xs
xsm
sm
md
lg

ทำไมเภสัชกรทั่วประเทศจึงลุกขึ้นมาต่อต้าน (ร่าง) พ.ร.บ.ยา ?

เผยแพร่:   โดย: สหายเภสัชกรท่านหนึ่ง

ภาพจากเฟซบุ๊กคณะเภสัชศาสตร์ มช.
ทันที่เนื้อหาสาระของ พ.ร.บ.ยา ฉบับใหม่ (ที่กำลังจะถูกตั้งชื่ออย่างไม่เป็นทางการว่าฉบับลับ ลวง พราง) ถูกปล่อยออกมา กระแสต่อต้านจากภาคส่วนต่าง ๆ โดยเฉพาะกลุ่มเภสัชกรก็เกิดขึ้น จนกระทั่งกลายเป็นดราม่าว่า ที่ต้องต้านเพราะกลัวว่าใคร ๆ ก็สามารถขายยาได้ และเกรงว่าจะไม่มีคนเรียนเภสัชฯ

แต่ถ้าทำการวิเคราะห์เนื้อหาของ พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้อย่างลึกซึ้ง จะพบว่ามีเนื้อหาที่เป็นอันตรายต่อสวัสดิภาพของคนไทยอย่างมากถึงมากที่สุดจนต้องตอบต่อสังคมดังนี้

1. ทำไมประชาชนจึงควรรับยาจากมือเภสัชกร ไม่ใช่จากสายวิชาชีพแพทย์อื่น ๆ ?

เพราะการรับบริการด้านยาจากเภสัชกรมีหลักประกันทางด้านความปลอดภัยและพิทักษ์สิทธิของผู้บริโภคเป็นการเฉพาะดังนี้


1.1.หลักสูตรเภสัชศาสตรบัณฑิตเรียนเรื่องยาถึง 6 ปี มีหน่วยกิตไม่น้อยกว่า 220 หน่วยกิต และนอกจากการเรียนและการสอบตามระบบปกติแล้ว ยังจะต้องมีการสอบเพื่อรับใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมถึง 2 ครั้ง คือหลังจากเรียนชั้นปีที่ 4 และชั้นปีที่ 6 โดยใช้ข้อสอบมาตรฐานกลางของทั้งประเทศ เพื่อคัดกรองผู้ที่จะเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ให้มีความรู้ด้านยาและสุขภาพที่ถูกต้อง เพียงพอต่อการดูแลสุขภาพความปลอดภัยของสังคม

1.2 แม้ว่าจะได้ใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมแล้ว สภาเภสัชกรรมยังกำหนดให้ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องพัฒนาและติดตามความรู้ด้านยาและสุขภาพอย่างทันสมัยและต่อเนื่อง เพื่อต่ออายุใบอนุญาต เป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมทุก ๆ 5 ปีอีกด้วย

1.3 ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจะถูก พ.ร.บ.ยา ควบคุมอย่างชัดเจนและเข้มงวด ในขณะที่ผู้ประกอบวิชาชีพอื่นที่กฎหมายยกเว้นให้สามารถประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้นั้น กลับไม่ต้องถูกควบคุมเข้มงวดเท่ากับเภสัชกร ทำให้มาตรฐานของการจัดการยาจึงแตกต่างกัน

1.4 กฏแห่งการเป็นเภสัชกรนี้ หากฝ่าฝืนไม่รักษามาตรฐานทางวิชาชีพเภสัชกรรมจะมีบทลงโทษนอกเหนือจากบทลงโทษทางกฎหมายอีกด้วย ด้วยจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพเภสัชกรรมทำให้เภสัชกรต้องระมัดระวังในการรักษามาตรฐานการประกอบวิชาชีพมากยิ่งขึ้น

จะเห็นได้ว่า กว่าที่จะมาเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้นั้น เภสัชกรต้องเรียน ฝึกฝน และผ่านด่านการสอบใบประกอบวิชาชีพ และจะต้องพัฒนาตนเองด้านยาอย่างสม่ำเสมอ โดยวางอยู่บนแนวคิดความปลอดภัยและสวัสดิภาพของประชาชนเป็นสำคัญ ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.ยาใหม่ มาตรฐานเหล่านี้ไม่ได้บังคับใช้กับวิชาชีพทางการแพทย์อื่น ๆ ที่เข้ามาทำหน้าที่แทนเภสัชกร
ภาพจากเฟซบุ๊กคณะเภสัชศาสตร์ มช.
2. เหตุใดการจัดทำร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. .... ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรี และสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ตราเป็นกฎหมายออกบังคับใช้ต่อไปนั้น จึงไม่ชอบธรรม และไม่เป็นไปตามระบบสากลของโลก ?

2.1 การกำหนดประเภทยาใน พ.ร.บ.นี้ ไม่เป็นไปตามหลักสากล ซึ่งต้องกำหนดแบ่งประเภทยาเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ ยาที่จ่ายตามใบสั่งยา (Prescription only) ยาที่จ่ายโดยเภสัชกร (Pharmacist only) และยาที่ประชาชนเลือกใช้เอง (Self-medication) แต่ พ.ร.บ.ฉบับนี้กลับไม่เป็นไปตามสากล รวมถึงการนิยามยาสามัญประจำบ้านอย่างกว้าง ๆ ไม่ชัดเจน ซึ่งจะทำให้มียาที่ไม่เหมาะสมเป็นอันตรายต่อประชาชนในชุมชนเพิ่มมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบันปัญหาการใช้ยาไม่เหมาะสม เป็นปัญหาระดับชาติที่สำคัญอยู่แล้ว

2.2 การยกเว้นให้ผู้ที่ไม่ใช่ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสามารถทำการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้ ในมาตรา 22 แต่เดิมยกเว้นเฉพาะแพทย์ ทันตแพทย์ และสัตวแพทย์ ในกรณีการจ่ายยาสำหรับผู้ป่วยเฉพาะรายของตนเท่านั้น ซึ่ง “ขัดแย้ง”กับ “หลักความปลอดภัยในการใช้ยาให้กับผู้ป่วยในระบบสากล” ที่กำหนดให้แพทย์เป็นผู้วินิจฉัยโรคและสั่งการรักษา และเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาและให้คำแนะนำแก่ผู้ป่วย แต่ ร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้กลับยิ่งเปิดช่องว่างให้ผู้ประกอบวิชาชีพอื่น ๆ นอกเหนือจากสามวิชาชีพข้างต้นสามารถจ่ายยา ซึ่งจะทำให้ปัญหาด้านยา เช่น ปัญหาการใช้ยาปฏิชีวนะอย่างไม่เหมาะสมทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น นำไปสู่ปัญหาเชื้อดื้อยา ส่งผลต่อสวัสดิภาพของคนในประเทศอย่างแน่นอน ซึ่งเป็นปัญหาสำคัญทั้งในระดับชาติและระดับโลกในปัจจุบัน

2.3 สาระสำคัญอีกประการของ ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับนี้คือ การลดระดับการควบคุมการโฆษณายา ซึ่ง พ.ร.บ.ยา ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันกำหนดให้การโฆษณายาจะต้องขออนุญาตก่อนจึงจะทำการโฆษณาได้ แต่ในร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่ที่มุ่งอำนวยความสะดวกให้กับผู้ประกอบการจนละเลยความปลอดภัยด้านยาของประชาชน แถมยังลดระดับการควบคุมการโฆษณายาให้เหลือเพียงการจดแจ้งเท่านั้น ซึ่งจะให้การโฆษณายาต่อประชาชนทำได้ง่ายขึ้น ขณะที่การกำกับ ควบคุม ติดตาม ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร จึงเป็นเรื่องชวนหลอนว่า ขนาดในปัจจุบันที่กำหนดให้ต้องขออนุญาตยังมีการโฆษณายาและเครื่องสำอางที่ผิดกฎหมายกันมากมาย ถ้าร่าง พ.ร.บ.ยา ฉบับนี้ออกมาจะยิ่งมีผลต่อชีวิตและสวัสดิภาพของประชาชนอย่างไร

การออกมากล่าวอ้างว่า ร่าง พ.ร.บ.ยาฉบับใหม่จะทำให้คนเข้าถึงยาได้มากขึ้น จึงเป็นเรื่องที่ตรงกันข้าม เพราะการเข้าถึงยาได้ง่ายขึ้นในขณะที่ไม่ได้รับการดูแลจากผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านยา ยิ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการได้รับยาที่ไม่สมเหตุผล ไม่ปลอดภัย และเจ็บป่วยรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แท้ที่จริงอาจจะเป็นเพียงการกรุยทางให้ผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ากอบโกยผลประโยชน์ และรุกคืบเข้าไปควบคุมวงการยาและสุขภาพเท่านั้น นอกจากนี้ก็ดูเหมือนจะไม่มีประโยชน์อะไรเลยกับองคาพยพที่เหลือกับประเทศแห่งนี้

จาก สหายเภสัชกรท่านหนึ่ง



กำลังโหลดความคิดเห็น