xs
xsm
sm
md
lg

มาเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็น LED กันเถอะ ด่วน!

เผยแพร่:   โดย: ประสาท มีแต้ม

เมื่อ 4 ปีที่แล้วผมได้อ่านรายงานเรื่อง “ปฏิวัติ...เดี๋ยวนี้:อนาคตมาถึงแล้วสำหรับ 5 เทคโนโลยีพลังงานสะอาด” ซึ่งเป็นรายงานของกรมพลังงาน สหรัฐอเมริกา หนึ่งในเทคโนโลยีดังกล่าวก็คือ หลอดไฟ LED (Light Emitting Diodes) ซึ่งนอกจากจะเป็นหลอดประหยัดพลังงานแล้ว ยังมีอายุการใช้งานที่นานกว่าหลอดชนิดอื่นหลายเท่าตัว โดยในช่วง 6 ปี (2008-2014) ราคาได้ลดลงถึง 15 เท่าตัว และในปี 2014 จำนวนการใช้หลอด LED สะสมในสหรัฐอเมริกาได้เพิ่มขึ้นถึงเกือบ 80 ล้านหลอด เพิ่มขึ้นจากปีก่อนนั้นเกิน 100% (ดูภาพประกอบ)

เรื่องอายุการใช้งานได้นานของหลอด LED นั้น องค์กรที่เคลื่อนไหวด้านพลังงานหมุนเวียนแห่งหนึ่งได้เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ ว่า “ถ้าสามี-ภรรยาคู่หนึ่งซื้อหลอด LED ในวันแต่งงาน จะใช้ได้นานถึงวันที่ลูกคนแรกรับปริญญา”

หลายคนอาจจะไม่เชื่อในข้อความดังกล่าว แต่เมื่อลองคิดคำนวณดูตามข้อมูลที่เขาระบุไว้ข้างกล่องว่ามีอายุการใช้งาน 25,000 ชั่วโมง (บางยี่ห้อนานกว่านี้) ถ้าใช้วันละ 3 ชั่วโมง ก็จะใช้ได้นานถึงเกือบ 23 ปี พอๆ กับวันที่ลูกรับปริญญาตามที่เขาคุยไว้(หมายเหตุ หลอดนีออน (Fluorescent) ในห้องนั่งดูทีวีที่บ้านผมเอง สามารถใช้งานได้นานกว่า 8 ปี ซึ่งเอกสารวิชาการบางชิ้นระบุว่าสามารถใช้งานได้ 8,000 ชั่วโมง ที่บ้านผมใช้ได้นานกว่าที่ระบุ แต่บางหลอดก็ไม่นานเท่านี้ครับ)

ที่ผมได้เล่ามาแล้วเป็นเรื่องทั้งในเชิงทฤษฎีและการปฏิบัติจริง แต่เรื่องที่จะเล่าต่อไปนี้เป็นเรื่องที่น่าสนใจกว่ามาก คือการนำหลอด LED มาใช้กับไฟถนนซึ่งจะถึงจุดคุ้มทุนได้ตั้งแต่ยังไม่ครบหนึ่งปี

ผมได้มีโอกาสสอบถามจากผู้จัดการและช่างประจำนิติบุคคลหมู่บ้านแห่งหนึ่งซึ่งมีเสาไฟฟ้าจำนวน 281 ต้น ได้ความว่าในการเปลี่ยนหลอดไฟถนนแต่ละหลอด จะต้องเสียค่าแรงประมาณ 300 บาทต่อหลอด เพราะต้องใช้รถกระเช้าซึ่งต้องจ้างจากภายนอกและต้องเปลี่ยนครั้งละอย่างน้อยประมาณ 10 เสา

ดังนั้น ถ้าเราใช้หลอดที่มีอายุการใช้งานได้นานๆ นอกจากจะประหยัดค่าไฟฟ้าแล้ว ยังสามารถประหยัดค่าแรงในการเปลี่ยนหลอดอีกด้วย

ผู้จัดการและช่างได้ให้ข้อมูลกับผมว่า หลอดไฟฟ้าบนถนนบางส่วนเป็นหลอดประเภทนีออน (ผมเข้าใจว่าอย่างนั้นนะครับ) และบางส่วนได้ทยอยเปลี่ยนเป็นหลอด LED ไปบ้างแล้ว โดยที่หลอด LED ขนาด 40 วัตต์ สามารถให้แสงสว่างได้ใกล้เคียงกับหลอดนีออนขนาด 110 วัตต์

ผมลองคำนวณเพื่อเปรียบเทียบ 2 สถานการณ์ ระหว่างการยังคงใช้หลอดนีออนขนาดหลอดละ 110 วัตต์ทั้งหมดต่อไป กับการเปลี่ยนเป็นหลอด LED ขนาด 40 วัตต์ใหม่ทั้งหมด พบว่า

(1) เมื่อสิ้นปีที่หนึ่ง การเปลี่ยนเป็นหลอด LED สามารถประหยัดเงินได้ 176,128 บาท เมื่อเทียบกับการใช้หลอดนีออนอย่างเดิม

(2) เมื่อสิ้นปีที่ 5 หรือการได้ใช้หลอด LED นาน 21,900 ชั่วโมง (เพราะไม่ค่อยเชื่อในคำโฆษณา) สามารถประหยัดเงินได้ 1.55 ล้านบาท (ดูตารางประกอบ)

นี่เป็นการคิดสำหรับไฟฟ้าบนถนนสำหรับหมู่บ้านแห่งหนึ่งจำนวน 281 ต้น (ซึ่งมีบ้านเดี่ยวประมาณ 700 หลัง) เท่านั้น ประเทศไทยเรามีกี่หมู่บ้าน มีกี่มหาวิทยาลัย มีกี่ค่ายทหาร และมีกี่เทศบาล ฯลฯ ผมว่ารวมกันแล้วน่าจะเกิน 10 ล้านต้นอย่างแน่นอนและด้วยเหตุที่ว่าเทคโนโลยีดังกล่าวเพิ่งเกิดขึ้นไม่นาน ผมจึงเชื่อว่าไฟบนถนนส่วนใหญ่ในประเทศไทยจึงยังคงใช้หลอดนีออนซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ล้าสมัยไปแล้ว

ถ้าเราช่วยกันเปลี่ยนทันทีจะสามารถประหยัดเงินได้ไม่ต่ำกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปียิ่งเปลี่ยนเร็วก็ยิ่งประหยัดได้มาก ดังนั้นจึงควรจะต้องรีบเปลี่ยนโดยด่วน

กรณีไฟฟ้าสำหรับแสงสว่างภายในอาคาร ผมยังไม่มีข้อมูลทั้งความสว่างและราคา แต่ก็เชื่อว่าสามารถคุ้มทุนอย่างแน่นอน เพราะเกือบไม่ต้องจ่ายค่าแรงในการเปลี่ยนหลอด

ขอกลับมาที่รายงานเรื่อง “ปฏิวัติ...เดี๋ยวนี้”ของสหรัฐอเมริกาอีกครั้งครับ

รายงานระบุว่าในปัจจุบัน (2557) หลอด LED มีการติดตั้งเพียง 2.4% ของจำนวนหลอดไฟฟ้าทั้งหมด แต่คาดว่าภายในปี 2030 จะมียอดขายประมาณ 80% ของหลอดไฟฟ้าทั้งหมด และจะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ปีละ 26,000 ล้านดอลลาร์ หรือ 8 แสนกว่าล้านบาท ในขณะที่พลังงานไฟฟ้าที่เกี่ยวกับแสงสว่างจะลดลงถึงครึ่งหนึ่ง นอกจากนี้ยังสามารถลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้อย่างก้าวกระโดด (หมายเหตุ เขาไม่ได้คิดเรื่องไฟฟ้าบนถนน)

อย่างไรก็ตาม รายงานฉบับนี้ยังได้ระบุว่า “การเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าถนนเป็นหลอด LED จะสามารถลดค่าพลังงานและค่าบำรุงรักษาของเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ”

สำหรับอีก 4 เทคโนโลยีที่เหลือก็คือ แผงโซลาร์เซลล์ รถยนต์ไฟฟ้า กังหันลม และแบตเตอรี่

ผมได้อ่านรายงานฉบับนี้ก็จากการอ้างอิงโดยศาสตราจารย์พอล ครุกแมน นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล จากบทความที่ชื่อว่า “การเยียวยาโลกมีต้นทุนถูกลง (Salvation Gets Cheap)” (17 เม.ย. 2557 ซึ่งในตอนนั้นรายงานดังกล่าวยังไม่ได้ปรับปรุง) นั่นคือการใช้พลังงานลมและแสงแดด

ในตอนหนึ่งท่านได้สารภาพว่า “ผมเคยคิดว่าแนวคิดที่จะใช้พลังงานลมและแสงแดดมาเป็นตัวหลักในการเยียวยาโลกเป็นเรื่องที่เพ้อฝันของพวกฮิปปี้ แต่ผมผิดไปแล้ว”

นี่ขนาดคนระดับศาสตราจารย์ผู้ได้รับรางวัลโนเบลซึ่งเป็นรางวัลระดับโลก ยังยอมรับสารภาพว่าตนตามโลกไม่ทัน เพราะโลกของเราก้าวหน้าเร็วมากครับ แต่เร็วแค่ไหนนั้นผมยังมีอีกภาพมาเสนอครับ หลายท่านคงจะจำได้ว่าข้อความในภาพนั้นมาจากเพลงที่โด่งดังไปทั่วโลกของ Bob Dylan เมื่อปี 1962 ซึ่งในวันนั้นคงหมายถึงความหวังลมๆ แล้งๆ แต่วันนี้มันเป็นไปแล้วครับ




กำลังโหลดความคิดเห็น