xs
xsm
sm
md
lg

ร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา เพิ่มความเสี่ยงของประชาชน

เผยแพร่:   โดย: นพ นรนารถ


มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 บัญญัติไว้ว่า...

บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการประกอบอาชีพ

การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย ที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงหรือเศรษฐกิจของประเทศ การแข่งขันอย่างเป็นธรรม การป้องกัน หรือขจัดการกีดกันหรือการผูกขาด การคุ้มครองผู้บริโภค การจัดระเบียบการประกอบอาชีพเพียงเท่าที่จำเป็น หรือเพื่อประโยชน์สาธารณะอย่างอื่น

การตรากฎหมายเพื่อจัดระเบียบการประกอบอาชีพตามวรรคสอง ต้องไม่มีลักษณะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือการก้าวก่ายการจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา

ที่ยกมาตรา 40 มาอ้างอิง ก็เพราะเกี่ยวโยงกับร่างพระราชบัญญัติ การอุดมศึกษา ที่เป็นกฎหมายจัดตั้งกระทรวงอุดมศึกษา วิจัย และนวัตกรรม 1 ใน 3 ฉบับที่กำลังเป็นปัญหาในขณะนี้ เพราะสมาพันธ์สภาวิชาชีพไม่เห็นด้วยกับมาตรา 64 ,65, 66 และมาตรา 48 ของร่างกฎหมายฉบับนี้

มาตรา 64 ,65 และ 66 เป็นเรื่องห้ามไม่ให้สภาวิชาชีพ มีอำนาจในการรับรองหรือกำหนดจัดการเรียนการสอนในสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับสถาบันวิชาชีพนั้นของสถาบันอุดมศึกษา และไม่ให้ออกข้อบังคับหรือหลักเกณฑ์ เพื่อจัดระเบียบประกอบอาชีพ ทำได้เพียงจัดประเมินความรู้และทักษะในการประกอบวิชาชีพนั้น แก่ผู้สำเร็จการศึกษาเพื่อประกอบอาชีพ ที่สภาวิชาชีพนั้นควบคุมอยู่ ซึ่งหมายถึงการสอบขึ้นทะเบียนเป็นผู้ประกอบวิชาชีพ

มาตรา 48 ให้สถาบันอุดมศึกษาประกอบอาชีพให้บริการทางวิชาการ รับจ้างวิจัยเป็นที่ปรึกษาได้

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธานคณะกรรมการกฤษฎีกา คณะพิเศษเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ กับร่างกฎหมายอีก 2 ฉบับ บอกสมาพันธ์วิชาชีพให้ไปอ่าน มาตรา 40 ของรัฐธรรมนูญด้วย

นายบวรศักดิ์ คงต้องการบอกว่า ทั้ง 4 มาตราที่สมาพันธ์วิชาชีพต้องการให้ตัดออกจากร่าง พ.ร.บ.นี้เป็นไปตามวรรค 3 ของมาตรา 40 ระบุว่า การออกกฎหมายเพื่อจัดระเบียบวิชาชีพใด ห้ามเลือกปฏิบัติ หรือ “ก้าวก่าย” การจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา

อะไรคือ การก้าวก่าย การจัดการศึกษาของสถาบันการศึกษา

หลายๆ ปีที่ผ่านมา ในยุคที่ธุรกิจอุดมศึกษาเฟื่องฟู เกิดมหาวิทยาลัยใหม่ๆ มากมาย แต่ละมหาวิทยาลัยพากันเปิดสาขาวิชาต่างๆ รับสมัครผู้เข้ามาเรียน ในขณะเดียวกัน มีข่าวปรากฏอยู่เนืองๆ ว่า สภาพยาบาล สภาทันตแพทย์ คุรุสภา ฯลฯ ไม่รับรองหลักสูตรที่มหาวิทยาลัยบางแห่งจัดการเรียนการสอน เพราะรับนักศึกษาเกินกว่าที่แจ้งไว้ในแผน เช่น แจ้งไว้ 500 คนแต่รับ 2,500 คน หรือไม่รับรองเพราะ หลักสูตรไม่มีรายวิชาที่สำคัญ ไม่มีอาจารย์สอน

ผลกระทบเกิดขึ้นกับนักศึกษาที่เสียเวลา เสียเงินเรียนไปแล้ว หางานทำไม่ได้ เพราะสภาวิชาชีพไม่รับรองหลักสูตร แต่มหาวิทยาลัยเปิดสอนไปก่อนแล้ว ผลกระทบเกิดขึ้นกับมหาวิทยาลัย เสียชื่อเสียง ไม่มีใครมาสมัครเรียนอีกต่อไป กระทบกับรายได้ของธุรกิจมหาวิทยาลัย

มาตรา 64 ,65 และ 66 ของร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา คือการกันสภาวิชาชีพออกไปไม่ให้มายุ่งเกี่ยวกับการจัดหลักสูตรวิชาชีพของมหาวิทยาลัย ทำได้เพียงให้ความเห็น แต่ไม่มีอำนาจรับรองหรือไม่รับรอง และให้มีหน้าที่สอบขึ้นทะเบียนผู้ที่จบการศึกษาแล้ว

โดยนัยแห่ง 3 มาตรานี้ แพทยสภาไม่มีอำนาจรับรองหลักสูตรแพทยศาสตร์บัณฑิต มหาวิทยาลัย ก ข ค ง สามารถรับสมัครนักศึกษาแพทย์ได้ นักศึกษาเรียนจบแล้ว ก่อนไปประกอบอาชีพ ต้องไปสอบขึ้นทะเบียนกับแพทยสภา

คุรุสภาไม่มีอำนาจตรวจสอบหลักสูตรครู หรือบริหารการศึกษา มีหน้าที่รับสอบขึ้นทะเบียนครูเท่านั้น

สภาวิศวกรไม่มีอำนาจรับรองหลักสูตรวิศวกรรมศาสตร์ของมหาวิทยาลัยใดๆ จะตรวจสอบว่า บัณฑิตวิศวะที่จบมา มีคุณภาพที่จะควบคุมการก่อสร้างให้ปลอดภัย ได้มาตรฐานหรือไม่ ก็ต่อเมื่อบัณฑิตเหล่านั้น เรียนจบแล้ว มาขอสอบขึ้นทะเบียน

ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบ ในกรณีที่นักศึกษาแพทย์ นักเรียนครู บัณฑิต วิศวะ สอบขึ้นทะเบียนไม่ผ่าน ไม่มีใบอนุญาตไปประกอบอาชีพ ใครจะเป็นผู้รับผิดชอบกับเงินทองเวลาที่เสียไป

นี่คือความเสี่ยงที่ประชาชนต้องเผชิญกับผลที่จะเกิดขึ้นจากร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษานี้ จะส่งลูกหลานไปเรียนที่ไหนต้องคิดหนักว่า เรียนจบแล้วจะได้ขึ้นทะเบียนเป็นหมอ เป็นครู เป็นพยาบาล เป็นผู้สอบบัญชีหรือไม่

เพราะวิชาชีพเหล่านี้เป็นอาชีพที่มีผลต่อความปลอดภัยในชีวิต ทรัพย์สินของประชาชน จึงมีความจำเป็นที่สภาวิชาชีพจะต้องมีส่วนร่วมในการกำหนดหลักสูตร รับรองหลักสูตรตั้งแต่ต้น ไม่ใช่แค่รับรองคุณสมบัติมาตรฐานหลังจบการศึกษา ซึ่งแก้ไขอะไรไม่ได้ เพราะนักศึกษาจบออกมาแล้ว

นี่คือความเสี่ยงของประชาชน หากร่าง พ.ร.บ.นี้บังคับใช้ เพราะไม่มีหลักประกันว่า แพทย์ พยาบาล วิศวกร นักบัญชี ที่มหาวิทยาลัยนั้นๆ ผลิตออกมา มีคุณภาพได้มาตรฐานไหม จะเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือพิการไหม ถ้าไปรักษากับหมอเหล่านั้น

การที่สภาวิชาชีพทั้ง 11 แห่งคัดค้านร่าง พ.ร.บ.ใน 3 มาตรานี้ ไม่น่าจะเป็นการก้าวก่ายหรือหวงอำนาจ แต่เป็นการร่วมมือกับมหาวิทยาลัย สร้างหลักสูตร สร้างนักศึกษาที่มีคุณภาพเป็นหลักประกันว่า เมื่อเรียนจบออกมาแล้ว จะทำงานได้อย่างมีมาตรฐานวิชาชีพ ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาที่ไม่สูญเปล่า ได้รับการบริการที่ปลอดภัย เชื่อถือได้

แต่ในยุคที่มหาวิทยาลัยในภาพรวมไม่เจาะจงที่หนึ่งที่ใด กำลังประสบปัญหา ขายไม่ออก เพราะจำนวนผู้เรียนลดลง และที่ผ่านมา คุณภาพบัณฑิตที่ผลิตออกมา ไม่ได้รับการยอมรับ บริษัทหลายๆ แห่งมีนโยบายภายในว่า จะไม่รับผู้ที่จบการศึกษาจากสถาบันนั้นๆ ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงต้องการอิสระในการเปิดสาขาวิชาที่คิดว่าเป็นที่ต้องการของตลาด เพื่อดึงดูดให้มีผู้สมัครเรียน เช่น วิศวะ พยาบาล นักบัญชี ทันตแพทย์ ฯลฯ ไม่ต้องการถูกตรวจสอบคุณภาพจากสภาวิชาชีพ ดังที่ผ่านมา

ล่าสุด มีรายงานข่าวว่าร่าง พ.ร.บ.การอุดมศึกษา ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ คณะรัฐมนตรีไปเมื่อวันที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยไม่มีการรับฟังความเห็นจากฝ่ายที่มีส่วนได้ส่วนเสียแต่อย่างใด จะถูกนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง ในวันที่ 11 กันยายนนี้ โดยอาจจะตัดมาตราที่สภาวิชาชีพคัคค้านออก แต่จะใส่กลับเข้าไปใหม่ เมื่อร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่สภานิติบัญญัติแห่งชาติ


กำลังโหลดความคิดเห็น