xs
xsm
sm
md
lg

มาร์คอัดคสช.ไม่เข้าใจการเมือง ห้ามจัดกิจกรรมเข้าทางคนโกงกุมอำนาจ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

วานนี้ (17ก.ย.) พรรคประชาธิปัตย์มีการประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคเป็นครั้งแรก หลังคสช.คลายล็อก โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคฯ แถลงหลังการประชุม ว่า ได้มีการสรุปการดำเนินการ ตามกม.พรรคการเมือง และ คำสั่งคสช. ทีได้รับการแก้ไข เนื่องจากมีประเด็นที่ต้องดำเนินการตามกม.ใหม่ การจัดตั้งสาขาพรรค การเลือกตั้งหัวหน้าพรรค และตำแหน่งต่างๆ ตามที่ กม.กำหนด โดยจะมีการจัดการประชุมใหญ่ในวันพุธที่ 26 ก.ย.นี้ เพื่อแก้ไขข้อบังคับพรรค เพื่อนำไปสู่การเลือกหัวหน้า และกรรมการบริหารพรรค เพราะจะให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการหยั่ง เสียง จึงต้องออกระเบียบก่อน โดยตั้งเป้าว่าน่าจะได้หัวหน้าพรรค ภายในเดือนพ.ย.นี้
สำหรับข้อบังคับพรรค เกี่ยวกับการยั่งเสียงหัวหน้าพรรคนั้น ได้ยกร่าง กว้างๆ ว่า ผู้สมัครหัวหน้าพรรค ที่เป็นสมาชิกอยู่แล้ว ต้องมี อดีต ส.ส.รับรอง 20 คน สมาชิกรับรอง ภาคละ 500 คน รวม 2,000 คน ส่วนคนนอก ที่เพิ่งเป็นสมาชิก ไม่เคยดำรงตำแหน่งอะไรมาก่อน ต้องใช้ ส.ส.รับรอง 40 คน หรือสมาชิกรับรองภาคละ 1,000 คน รวม 4,000 คน ส่วนการคัดตัวผู้สมัครส.ส. จะทำไพรมารีโหวตหรือไม่ นั้น ขอดูกรอบเวลาก่อน
นายอภิสิทธิ์ กล่าวด้วยว่า คำสั่ง คสช. ที่ 13/61 ที่ว่าเป็นการคลายล็อกการเมือง เพื่อให้ทำกิจกรรมนั้นไม่ใช่ แต่เป็นเพียงการเปิดให้ทำงานธุรการ มากกว่าเป็นคำสั่งที่จะให้มีงานการเมืองจริงๆ ซึ่งจะมีปัญหาในหลายเรื่อง เช่น เรื่องการหาเสียง เพราะจะมีการตีความที่แตกต่างออกไป รวมถึงมีปัญหาในการทำงาน เช่น การหาสมาชิก เพราะโดยธรรมชาติการเมืองต้องทำกิจกรรมจึงจะหาสมาชิกได้อย่างทั่วถึง นี่แค่ให้ทำงานธุรการ ไม่ให้ทำกิจกรรม เป็นการสะท้อนว่า คสช. ไม่เข้าใจงานการเมือง เพราะการบริหารธุรการ แยกจากการทำกิจกรรมการเมืองไม่ได้ และยังมีทัศนคติว่า พรรคการเมืองมีไว้เพื่อหาเสียง ทั้งที่ต้องรับฟังปัญหาประชาชนอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่แค่รวมตัว มีอำนาจผ่านกระบวนการเลือกตั้ง จึงน่าเสียดายที่ คสช. ตั้งเป้าปฏิรูปการเมือง แต่กลับตอกย้ำค่านิยมผิดแบบนี้ จึงไม่อยากให้ผู้มีอำนาจ และผู้ที่เกี่ยวข้อง มองข้อจำกัดเกี่ยวกับกิจกรรมการเมือง ว่าเป็นการจำกัดพรรคการเมืองเท่านั้น แต่อยากให้มองว่า เป็นการจำกัดการมีส่วนร่วมของประชาชนมากกว่า เพราะถ้าอยากให้การเลือกตั้งมีกิจกรรมน้อยที่สุด คนได้ประโยชน์ คือ คนซื้อเสียง หรือได้คะแนนเสียงโดยมิชอบ ขณะที่คนได้คะแนนบริสุทธิ์ ต้องทำการเมือง โน้มน้าวความคิดประชาชน ยิ่งมาจำกัดการแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ก็ยิ่งเป็นการช่วยพรรคการเมือง ที่ไม่คิดจะได้คะแนนเสียงด้วยวิธีที่บริสุทธิ์ จึงอยากให้ คสช. และผู้ที่เกี่ยวข้อง มองในมุมนี้ด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้การแก้ไขข้อบังคับพรรคจะยังไม่แล้วเสร็จ เพราะต้องรอการรับรองจากที่ประชุมใหญ่ของพรรค แต่เริ่มมีการเคลื่อนไหวจาก นายถาวร เสนเนียม ที่ประกาศผลักดัน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีตส.ส.พิษณุโลก ลงแข่งขันชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้ว โดยมีการจัดทำใบปลิวแจก แนะนำตัว นพ.วรงค์ ชื่อ “หมอวรงค์คือใคร? ” แจกไปยังสาขาพรรค มีเนื้อหาแนะนำประวัติ นพ.วรงค์ ทั้งด้านการศึกษา และการรับราชการ รวมถึงผลงานขณะเป็น ส.ส. เรื่องการอภิปรายไม่ไว้วางใจโครงการรับจำนำข้าว ไปจนถึงการเป็นหนึ่งในพยานคดีนี้ด้วย พร้อมกับทิ้งท้ายถึงเหตุผลการลงแข่งชิงหัวหน้าพรรคว่า มีเป้าหมายต้องการเปลี่ยนแปลงพรรคประชาธิปัตย์ ให้เป็นสถาบันการเมืองที่มีศักยภาพ
ด้านพ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. กล่าวถึง กรณีคำสั่ง คสช. ที่ 13/2561 ให้พรรคการเมืองสามารถใช้โซเชียลมีเดียในการหาสมาชิกพรรคได้ ว่า โดยหลักเรื่องของการหาเสียงกกต.จะเข้าไปควบคุมดูแลเมื่อมี พ.ร.ฎ.ให้มีการเลือกตั้ง แต่ขณะนี้ เมื่อมีคำสั่งคสช. เกี่ยวกับการปฏิบัติของพรรคการเมือง ทางสำนักงานฯ ก็กำลังเร่งศึกษาว่ากรณีดังกล่าว ควรมีขอบเขตแค่ไหน เพียงใด เพราะก็มีการสอบถามกันเข้ามามาก เช่น จะหาสมาชิก สามารถประกาศนโยบายเพื่อเชิญชวนได้หรือไม่ และการประกาศนโยบายนั้น จะถือเป็นการหาเสียง หรือเป็นเพียงการชักชวน ซึ่งขณะนี้ ก็ยังไม่มีการประสานจาก คสช. ว่าจะให้ กกต. ออกหลักเกณฑ์ลักษณะต้องห้ามของการประชาสัมพันธ์ หรือการติดต่อสื่อสาร ที่จะมีผลกระทบต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชน ตามที่มีการระบุในคำสั่ง คสช. แต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม ระหว่างนี้ ทางสำนักงาน จะรวบรวมความคิดเห็นต่างๆ ของพรรคการเมือง ต่อการปฏิบัติตามคำสั่ง คสช. ที่ออกมา และถ้าเรื่องใดที่อยู่ในอำนาจของกกต. ก็จะได้เสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณา และถ้าเรื่องใดเป็นอำนาจของ คสช. ก็จะได้เสนอให้คสช. พิจารณาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น