ณ บ้านพระอาทิตย์
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
นับว่าเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับประเทศไทยที่ กระทรวงสาธารณสุขในยุคนี้ซึ่งนอกจากแสดงความกล้าหาญในการยกเลิกไขมันทรานส์ ยังมีบทบาทอันสำคัญที่จะทำหน้าที่ประวัติศาสตร์ในการปลดล็อกกัญชาเพื่อให้ใช้ได้ในทางการแพทย์
ซึ่งขณะนี้อยู่ในมือของสภานิติบัญญัติแห่งชาติและคณะกรรมาธิการฯว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงประวัติศาสตร์ทางการสาธารณสุขได้มากน้อยเพียงใด?
โดยในขณะนี้ได้มีผู้ป่วยจำนวนมากแอบใช้กัญชาเพื่อรักษาโรคของตัวเองและคนในครอบครัว ทั้งๆที่ผู้ป่วยเหล่านี้ต่างก็มีความวิตกกังวลในคุณภาพของกัญชาที่แอบใช้กันอยู่ทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าจำเป็นต้องใช้ จำเป็นต้องซื้อเพราะดีกว่าไม่มีให้ใช้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มผู้ป่วยที่มีการแอบใช้กันมากที่สุดในเวลานี้คือ ”ผู้ป่วยโรคมะเร็ง” !!!!
ข่าวดีที่ผู้ป่วยได้รับข้อมูลจากการโลกสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่องว่า “มีผู้ป่วยโรคมะเร็งหายป่วยจากการใช้กัญชา” ซึ่งกลายเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งแอบใช้กัญชามากที่สุดอยู่ในขณะนี้
เพราะไม่ว่าสรรพคุณของกัญชาที่ว่า ทำให้นอนหลับ, ลดอาการปวด, ทำให้เจริญอาหาร, ทำให้ผ่อนคลายลดความเครียด สรรพคุณเหล่านี้อาจจะสามารถทดแทนด้วยยาอย่างอื่นได้
แต่ที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนมากที่ต้องมาแอบใช้กัญชา ถึงขั้นยอมเสี่ยงคดีอาญาหรือยอมเสี่ยงที่จะมีอาการต่อจิตประสาท หรือแม้แต่กล้าที่จะใช้ทั้งๆ ที่มีข้อสงสัยเรื่องคุณภาพของกัญชา เพราะผู้ป่วยโรคมะเร็งเหล่านั้นหวังผลไปไกลกว่านั้นคือเชื่อว่า “กัญชาจะช่วยรักษาโรคมะเร็ง”ได้
“ใช้น้อยไม่หาย ใช้มากไม่ตาย” คือคำเชิญชวนของพ่อค้าน้ำมันกัญชาสกัดรายใหญ่ที่สุดรายหนึ่งที่ขายใต้ดินกันอย่างเอิกเกริก เพราะถ้าผู้ป่วยใช้กัญชาตามคำเชิญชวนอย่างนั้นก็ยิ่งทำให้พ่อค้าน้ำมันกัญชาขายดีเป็นเทน้ำเทท่า ร่ำรวยกันอย่างมหาศาล
“น้ำมันกัญชา” ที่มีการแอบใช้ใต้ดินกันอยู่ในขณะนี้ คือการใช้กัญชาอัดแท่ง เอามาละลายสารสำคัญให้ออกมาด้วยเอธานอล 95%-98% แล้วกรองกากกัญชาออกไป จากนั้นก็ต้มแอลกอฮอล์ที่ละลายสารสำคัญของกัญชาออกมาด้วยหม้อหุงข้าวหรือดูดีขึ้นมาอีกนิดคือใช้หลอดแก้วทดลองต้มโดยใช้เตาไฟฟ้าหรือหม้อหุงข้าว เพื่อใช้ความร้อนเพื่อไล่แอลกออฮอล์ออกไปจนเกือบหมดจนเหลือเพียงน้ำมันสีดำ หลังจากนั้นของเหลวน้ำมันที่เหลืออยู่พอจะเทออกได้ ก็มีนำไปใส่ถ้วยเล็กๆ เพื่อไปไล่แอลกอฮอล์ขั้นสุดท้ายในเตาอุ่นถ้วยกาแฟ จนเหลือแต่น้ำมันเหนียวข้นคล้ายยางมะตอยในอุณหภูมิปกติ gมื่อจะนำมาใช้งานก็ต้องนำมาอุ่นอีกครั้งให้พอเหลวตัว และบางคนก็ผสมกับน้ำมันชนิดอื่น เช่นน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันมะกอกเพื่อให้เหลวตัวสะดวกในการใช้งาน
วิธีการนี้คนทั่วไปก็สามารถทำได้ไม่ยากเพียงแค่เปิดยูทูปทำตามเมื่อค้นคำว่า “Rick Simpson” (ริค ซิมสัน) ผู้จุดประกายให้คนทั่วไปสกัดกัญชาเองได้ง่ายและสะดวก ถ้าไม่ถูกจับกุมติดคุกติดตะรางไปเสียก่อนจากกลิ่นกัญชาที่คลุ้งตลบอบอวลไปทั่วระหว่างการสกัดเพื่อให้ได้น้ำมันกัญชาออกมา
สถานการณ์ของประเทไทยในเวลานี้พบว่ามีความต้องการใช้กัญชาในทางการแพทย์มากขึ้นนั้น ก็ยิ่งทำให้สารสกัดในน้ำมันกัญชามีไม่เพียงพอ และคุณภาพที่ได้ก็เจือจางลงไปมาก
พ่อค้าบางรายมีการใช้กากกัญชามาสกัดซ้ำหลายๆ รอบเพื่อประหยัดต้นทุน บางรายผสมน้ำมันมะพร้าวไปในสัดส่วนที่มากจนทำให้สารสำคัญยิ่งน้อยลงไปอีก ไม่ต้องพูดถึงการเร่งสกัดด้วยอุณหภูมิสูงๆหรือไม่ควบคุมอุณหภูมิ ซึ่งเป็นผลทำให้สารสำคัญหายไปกับแอลกอฮอล์ที่ระเหยออกไปด้วย
ที่กล่าวมาข้างต้นนี้ขอให้ผู้แอบใช้น้ำมันกัญชาทั้งหลายโปรดสังเกตผลิตภัณฑ์น้ำมันกัญชาที่แอบใช้กันอยู่ในขณะนี้ว่าเหลวตัวมาก ไม่เหนียวข้นเหมือนยางมะตอย และมีกลิ่นกัญชาเจือจางมาก
แต่ก็อีกนั่นแหละ เนื่องจากกัญชาเป็นสิ่งผิดกฎหมาย ผู้แอบใช้กัญชาส่วนใหญ่ไม่เคยเห็นของเปรียบเทียบว่าสินค้าที่มีคุณภาพนั่นเป็นอย่างไร ทำให้พ่อค้าขายน้ำมันกัญชาจะขายในราคาเท่าไหร่ก็ได้ เจือจางเท่าไหร่ก็ได้ สารสำคัญจะเหลือเท่าไหร่ก็ได้ และอาจมีการปนเปื้อนสิ่งแปลกปลอมอย่างอื่นได้ด้วย เนื่องจากกัญชาเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมายทั้งผู้ครอบครอง ผู้เสพ ดังนั้นจึงไม่มีองค์กรใดที่จะสามารถช่วยตรวจสอบคุณภาพกัญชาให้ผู้ป่วยได้เลย
นั่นหมายความว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งนอกจากจะต้องซื้อสารสกัดกัญชาที่แพงมหาศาลแล้ว ยังอาจได้ของคุณภาพต่ำด้วย และบางครั้งก็คิดว่าได้สินค้าราคาไม่แพงแต่น้ำมันกัญชาที่ได้กลับเจือจางมาก ทำให้ต้องใช้น้ำมันกัญชาในปริมาณที่มากกว่าคนอื่นทั้งโลก และนี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงได้ต้องเป็นสโลแกนของพ่อค้าขายน้ำมันกัญชาบางรายว่า “ใช้น้อยไม่หาย ใช้มากไม่ตาย”
อันที่จริงถ้าพ่อค้าน้ำมันกัญชาจะร่ำรวยมากเท่าไหร่ก็เรื่องหนึ่ง เพราะเป็นเรื่องความพึงพอใจของผู้แอบซื้อและผู้แอบขาย และเจ้าหน้าที่ตำรวจยุคนี้ก็มีมนุษยธรรมเพราะสงสารเห็นแก่ผู้ป่วยจึงไม่จับกุมปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ก็เพราะเชื่อว่าการใช้น้ำมันกัญชาอาจทำให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งหายป่วยได้จริง
แต่ข่าวร้ายที่ไม่ค่อยได้ยินความจริงอีกด้านหนึ่งคือ มีผู้ป่วยโรคมะเร็งที่แอบใช้ “น้ำมันกัญชา” เสียชีวิตไปแล้วจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งคนที่ใช้น้ำมันกัญชาเป็นยาเดี่ยวที่คิดว่าจะสามารถเป็นยารักษาโรคมะเร็งด้วยการใช้น้ำมันกัญชาเพียงอย่างเดียวโดยไม่ต้องทำอย่างอื่นเลย
เพราะแม้ว่าการทดลองในหลอดทดลองจะพบว่าสารสกัดของกัญชาจะสามารถทำให้เซลล์มะเร็งฝ่อตัวและตายได้ หรืออาจจะทำให้เกิดการยับยั้งการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็งในสัตว์ทดลองได้ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะสามารถนำมาใช้กับมนุษย์ได้เสมอไป เพราะผลข้างเคียงของสารสกัดกัญชานั้นกลายเป็นข้อจำกัดสำคัญที่จะนำมาใช้ในมนุษย์ได้
โดยเฉพาะฤทธิ์ของสาร THC ที่อยู่ในกัญชานั้นมีรายงานในประเทศสวิสเซอร์แลนด์ เมื่อปี พ.ศ. 2540 ว่ามีผู้ป่วย 4 รายได้รับผลร้ายในการออกฤทธิ์ทางจิตประสาท อีกทั้งยังทำให้เกิดความผิดปกติในระบบทางเดินอาหาร จากการรับประทานผักสลัดราดน้ำมันกัญชง ซึ่งมีสารออกฤทธิ์กลุ่มแคนนาบินอยด์กลุ่มเดียวกันกับกัญชา [1]
ผลข้างเคียงของสารแคนนาบินอยด์ในกัญชงและกัญชาเป็นตัวออกฤทธิ์นั้น ยังมีปรากฏในรายงานกรณีศึกษาด้านโรคมะเร็งในวารสาร Case Reports in Oncology เมื่อปี พ.ศ. 2556 ว่าเมื่อมีการใช้น้ำมันกัญชงในเด็กวัย 14 ปี ซึ่งป่วยเป็นมะเร็งเม็ดเลือดขาว ปรากฏว่าน้ำมันกัญชงสามารถทำให้โรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวลดลงได้อย่างมีนัยะสำคัญ แต่ในท้ายที่สุดเด็กคนดังกล่าวนี้กลับเสียชีวิต ด้วยภาวะทางเดินอาหารทะลุ (bowel perforation) [2], [3]
ทั้งนี้ สารในกลุ่มแคนนาบินอยด์ที่มีทั้งในกัญชาและกัญชงมีผลข้างเคียงอยู่หลายประการ ได้แก่ ทำให้หัวใจเต้นเร็ว ความดันโลหิตตก ตาแดง หลอดลมขยายตัว กล้ามเนื้อคลายตัว [4] [5] และโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่มองข้ามไม่ได้เลยคือผลข้างเคียงทำให้“ลดการเคลื่อนไหวของทางเดินอาหาร” [6]
ดังนั้นประโยคที่ว่าน้ำมันกัญชา “ใช้มากไม่ตาย”นั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องจริงเสมอไป !!!
อย่างไรก็ตามผู้ป่วยที่หายป่วยจากโรคมะเร็งโดยใช้น้ำมันกัญชานั้นก็มีอยู่จริงในโลกใบนี้ แต่คนเหล่านั้นเกือบทั้งหมดผ่านกระบวนการรักษาอย่างอื่นมาแล้ว หรือไม่ก็มีการบูรณาการหลายศาสตร์เข้ามาร่วมในการรักษาด้วย
ผู้ป่วยโรคมะเร็งจำนวนหนึ่งที่ผ่านการคีโมบำบัดแล้วเมื่อใช้สารสกัดกัญชาก็มีอาการดีขึ้น ลดการอาเจียน ลดอาการปวด รับประทานอาหารได้ นอนหลับ ลดความเครียด เมื่ออาการเหล่านี้ลดลงจึงทำให้หายป่วยได้
ผู้ป่วยโรคมะเร็งอีกจำนวนหนึ่งที่ตัดสินใจใช้แพทย์ทางเลือก ที่ใช้การบูรณาการอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างรวมกัน ทั้งการล้างพิษ, ควบคุมอาหาร, ใช้สมุนไพรอย่างอื่นร่วมด้วย เมื่อใช้กัญชาก็ทำให้เจริญอาหาร ลดอาการปวด ลดความเครียด จึงทำให้ประสิทธิภาพในการรักษาดีขึ้น
ยกเว้นกรณีของโรคมะเร็งสมองที่ดูเหมือนจะมีข่าวดีจากกรณีศึกษาว่าสารสกัดจากกัญชามีโอกาสที่จะช่วยลดมะเร็งสมองได้ก้าวหน้ามากกว่าโรคมะเร็งชนิดอื่นในขณะนี้ [7], [8]
แต่เฉพาะสรรพคุณยาในยุคปัจจุบันที่มีการจดสิทธิบัตรว่าสารสำคัญในกัญชาว่าช่วยลดอาการปวด, ทำให้นอนหลับ, เจริญอาหาร, ลดอาการเครียด, ฯลฯ สรรพคุณเหล่านี้เป็นสิ่งที่ชาวเอเชียซึ่งเป็นต้นกำเนิดในการใช้กัญชานั้นรู้มานานมากแล้วนับหลายพันปี ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไรเลย
ดูตัวอย่างของศัพท์คำว่า “กัญชา” ของไทยนั้นเดิมสะกดว่า “กันชา” ซึ่งอ่านออกเป็นภาษาอังกฤษแบบเดียวกันว่า “Ganja” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากภาษาสันสกฤตของประเทศอินเดีย โดยคำว่ากัน (Gan) แปลว่าความคิดหรือจินตนาการ และคำว่าชา (Jaa) มีความหมายว่าการเกิด ผลผลิต รวมความแล้วกันชามีความหมายว่า “ความคิดหรือจินตนาการกว้างไกล”
ทั้งนี้การใช้กัญชาในทางการแพทย์จากอายุรเวทของอินเดียเมื่อ 3,000-4,000 ปีที่แล้ว ตกทอดและพัฒนามาจนเป็นตำรับยาในแพทย์แผนไทยมาถึงปัจจุบัน
แม้แต่คำว่า “กะหรี่กัญชา” ซึ่งคนไทยนำมาใช้เรียกดอกตัวเมียกัญชานั้น แท้ที่จริงก็มาจากรากศัพท์คำว่า กะหรี่ (Curry) ก็มาจากประเทศอินเดียที่แปลว่า “แกง” หรือ แกงกะหรี่เพราะชาวอินเดียนำกัญชามาใช้ใส่แกงกระหรี่เพื่อทำให้รสชาติดีขึ้น [9] ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการใช้ดอกกัญชาจะใช้คู่กับเครื่องเทศในแกงของอินเดีย
สอดคล้องกับการใช้กัญชาเป็นส่วนหนึ่งของยาตำรับของการแพทย์แผนไทย ซึ่งลักษณะตำรับยานี้จะมีสมุนไพรหลายชนิดมาผสมร่วมด้วยเพื่อลดฤทธิ์อันเป็นผลเสียของกัญชาได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตำรับยาที่เข้ากัญชานั้น ไม่ได้มีการสกัดสารสำคัญออกมาเหมือนยาในยุคปัจจุบัน ผลข้างเคียงจึงไม่รุนแรงเหมือนยาที่ออกมาในรูปของสารสกัดกัญชาที่เป็นยาเดี่ยว
แต่ข้อเด่นของยาที่ได้จากการสกัดสารกัญชาเป็นยาเดี่ยวในยุคปัจจุบัน คือสามารถกำหนดปริมาณยาของสารสำคัญได้ และมีผลงานวิจัยในหลอดทดลองมากขึ้นว่าสาร THC และ CBD มีส่วนช่วยทำให้เกิดการต้านการสร้างหลอดเลือดใหม่ของเซลล์มะเร็งหลายชนิด และทำให้เซลล์มะเร็งบางชนิดฝ่อตายได้ ซึ่งถ้าไม่สกัดออกมาได้สารสำคัญอันเข้มข้นก็ไม่มีทางจะรู้ความลับในเรื่องนี้ได้
โดยเฉพาะงานวิจัยที่ทุกคนควรจับตาและเฝ้ารอเพราะอาจจะเป็นความหวังของคนไทยทั้งประเทศ คือผลการวิจัยของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เรื่องการใช้สารสกัดกัญชาเพื่อทดลองกับหนูทดลองที่ถูกกระตุ้นทำให้เป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะประเทศไทยมากที่สุด และโอกาสรอดชีวิตจากวิธีการแพทย์แผนปัจจุบันยังอยู่ในระดับต่ำ
ดังนั้นงานวิจัยของวิทยาลัยเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ซึ่งประสบความสำเร็จในหลอดทดลองมาแล้ว ในการสารสกัดของกัญชา THC เป็นผลทำให้เซลล์มะเร็งท่อน้ำดีจากผู้ป่วยโรคมะเร็งฝ่อตายลง ดังนั้นหากการทดลองในหนูทดลองเป็นไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะทำให้คำนวณกลับมาเพื่อทำให้รู้ปริมาณยาที่เหมาะสมที่ใช้วิจัยในมนุษย์ให้อย่าง “มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย”
ประเด็นปริศนาของกัญชาที่หลายคนยังเฝ้ารอคำตอบคือ ปริมาณการใช้เพื่อให้เกิดความปลอดภัยนั้นจะไปถึงขั้นรักษาโรคมะเร็งให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพได้หรือไม่ หรือความปลอดภัยจะไปไกลสุดคือการลดผลข้างเคียงของการรักษาโรคมะเร็งด้วยการคีโมบำบัด ทำให้เจริญอาหาร นอนหลับ ลดอาการปวด ฯลฯ นั่นคือสิ่งที่ผู้ป่วยทุกคนเฝ้ารอความหวังอยู่
อย่างไรก็ตามสารสำคัญอย่าง THC ที่สกัดออกมาจากัญชามีผลเสียอยู่หลายด้าน เป็นผลทำให้มนุษย์ใช้ได้ในปริมาณอย่างจำกัด ดังนั้นผลงานวิจัยส่วนใหญ่ในโลกใบนี้ที่จะถึงขั้นใช้กัญชารักษาโรคมะเร็งในมนุษย์จึงยังไม่คืบหน้าเท่าที่ควร
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะหมดหวังเสียทีเดียว เพราะเมื่อย้อนกลับไปในรายงานข่าวของ MGR Online เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ของผู้ป่วยโรคมะเร็งตับรายหนึ่งในประเทศไทยซึ่งไม่เข้าสู่กระบวนการรักษาในแพทย์แผนปัจจุบันเลย สามารถหายป่วยจากโรคมะเร็งด้วยการกินยอดกัญชาวันละ 2 ช่อต้มกับน้ำร้อนดื่มวันละ 2 ครั้ง พอให้นอนหลับได้และเจริญอาหาร แล้วควบคุมอาหารงดเนื้อสัตว์ กินผักและโปรตีนจากพืช ผลปรากฏว่าผู้ป่วยรายนี้มีอาการดีขึ้นเป็นลำดับ และหายป่วยจากโรคมะเร็งได้ในที่สุด [10]
ยอดกัญชาวันละ 2 ช่อนั้น นับเป็นปริมาณสารสำคัญของกัญชาที่น้อยมาก เมื่อเทียบกับน้ำมันกัญชา หากข่าวที่ปรากฏนี้เป็นจริงย่อมแสดงให้เห็นว่าอาจไม่จำเป็นต้องใช้สารสกัดกัญชาในปริมาณที่มากให้มีผลต่อจิตประสาทรุนแรงเสมอไป แต่การใช้ในปริมาณที่น้อยพอให้หลับได้ ลดความเครียด และทำให้เจริญอาหารควบคู่ไปกับการควบคุมอาหารอาจเป็นความหวังสำหรับผู้ป่วยโรคนี้ก็ได้ ซึ่งจะต้องวิจัยหรือเก็บกรณีศึกษาเพิ่มเติมต่อไป
ทั้งนี้ในหลักสูตรวิถีชีวาเวชศาสตร์ รุ่น 1 และ 2 ซึ่งจัดโดยสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต ได้เคยเชิญผู้ที่เคยป่วยเป็นโรคมะเร็งแล้วหายป่วยได้โดยไม่ได้ใช้การรักษาโดยแพทย์แผนปัจจุบันมาให้นักเรียนสัมภาษณ์ พบว่าผู้ป่วยโรคมะเร็งเหล่านั้นหายป่วยได้ด้วยการ บูรณาการล้างพิษ ควบคู่ไปกับการควบคุมอาหาร โดยไม่ต้องอาศัยกัญชาเลย
เช่นเดียวกับการรักษาโดยใช้แพทย์แผนปัจจุบัน หรือแม้แต่การรักษาตามตำรับยาของแพทย์แผนไทย ก็ยังปรากฏว่ามีอีกหลายกรณีที่ผู้ป่วยโรคมะเร็งหายป่วยได้โดยไม่ต้องใช้กัญชาด้วยเช่นกัน
ดังนั้นคำกล่าวที่ว่า น้ำมันกัญชา “ใช้น้อยไม่หาย” ก็อาจจะไม่จริงเสมอไป เพราะแท้ที่จริงขึ้นอยู่กับว่าใช้กัญชาเพื่อเป้าหมายอะไร และบูรณาการกับการรักษาศาสตร์อื่นๆ อย่างไร !!!
สอดคล้องกับการใช้กัญชาในตำรับยาของการแพทย์แผนไทยนั้นจะใช้กัญชาในปริมาณที่ไม่มากนัก และถ้าจะใช้กัญชาเข้าในตำรับยาแล้วก็พบว่ามีการใช้ยาถ่ายและไล่ลมร่วมด้วย ดังเช่น พิกัดยาที่เรียกว่า “ตรีกฏุก” ซึ่งประกอบไปด้วยสมุนไพร 3 ชนิดคือ พริกไทย, ขิงแห้ง และดีปลี
ในพระคัมภีร์สรรคุณฯ (แลมหาพิกัต) ในตำราแพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ ซึ่งเป็นตำราแพทย์แผนไทยฉบับหลวง ซึ่งถือได้ว่าเป็นหนังสือตำราแพทย์เล่มแรกของไทยที่ครบถ้วนสมบูรณ์แบบและเป็นทางการ หลังจากที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดเกล้าฯให้ประชุมคณะแพทย์หลวง ดำนินการชำระสอบเทียบตำรับคัมภีร์แพทย์ที่ใช้กันมาแต่โบราณให้ถูกต้องตั้งแต่ พ.ศ. 2413 หรือเกือบ 150 ปีที่แล้วได้กล่าวถึงสรรพคุณ “ตรีกฏุก” เอาไว้ความตอนหนึ่งว่า :
“พริกไทย ๑ ขิงแห้ง ๑ ดีปลี ๑ ทั้ง ๓ นี้ระคนกันเข้าจึงชื่อว่าตรีกฏุก แปลว่าของเผ็ด ๓ สิ่ง ถ้าผู้ใดได้บริโภคอาจระงับโรคอันบังเกิดแต่ลม แก้ดีแลในเสมหะในกองสมุฏฐาน ตามธาตุฤดูและอายุสมุฏฐานนั้นแล” [11]
ซึ่งสมุนไพรเหล่านี้งานวิจัยยุคใหม่ค้นพบว่าจะช่วยทำให้เกิดการเคลื่อนไหวของลำไส้และช่วยลดลมในระบบทางเดินอาหาร ซึ่งวิธีการนำกัญชา เข้ากับพิกัดยา “ตรีกฏุก”นี้จึงเท่ากับเป็นการลดผลเสียของการใช้กัญชาที่มาทราบกันในยุคปัจจุบันว่ามีผลเสียต่อระบบทางเดินอาหารได้
กรณีตัวอย่างของ ตรีกฏุก ที่ใช้คู่กับกัญชานี้จึงย่อมแสดงให้เห็นถึงภูมิปัญญาไทยในอดีตที่มีความชาญฉลาดในการใช้กัญชามาหลายร้อยปีแล้ว ซึ่งยังไม่มีใครทราบว่าอีกกี่ร้อยปีกว่าที่งานวิจัยของยาฝรั่งจะไล่ตามทันความลึกซึ้งของภูมิปัญญานี้ได้
ตัวอย่างเช่นยาขนานหนึ่งที่ปรากฏอยู่ใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์”ซึ่งกล่าวถึงตำรับยาที่มีการเข้ากัญชาชื่อว่า “ยาศุขไสยาศน์” เป็นยาขนานลำดับที่ 44 ซึ่งทำให้สบายตัว นอนหลับสบายและเจริญอาหาร มีรายละเอียดดังนี้
“ยาศุขไสยาศน์ ให้เอาการบูรส่วน ๑ ใบสเดา ๒ ส่วน สหัสคุณเทศ ๓ ส่วน สมุนแว้ง ๔ ส่วน เทียนดำ ๕ ส่วน โกฏกระดูก ๖ ส่วน ลูกจันทน์ ๗ ส่วน ดอกบุนนาค ๘ ส่วน พริกไท ๙ ส่วน ขิงแห้ง ๑๐ ส่วน ดีปลี ๑๑ ส่วน ใบกันชา ๑๒ ส่วน ทำเป็นจุณ ละลายน้ำผึ้ง เมื่อจะกินเศกด้วยสัพพีติโย ๓ จบ แล้วกินพอควร แก้สรรพโรคทั้งปวงหายสิ้น มีกำลัง กินเข้าได้ นอนเป็นศุขนักแล” [10]
ยาอีกขนานหนึ่งลำดับที่ 43 ใน “ตำราพระโอสถพระนารายณ์” ชื่อ “ทิพกาศ” ซึ่งแก้ “สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย” คือ ใช้แก้ความไม่สบายทุกอย่าง โดยเฉพาะที่ทำให้ “กินเข้า (กินข้าว)”ไม่ได้ นอนไม่หลับ ตกเลือด ตกหนอง ลงแดง ตามที่บันทึกไว้ในตำราดังนี้
“ยาทิพากาศ ให้เอายาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ กระวาน พิมเสน สิ่งละส่วน การบูร ๔ ส่วน ฝิ่น ๘ ส่วน ใบกันชา ๑๖ ส่วน สุราเป็นกระสาย บดทำแท่งน้ำกระสายใช้ให้ชอบโรคร้อนแลเย็น แก้สารพัดทั้งหลายอันให้ระส่ำระสาย กินเข้ามิได้ นอนมิหลับ ตกบุพโพโลหิต ลงแดง หายแลฯ” [11]
“ยาทิพากาศ” ขนานนี้ปรากฏในหนังสือคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ ได้อธิบายวิเคราะห์ความลึกซึ้งเอาไว้ว่า
“ยาตำรับนี้เข้าเครื่องยา ๙ ชนิด ตัวยาหลักคือ ใบกัญชา ๑๖ ส่วน ตัวยารองคือฝิ่น ใช้ ๘ ส่วน และการบูร ๔ ส่วน เครื่องยาอื่นๆได้แก่ ยาดำ เทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน และพิมเสน ใช้สิ่งละส่วน กัญชาและฝิ่นเป็นยาที่ทำให้กินข้าวได้ นอนหลับ ไม่รู้สึกเจ็บปวดทรมาน ยาดำที่ใช้ในตำรับนี้เป็นยาถ่าย โบราณเชื่อว่าเมื่อถ่ายได้ก็จะกินได้ ผู้ป่วยก็จะแข็งแรงและรู้สึกดีขึ้นเอง ส่วนเทียนดำ ลูกจันทน์ ดอกจันทน์ กระวาน พิมเสน และการบูร เป็นยาขับลม และอาจแสดงฤทธิ์อื่นๆด้วย ตำราพระโอสถฯให้เอาเครื่องยาทั้งหมดบด ทำเป็นแท่ง โดยใช้สุรา(เหล้า) เป็นกระสาย เมื่อจะกินก็ให้ละลายน้ำกระสาย โดยให้เลือกน้ำกระสายให้ถูกกับโรคว่าร้อนหรือเย็น”[12]
จะเห็นได้ว่าตำรับ “ยาทิพากาศ” นี้มีการใช้สุราเป็นน้ำกระสาย ซึ่งคนโบราณรู้ก่อนคนในยุคปัจจุบันมาหลายร้อยปีว่าต้องมีการใช้เอธิลแอลกอฮอลละลายสารสำคัญออกมาจากกัญชาและฝิ่น อย่างไรก็ตามทั้งยาศุขไสยาศน์และยาทิพากาศ ไม่มีการใช้ “ดอกกัญชา” เลย ใช้แต่เฉพาะ “ใบกัญชา” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าขนาดฤทธิ์ของกัญชาที่มาจากส่วนใบซึ่งอ่อนกว่าดอกนั้น ยังต้องเข้าตำรับยาเพื่อแก้ฤทธิ์ผลข้างเคียงของกัญชาด้วย ดังนั้นถึงแม้สารสกัดกัญชาที่มาจากดอกกัญชาจะเข้มข้นกว่านี้ ตำรับยาไทยทั้ง 2 ขนานนี้ก็คงจะเลือกความปลอดภัยในการใช้ใบกัญชามากกว่าที่จะใช้ยาแรงจากดอกกัญชาเพียงอย่างเดียว
มาถึงตอนนี้ท่านผู้อ่านอาจจะมีคำถามตามมาว่ามีตำรับยาไทยที่ระบุชัดๆ ว่าใช้กัญชารักษาโรคมะเร็งหรือไม่ ?
คำตอบคือมีหลายตำรับยาที่คนไทยในสมัยก่อนใช้สำหรับรักษาโรคในกลุ่มโรคที่เรียกว่า ฝี สันนิบาต กษัย ฯลฯ ซึ่งบางโรคในกลุ่มเหล่านี้อาจจะตีว่าคือโรคมะเร็งในยุคปัจจุบัน โดยไม่ได้ปรากฏว่ามีกัญชาเข้าในตำรับเลย แต่การใช้กัญชาในตำรับยาไทยนั้นอาจเป็น “ส่วนหนึ่งของหลายกระบวนการรักษา”เท่านั้น โดยมีข้อบ่งชี้ว่าเพื่อช่วยให้ผู้ป่วยเจริญอาหาร นอนหลับได้ เป็นหลักการสำคัญ
ดังเช่นในอดีตบางจังหวัดในประเทศไทยใช้ดอกกันชาปิ้งพอเหลืองกรอบ แล้วตำผสมกับน้ำพริกแกงเผ็ด ปรุงให้คนไข้ที่เบื่ออาหารรับประทานเพื่อให้เจริญอาหาร บางจังหวัดใช้น้ำในบ้องกันชากรอกให้คนเป็นอหิวาต์รับประทานเพื่อให้นอนหลับเมื่อตื่นขึ้นมาก็มีอาการดีขึ้น [13]
และคนในยุคปัจจุบันบางกลุ่มก็อาจจะยังเคยมีประสบการณ์ทันรับประทานก๋วยเตี๋ยวที่ใส่น้ำต้มใบกัญชาเพื่อชูรสทำให้รสชาติอาหารอร่อยขึ้นมาแล้วด้วย
ทั้งนี้ได้ปรากฏสรรพคุณของกัญชาในหนังสือแพทย์ตำบล เล่ม 1 ของพระยาแพทย์พงศา วิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช) เมื่อปี พ.ศ. 2469 ว่า : “กัญชา ทำให้เมา ทำให้ใจขลาด รับประทานน้อยๆ เป็นยาชูกำลัง เจริญอาหาร ต้นกัญชาที่มีดอกเป็นช่อ ใช้ช่อที่มีดอกและผลทำยา ต้นสูงถึง 3 ถึง 10 ฟุต” [14]
นอกจากนี้ยังปรากฏในตำราประมวลหลักเภสัช โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร ระบุว่า : “ดอกกัญชา ทำให้ง่วงนอนและอยากอาหาร, กัญชา รสเมาเบื่อเหม็นเขียว เจริญอาหาร ชูกำลัง แต่ทำให้ใจขลาด, เมล็ดกัญชา รสเมามึน เจริญอาหาร กินมากหวาดกลัว หมดสติ” [15]
จะเห็นได้ว่าในสรรพคุณยาของกัญชาในแพทย์แผนไทยนั้นให้ใช้กัญชาในปริมาณน้อยเพื่อชูกำลังและเจริญอาหาร แต่ก็ตระหนักถึงผลเสียหากใช้มากเกินไปคือทำให้เกิดอาการทางจิตประสาท เมามึน และหมดสติ ด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้นการใช้กัญชาในแพทย์แผนไทยจึงต้องใช้เป็นตำรับยาเท่านั้น และไม่ใช้กัญชาเป็นยาเดี่ยวเหมือนกับยาแผนปัจจุบัน
ยาอภัยสาลีของโบราณ ก็เป็นอีกตัวอย่างของยาขนานหนึ่งซึ่งมีชื่อเสียงในการเจริญอาหารและนอนได้มากก็เพราะผสมกัญชานี้ จนได้สมญาว่าเป็นยาอัศจรรย์และวิเศษต่างๆ ดังปรากฏในตำราเวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป ของพระยาพิษณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร รัตนโกสินทร์ ศก. ๑๒๗ (พ.ศ. 2451) ได้ระบุยาในตำรับนี้ว่า
“ยาอภัยสาลี เอาลูกจันทน์ ๑ สลึง ดอกจันทน์ ๒ สลึง ลูกกระวาน ๓ สลึง กานพลู ๑ บาท ลูกพิลังกาสา ๑ บาท ๒ สลึง ว่านน้ำ ๑ บาท ๓ สลึง โกฐสอ ๒ บาท โกฐเขมา ๒ บาท ๑ สลึง เทียนข้าวเปลือก ๒ บาท ๒ สลึง เทียนแดง ๒ บาท ๓ สลึง เทียนขาว ๒ บาท เทียนตาตั๊กแตน ๒ บาท ๑ สลึง เจตมูลเพลิง ๓ บาท สมอไทย ๓ บาท ๑ สลึง สมอเทศ ๓ บาท ๑ สลึง หัวบุกรอ ๓ บาท ๓ สลึง สหัศคุณเทศ ๑ ตำลึง ๒ บาท จันทน์เทศ ๑ ตำลึง กัญชา ๓ บาท ๓ สลึง พลิกล่อน ๑ ตำลึง กินเข้าเย็นทุกวัน แก้สารพัดลม ๘๐ จำพวก แก้โลหิต ๒๐ จำพวก แก้ริดสีดวง ๒๐ จำพวก ยานี้กินได้ ๓ เดือน หายโรคพยาธิมิได้มีเลย เป็นยาอายุวัฒนะ ทั้งเกิดปัญญารู้หลักนักปราชญ์มากกว่าคนทั้งปวง ถ้าผู้ใดพบให้ทำกินวิเศษนัก ใครกินยานี้ดุจยาทิพย์นั้นแลฯ” [16]
ดังนั้น หากสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และคณะกรรมาธิการฯที่กำลังพิจารณากฎหมายเพื่อปลดล็อกกัญชาอยู่ในขณะนี้ ควรจะช่วยกันพิจารณาทวงคืนกัญชาให้แพทย์แผนไทยอย่างเต็มกำลัง อย่าได้จำกัดจำนวนโรคที่ให้ใช้หรือจำกัดการวิจัย อย่าได้จำกัดกระบวนการวิจัยอย่างเภสัชสมัยใหม่ที่ไม่สอดคล้องกับวิธีการใช้กัญชาในแพทย์แผนไทย และควรเปิดโอกาสให้แพทย์แผนไทยได้กำหนดมาตรฐานในการใช้กัญชาโดยสภาแพทย์แผนไทยเอง
ภูมิปัญญาแพทย์แผนไทยทำให้รู้ได้ว่าจะใช้กัญชาอย่างไรเพื่อใช้ประโยชน์ที่พึงได้โดยไม่อันตราย แต่เภสัชยุคใหม่สามารถสกัดสารสำคัญได้แล้วมาวิจัยจนพบว่าสารสกัดสำคัญในกัญชาที่ใช้เป็นยาเดี่ยวสามารถช่วยรักษาโรคมะเร็งบางชนิดได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่คนไทยในอดีตอาจไม่เคยทราบมาก่อน ซึ่งการแพทย์ทั้งสองส่วนต่างก็มีข้อดีและข้อเสียในตัวเองทั้งสิ้น และจะสามารถลดข้อเสียของทั้งสองส่วนได้ด้วยการ “บูรณาการภูมิปัญญาในอดีตกับงานวิจัยยุคใหม่”เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ป่วยเป็นสำคัญ
ทั้งนี้ นับเป็นความโชคดีของประเทศไทยซึ่งมีองค์ความรู้ที่ทันสมัยแบบยาแผนปัจจุบัน แต่ก็มีภูมิปัญญาชาติที่มีรากฐานที่สั่งสมกันมาอย่างยาวนาน ก็ไม่แน่ว่าอาจเกิดการบูรณาการในข้อมูลใหม่ที่ได้จากการวิจัยกัญชาในเภสัชศาสตร์ยุคใหม่ โภชนาการบำบัดที่มาจากงานวิจัยยุคใหม่ แล้วหาหนทางวิธีการนำกัญชามาใช้โดยอาศัยภูมิปัญญาของแพทย์แผนไทยมาประยุกต์ใช้ให้ได้มีคุณภาพ มีประสิทธิภาพ และมีความปลอดภัย ซึ่งอาจเป็นหนทางในการพัฒนายาตำรับใหม่ที่กลายเป็นความหวังของผู้ป่วยโรคมะเร็งทั่วโลก ถ้าสามารถลดอัตตาและลดกำแพงกั้นระหว่างวิชาชีพได้
เพราะดูเหมือนว่าคนที่จะรู้จัก “ศิลปะวิธีการใช้กัญชา” ให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัยในประเทศไทยคงจะมีอยู่น้อยมาก คงเหลือแต่มรดกที่มีมาอย่างยาวนานซึ่งปรากฏในศิลาจารึกและคัมภีร์พระราชทานจากบูรพมหากษัตริย์และบรรพบุรุษไทยให้เป็นหลักฐานกับการแพทย์แผนไทย ที่จะรอวันฟื้นคืนมาอีกครั้ง ให้เป็นที่พึ่งหวังกับผู้ป่วยที่เฝ้ารอคอยอยู่เป็นจำนวนมาก
และคนรุ่นเราเท่านั้นที่จะตัดสินใจว่าจะรับมรดกภูมิปัญญาการใช้กัญชาของบรรพบุรุษนี้ส่งมอบต่อให้กับคนรุ่นต่อไปอย่างไร
ด้วยความปรารถนาดี
ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์
คณบดีสถาบันแพทย์แผนบูรณาการและเวชศาสตร์ชะลอวัย มหาวิทยาลัยรังสิต
อ้างอิง
[1] Meier H, Vonesch HJ. Cannabis poisoning after eating salad. Schweiz Med Wochenschr. 1997;127:214-218 [PubMed]
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/9157527
[2] Singh Y, Bali C. Cannabis Extract Treatment for Terminal Acute Lymphoblastic Leukemia with a Philadelphia Chromosome Mutation. Case Reports in Oncology. 2013;6(3):585-592. doi:10.1159/000356446. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC3901602/
[3] ปานเทพ พัวพงษ์พันธ์, บทเรียนกรณีศึกษาน้ำมันกัญชง (Hemp Oil)ในผู้ป่วยเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว "มะเร็งหายแต่สุดท้ายกลับเสียชีวิต" !?, MGROnline, ผู้จัดการสุดสัปดาห์, คอลัมน์ ณ บ้านพระอาทิตย์, เผยแพร่: 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560 17:18 น.
[4] Grotenhermen F, Russo E, eds.: Cannabis and Cannabinoids: Pharmacology, Toxicology, and Therapeutic Potential. Binghamton, NY: The Haworth Press, 2002.
[5] Guzmán M: Cannabinoids: potential anticancer agents. Nat Rev Cancer 3 (10): 745-55, 2003. [PUBMED Abstract] http://www.nature.com/articles/nrc1188
[6] Aviello G, Romano B, Izzo AA. Cannabinoids and gastrointestinal motility: animal and human. Eur Rev Med Pharmacol Sci. 2008 Aug;12 Suppl 1:81-93. https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pubmed/18924447
[7] Schultz S., Beyer M. (2017). GW pharmaceuticals achieves positive results in phase 2 proof of concept study in glioma. Available online at: http://ir.gwpharm.com/static-files/cde942fe-555c-4b2f-9cc9-f34d24c7ad27 [Ref list]
[8] Schultz S. (2018). GW pharmaceuticals plc investor presentation—february 2018. Available online at: http://ir.gwpharm.com/static-files/e7afbad8-ab2c-4c8a-8e21-b9d3a7d36c70 [Ref list]
[9] ชยันต์ พิเชียรสุนทร, แม้นมาส ชวลิต และวิเชียร จีรวงศ์, หนังสือคำอธิบายตำราพระโอสถพระนารายณ์ ฉบับเฉลิมพระเกียรติ ๗๒ พรรษามหาราชา ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ พิมพ์ครั้งที่ ๒ สำนักพิมพ์อัมรินทร์ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๘
[10] สรวัจน์ ศิลปโรจนพาณิช, เว็บไซต์ MGR Online, กัญชารักษามะเร็ง!! เปิดประสบการณ์ลับ ผู้ป่วยมะเร็งตับ หมอบอกตายแน่ แต่กัญชาช่วยไว้ได้! ลงวันที่ 11 สิงหาคม 2559 16:11 น. (แก้ไขล่าสุด 12 สิงหาคม 2559 07:47 น.), แหล่งที่มา : URL: https://www.manager.co.th/OnlineSection/ViewNews.aspx?NewsID=9590000079216.
[11] สำนักวิชาการและมาตรฐานการศึกษา สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กระทรวงศึกษาธิการ, หนังสือชุดวรรณกรรมหายาก แพทย์ศาสตร์สงเคราะห์ : ภูมิปัญญาทางการแพทย์และมรดกทางวรรณกรรมของชาติ, องค์การค้าของ สกสค. จัดพิมพ์จำหน่าย, พิมพ์ครั้งที่ ๔ พ.ศ. ๒๕๕๔ ISBN 978-974-01-9742-3, หน้า ๓๕๙
[12] คัมภีร์ธาตุพระนารายณ์ (ฉบับใบลาน) กรมหลวงวงสาฯ กรมหมื่นไชยนาท ประทาน พ.ศ. 2459
[13] กรมแพทย์แผนไทยและแพทย์ทางเลือก, เอกสารประกอบการประชุมเชิงปฏิบัติการถอดบทเรียนและแลกเปลี่ยนเรียนรู้องค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยที่มีการใช้ “กระท่อมและกัญชา” ในการรักษาเพื่อเข้าสู่ระบบบริการทางการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก, วันที่ 22 มกราคม 2561 เวลา 9.00 น.-16.30 น. ณ ห้องประชุม 2 อาคาร 1 ชั้น 2, หน้าที่ 1
[14] พระยาแพทย์พงศา วิสุทธาธิบดี (สุ่น สุนทรเวช), แพทย์ตำบล เล่ม ๑-๓, พิมพ์ครั้งที่ ๓ กรุงเทพ :อักษรนิติ ๒๔๖๙
[15] โรงเรียนแพทย์แผนโบราณ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม ราชวรมหาวิหาร, ตำราประมวลเภสัช, กรุงเทพฯ ๒๕๒๘ (หน้า ๖๙, ๙๗, ๑๑๘)
[16] พระยาพิศณุประสาทเวช ผู้จัดการโรงเรียนเวชสโมสร, เวชศึกษา แพทย์ศาสตร์สังเขป เล่ม ๑,๒,๓ รัตนโกสินทร์ ศก. ๑๒๗