xs
xsm
sm
md
lg

ศึกชิงหัวหน้าปชป.สนุก "หมอวรงค์"เบียด"มาร์ค"ได้ลุ้น !!

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

**ไม่รู้ว่ากรณี นายอลงกรณ์ พลบุตร อดีต ส.ส.เพชรบุรี พรรคประชาธิปัตย์ ออกมาอ้างว่าถูกทาบทามจากสมาชิกพรรคให้ลงสมัครชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรค จะเป็น"ข่าวลวง" เพื่อสร้างกระแสบางอย่าง หรือให้เกิดบรรยากาศคึกคัก สำหรับการแข่งขันชิงเก้าอี้ผู้นำพรรคคนใหม่ หรือไม่ ไม่อาจคาดเดาได้ เพียงแต่ว่าหากพิจารณาจากศักยภาพ และความเป็นจริง มันมีโอกาสเป็นไปได้น้อยมาก หรือแทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ต่อให้ นายอลงกรณ์ พลบุตร ยังเป็นสมาชิกอยู่กับพรรคประชาธิปัตย์ในเวลานี้ก็ตาม พูดมากไปเหมือนกับการปรามาสในศักยภาพของเขา แต่ความเป็นจริงที่มองเห็นมานาน มันก็ต้องพูดแบบนั้น
ทีนี้หากมาพิจารณาถึงตัวบุคคลที่ได้เห็นความเคลื่อนไหวค่อนข้างชัดเจนแล้วว่า จะชิงตำแหน่งหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ นอกเหนือจาก นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่รักษาการอยู่ในปัจจุบัน และประกาศว่าจะขอโอกาสทำหน้าที่เสนอตัวรับการเลือกตั้งจากสมาชิกอีกรอบหนึ่งแล้ว ยังมี นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ รองหัวหน้าพรรค และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม อดีต ส.ส.พิษณุโลก เท่าที่ทราบหลักๆ ก็น่าจะมีอยู่เท่านี้ ส่วนจะมีรายอื่นหรือไม่ เมื่อใกล้ถึงเวลาก็อาจมีรายใหม่ โผล่เข้ามาอีกก็ได้
จากการแถลงของ นายองอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรคฯ ทำหน้าที่โฆษกพรรคฯ ระบุว่าจะมีการประชุมพรรคประชาธิปัตย์ ในวันที่ 17 กันยายน ครั้งแรก หลังจากคณะรักษาความสงบแห่งชาติ มีคำสั่งคลายล็อกให้พรรคการเมืองทำกิจกรรมบางอย่างได้ เพื่อร่างข้อบังคับใหม่ จากนั้นจะมีการประชุมกันอีกรอบ ในวันที่ 24 กันยายน เพื่อรับรองข้อบังคับใหม่ดังกล่าว รวมไปถึงการเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่ ซึ่งคราวนี้จะเปิดโอกาสให้สมาชิกพรรคทั่วประเทศได้มีโอกาสได้เลือก ซึ่งจะเรียกว่าการ "หยั่งเสียง" อะไรก็ตาม แต่มีความหมายให้พวกเขามีส่วนร่วมกันโดยตรง ผ่านแอพลิเคชั่นที่พรรคกำหนดขึ้นมา โดยกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะได้ชื่อหัวหน้าพรรคคนใหม่ในเดือนพฤศจิกายน
หากพิจารณาจากรายชื่อที่เห็นในเวลานี้ ที่ชัดเจนแล้วก็มีอยู่สองราย คือ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม ส่วนรายอื่นค่อยว่ากัน เพราะยังไม่มีท่าทีชัดเจน เมื่อมีอยู่สองตัวเลือก ก็ต้องมาพิจารณาว่าในสองคนนี้ ใครจะเข้าวิน
แน่นอนว่าหากมองกันตามความเป็นจริง และแบ็กกราวด์ก็ย่อมรับรู้กันมานานแล้วว่า นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ เป็นต่อแทบจะแบเบอร์ อีกทั้งเป็นคนที่เสนอให้มีการโหวตแบบใหม่ คือให้สมาชิกพรรคได้เลือกกันโดยตรง มองกันว่าตัวเองได้เปรียบ มั่นใจว่าสมาชิกทั่วประเทศยังสนับสนุน อีกทั้งเมื่อ "ขาใหญ่" อย่าง นายชวน หลีกภัย ประธานสภาที่ปรึกษาพรรคหนุนเต็มที่ ก็ยิ่งมั่นใจเต็มร้อย
**อย่างไรก็ดี สำหรับ "หมอวรงค์" นาทีนี้รับรองว่าไม่ธรรมดา นับตั้งแต่การเสนอตัวเข้ามา นั่นก็ย่อมหมายความว่าต้องมี "คนหนุนหลัง" ที่มีพลังพอสมควร และในที่สุดเมื่อได้เห็นความเคลื่อนไหวล่าสุดจากนายถาวร เสนเนียม ภาพมันก็ยิ่งชัดว่าน่า จะเป็นกลุ่มของสุเทพ เทือกสุบรรณ และอดีต กปปส. เป็น"เงา" ทาบอยู่ข้างหลัง ทำให้ดูเหมือนมีพลังและความมั่นใจเพิ่มมากขึ้น
ขณะเดียวกันหากพิจารณาให้ซับซ้อนไปกว่านั้นอีกนิดหนึ่ง จะเห็นว่าการชิงเก้าอี้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ในคราวนี้ ยังส่งผลไปถึงอนาคตของพรรคในวันหน้าอีกด้วย หากพิจารณาจากท่าทีของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่แม้จะไม่ฟันธงเต็มร้อยว่า ไม่เอาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกฯ อีกรอบ แต่ด้วยการประกาศท่าที และอ้างหลักการประชาธิปไตย มันก็ย่อมทำให้ "ไม่ชัวร์" สำหรับการร่วมงานกันในวันข้างหน้า
อีกทั้งเมื่อพิจารณาจากความรู้สึก และการแสดงความเห็นของสมาชิกพรรคไม่น้อยก็มองว่าอนาคตของพรรคประชาธิปัตย์ในกำมือของ นายอภิสิทธิ์ มันก็คงโตได้แค่นี้ หรือว่าถดถอยลง เพราะไม่มีจุดขายน่าสนใจใหม่ ซึ่งคนละเรื่องกับความดี หรือไม่ดี ของเขา แต่มองว่ามันคงไปได้แค่นี้
แต่สำหรับอีกกลุ่มหนึ่งอย่างเช่น กลุ่มอดีต กปปส.ในพรรคประชาธิปัตย์ ที่มีแนวโน้มหนุน นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม หากขึ้นมาคุมพรรคประชาธิปัตย์โอกาสที่จะเทไปทาง "บิ๊กตู่" ก็มีความเป็นไปได้ง่ายขึ้น อีกทั้งหากมีการเปลี่ยนผู้นำพรรคใหม่ อย่างน้อยก็น่าจะมีสีสัน และมีภาพของ คนหนุ่มร้อนแรง อยู่เหมือนกัน และเมื่อพิจารณาจากกระแสที่มีการเปิดให้โหวตกันเล่นๆ ผ่านทางสถานีข่าวทางโทรทัศน์บางช่อง ก็มองเห็นว่ามีคนโหวตให้ หมอวรงค์ จำนวนมาก ถือว่าน่าจับตาทีเดียว
**เพราะว่ากระแสในอนาคตข้างหน้าน่าจะต้องเลือกระหว่าง "เอาประยุทธ์" หรือ "ไม่เอาประยุทธ์" ไม่น่าจะใช่กระแสประชาธิปไตยกับเผด็จการ เป็นแน่ เพราะถ้า "ไม่เอาประยุทธ์" ก็ต้องไปร่วมมือกับพรรคเพื่อไทยของนายทักษิณ ชินวัตร ประชาชนจะชั่งน้ำหนักเลือกแนวทางไหน ซึ่งการเลือกหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์คนใหม่ มีผลต่ออนาคตในเรื่องแบบนี้ด้วย !!


กำลังโหลดความคิดเห็น