xs
xsm
sm
md
lg

ลางร้าย ม.67 รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560

เผยแพร่:   โดย: อ.ณัฐพงษ์ นาคถ้ำ


รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 เป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดในยุคปัจจุบัน ประชาชนตั้งข้อสงสัย มาตรา 67 เกี่ยวกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนา หากเกิดปัญหารัฐจะแก้ไขปัญหาอย่างไร

ก่อนอื่นต้องยอมรับว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ฉบับนี้เป็นฉบับที่สมบูรณ์ที่สุดเท่าที่เคยมีมาในสังคมไทย มีการคงบทบัญญัติที่เป็นประโยชน์ต่อปวงชนชาวไทย และเพิ่มเติมในส่วนที่บกพร่องให้เกิดความสมบูรณ์เพื่ออุดช่องว่างของกฎหมาย เพื่อป้องกันการทุจริตของข้าราชการและนักการเมืองไทย และที่สำคัญที่สุดเพื่อความสงบสุขของประเทศชาติ ถึงแม้ว่ากลุ่มบุคคลที่เขียนรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะไม่ได้รับความเห็นชอบจากปวงชนชาวไทยด้วยการเลือกตั้งก็ตาม แต่กลุ่มบุคคลเหล่านี้มีประสงค์ดีต่อบ้านเมืองและต้องการจะเห็นประเทศไทยสงบสุข อีกทั้งเป็นการป้องกันความวุ่นวายที่กำลังจะเกิดขึ้นในขณะนั้น กล่าวได้ว่า “ทำแบบจำใจแต่ทำได้ไม่ติดขัด”

เมื่อกลุ่มบุคคลเหล่านี้ปฏิบัติการได้สำเร็จ ก็ประกาศยกเลิกรัฐธรรมนูญ พุทธศักราช 2550 ต่อมาได้เชิญชวนและสรรหาบุคคลผู้มีความรู้และความสามารถหลากหลายอาชีพมาบัญญัติรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เรียกว่า “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีอำนาจและหน้าที่บัญญัติธรรมนูญเพื่อให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และเพื่อให้เกิดความสอดคล้องกับสภาพสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เมื่อบัญญัติเสร็จเรียบร้อยแล้วก็ตราเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ เมื่อวันที่ 6 เมษายน 2561 เรื่องว่า “รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560” จะมีผลบังคับใช้ในลำดับต่อไปเมื่อมีการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย ดังนั้นทุกมาตรา ทุกบทบัญญัติมีความศักดิ์สิทธิกว่ากฎหมายอื่น ๆ รัฐและปวงชนชาวไทยจะต้องปฏิบัติตามพันธสัญญา โดยไม่มีข้อยกเว้นแต่ประการใด การบัญญัติรัฐธรรมนูญคราวนี้เรียกว่า “ราบรื่นไร้รอยตะเข็บ”

ทุกมาตรา ทุกบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ช่วยกันบัญญัติขึ้นนั้น ถือว่ามีความรอบคอบรัดกุมเพื่อป้องกันเหตุวุ่นวายต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต สมกับความตั้งใจของปวงชนชาวไทยที่รอคอยมานาน และมีความพร้อมที่จะบังคับใช้เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม แต่อย่างไรก็ตามรัฐธรรมนูญฉบับนี้มีอยู่มาตราหนึ่งที่ปวงชนชาวไทยอ่านแล้วเกิดความสงสัย เคลือบแคลง และหวาดระแวง คือ บทบัญญัติในหมวด 6 กล่าวถึงนโยบายแห่งรัฐ ในมาตรา 67 เกี่ยวกับการอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาที่บัญญัติเอาไว้ว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น (วรรค 2) ในการอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาอันเป็นศาสนาที่ประชาชนชาวไทยส่วนใหญ่นับถือมาช้านาน รัฐพึงส่งเสริมและสนับสนุนการศึกษาและการเผยแผ่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเถรวาท เพื่อให้เกิดการพัฒนาจิตใจและปัญญา และต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาไม่ว่าในรูปแบบใด และพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินมาตรการ หรือกลไกดังกล่าวด้วย” ในบทบัญญัติดังกล่าวนั้น ปวงชนชาวไทยได้ตั้งข้อสังเกตและตั้งคำถามไว้ดังต่อไปนี้

1.วรรคแรกที่บัญญัติว่า “รัฐพึงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่น” ข้อความนี้นักกฎหมายพออ่านปุ๊บก็ทราบได้ทันทีว่าเป็นสำนวนเนื้อความ ความจริงเป็นเนื้อความเดียวกับคำว่า รัฐพึงอุปถัมภ์และคุ้มครองศาสนาทุกศาสนา แต่ที่ระบุชื่อพระพุทธศาสนาก็เพื่อป้องกันชาวพุทธเรียกร้องพระพุทธศาสนาให้เป็นศาสนาประจำชาติ ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดความวุ่นวายต่อการปกครองในเวลานั้นได้ ประเด็นที่ตั้งคำถามก็คือ คำว่า รัฐจะพึงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาและศาสนาอื่นอย่างไร เพราะคำว่า “อุปถัมภ์” คำนี้ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า “อุปถัมภ์ หมายถึง การค้ำจุน, การค้ำชู, การสนับสนุนและการเลี้ยงดู” ปัญหาที่สำคัญก็คือ รัฐจะอุปถัมภ์ทุกศาสนาอย่างไรให้ยุติธรรม สมมุติว่า ในตำบลหนึ่งมีประชาชนชาวไทยอยู่ร่วมกันจำนวน 1,000 คน มีประชาชนที่นับถือพระพุทธศาสนาอยู่จำนวน 800 คนและมีวัดตั้งอยู่จำนวน 4 วัด มีประชาชนที่นับถือศาสนาอิสลามจำนวน 100 คนและมีมัสยิดตั้งอยู่จำนวน 1 มัสยิด และมีประชาชนที่นับถือศาสนาคริสต์อยู่จำนวน 100 คน มีโบสถ์คริสต์ตั้งอยู่จำนวน 1 โบสถ์ รัฐจัดเก็บภาษีจากประชาชนในพื้นที่ดังกล่าวเป็นจำนวนเงินคนละเท่า ๆ กัน รัฐมีนโยบายจะอุปถัมภ์ศาสนสถานทุก ๆ ศาสนา ด้วยการสนับสนุนการสร้างศาสนสถาน คำถามก็คือว่า รัฐจะแบ่งการอุปถัมภ์ศาสนาอย่างไรจึงจะมีความยุติธรรม กล่าวคือ 1) รัฐจะแบ่งการสนับสนุนด้วยจำนวนเงินในอัตราส่วนที่เท่ากัน โดยการนำเงินทั้งหมดมาแบ่ง 3 ส่วน ด้วยการนำเงินภาษีของประชาชนที่นับถือศาสนาที่มีจำนวนมากกว่าแบ่งเฉลี่ยแก่คนที่นับถือศาสนาที่น้อยกว่าอย่างละเท่ากันด้วยการหารสาม เช่น วัดพุทธ 1 ส่วน มัสยิด 1 ส่วน โบสถ์คริสต์ 1 ส่วน หรือ 2) รัฐจะแบ่งการสนับสนุนจำนวนเงินตามอัตราส่วนที่เก็บจากศาสนิกแล้วแบ่งอุปถัมภ์กลับไปตามจำนวนที่เก็บได้แต่ละศาสนิก เช่น เก็บภาษีจากประชาชนชาวพุทธเป็นจำนวนเงิน 800 บาท แบ่งการสนับสนุนให้กับวัดเป็นเงินจำนวน 800 บาท แบ่งการสนับสนุนให้กับศาสนาอิสลามไปเป็นเงินจำนวน 100 บาท และแบ่งการสนับสนุนให้ศาสนาคริสต์ไปเป็นเงินจำนวน 100 บาท เรื่องนี้รัฐบาลจะจัดการอย่างไร

2. วรรคสอง มีการบัญญัติเนื้อความเกี่ยวกับการอุปถัมภ์และการคุ้มครองพระพุทธศาสนาอย่างชัดเจน โดยบัญญัติคำว่าเถรวาทตบท้ายเอาไว้ พร้อมทั้งบอกเหตุผลแห่งการอุปถัมภ์และการคุ้มครองพระพุทธศาสนาเอาไว้ด้วย โดยไม่มีการบัญญัติว่า จะอุปถัมภ์และคุ้มครองพระพุทธศาสนาในส่วนใด เป็นการบัญญัติเอาไว้อย่างกว้าง ๆ อย่าลืมว่าพระพุทธศาสนานั้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ส่วน คือ 1) ศาสนบุคคล 2) ศาสนธรรม 3) ศาสนวัตถุ แต่ถ้าตีความเหมารวมเอาทั้ง 3 ส่วนนี้เป็นส่วนเดียวกับพระพุทธศาสนาก็ไม่มีข้อสงสัยแต่ประการใด แต่ถ้ายกเอาประเด็นเฉพาะศาสนธรรมและศาสนาวัตถุเท่านั้นเรื่องนี้ก็น่าเป็นห่วงอยู่ เพราะตอนท้ายแห่งบทบัญญัติแห่งวรรค 2 ได้บัญญัติเอาไว้อย่างชัดเจนว่า “ต้องมีมาตรการและกลไกในการป้องกันมิให้มีการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในรูปแบบใดและพึงส่งเสริมให้พุทธศาสนิกชนมีส่วนร่วมในการดำเนินการหรือกลไกดังกล่าวด้วย” ประโยคที่ว่า บ่อนทำลายพระพุทธศาสนาในรูปแบบใดนี้เป็นประโยคที่น่าสนใจที่สุด เพราะคำว่า “บ่อนทำลาย” คำนี้ราชบัณฑิตยสถานได้ให้ความหมายเอาไว้ว่า “บ่อนทำลาย หมายถึง แทรกซึมเข้าไปทำลายอยู่ภายในทีละน้อย” เมื่อคำนี้ได้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ คำนี้ย่อมศักดิ์สิทธิ์และสามารถนำเอาไปบังคับใช้ได้ในเชิงกฎหมาย สมมุติว่า พระและชาวบ้านจำนวนหนึ่งต้องการจะรื้อกุฎีสงฆ์หลังเก่า ซึ่งเป็นศาสนวัตถุของวัด เพราะจะสร้างกุฎีสงฆ์หลังใหม่ให้ดูทันสมัยยิ่งขึ้น แต่พระและชาวบ้านอีกจำนวนหนึ่งไม่เห็นด้วย จะกล่าวหาได้หรือไม่ว่า “พระและชาวบ้านฝ่ายที่รื้อกุฎีสงฆ์เพื่อสร้างใหม่นั้นมีความผิดบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา” ข้อสงสัยดังกล่าวเทียบเคียงไปถึงการเผา ทำลายหนังสือหรือคัมภีร์เก่าทางพระพุทธศาสนาด้วย เรื่องนี้ใกล้เคียงกับเรื่องที่เคยผิดพลาดมาแล้วในกฎหมายลิขสิทธิ์ เมื่อคนเก็บขยะเก็บแผ่นซีดีละเมิดลิขสิทธิ์ได้จำนวนหนึ่ง แล้วนำเอาไปวางขายที่ตลาด โดยตัวเองไม่รู้ว่า แผ่นซีดีนั้นละเมิดลิขสิทธิ์ ต่อมาถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมดำเนินคดีในข้อหาละเมิดลิขสิทธิ์ ต้องถูกปรับเป็นจำนวนเงินถึงสองแสนบาท

ประเด็นข้อสงสัยเหล่านี้ปวงชนชาวไทยไม่ได้มองภาพลบต่อคณะผู้บัญญัติว่าเป็นความผิดพลาดแต่ประการใด เพียงแต่เป็นข้อสงสัยเชิงป้องกันเหตุวุ่นวายที่จะเกิดขึ้นในอนาคตว่า ถ้ามีกรณีอย่างนี้เกิดขึ้นในอนาคต ผู้บังคับใช้กฎหมายจะทำอย่างไร ตอนนี้ข้อสงสัยเหล่านี้ยังไม่ได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม แต่วันหนึ่งถ้ามีพวกหัวหมอใช้ช่องว่างของรัฐธรรมนูญเป็นเครื่องมือในการดำเนินการ ผู้บังคับใช้กฎหมายจะอุดช่องว่างอย่างไร บางครั้งการที่เราคิดป้องกันไว้แต่เนิ่น ๆ ก็จะดีกว่าต้องไปแก้ไขภายหลัง ดังคำกล่าวที่ว่า “ป้องกันเอาไว้ดีกว่าแก้ ถ้าแย่แล้วจะแก้ไม่ทัน” ประเด็นเหล่านี้ปวงชนชาวไทยจึงขอฝากเป็นข้อคิดกับผู้บัญญัติกฎหมายรัฐธรรมนูญ เพื่อหาหนทางป้องกันและการแก้ไข อย่าให้ปวงชนชาวไทยหลงผิดคิดว่า วรรคแรกบัญญัติเอาไว้เพื่อเอาเปรียบศาสนาพุทธ วรรคสองบัญญัติเอาไว้เพื่อให้ชาวพุทธทะเลาะกันเอง บางครั้งการบัญญัติอะไรที่เปิดช่องว่างเอาไว้ มันก็คือลางร้ายดี ๆ นี้เอง


กำลังโหลดความคิดเห็น