ไม่กี่วันก่อนผู้สื่อข่าวถามพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี กรณีที่นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ระบุให้ พล.อ.ประวิตร นำนาฬิกาทั้ง 25 เรือนให้คณะกรรมการ ป.ป.ช.ตรวจสอบยี่ห้อ รุ่น และหมายเลขประจำตัวเรือนว่า ไม่ใช่ของตัวเอง และคืนไปหมดแล้ว
ผมคิดว่า คดีนี้เป็นคดีที่แปลกมากผิดกับมาตรฐานการทำงานของ ป.ป.ช.ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น
หลังจากสอบสวนกันมาตั้งแต่ต้นปีแต่แทบจะไม่มีความคืบหน้าเลย เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2561 มีรายงานคณะทำงานสอบสวนข้อเท็จจริงได้รายงานให้ที่ประชุม ป.ป.ช. รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริงว่า ได้สอบปากคำพยานบุคคลที่เกี่ยวข้องในคดีครบถ้วนแล้ว แต่จะขอให้ที่ประชุม ป.ป.ช.ทำหนังสือไปยังบริษัทแม่ที่อยู่ต่างประเทศที่เป็นผู้ผลิตนาฬิกาหรูเรือนต่างๆ เพื่อขอข้อมูลหมายเลขซีเรียลนัมเบอร์นาฬิกาหรู เพื่อพิสูจน์ว่า มีใครเป็นผู้ซื้อนาฬิกาตัวจริง
เนื่องจากบริษัทตัวแทนจำหน่ายนาฬิกาหรูในประเทศไทยไม่ยอมให้ข้อมูลเรื่องซีเรียลนัมเบอร์ว่า ใครเป็นผู้ครอบครองที่แท้จริง ทำให้ ป.ป.ช.ยังไม่สามารถพิจารณาว่า จะตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนในเรื่องดังกล่าวได้หรือไม่
ต่อมาวันที่ 20 ก.ค. 2561 นายวิทยา อาคมพิทักษ์ ยืนยันว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ดำเนินการตรวจสอบกรณีนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร อย่างตรงไปตรงมา และจะไม่นำกรณีการรอข้อมูลจากต่างประเทศมาใช้เพื่อยื้อเวลา จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาในการสรุปได้ ซึ่งขณะนี้ถือได้ว่ายังอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของคณะทำงานแสวงหาข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม หากในท้ายที่สุด คณะกรรมการ ป.ป.ช.ไม่ได้รับข้อมูลจากต่างประเทศ ก็สามารถใช้ข้อมูลที่มีอยู่ ซึ่งเป็นข้อมูลภายในประเทศ ใช้พิจารณาสรุปผลได้
ขณะที่พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานกรรมการ ป.ป.ช.ที่เคยทำงานกับพล.อ.ประวิตรระบุกรณีองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) ตั้งข้อสังเกตมีการยื้อตรวจสอบนาฬิกาหรูของ พล.อ.ประวิตร ว่า เป็นเรื่องธรรมดา และเป็นความเห็นของบุคคล แต่ถือเป็นสิ่งที่ดีมีการช่วยเตือน
พร้อมชี้แจงกรณีที่ไม่สามารถขอข้อมูลนาฬิกาจากตัวแทนจำหน่ายในประเทศไทยได้ ว่า ไม่ใช่ว่าขอไม่ได้ แต่เพราะตัวแทนประเทศไทยไม่มีข้อมูล โดย ป.ป.ช.ได้สอบถามข้อมูลซีเรียลนัมเบอร์ของนาฬิกาเรือนต่างๆ แต่เขาแจ้งว่าไม่มีข้อมูล ไม่ได้ขายนาฬิการุ่นนี้ ดังนั้น คณะกรรมการ ป.ป.ช.ต้องขอข้อมูลจากบริษัทแม่ในต่างประเทศ ซึ่งยอมรับว่าต้องเสียเวลา แต่ถ้าไม่ขอไปก็จะไม่มีข้อมูลที่ครบถ้วน และตอบไม่ได้ว่าบริษัทแม่จะให้ข้อมูลหรือไม่
สรุป ป.ป.ช.จะเป็นฝ่ายหาหลักฐานมาพิสูจน์ว่านาฬิกาที่พล.อ.ประวิตรสวมใส่ติดต่อกันยาวนาน จำนวนหลายเรือนมูลค่ารวมกันหลายสิบล้านบาทนั้นเป็นของพล.อ.ประวิตรจริงหรือไม่ และถึงตอนนี้ยังหาหลักฐานไม่ได้ ถ้าหาไม่ได้ก็มีทีท่าว่าจะจบ
ป.ป.ช.ยืนยันว่า บริษัทต่างประเทศไม่ให้ความร่วมมือ พล.อ.ประวิตรก็ยืนกรานอย่างเดียวว่านาฬิกายืมเพื่อนมา
ตรงนี้แหละที่ผมว่ามันแปลก เข้าใจครับว่า การทำงานของ ป.ป.ช.เป็นระบบไต่สวน แต่ถามว่าที่ผ่านมา ป.ป.ช.ทำงานอย่างไร คำตอบคือ เมื่อมีเหตุสงสัย ป.ป.ช.จะชี้มูลความผิดไปก่อน แล้วให้ผู้ถูกกล่าวหาหาหลักฐานมาพิสูจน์ตัวเอง แต่กรณีกับเรื่องที่ไม่ได้ซับซ้อนอะไรเช่นนี้แปลกมากที่ ป.ป.ช.กลับทำให้มันยุ่งยากไปได้ จนผ่านมาหลายเดือนแล้ว สำหรับวิญญูชนทั่วไปมันมีเหตุเกินสงสัยแล้ว
ลองถามชาวบ้านสิครับว่าเขาคิดอย่างไร เขาสงสัยมั้ย แล้วทำไม ป.ป.ช.จะไม่สงสัยเลย
ถึงตรงนี้ขั้นแสวงหาข้อเท็จจริงมันเพียงพอแล้วครับ แจ้งข้อกล่าวหาแล้วให้พล.อ.ประวิตรหาหลักฐานมาพิสูจน์ด้วยตัวเองในขั้นไต่สวนข้อเท็จจริงได้แล้วครับ ว่าเป็นของเพื่อนจริงๆ ไม่ใช่อ้างด้วยวาจาอย่างเดียว
แล้วถามว่า กรณีแบบนี้ ป.ป.ช.ไม่เคยมีตัวอย่างเลยหรือว่าเคยทำอย่างไร ต่อไปใครมีทรัพย์สินเกินฐานะก็ใช้วิธีนี้กันหมด เมื่อถูกร้องเรียนต่อ ป.ป.ช.ก็บอกว่ายืมเพื่อนมา แล้วให้ ป.ป.ช.ไปหาหลักฐานเอาเองว่ายืมเพื่อนมาจริงไหม
แล้วถามในกรณีคล้ายกันที่นายสุพจน์ ทรัพย์ล้อม อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ถูกสอบสวนว่าร่ำรวยผิดปกติ ภรรยาของปลัดสุพจน์มีรถใช้อยู่คันหนึ่ง แล้วพยายามต่อสู้ว่า เป็นรถของคนอื่นที่ให้ยืมมา แถมมีเอกสารทางราชการด้วยว่ารถเป็นชื่อของนายที่อ้างจริง แต่กรณีนั้น ป.ป.ช.ไม่เชื่อและศาลก็ไม่เชื่อ
ทั้งๆ ที่ความเป็นไปได้ในการยืมรถหรือให้รถใช้นั้นมีความเป็นไปได้มากกว่าการให้ยืมนาฬิกาใส่กันซึ่งแทบจะไม่เคยได้ยินมาก่อน แต่ถึงจะยืมจริงพล.อ.ประวิตรนั่นแหละต้องไปหาหลักฐานมายืนยัน
ที่สำคัญคือ หลักเรื่อง “ประโยชน์อื่นใด” ของมาตรา 103 แห่งกฎหมาย ป.ป.ช.
มาตรา 103 ห้ามมิให้เจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ใดรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดจากบุคคล นอกเหนือจากทรัพย์สินหรือประโยชน์อันควรได้ตามกฎหมาย หรือกฎ ข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอํานาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เว้นแต่การรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดโดยธรรมจรรยา ตามหลักเกณฑ์และจํานวนที่คณะกรรมการ ป.ป.ช.กําหนด
บทบัญญัติในวรรคหนึ่งให้ใช้บังคับกับการรับทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดของผู้ซึ่งพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐมาแล้วยังไม่ถึงสองปีด้วยโดยอนุโลม
นอกจากนั้นคณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้จัดทำคู่มือแนวทางปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่รัฐตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต เรื่องการรับทรัพย์สินอื่นใดของเจ้าหน้าที่รัฐ ตามมาตรา 103 อธิบายว่า “ประโยชน์อื่นใด” หมายความว่า สิ่งที่มีมูลค่า ได้แก่ การลดราคา การรับความบันเทิง การรับบริการ การรับการฝึกอบรม หรือสิ่งอื่นใดในลักษณะเดียวกัน
ถ้าจะชี้มูลว่าพล.อ.ประวิตรไม่มีความผิด เพราะ ป.ป.ช.หาหลักฐานมาไม่ได้ ป.ป.ช.ช่วยอธิบายด้วยนะครับว่า ไม่ขัดกับมาตรา 103 นี้อย่างไร
อย่าลืมว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดนี้ส่วนใหญ่มีคุณสมบัติขัดกับรัฐธรรมนูญ แต่อ้างว่า มีกฎหมายลูกของ ป.ป.ช.เขียนบทเฉพาะกาลไว้ให้ดำรงต่อ เมื่อยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความว่า ขัดกับรัฐธรรมนูญหรือไม่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่บอกว่าไม่ขัด
ซึ่งเป็นเรื่องที่แปลกมาก เพราะจำได้ว่าที่ผมเรียนชั้นประถมปีที่ 3 เมื่อ 40 กว่าปีก่อน ครูสอนว่า กฎหมายและบทบัญญัติใดจะขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญไม่ได้ แต่กลับเขียนกฎหมายลูกเพื่อยกเว้นกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ ซึ่งเราก็คงต้องยอมรับ เพราะไม่มีทางเลือกอื่น
ที่สำคัญ ป.ป.ช.ชูสโลแกนว่า “ไม่ยอม ไม่ทน ไม่เฉย” ต่อการทุจริต ก็ช่วยแสดงให้เห็นหน่อยว่าคิดเช่นนี้จริงไหม หรือมีข้อยกเว้นถ้าเกิดกับบางคน
กรณีนาฬิกาของพล.อ.ประวิตร ก็ต้องดูนะครับว่า ป.ป.ช.จะทำอย่างไร สุดท้ายแล้วอาจมีมติชี้มูลความผิดแล้วให้พล.อ.ประวิตรหาหลักฐานมาพิสูจน์อย่างที่ผมว่า
หรือไม่ก็อ้างว่าหาหลักฐานมากล่าวหาพล.อ.ประวิตรไม่ได้แล้วก็จบกันไป
ถ้าเป็นกรณีหลังพล.อ.ประวิตรอาจจะรอดจากข้อกล่าวหาได้ แต่คิดว่า ป.ป.ช.ชุดนี้ องค์กร ป.ป.ช.ทั้งระบบจะรอดหรือตายก็ลองหาคำตอบกันดู
ติดตามผู้เขียนได้ที่ https://www.facebook.com/surawich.verawan