"ฝั่งขวาเจ้าพระยา"
"โชกุน"
หนึ่งในข้อเรียกร้องของนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน สายพลังงาน ที่เสนอต่อรัฐบาลมาโดยต่อเนื่องนานหลายปี คือ ให้ยุบกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงเสีย เพราะราคาน้ำมันบ้านเรา ลอยตัวตามกลไก ตลาดมานานแล้ว รัฐไม่ต้องเอาเงินกองทุนไปตรึงราคาน้ำมันแล้ว ยุบทิ้งเสียเถิด ราคาน้ำมันจะได้ถูกลง
รัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยหาเสียงว่า จะกระชากค่าครองชีพ ของประชาชน ด้วยการยกเลิก กองทุนน้ำมัน แต่พอได้เป็นรัฐบาลแล้ว ไม่กล้ายุบกองทุนน้ำมัน และใช้วิธีแก้ผ้าเอาหน้ารอด ไม่ให้ถูกตราหน้าว่า ตระบัดสัตย์ ทำให้ราคาน้ำมันดีเซล ถูกลง สวนทางกับราคาตลาดโลก ด้วยการ “ งด” เก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมัน ช่วงสั้นๆ เพียง สี่เดือน ทำให้ ราคาน้ำมันดีเซลถูกตรึงอยู่ที่ ลิตรละ 27 บาท พอพ้นสี่เดือน กลับมาเก็บเงินเข้ากองทุน ราคาพุ่งขึ้นไปถึง 32 บาทต่อลิตร แต่เงินกองทุนหายเกลี้ยง จนติดลบ มากถึง 23 ,000 ล้านบาท เพราะมีแต่เงินไหลออก เพื่อไปชดเชยราคาน้ำมัน ไม่ให้ขึ้นตามราคาตลาดโลก ขณะที่เงินไหลเข้าไม่มี เพราะงดเก็บเงินเข้ากองทุนชั่วคราว 4 เดือน ชดเชยนโยบายที่หาเสียงไว้ แต่ไม่กล้าทำ คือ เลิกกองทุนน้ำมัน
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คือเครื่องมือของรัฐ ที่ช่วยลดผลกระทบ ต่อประชาชน ในยามที่ราคาน้ำมันราคาตลาดโลก ปรับตัวสูงขึ้น โดยใช้เงินกองทุนจ่ายชดเชย ราคาบางส่วนให้กับผู้ค้าน้ำมัน เพื่อตรึงราคาน้ำมันไว้ชั่วคราว เมื่อราคาน้ำมันตลาดโลกลดลง จนไม่ต้องชดเชยราคาขายปลีก เงินที่เคยจ่ายเพื่อชดเชย ก็จะถูกเก็บไง้ในกองทุน เป็นทุนไว้ใช้รับมือกับภาวะน้ำมันแพงรอบใหม่
ถ้าจ่ายชดเชยจนเงินกองทุนหมดแล้ว ราคาน้ำมันยังสูงอยู่ ก็ต้องหาวิธีอื่น เพือตรึงราคา เช่น ลดภาษี สรรพสามิต หรือกู้เงินมาอุดหนุนราคาน้ำมัน
ในสถานการณ์ที่ราคาน้ำมันลดลง หรือทรงตัว บทบาทความสำคัญของกองทุนน้ำมัน ในฐานะเครื่องมือ ช่วยบางเบาภาระค่าครองชีพของประชาชน มักจะไม่ค่อยมีใครเห็น มิหนำซ้ำ กลับถูกมองว่า การเก็บเงินเข้ากองทุน ทำให้ราคาน้ำมันแพง ควรยุบกองทุนทิ้งเสีย เพื่อให้ประชาชนได้ใช้น้ำมันราคาถูกลง
ถ้าน้ำมัน มีแต่ขาลง ถูกลงๆ ไปเรื่อยๆ การยุบทิ้งกองทุนน้ำมันก็สมควร เพราะไม่มีความจำเป็นต้องชดเชยราคาน้ำมันอีกต่อไปแล้ว จะเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันไปทำไม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง น้ำมันคือ สินค้าโภคภัณฑ์ชนิดหนึ่ง มีขึ้นมีลง หากประชาชนยังไม่พร้อมรับมือกับ ระบบราคา ขึ้นลงตามกลไกตลาดโดยเสรี รัฐยังต้องแทรกแซงราคา กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจึงยังคงมีความจำเป็นอยู่
ความจริง เงินที่ถูกบวกเข้าไปในราคาขายปลีกน้ำมัน เพื่อส่งเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ในช่วงที่ผ่านมา สำหรับน้ำมันแก๊สโซฮอล์ ซึ่งคนส่วนใหญ่ใช้กัน ถือว่า ต่ำมาก คือ ลิตรละ 35 สตางค์ น้ำมันดีเซลไม่ถูกเก็บ มีเพียง น้ำมันเบนซิน 95 ที่จัดเก็บในอัตราสูงคือลิตรละ 6.31 บาท เพราะถือว่าเป็นน้ำมันที่รัฐไม่ส่งเสริมให้ใช้ และมีทางเลือกอื่นที่ถูกกว่า คือ แก๊สโซฮอลล์
อย่างไรก็ตาม ล่าสุด คณะกรรมการนโยบายพลังงาน หรือ กบง. ปรับอัตราเรียกเก็บเงินเข้ากองทุน จากผู้ใข้น้ำมันแก๊สโซฮอลล์ จากลิตรละ 35 สตางค์ เป็น 72 สตางค์ และน้ำมันเบนซิน ลิตรละ 6.31 บาท เป็น 6.68 บาท เพื่อรักษาระดับเงินกองทุน ให้เพียงพอต่อ การอุดหนุน ราคาน้ำมันดีเซล บี 20 ที่ใช้สำหรับรถบรรทุกขนส่งสินค้า ให้มีราคาถูกกว่าน้ำมันดีเซลทั่วไปลิตรละ 3 บาท และตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่ให้เกินลิตรละ 30 บาท
เป็นการเก็บเงินจาก ผู้ใช้แก๊สโซฮอลล์ไปช่วยผู้ใช้น้ำมันดีเซล เพราะถือว่า น้ำมันดีเซล ใช้ในการขนส่งสินค้า เป็นส่วนใหญ่ ช่วยไม่ให้ประชาชนทั่วไป ได้รับผลกระทบจากต้นทุนค่าขนส่งที่สูงขึ้น
ในยามที่ราคาน้ำมันโลกปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง บทบาทของกองทุนน้ำมัน จะชัดขึ้นกว่าในสถาการณ์ปกติ ดังเช่น มติ ของ กบง. ล่าสุด ที่ให้ตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 30 บาทต่อลิตร และ แก๊ซหุงต้มในครัวเรือน ขนาดถังละ 15 กิดลกรัม ไม่เกินถังละ 363 บาท ไปจนถึงสิน้ปี ในสถาการณ์ที่ราคาน้ำมันดิบปรับตัวสูงขึ้น จาก 66-62 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล มาเป็น 77-78 บาร์เรล ในขณะนี้ โดยนำเงินกองทุนน้ำมันที่มีอยู่ กว่า 2 หมื่นล้านบาท มาใช้
กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ประกอบด้วยบัญชีแอลพีจี ซึ่งติดลบ 3,337 ล้านบาท เพราะมีแต่เงินไหลออกไปตรคงราคาแก๊ส และ บัญชีน้ำมันเงินไหลเข้า 26 ล้านบาทคต่อเดือน มีเงินในบัญชีน้ำมันรวมทั้งสิ้น 29,359 ล้านบาท หักลบกับบัญชีแอลพีจีท่ติดลบแล้ว กองทุนน้ำมัน มีเงินทุนสุทธิ 26,022 ล้านบาท
ถ้ายุบทิ้งกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ตามข้อเสนอของนักเคลื่อนไหวภาคประชาชน สายพลังงาน จะเอาเงินที่ไหนมาตรึงราคาน้ำมันดีเซล และแก๊สหุงต้ม ต้องปล่อยให้ขึ้นไปตามราคาในตลาดโลก ประชาชนก็จะเดือดร้อนจากค่าครองชีพ ที่สูงขึ้น
รู้หรือยัง ทำไมต้องมีกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ทำไมยุบทิ้งไม่ได้