ โดยศูนย์กลางสำคัญของตระกูลเทวะทาสีที่ถือกันว่ามีฝีมืออย่างหาใครเทียบได้ยากนั้นก็จะเป็นตระกูลเทวะทาสีแห่งราชสำนักตัญจาวูร์ อันเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรโจฬะมาแต่เดิม และเป็นที่ที่ศิลปะทุกแขนงได้รับการพัฒนาขึ้นจนเป็นแบบแผนให้กับอินเดียทางตอนใต้ทั่วไป แม้ว่าจะได้ชื่อว่าเป็นทาสของเทพเจ้า เทวะทาสีถือว่ามีชีวิตที่สะดวกสบายและได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็นผู้ที่มีความรู้และความสามารถ
เมื่ออังกฤษเข้าปกครองอินเดีย สถานะของเทวะทาสีก็ตกต่ำจากเดิม สาเหตุหนึ่งนั้นก็มาจากอิทธิพลและสถานะทางการเงินของราชสำนักที่ลดน้อยถอยลง นอกจากนี้แล้วก็ยังมาจากอคติของเจ้าอาณานิคมอังกฤษ ที่มองว่าการเต้นรำแบบพื้นเมืองนั้นขัดกับศีลธรรมที่ดีของสังคม อีกทั้งไม่สามารถจำแนกได้ว่าเทวะทาสีนั้นแตกต่างจากผู้หญิงโสเภณีที่เต้นรำหากินอยู่ตามข้างถนนหรือสำนักนางโลมอย่างไร ตลอดระยะเวลากว่าสามร้อยปีที่เข้ามาปกครองอินเดีย องค์กรทางศาสนา รัฐบาลอาณานิคมจึงได้มีความพยายามให้เทวะทาสีและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายเรื่อยมา จนกระทั่งประสบความสำเร็จในการออกกฎหมายห้ามแสดงนาฏศิลป์พื้นเมืองอย่าง สัทธีร์ และ ทาสีอัตตัม ในเขตเทวสถานและที่สาธารณะในเขตมัทราส เมื่อปี ค.ศ.๑๙๑๐
กฎหมายฉบับดังกล่าวส่งผลให้เกิดความไม่พอใจไปทั่ว นักกฎหมายอย่าง อี กฤษณะ ไอเยอร์ ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกเพื่อตั้งคำถามเกี่ยวกับตรรกะของคณะนิติบัญญัติในหน้าหนังสือพิมพ์มัทราส เมล์ และออกมาเคลื่อนไหวเพื่อล้มล้างกฎหมายฉบับนี้ กระทั่งทำให้เขาถูกคุมขังด้วยข้อหาเผยแพร่แนวคิดชาตินิยมและต่อต้านรัฐบาลอาณานิคม
นาฏศิลป์จึงได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของกระบวนการต่อต้านอาณานิคมและการเรียกร้องเพื่อสิทธิในการกำหนดอนาคตด้วยตนเองของอินเดีย ตลอดช่วงคริสตทศวรรษที่ ๑๙๓๐ และ ๑๙๔๐ ในการประชุมสันนิบาตชาติอินเดียหรือในการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องเอกราชแต่ละครั้ง การแสดงนาฏศิลป์ก็จะเป็นส่วนสำคัญของการดำเนินกิจกรรมเสมอๆ
ภายหลังจากที่ อี กฤษณะ ไอเยอร์ พ้นจากการคุมขังในช่วงต้นคริสตทศวรรษที่ ๑๙๓๐ เขาก็ได้ร่วมมือกับสตรีวรรณะพราหมณ์ที่เขาได้พบที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมธีโอโซฟิคอล (Theosophical Society) นครมัทราส (เจนไน) ในการจัดตั้งวิทยาลัยดนตรีแห่งมัทราส เพื่อฟื้นฟูและเผยแพร่นาฏศิลป์และคีตศิลป์ของทมิฬนาฑู สตรีคนดังกล่าวก็คือ รุกขมิณี เทวี อารันเดล ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการประดิษฐ์คิดค้นภรตนาฏยัมอย่างที่เรารู้จักกันในปัจจุบัน
ทั้งรุกขมิณี เทวี อารันเดล และ อี กฤษณะ ไอเยอร์ เห็นพ้องต้องกันว่าวิทยาลัยดนตรีแห่งมัทราสจำเป็นต้องดำเนินการยกระดับนาฏศิลป์ให้เป็นที่ยอมรับในหมู่ปัญญาชนหัวสมัยใหม่ของอินเดียและในระดับนานาชาติ กิจกรรมแรกที่ทั้งสองร่วมกันทำก็คือการเปลี่ยนชื่อเรียก สัทธีร์ และ ทาสีอัตตัม มาเป็น ภรตนาฏยัม เพื่อสื่อนัยยะของความเป็นนาฏศิลป์แห่งชาติภารตะและความเชื่อมโยงกับคัมภีร์นาฏยศาสตร์ของภรตมุนี ในการประชุมสมาชิกวิทยาลัยดนตรีแห่งมัทราสเมื่อปี ค.ศ.๑๙๓๒
หลังจากนั้น ในขณะที่เธออายุได้ ๒๙ ปี รุกขมิณี เทวี อารันเดลก็ได้เริ่มเรียนการร่ายรำจากครูนาฏศิลป์ที่มีฝีมือ และรวบรวมครูช่างแขนงต่างๆ ทั่วทั้งทมิฬนาฑู เพื่อมาร่วมสร้างสรรค์การแสดงเปิดตัวของเธอที่สำนักงานใหญ่ของสมาคมธีโอโซฟิคอล (Theosophical Society) นครมัทราสในราวอีก ๑ ปีถัดมา ทำให้รุกขมิณี เทวี อารันเดลได้ชื่อว่าเป็นสตรีวรรณะพราหมณ์คนแรกที่เรียนนาฏศิลป์และเปิดการแสดงต่อสาธารณะชน
จากการแสดงในครั้งนั้น สัทธีร์และทาสีอัตตัมจึงได้เคลื่อนตัวออกจากสังคมประเพณีและโลกของเทวะทาสี สู่สายตาของผู้ชมนานาชาติและสู่โลกของปัญญาชนหัวสมัยใหม่ ภรตนาฏยัมจึงได้ถือกำเนิดขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของทมิฬนาฑูและอินเดีย
พลสรัสวตีกับการต่อสู้เพื่อศรัทธาและประเพณี
ในระหว่างการเดินทางจากสัทธีร์และทาสีอัตตัมสู่ภรตนาฏยัมนั้น สุนทรียภาพและวิถีตามประเพณีของการแสดงชนิดนี้จำต้องเปลี่ยนไปอย่างเลี่ยงไม่ได้ จากเดิมที่ทักษะและความเข้าใจในสุนทรียภาพของการแสดงจะได้รับการส่งผ่านจากรุ่นสู่รุ่นภายในตระกูลเทวะทาสี การเรียนการสอนและอำนาจในการกำหนดว่าอะไรคือการแสดงออกที่เหมาะสมของนาฏศิลป์ในโลกสมัยใหม่ก็เปลี่ยนผ่านมาอยู่ในมือของปัญญาชนชนชั้นกลางอย่าง รุกขมิณี เทวี อารันเดล และ อี กฤษณะ ไอเยอร์
ภายใต้บรรยากาศของการต่อสู้เพื่อเรียกร้องเอกราชของอินเดีย การปฏิรูปสังคมและวัฒนธรรมโดยปัญญาชนชนชั้นกลางเพื่อแสดงให้เจ้าอาณานิคมเห็นว่า อินเดียพร้อมแล้วสำหรับการปกครองตนเองได้ดำเนินไปพร้อมพร้อมกับการเคลื่อนไหวของนักการเมือง การปฏิรูปที่สำคัญก็คือการปฏิรูปศาสนาเพื่อค้นหาว่าอะไรคือรูปแบบและแก่นสารที่แท้ของศาสนาฮินดู ซึ่งหากจะนึกเห็นภาพให้ชัด เราก็อาจนึกเปรียบเทียบกับการปฏิรูปศาสนาพุทธสู่ความเป็นพุทธที่แท้ในประเทศไทยก็คงจะพอได้ สิ่งที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษรในพระคัมภีร์คือสิ่งที่ปัญญาชนเชื่อถือ หลักธรรมถูกแยกออกจากพิธีกรรมและธรรมเนียมปฏิบัติ ปัญญาถูกยกให้เหนือศรัทธา ซึ่งการปฏิรูปทางจิตวิญญาณนี้ย่อมส่งผลโดยตรงต่อนาฏศิลป์อย่างภรตนาฏยัม
รุกขมิณี เทวี อารันเดลรุกขมิณี เทวี อารันเดล ต้องการที่สร้างแบบแผนที่จะให้นักแสดงทั่วทมิฬนาฑูยึดถือ และพยายามอย่างยิ่งที่จะตัดชุดของการแสดงในกลุ่มของศฤงคารรส (รสแห่งความรัก) ที่เชื่อมโยงกับเทวะทาสีออกจากภรตนาฏยัม ด้วยเหตุผลว่า ชุดของการแสดงกลุ่มดังกล่าวส่อไปทางศิลปะเชิงสังวาสและทำให้ชาวยุโรปมองว่านาฏศิลป์อินเดียนั้นเป็นกิจกรรมของหญิงโสเภณี ยิ่งในภายหลังจากที่เธอได้เดินทางมายังประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และพบว่านาฏศิลป์ของประเทศในแถบนี้ยังมีความผูกพันอย่างแนบแน่นกับรามยณะ รุกขมิณี เทวี อารันเดลก็ได้เริ่มที่ดัดแปลงเรื่องราวจากรามยณะของวาลมีกิให้เป็นชุดการแสดงสำคัญของภรตนาฏยัม
การปฏิรูปนาฏศิลป์โดยปัญญาชนชนชั้นกลางสร้างความไม่พอใจให้แก่ชุมชนนาฏศิลป์ที่มีมาแต่เดิมอย่างมาก โดยเฉพาะการลดบทบาทของศิลปินตามประเพณีนิยมลงไปสู่สถานะลูกจ้างหรือช่างฝีมือของชนชั้นกลาง และการผลักให้ศิลปินที่ไม่ดำเนินตามแบบแผนที่ถูกสร้างขึ้นมาใหม่ไปอยู่ที่ชายขอบของสังคม ทั้งนี้ด้วยแต่ดั้งแต่เดิมมาสัทธีร์และทาสีอัตตัมเป็นการแสดงที่ไม่ได้มีกฏเกณฑ์ที่เคร่งครัด แต่เน้นปฏิภานและความสามารถของเทวะทาสีแต่ละคนในการสร้างอัตลักษณ์เฉพาะตน นอกจากนี้แล้ว สัทธีร์และทาสีอัตตัมก็ยังเป็นการแสดงที่เน้นในเรื่องของศรัทธาและการแสดงออกซึ่งความรักต่อเทพเจ้าผ่านศฤงคารรสและศิลปะเชิงสังวาสที่ปัญญาชนชนชั้นกลางรังเกียจหนักหนา
สถานะของศิลปินตามประเพณีนิยมก็คงจะถูกกดทับเรื่อยไป และสุดท้ายก็คงจะถูกหลงลืมไปตามกาลเวลา หากปราศจากซึ่งกำลังและความสามารถของศิลปินเชื้อสายเทวะทาสีที่ชื่อว่า พละสรัสวตี
พละสรัสวตีเป็นเชื้อสายรุ่นที่เจ็ดของตะกูลเทวะทาสีแห่งตัญจาวูร์ บรรพบุรุษของเธอรับใช้ราชสำนักและศาสนาสถานแห่งตัญจาวูร์มาตั้งแต่คริสตศตวรรษที่สิบแปด พละสรัสวตีได้รับถ่ายทอดศิลปะแห่งทาสีอัตตัมมาจากแม่และยายของเธอ โดยเริ่มต้นชีวิตเทวะทาสีเป็นครั้งแรกที่มหาวิหารหางกาญจีปุรัมเมื่ออายุได้ ๗ ปี พละสรัสวตีเป็นศิลปินทาสีอัตตัมที่มีความสามารถ กิตติศัพท์ของเธอขจรขจายไปทั่วทมิฬนาฑูและอินเดีย กระทั่งอุทัย สังขาร (Udhay Shankar) บุรุษผู้ทำให้นาฏศิลป์อินเดียเป็นที่รู้จักไปทั่วโลกต้องเดินทางจากตอนเหนือของประเทศเพื่อมาดูตัวเธอ และต่อมาก็ได้เชื้อเชิญให้พละสรัสวตีร่วมคณะการแสดงของเขาไปทั่วอินเดีย พละสรัสวตีถือเป็นศิลปินคนแรกที่ทำให้นาฏศิลป์จากภาคใต้เป็นที่รู้จักของสาธารณะชนทั่วประเทศ
แม้ว่าพละสรัสวตีจะได้รับการยกย่องว่าเป็นนาฏศิลป์ผู้มีความสามารถและได้รับการว่าจ้างให้ไปเปิดการแสดงตามที่ต่างๆ จนแทบไม่มีเวลาพัก เธอก็ยังต้องเผชิญกับความรังเกียจเดียดฉันท์จากสังคมของผู้ที่มีความน่านับถือเนื่องจากเชื้อสายเทวะทาสีของเธอและรูปแบบของการแสดงที่ไม่ถูกจริตของปัญญาชนชนชั้นกลางมาตลอดชั่วชีวิตของเธอ หลายครั้งเธออาจจะสิ้นหวังและด่ำดิ่งสู่สภาวะซึมเศร้า แต่เธอก็มักจะฉุดตัวเองขึ้นมาเพื่อต่อสู้กับอคติของชนชั้นกลางที่มีต่อศรัทธาและประเพณีของตระกูลเทวะทาสี พละสรัสวตีเป็นกระบอกเสียงที่ออกมาวิพากษ์การปฏิรูปนาฏศิลป์ตามแนวทางของรุกขมิณี เทวี อารันเดลว่าเปรียบเสมือนการเอาจิตวิญญาณออกจากนาฏศิลป์ อีกทั้งวิจารณ์ศิลปินที่พยายามหลีกเลี่ยงศฤงคารรสว่า ที่จริงแล้วก็ไม่มีความสามารถที่จะแสดงออกซึ่งรสแห่งนาฏศิลป์ดังกล่าว
ดั๊กลาส ไนท์ บุตรเขยชาวอเมริกันและผู้รวบรวมประวัติชีวิตของพละสรัสวตีได้ค้นคว้าและเขียนเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อครั้งที่ พละสรัสวตีประชันความสามารถกับรุกขมิณี เทวี อารันเดล ในเทศกาลนาฏศิลป์แห่งชาติที่นครมุมไบเมื่อเดือนกันยายน ค.ศ. ๑๙๔๕ ไว้อย่างละเอียด
ในครั้งนั้น ศิลปินทั่วอินเดีย ทั้งที่เป็นศิลปินร่วมสมัยและศิลปินตามประเพณีนิยมต่างก็ได้รับเชิญให้มาขึ้นเวทีร่วมกัน ในขณะที่ศิลปินโดยส่วนมากจะมีเวลาในการแสดงเพียงช่วงสั้นๆ รุกขมิณี เทวี อารันเดลกลับได้รับช่วงเวลาสำหรับแสดงที่ยาวที่สุด การแสดงของรุกขมิณี เทวี อารันเดลเป็นการแสดงละครขนาดยาวที่มีนักแสดงเป็นจำนวนมาก อีกทั้งมีฉากที่ใหญ่โตอลังการ ผู้ที่จะต้องแสดงต่อจากคณะของเธอก็คือพละสรัสวตี จึงคิดเอาไปเองว่า รุกขมิณี เทวี อารันเดลก็คงจะทิ้งฉากของเธอไว้อย่างนั้น เพื่อให้การแสดงสามารถดำเนินต่อไปได้อย่างไม่สะดุด แต่การณ์กลับไม่เป็นดั่งคาด เมื่อการแสดงของรุกขมิณี เทวี อารันเดลปิดม่านลง คณะทำงานของเธอก็เริ่มรื้อฉากลงจนหมด ทิ้งไว้แต่เศษไม้และเศษตะปูบนพื้นเวที ทำให้มารดาของพละสรัสวตีต้องออกมาทำหน้าที่กวาดพื้นเวทีเพื่อให้บุตรสาวของเธอออกมาแสดงบนเวทีต่อได้
เมื่อม่านเวทีเปิดขึ้น พละสรัสวตีก็ร่ายรำและขับลำนำตามเสียงดนตรีเพียงลำพังไปบนเวทีที่ว่างเปล่า ตลอดเวลากว่าหนึ่งชั่วโมงของการแสดง การเคลื่อนไหวร่างกายและน้ำเสียงของพละสรัสวตีเปลี่ยนจากตัวละครหนึ่งไปเป็นอีกตัวละครหนึ่งอย่างไม่มีสะดุด เธอทุ่มเททั้งร่างกายและหัวใจให้กับการแสดงเพื่อพิสูจน์ว่า ศิลปะของเทวะทาสีนั้นไม่ต้องอาศัยฉากหรือเครื่องแต่งกายที่อลังการ สิ่งที่สำคัญก็คือศรัทธาในพลังของศิลปินที่ไหลเวียนอยู่ในร่างกายของเธอ และศรัทธาในศิลปะของเทวะทาสีที่สืบต่อกันมาหลายชั่วอายุคน
ภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับพละสรัสวตี “Bala” โดย สัตยชิต ราย ค.ศ. ๑๙๗๖ (ที่มา : Youtube)
นับตั้งแต่วันนั้น พละสรัสวตีคือตำนานของนาฏศิลป์อินเดีย เธอเป็นนาฏศิลป์เพียงไม่กี่คนที่ได้รับทั้งรางวัลปัทมา ภูษัณและรางวัลปัทมา วิภูษัณอันเป็นเครื่องอิสริยาภรณ์ที่สูงที่สุดสำหรับฝ่ายพลเรือนในอินเดีย
นอกเหนือจากการต่อสู้เพื่อสถานะภาพของเทวะทาสีและทาสีอัตตัมแล้ว พละสรัสวตีก็ยังเป็นผู้ที่มีความตื่นรู้ในทางการเมือง ตลอดช่วงคริสตทศวรรษที่ ๑๙๓๐ และ ๑๙๔๐ พละสรัสวตีได้เข้าไปมีส่วนร่วมในการประชุมสันนิบาตชาติอินเดียและการเรียกร้องเอกราชในฐานะศิลปินรับเชิญอยู่เนืองเนือง ในเดือนมกราคม ปี ค.ศ. ๑๙๔๗ อินเดียได้มีการเฉลิมฉลองวันสาธารณรัฐเป็นครั้งแรก ในปลายปีเดียวกันนั้นเองกฎหมายประกาศให้เทวะทาสีและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายก็ผ่านสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เป็นการปิดฉากประเพณีและวิถีชีวิตของชุมชนที่พละสรัสวตีเป็นตัวแทนต่อสู้เพื่อการดำรงอยู่ ศิลปะของสัทธีร์และทาสีอัตตัมก็ถูกแทนที่ด้วยภรตนาฏยัมโดยสมบูรณ์
สัทธีร์และทาสีอัตตัมในบางกอก
เมื่ออินเดียไม่มีที่ทางให้เธอยืนอีกต่อไป พละสรัสวตีจึงได้ออกเดินทางไปเปิดการแสดงและเผยแพร่ทาสีอัตตัมที่ภาคภูมิใจไปทั่วโลก โดยเฉพาะในสหรัฐอเมริกาบ้านเกิดของบุตรเขย พละสรัสวตีมีทายาทคนหนึ่งเป็นหลายชายที่เกิดจาก ลักษมีผู้เป็นบุตรสาวและดั๊กลาส ไนท์ บุตรเขยชาวอเมริกัน หากตามประเพณีนั้นตระกูลเทวะทาสีจะสืบเชื้อสายกันทางฝั่งสตรีเป็นหลัก เนื่องจากไม่มีทางเลือกอื่น พละสรัสวตีจึงได้ตัดสินใจที่จะถ่ายทอดศิลปะของเทวะทาสีให้กับอนิรุทธ์ ไนท์ หลานยายที่เป็นทั้งผู้ชายและลูกครึ่งอเมริกัน ท่ามกลางความตื่นเต้นตกใจและเสียงขัดค้านจากชุมชนเทวะทาสี ซึ่งในปัจจุบัน อนิรุทธ์ ไนท์ได้พิสูจน์แล้วว่าเป็นนาฏศิลป์ด้วยความสามารถตนเอง นอกเหนือไปจากการเป็นทายาทผู้สืบทอดความเป็นศิลปินและจุดมุ่งหมายในการต่อสู้เพื่อหาที่ยืนให้แก่ศิลปะของเทวะทาสีที่เริ่มต้นไว้โดยพละสรัสวตี
ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ที่จะถึงนี้ ศูนย์อินเดียศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จึงได้เชิญอนิรุทธ์ ไนท์และคณะจากเจนไน (มัทราส) มาเปิดการแสดงครั้งแรกในกรุงเทพมหานคร นับเป็นโอกาสอันดีที่คนไทยจะได้เรียนรู้และรับชมนาฏศิลป์แบบดั้งเดิมที่เป็นต้นแบบให้กับภรตนาฏยัมแห่งชาติอินเดีย โดยรายได้จากการแสดงเมื่อหักค่าใช้จ่ายแล้ว ก็จะถูกนำเข้าเป็นกองทุนเพื่อสนับสนุนการดำเนินกิจกรรมเพื่อเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับอินเดียของศูนย์อินเดียศึกษาฯ ต่อไป
การแสดงชุด “Born to the Tradition: The Dance and Musical Heritage of the Court of Tanjavur” จะจัดแสดงที่หอประชุมใหญ่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๖๑ ระหว่างเวลา ๑๖.๓๐ ถึง ๑๙.๐๐ นาฬิกา
บัตรราคา ๑,๕๐๐ /๑,๐๐๐ / ๕๐๐ บาท สำรองบัตรได้ที่ natha.v@chula.ac.th หรือ โทรศัพท์ ๐ ๒๒๑๘ ๓๙๔๕
บรรณานุกรม
Knight, Douglas. (2010). Balasaraswati: Her Arts and Life. Chennai: Tranquebar Press.
Massey, Reginald and Jamila. (1989). The Dances of India. London: Tricolour Books.
https://www.firstpost.com/living/balasaraswati-vs-rukmini-arundale-the-grand-bharata-natyam-controversy-134874.html
http://archive.indianexpress.com/news/temple-dancer/920036/0
https://www.thehindu.com/thehindu/mag/2003/03/16/stories/2003031600400500.htm
https://www.outlookindia.com/magazine/story/beatification-of-the-erotic/279255