กรมธนารักษ์ เตรียมผุด 8 จังหวัด นำร่องโครงการบ้านประชารัฐ รวม 2 พันยูนิต หนุนผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ มีบ้านเป็นของตัวเอง ผ่อนผ่านธอส. และออมสิน เดือนละ 2,000 บาท หากไม่ผ่านการพิจารณาเงินกู้จากแบงก์ กรมธนารักษ์ ยังให้ผ่อนดาวน์ได้ โดยการฝากเงินอย่างต่อเนื่อง 2,000 บาทต่อเดือน จนกว่าจะครบกำหนดผ่อนดาวน์ จึงจะเสนอให้แบงก์พิจารณาอนุมัติเงินกู้อีกครั้ง ส่วนราคาบ้านกำหนดไว้ที่ 3.5 แสน ถึง 7 แสนบาทเอกชนแห่เสนอตัวเข้าประมูลทำโครงการ เปิดยื่นซอง 20 ก.ย.นี้ ใช้เวลาก่อสร้าง 1 ปี ในปี 62
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมธนารักษ์ ได้ลงพื้นที่ตรวจโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ จ.เชียงราย หลังจากกำหนดพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัด ประกอบด้วย ชลบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เชียงใหม่, เชียงราย, ขอนแก่น, อุดรธานี, ลำปาง และนครพนม รวมกว่า 2,000 ยูนิต มูลค่าโครงการ 1,422 ล้านบาท เพื่อนำพื้นที่ทำเลดี ใจกลางเมือง มาจัดทำโครงการอยู่อาศัยให้กับชาวบ้านผู้มีรายได้น้อย หลังจากเปิดโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ ให้ชาวบ้านจองสิทธิไปแล้วที่จ.ชลบุรี
ทั้งนี้ กรมธนารักษ์ ได้เตรียมทยอยเปิดโครงการอาคารชุดที่ อ.เมืองฯ จ.เชียงราย พื้นที่ 3.3 ไร่ จำนวน 350 ยูนิต ตั้งอยู่ริมแม่น้ำ ที่ไหลผ่านตัวเมือง โดยมีเอกชน 7 ราย เสนอตัวเข้าร่วมประมูลโครงการฯแล้ว กำหนดให้ยื่นซองได้ ในวันที่ 20 ก.ย.นี้ โดยจะใช้เวลาก่อสร้างประมาณ 1 ปี ล่าสุด มีชาวบ้านสนใจมาลงทะเบียนจองแล้วกว่า 600 ราย นอกจากนี้ ในปี 62 กรมธนารักษ์ ยังเตรียมเปิดประมูลโครงการบ้านคนไทยประชารัฐ เพิ่มอีก 2 โครงการ คือที่ จ. ลำปาง และ จ.นครพนม ขณะนี้อยู่ระหว่างการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนในพื้นที่
ส่วนสิทธิการจองที่อยู่อาศัยนั้น กรมธนารักษ์กำหนดไว้ 3 กลุ่ม คือ 1. ผู้มีรายได้น้อยในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ, 2. กลุ่มประชาชนที่มีรายได้ไม่เกิน 35,000 บาทต่อเดือน, และ 3. กลุ่มประชาชนทั่วไป
อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมธนารักษ์ ย้ำว่า จะเน้นให้สิทธิการจองแก่กลุ่มถือบัตรสวัสดิการฯ โดยกำหนดให้จองได้ 1 คนต่อ 1 สิทธิ ที่พักอาศัย แต่หากธนาคารพิจารณาปล่อยกู้ไม่ผ่าน กรมธนารักษ์ ยังจะเปิดโอกาสให้ผ่อนดาวน์เพื่อฝากเงินต่อเนื่องสร้างนิสัยการออม 2,000 บาทต่อเดือน หากผ่อนดาวน์ครบตามกำหนด จากนั้นจึงจะนำข้อมูลไปเสนอธนาคารให้พิจารณาการปล่อยกู้อีกครั้ง และเปิดโอกาสให้เปลี่ยนมือได้ หลังจากครอบครอง 5 ปี เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยอยู่อาศัย แม้คนต่างจังหวัด ยังสามารถมาลงทะเบียนสิทธิที่ จ.เชียงรายได้ จึงคาดว่าจะสามารถผ่อนชำระได้โดยไม่มีปัญหากับรายได้ของผู้กู้
ด้านน.ส. อมรรัตน์ กล่ำพลบ รองอธิบดีกรมธนารักษ์ กล่าวถึงรูปแบบการก่อสร้างโครงการบ้านอยู่อาศัยดังกล่าวว่าได้จัดทำรูปแบบบ้านไว้ 3 แบบ คือ บ้านแฝด บ้านแถว และ อาคารชุดพักอาศัย โดยมีขนาดพื้นที่ใช้สอยไม่น้อยกว่า 28 ตร.ม. ส่วนราคาขายต่อหน่วย กำหนดไว้ตั้งแต่ 350,000-700,000 บาท โดยผู้ที่จะได้รับสิทธิเข้าโครงการฯ กำหนดให้ นาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) ธนาคารออมสิน และกรมธนารักษ์ จะร่วมกันพิจารณา ส่วนมีแนวทางให้ความช่วยเหลือประชาชนที่มีรายได้น้อย และอาจไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาของธนาคารนั้น ธนาคารจะเปิดทางให้นำเงินฝากไว้ในบัญชีออมทรัพย์ของธนาคาร หรือ การผ่อนดาวน์ เพื่อให้มีกำลังผ่อนชำระค่าเช่าอย่างน้อย 9 เดือน หรือตามที่ธนาคารกำหนด เพื่อแสดงถึงวินัยการออมเงิน และผ่อนชำระ และเมื่อผู้ได้รับสิทธิผ่านการอนุมัติเงินกู้จากธนาคารแล้ว ให้ถือว่าเงินฝากดังกล่าวนั้น เป็นเงินดาวน์ และหากผู้ได้รับสิทธิกระทำผิดเงื่อนไข กำหนดให้ผู้ประกอบการ สามารถริบเงินฝากดังกล่าวนั้นไว้ได้
สำหรับมาตรการสินเชื่อจาก ธอส. และธนาคารออมสิน ซึ่งพร้อมสนับสนุนวงเงินสินเชื่อสำหรับดำเนินโครงการดังกล่าวนั้น ได้ทำกรอบวงเงินปล่อยสินเชื่อโครงการ 4,000 ล้านบาท แบ่งเป็น สินเชื่อเพี่อพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย โดยกำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรนที่ 3% ต่อปี สำหรับการกู้ในปี 1-3 จากนั้นจะคิดดอกเบี้ยอัตรา MLR-ไม่เกิน 1% ต่อปี โดยมีระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 5 ปี เพื่อสนับสนุนสินเชื่อให้กับผู้ประกอบการ หรือบริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด ที่จะเข้าร่วมพัฒนาโครงการ ส่วนสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย (Post Finance)ได้กำหนดอัตราดอกเบี้ยแบบผ่อนปรนปีละ 2.75% ในปีที่ 1-4 แต่หลังจากนั้น จะปรับคิดอัตราดอกเบี้ยใหม่ โดยในกรณีที่เป็นรายย่อยจะคิดอัตราดอกเบี้ย MRR-0.75% ต่อปี หรือกรณีสวัสดิการหักเงินเดือน MRR-1% ต่อปี กำหนดระยะเวลาการกู้ไม่เกิน 30 ปี และผ่อนปรนการกำหนดอัตราส่วนรายจ่ายในการชำระหนี้ต่อรายได้ต่อเดือน หรืออัตราส่วนภาระผ่อนชำระหนี้รวมต่อรายได้สุทธิแล้วแต่ที่ธนาคารจะกำหนด เนื่องจากการให้รายย่อยทดลองผ่านค่าเช่าแบบเช่าซื้อ หรือผ่อนดาวน์จะช่วยสร้างนิสัยการออม เพื่อให้ธนาคารพิจารณาปล่อยสินเชื่อได้