xs
xsm
sm
md
lg

การลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ (Plagiarism) ในวงวิชาการไทย

เผยแพร่:   โดย: ผศ.ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์


ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
ผู้อำนวยการหลักสูตร Ph.D. และ M.Sc. (Business Analytics and Data Science)
สาขาวิชาวิทยาการประกันภัยและการบริหารความเสี่ยง
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
https://www.facebook.com/BusinessAnalyticsNIDA


ปัญหาการลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ (Plagiarism) ในวงวิชาการไทย เป็นปัญหาที่มีมานาน และคนที่ทำเรื่องแบบนี้มากคือนักวิชาการและอาจารย์มหาวิทยาลัย คำว่าการลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ เป็นคำที่ ดร.เลอสรร ธนสุกาญจน์ แห่งภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย น่าจะเป็นคนใช้คำนี้เป็นคนแรกในบทความ เพลเจียริซึม: การลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ ตีพิมพ์ในดุลพาหะ นิตยสารของกระทรวงยุติธรรม เล่มที่ 6 ปีที่ 50 ใน พ.ศ. 2536 หน้าที่ 55-119 (ดูได้จาก http://elib.coj.go.th/Article/d40_6_5.pdf) อันเป็นบทความที่ขยายต่อมาจากบทความในหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เนื่องจาก ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล จาก Pacific intercommunication ได้ทำข่าวที่พระยันตระอมโรภิกขุ (สมณเพศในขณะนั้นก่อนถูกปาราชิก) ได้ลอกเลียนบทกวีของศาสตราจารย์ ดร. ระวี ภาวิไล ไปใส่เป็นชื่อของตัวเอง

หลายคนในขณะนั้นออกมาโวยวายว่า ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล ทำเกินกว่าเหตุ เพราะคำว่า plagiarism ในสมัยนั้นยังไม่ได้รู้จักกันแพร่หลายในสังคมไทยมากนัก ในขณะที่ต่างประเทศถือว่าเป็นเรื่องใหญ่มาก

ผู้เขียนเองเมื่อไปต่างประเทศก็ประสบกับเหตุการณ์นี้ด้วยตนเอง โดยไม่ได้เจตนาและไม่ได้ทราบว่าตนเองทำสิ่งที่เรียกว่า การลอกเลียนงานของตนเองอย่างไร้เกียรติ (Self-plagiarism) แต่ยังโชคดีที่ไม่ได้ปล่อยงานและการกระทำผิดจริยธรรมทางวิชาการ (Academic integrity) ออกไป ผมเองเคยเขียนบทความวิชาการไว้ก่อนหน้านั้นกับอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยในต่างประเทศ และเมื่อขยายต่องานของตนเอง (และเขียนกับครูคนเดิม) มีบางส่วนที่เนื้อหาซ้อนกัน และคิดว่าตนเองเขียนไว้ดีพอสมควร จึง copy และ paste งานเดิมของตนเองมาใส่ในร่างต้นฉบับงานใหม่ จำนวนหนึ่งพารากราฟ เมื่อส่งต้นฉบับให้ครูอ่าน ครูจำได้ และเขียนอีเมล์มาต่อว่าผมอย่างหนัก เทศนาสั่งสอน และส่งบทความเรื่อง self-plagiarism มาให้อ่านอย่างมากมาย แล้วกล่าวว่าการทำเช่นนี้ไม่ถูกต้อง แม้จะเป็นงานของตัวเอง ส่งไปที่ใหม่ เผยแพร่ใหม่หรือต่อยอดก็ตาม ก็ต้องเขียนใหม่

สมัยที่ผู้เขียนเรียนที่คณะพาณิชยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีอาจารย์จากสถาบันภาษา สอนเรื่อง paraphrase หรือการแปลงประโยคหรือพารากราฟ ผมเองก็ได้ฝึกเขียนภาษาอังกฤษ พูดเรื่องเดียวกัน ด้วยวิธีการเล่าเรื่องหรือโครงสร้างประโยคแตกต่างกันมากมายหลายวิธีการ ซึ่งในขณะนั้นเรียนชั้นปีที่สอง ก็ไม่ได้เข้าใจว่าจะเรียนไปเพื่ออะไร ไม่น่าจะได้ใช้ประโยชน์อะไรมาก แต่กลับมาเข้าใจแจ่มกระจ่างเมื่อเรียนปริญญาเอก

การเรียน paraphrase นั้นก็เรียนเพื่อไม่ให้เราเกิดการลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ แม้กระทั่งการลอกเลียนอย่างไร้เกียรติในผลงานของตนเองก็ทำไม่ได้ ต้องเขียนใหม่ เพื่อให้เกิดความชัดเจน ยกเว้นให้เขียนอ้างอิงไว้ชัดเจนว่า ได้ปรับปรุงหรือพัฒนามาจากงานเดิม หรืออ้างอิงงานเดิมของตนเองที่เรียกว่า self-citation หรือเป็นการพิมพ์ซ้ำและปรับปรุงจาก version ในการพิมพ์ครั้งก่อน

ไม่น่าเชื่อว่าปัญหาการลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ ก็ยังคงอยู่เหมือนเดิม ไม่เคยเปลี่ยนแปลงไปแต่อย่างใด จากวงวิชาการไทย

การลอกเลียนอย่างไร้เกียรติ ที่เห็นบ่อยสุดในวงวิชาการไทยคือ

หนึ่ง การแปลตำราหรือหนังสือวิชาการจากต่างประเทศมา แล้วบอกว่าตนเองเป็นคนแต่งตำราหรือหนังสือเล่มนั้น ตำราวิชาการไทยจำนวนมากเป็นแค่การลอกผลงานตำราวิชาการจากต่างประเทศแล้วแปลมา ไม่ได้เขียนจาก inner หรือความลุ่มลึกตกผลึกจากตนเองแต่อย่างใด ไม่ได้เขียนจากความชำนาญในการทำงานในภาคปฏิบัติ หรือไม่ได้เขียนจากงานวิจัยในเรื่องนั้นที่ตนเองทำมานาน ตำราวิชาการไทยจึงขาดอัตลักษณ์ ไม่สะท้อนความเป็นตัวตนทางวิชาการของผู้เขียนหรืออาจารย์ท่าน ๆ นั้น ๆ แต่อย่างใด

อันที่จริงการเขียนตำราควรเขียนมาจากความเข้าใจอย่างลึกซึ้งของตนเองมากกว่าการไปแปลมา

ถ้าเล่มไหนลอกเลียนแบบเนียน ๆ ก็จะตัดแปะหรือตัดต่อจากหลาย ๆ เล่มมาแปลรวมกัน ทำให้จับได้ยากว่าแปลจากเล่มเดียวเดี่ยว ๆ

บางเล่มนั้น อ่านแล้วก็ทราบในทันทีว่าไม่ได้แปลเองด้วย แต่แบ่งหนังสือเป็นบท ๆ ให้นักศึกษาปริญญาโทปริญญาเอก แบ่งกันแปล แล้วเอามารวมเล่มพิมพ์ขาย ทำรายได้เป็นกอบเป็นกำ ที่แย่กว่านั้นคือแปลมาผิด ๆ ถูก ๆ ความเข้าใจในเนื้อหาวิชาที่แปลมาก็ไม่ถูกต้อง ไม่เข้าใจถ่องแท้ทำให้แปลมาผิด ๆ และภาษาอังกฤษก็แย่ไม่ได้แตกฉานเช่นกันทำให้แปลผิดไปมากมาย และนักเรียนนักศึกษาไทยก็ใช้กันแพร่หลายมากสุดเสียด้วย เลยได้เรียนรู้กันในสิ่งที่ผิด ๆ ไปทั่วประเทศไทยอย่างแพร่หลาย

ตำราบางเล่มนั้นแปลมาจากภาษาอังกฤษ แทบจะคำต่อคำ และที่ตำราในลักษณะนี้ขายดีมาก เพราะนักศึกษาไทยอ่านภาษาอังกฤษไม่ได้หรือไม่แตกฉาน เลยยิ่งมีความยินดีที่จะซื้อตำราในลักษณะนี้เพื่อที่ตนเองจะได้ไม่ต้องไปอ่านภาษาอังกฤษ

ผมเคยอ่านตำราด้านสถิติอยู่หนึ่งเล่ม คนเขียนมีตำแหน่งทางวิชาการระดับศาสตราจารย์ทางวิศวกรรมศาสตร์ ขอเรียกว่า Prof P ก็แล้วกันครับ อ่านไปได้สัก 10 หน้า เอ ทำไมเราจึงคุ้นมากเหลือเกิน ทำไมมันคุ้นขนาดนี้ ผมซื้อตำราเล่มนั้นจากร้านหนังสือกลับมาบ้าน แล้วเปิดพลิกเทียบดูกับตำราต่างประเทศเล่มหนึ่ง ที่ผมเองเคยอ่านมาทั้งเล่มก็ถึงบางอ้อว่า แปลมาชนิดคำต่อคำ ประโยคต่อประโยค โดยไม่อ้างอิงถึงตำราเล่มที่ตัวเองแปลมาเลยแม้แต่นิดเดียว และมีแตกต่างบ้าง เช่น เลือกแปลแบบฝึกหัด เฉพาะข้อคู่หรือข้อคี่ และไม่ได้สลับอะไรเลยในส่วนของเนื้อหาและลำดับบทที่พิมพ์ ตกลง Prof P ก็ไม่ได้เขียนตำรานี้เองแต่อย่างใด และไม่ได้เป็นการลอกเลียนด้วย เพราะหากเป็นการลอกเลียนก็ต้องมีการดัดแปลงบ้าง แต่นี่เป็นการแปลมาแบบคำต่อคำ ประโยคต่อประโยค ย่อหน้าต่อย่อหน้า ผมไม่คิดว่านี่เป็นการลอกเลียน เพราะการลอกเลียนต้องมีการดัดแปลงและใส่ความคิดตนเองลงไปบ้าง แต่นี่คือการขโมยทรัพย์สินทางปัญญา และเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

ผมเองอดรนทนไม่ได้ ถึงกับโทรไปบอก บรรณาธิการสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่เป็นผู้พิมพ์เผยแพร่ตำราเล่มนี้ แต่เสียงผมก็เล็กเกินไป ไม่ดังพอ และเลือนหายในสายลม บรรณาธิการก็แค่บอกว่าจะรับไปดำเนินการตรวจสอบให้ คำถามที่ผมว่าน่าคิดมากคือ reviewer หรือ reader ของสำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยแห่งนั้นปล่อยให้ผ่านกระบวนการอ่านพิจารณาไปได้อย่างไรหรือ reviewer หรือ reader ไม่ได้มีความรู้ความชำนาญในเรื่องนั้นจริงๆ จึงไม่เคยอ่านตำรา classic เล่มนั้นในภาษาอังกฤษแล้วปล่อยให้ Prof P แปลออกมาทั้งเล่ม แล้วพิมพ์ขายได้ และบอกว่าตนเองเป็นคนเขียนด้วย ต้องบอกว่า หลุดได้อย่างมหัศจรรย์อย่างแท้จริง

สอง มีการนำ powerpoint ของคนอื่น มาแปะเป็นชื่อตนเอง แล้วใช้สอนในคลาสตนเอง หรือกล่าวง่าย ๆ ขโมย teaching material ของผู้อื่นมาใช้สอนแล้วใส่ชื่อตนเองอย่างหน้าด้าน ๆ โดยไม่ยอมขอเจ้าของและไม่ยอมให้เครดิตเจ้าของแต่ขโมยมาเป็นของตัวเอง

ข้อนี้อาจจะมีการถกเถียงกันได้ เพราะทุกวันนี้ powerpoint slide ของ textbook ต่างประเทศ มีให้แทบทุกเล่ม โดยเฉพาะ textbook ระดับปริญญาตรีของสำนักพิมพ์ดังๆ เช่น Wiley, Prentice-Hall, Cengage เป็นต้น นอกจากจะมี powerpoint slides ให้แล้วยังมีคู่มือครู มีแบบฝึกหัด มี Quiz มีเฉลยแบบฝึกหัดด้วย ทำให้ร่นระยะเวลาในการเตรียมสอนลงไปได้มาก แต่ของเหล่านี้ก็มีลิขสิทธิ์ publisher เหล่านี้สร้าง teaching material มาเพื่อดึงดูดใจให้อาจารย์เลือกใช้ textbook ของตัวเองในการสอนในชั้นเรียน จะได้ขายของได้ง่าย ซึ่งหากจะนำมาใช้สอนก็ไม่ผิดอะไร แต่ก็ควรต้องเหลือคำว่า All rights reserved หรือแสดงที่มาที่ไปให้เห็นด้วยว่านำมาจากไหนเพื่อเอามาใช้สอน ต้องเหลือที่มาที่ไปไว้ให้นักเรียนได้รู้ ไม่ใช่เพียงป้องกัน plagiarism แต่ยังเป็นประโยชน์กับนักศึกษาเองในการตามไปค้นหาต้นธารที่มาของเอกสาร จะได้ไปตามอ่านและศึกษาต่อไปได้

สมัยผมเป็น Teaching assistant สอนวิชาการวิเคราะห์ข้อมูลจัดประเภท (Categorical data analysis) ครูที่สอนวิชานี้เป็นลูกศิษย์ของ professor ชื่อดังด้านนี้ชื่อ Carolyn J. Anderson ซึ่งทำ powerpoint จากตำราของ Alan Agresti ครูที่ผมเป็น TA สอนปริญญาเอกให้ก็ใช้ตำรา Alan Agresti และเอา Powerpoint ของ Carolyn J. Anderson มาใช้สอนทั้งหมด โดยให้เครดิตไว้ ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร และได้รับอนุญาตจากเจ้าตัวแล้ว แบบนี้ก็ไม่ผิดอะไร อันที่จริงคนเป็นครูอย่าง Carolyn J. Anderson น่าจะดีใจด้วยซ้ำที่ได้ช่วยลูกศิษย์ตัวเองที่เพิ่งจบใหม่ๆ ไม่ต้องเตรียมการสอนอย่างโหดร้ายมากจนเกินไป ก็ขอกันตรงๆ ก็ได้ ไม่น่าจะมีปัญหา คนเป็นนักวิชาการ ไม่ได้หวงความรู้อยู่แล้ว แต่ต้องไม่ลอกเลียนอย่างไร้เกียรติเพื่อเป็นการให้เกียรติกันและกัน (ให้เกียรติตนเองด้วย)

แต่ powerpoint slides หลายอันที่ผู้สอนพัฒนามาเอง เขียนออกมาเองจากความคิดของตัวเอง หรือจากอินเนอร์ของตนเอง กลับมีการฉกและขโมยไปใส่ชื่อตนเองทับลงไป แล้วใช้สอนในชั้นเรียนของตนอย่างน่าเกลียด ผิดจริยธรรมทางวิชาการ ในประเทศไทยพบเห็นการกระทำเช่นนี้อยู่เป็นประจำ

Prof KP เป็นศาสตราจารย์ทางการเงิน เมื่อสิบปีก่อน เชิญ อาจารย์พิเศษจากต่างมหาวิทยาลัยมาสอนด้านการวิเคราะห์ทางการเงิน เรื่องที่สอนก็ไมได้ยากอะไรนัก เช่น การวิเคราะห์หลักทรัพย์ในประเทศไทยในเวลานั้นด้วย Price/Book Value หรือ Price/Earnings Ratio เป็นต้น อาจารย์พิเศษท่านนั้นมาสอน แล้วก็ทิ้ง powerpoint slides ที่ตัวเองทำมา ซึ่งเนื้อหาไม่ได้ยากหรือซับซ้อนแต่อย่างใด ไว้บน desktop ของเครื่องคอมพิวเตอร์หน้าห้องในห้องเรียน Prof K มาสอนต่อแล้วก็ copy ตัว powerpoint slide ทั้งหมด แล้วไปแปะชื่อตนเองใช้สอนต่อไป โดยความมักง่ายและความขี้เกียจหรืออย่างไรก็ไม่อาจทราบได้ แต่อาจารย์พิเศษท่านนั้นมาพบเห็นว่า Prof KP ใช้ powerpoint ของตนเองสอนและได้เปลี่ยนชื่อว่า Prof KP เป็นผู้เขียน powerpoint นั้นไปเสียแล้ว อาจารย์พิเศษท่านนั้นจึงทำหนังสือมาที่คณบดีที่ Prof KP ทำงานอยู่ และเมื่อเกิดเรื่องขึ้นก็แค่ให้ Prof KP ตามไปขอโทษ อาจารย์พิเศษท่านนั้น และเนื่องจากอาจารย์พิเศษท่านนั้นขี้เกียจจะมีเรื่องมีราวต่อไป ก็เลยจบกันไปแบบไทยๆ ไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทั้งๆ ที่เป็นการลักขโมยตามสันดานโจร ไร้จริยธรรมทางวิชาการ Prof KP ก็เติบโตมีตำแหน่งทางวิชาการใหญ่โตมีตำแหน่งบริหารใหญ่โต และกำลังจะเป็นอธิการบดี โดยที่สังคมและชุมชนทางวิชาการก็ไม่ได้ใส่ใจ ไม่ได้สนใจและถือว่าเรื่อง plagiarism แบบที่ Prof KP ทำนี้เป็นเรื่องเล็กน้อย

เรื่องราวแบบ Prof P และ Prof PK นั้นเกิดขึ้นจริงในประเทศไทย และจบลงแบบไทยๆ ไม่มีใครทำอะไรใครได้ ก็ชูคอหน้าเชิด กันต่อไป ทั้งๆ ที่เบื้องหลังมาอย่างไร้เกียรติ ที่นี่ประเทศไทย อย่าไปหวังอะไรมาก โดยเฉพาะในวงวิชาการไทยที่แย่งกันเป็นผู้บริหารแต่ไม่แก้ปัญหา และหลายครั้งคนที่ขึ้นมาบริหารเองก็ไม่ได้ดีอะไร มีบาดแผลและชะนักอยู่มากมาย แล้วจะไปหวังว่าอุดมศึกษาไทยจะนำพาพัฒนาประเทศได้อย่างไร จะมีธรรมาภิบาลได้อย่างไร ในเมื่อเรื่องหลักสุจริตเบื้องต้นในวิชาชีพตนเองยังไม่สามารถรักษาหลักการไว้ได้เลย

เศร้าใจเหลือเกินอุดมศึกษาไทย เป็นยุคมืดของอุดมศึกษาไทยอย่างแท้จริง


กำลังโหลดความคิดเห็น