xs
xsm
sm
md
lg

ซีอีโอใหม่ปตท.กางแผนธุรกิจ ลุยไฮสปีดเทรน-ลงทุนผลิตยา

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

ผู้จัดการรายวัน 360-"ชาญศิลป์" ซีอีโอใหม่ ปตท. คนที่ 9 กางภารกิจเร่งด่วน เตรียมชงบอร์ดชี้ขาดเลือกพันธมิตรร่วมทุนโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน 28 ก.ย.นี้ พร้อมประกาศเดินหน้าลงทุนธุรกิจยา ย้ำลุยนโยบาย CHANGE รองรับการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีพลังงาน สร้างฐานนวัตกรรมให้กับประเทศ และมุ่งเรื่องธรรมาภิบาล ด้าน "กรณ์" ยื่นหนังสือ "นายกฯ-รมว.พลังงาน" ให้ดำเนินการ 4 ข้อกับปัญหาปตท. ที่ทำธุรกิจแข่งเอกชน ชี้เสี่ยงขัดรัฐธรรมนูญ มาตรา 75

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ปตท.อยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อหาพันธมิตรร่วมทุนในการเข้าประมูลโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน คือ สนามบินอู่ตะเภา ดอนเมืองและสุวรรณภูมิ คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเพื่อคัดเลือกเหลือเพียง 1 กลุ่มจากปัจจุบันมีอยู่ 2 กลุ่มร่วมทุน (คอนซอร์เตียม) ที่มีความเชี่ยวชาญการเดินรถไฟฟ้าลอยฟ้าและรถไฟใต้ดินของไทยได้ในวันที่ 28 ก.ย.2561 หรืออย่างช้าเดือน ต.ค. ก่อนที่จะยื่นซองประมูลในเดือนพ.ย.2561

ทั้งนี้ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เป็นโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญในพื้นที่ 3 จังหวัดในEEC ซึ่งกลุ่ม ปตท. มีสินทรัพย์มากกว่า 50% อยู่ในพื้นที่ 3 จังหวัดในEEC รวมทั้งมีการพัฒนาเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรือ EECi ในพื้นที่วังจันทร์วัลเล่ย์ นับเป็นฐานธุรกิจที่สำคัญของบริษัท ดังนั้น ปตท. จึงเล็งเห็นโอกาสในการเข้าไปศึกษาเพื่อลงทุนในโครงการดังกล่าว หากบริษัทลงทุนด้านโลจิสติกส์เชื่อมโยงกับธุรกิจในกลุ่มค้าปลีกได้ ก็น่าจะเป็น New S-Curve ได้ ซึ่ง ปตท. คงไม่สามารถดำเนินการได้เพียงลำพัง เพราะไม่เชี่ยวชาญเดินรถและเครื่องจักร จึงต้องหาพันธมิตร แต่ยังไม่ได้ตัดสินใจ

โดยมอบหมายให้บริษัท เอนเนอร์ยี่ คอมเพล็กซ์ จำกัด เป็นผู้ยื่นซื้อประมูล เพื่อมองโอกาสในการเข้าไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่พื้นที่มักกะสัน เนื่องจากเป็นโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้การรับรู้รายได้เริ่มแรกจะไม่สูง เหมือนกับโครงการรถไฟฟ้าสายต่างๆ แต่อนาคตจะรับรู้รายได้เพิ่มสูงขึ้น

สำหรับ 2กลุ่มคอนซอร์เตียมที่ ปตท. เตรียมคัดเลือกเหลือเพียงรายเดียว ประกอบด้วยกลุ่มBSR (กลุ่มบีทีเอส , ซิโน-ไทยเอ็นจีเนียริ่งฯ และผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง) และกลุ่มซีพี ที่คาดว่าจะร่วมกลุ่ม ช.การช่าง

นายชาญศิลป์กล่าวถึงความคืบหน้าการลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ยาชีวภาพ (ไบโอ ฟาร์มา) ที่ต้านโรคมะเร็งว่า ตามที่ ปตท. ได้มีการลงนามกับองค์การเภสัชกรรมไปแล้ว คาดว่าจะมีความชัดเจนในการร่วมลงทุน โดยจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการปตท.เดือนธ.ค.นี้ เนื่องจาก ปตท. มีฐานธุรกิจไบโออยู่แล้ว การขยายไปสู่ผลิตภัณฑ์ยาจะช่วยเพิ่มโอกาสให้คนไทยเข้าถึงยาได้มากขึ้นในราคาไม่แพง โดยจะเป็นการผลิตยาที่หมดอายุสิทธิบัตรไปแล้ว แต่เป็นยาที่มีคุณภาพใช้ได้

ส่วนกรณีที่รัฐบาลอินโดนีเซียถอนฟ้อง บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม และบมจ.ปตท. กรณีได้รับผลกระทบจากน้ำมันรั่วไหลจากแหล่งมอนทารา ออสเตรเลียว่า ทางกลุ่ม ปตท. ยังทำตลาดขายเม็ดพลาสติกและน้ำมันสำเร็จรูปกับอินโดนีเซีย ส่วนการลงทุนใหม่ ยังไม่เน้นลงทุนที่อินโดนีเซีย แต่จะหันมาโฟกัสการลงทุนใน EEC เพิ่มมากขึ้น

นายชาญศิลป์กล่าวถึงแนวทางในการบริหารจัดการ ปตท. ในระยะเวลา 1.8 ปี ที่อยู่ตำแหน่งซีอีโอ ปตท. เริ่มตั้งแต่วันที่ 31 ส.ค.2561ว่า จะสานต่อการดำเนินงานตามกลยุทธ์ของ ปตท. ที่ได้วางไว้จากรุ่น สู่รุ่น โดยชูผ่านนโยบาย "CHANGE for Future of Thailand 4.0" เพื่อเตรียมตัวรองรับเทคโนโลยีพลังงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และการสร้างฐานเรื่องนวัตกรรมให้กับประเทศ รวมทั้งจะมุ่งในเรื่องธรรมาภิบาล เพื่อป้องกันปัญหาเรื่องการทุจริต ไม่ให้เกิดขึ้นเหมือนในอดีต

วันเดียวกันนี้ นายกรณ์ จาติกวณิช อดีตรมว.คลัง ได้ยื่นหนังสือร้องเรียนถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน ในกรณีที่ ปตท. ประกอบธุรกิจที่เสี่ยงขัดต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 เอาเปรียบประชาชน ใช้ความได้เปรียบจากความเป็นรัฐวิสาหกิจ แข่งขันโดยตรงกับเอกชนรายย่อย หลังจากที่มีมติให้บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จํากัด (มหาชน) หรือ GPSC ซึ่งเป็นบริษัทลูกเตรียมเข้าซื้อหุ้นของบริษัท โกลว์ พลังงาน จํากัด (มหาชน) ซึ่งเป็นบริษัทที่ประกอบกิจการผลิต และจําหน่ายกระแสไฟฟ้า จำนวน 69% และกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) โดยขอให้นายกฯ สั่งยกเลิกแผนซื้อหุ้น , ขอให้แนะนำหน่วยงานที่กำกับดูแล พิจารณาและวินิจฉัยว่าการกระทำของ ปตท. ขัดรัฐธรรมนูญ มีการผูกขาด ลดการแข่งขัน และขอให้สั่งชะลอการชำระเงินในธุรกรรมดังกล่าว จนกว่าจะมีคำวินิจฉัย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด ปตท. ได้ชี้แจงว่า การซื้อกิจกรรมของบริษัท โกลว์ พลังงาน ยังต้องรอการอนุมัติจาก กกพ. และกระทรวงพาณิชย์ว่าไม่มีอำนาจเหนือตลาด ซึ่งยังไม่มีการชี้ขาดออกมา ซึ่งหาก GPSC ซื้อหุ้น GLOW สำเร็จ จะมีกำลังผลิตไฟฟ้ารวม 5 พันเมกะวัตต์ ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศ รวม กฟผ. ซึ่งไม่ได้หมายความว่ามีอำนาจเหนือตลาด เพราะกำลังผลิตไฟฟ้าดังกล่าว ส่วนใหญ่จะป้อนให้กับภาคอุตสาหกรรม


กำลังโหลดความคิดเห็น