xs
xsm
sm
md
lg

สดุดีวีรบุรุษพลังใหม่หมายเลขหนึ่ง : ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสาน ต่างใจ

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

<b>ศาสตราจารย์นายแพทย์ประสาน ต่างใจ</b>
ความจริง ผมได้เขียนและส่งคำไว้อาลัยถึง “หมอ” ไปให้เดวิดนานแล้ว ถ้าหากเดวิดไม่ได้รับและพิมพ์ไม่ทันก็จะเป็นเรื่องเศร้า ผมไม่อยากโทษเทคโนโลยีหรืออำนาจลึกลับที่เหนือกว่านั้น เพราะเรา “หมอ” กับ “ผม” เข้าใจความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งทั้งหลายว่า “มันเป็นเช่นนั้นเอง”

“หมอ” เป็นเพื่อนที่ผมรักและสนิทที่สุดคนหนึ่งในโลก ทั้งๆ ที่ “หมอ” อายุมากกว่าผมหลายปี

ผมจำได้เลือนรางว่าผมรู้จักกับ “หมอ” และ “หมอประเวศ” พร้อมกันก่อนวันที่ 14 ตุลาคม 2516 เล็กน้อยโดยไม่มีผู้ใดแนะนำ วันนั้นผมไปพูดกับนิสิตแพทย์หรือแพทย์ที่ศิริราช เรื่องอะไรสักอย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับสังคมและการเปลี่ยนแปลง เมื่อจบภาคสอบถามแล้วมีหมอสองคนเดินมาขอคุยต่อ เป็นคนดังในวงการปัญญาชนทั้งคู่ ตอนนั้นผมอายุปลาย 30 และ”หมอ” กลาง 40

ตั้งแต่นั้นมาเราก็สนิทสนมเป็นเพื่อนกันอย่างรวดเร็ว สามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่องทุกๆ แบบภาษาฝรั่งเรียกว่า “no holds barred” ทั้งนี้ผมอธิบายไม่ได้ว่าเป็นเพราะอะไร อาจจะเป็นเพราะว่า “บุคลิกลักษณะ” ของ “หมอ” กับผมมัน “สมพงษ์” กันโดยอาจจะมีเรื่องหนึ่งที่เราทั้งคู่สนใจเป็นพิเศษ คือ เรื่องการเมืองและสังคม เป็นตัวเชื่อม หลังจากนั้นก็แพร่ไปสู่เรื่องอื่นๆ ครอบจักรวาล และกลับลงมาหาเรื่องที่เล็กลงมาถึงครอบครัว ครอบครัวของผมกับของ “หมอ” กลายเป็นญาติสนิทซึ่งกันและกันนับตั้งแต่พ่อแม่ ลูกเมีย พี่น้อง ญาติสนิทมิตรสหายและผองเพื่อน ตอนนั้นคุณพ่อของ “หมอ” เสียแล้ว เหลือแต่ “คุณย่า” ของผมยังอยู่ครบ หมอประสานก็กลายมาเป็นลูกของพ่อแม่ผมอย่างสนิทสนมกลมกลืน พ่อผมเป็นแพทย์ศิริราชรุ่นที่ 1 จบปี 2470 ส่วน “หมอ” เป็นแพทย์จุฬาฯ หมอประเวศ ศิริราชเข้าเรียนแพทย์หลังปี 2490 ไม่ทันเห็นฝุ่นกัน แต่ผมทันเห็นหมอ 3 รุ่นคือพ่อ อาหมอเสม พริ้งพวงแก้ว ศิริราชหลังพ่อผม 7 รุ่น กับหมอประสาน หมอประเวศ พบปะพูดคุยกันอย่างสนุกสนาน ในเรื่องที่ออกจะเป็นการเมืองมากกว่าการแพทย์

เพราะการเมืองนี่เองที่ทำให้ “หมอ” กับผมได้กลายมาเป็นเพื่อนตายกัน

ตอนที่เรารู้จักกันนั้น “หมอ” เป็นอาจารย์แพทย์ที่จุฬาฯ ผมเป็นอาจารย์การเมืองที่ธรรมศาสตร์ ถึงแม้จะยังหนุ่ม แต่หมอก็เป็นศาสตราจารย์แพทย์ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในวงการแพทย์แล้ว และได้ชื่อว่าเป็นผู้เชี่ยวชาญพยาธิวิทยาและเอตทัคคะของโลกเรื่องพิษสุนัขบ้า

เหตุการณ์ 14 ตุลาคม ทำให้เราทั้งสองอำลาราชการออกมาสู่ชีวิตการเมืองอย่างเต็มตัว หมอกับเพื่อนๆ ผมอีก 15-16 คน เป็นตัวตั้งตัวตีในการก่อตั้งพรรคพลังใหม่ แท้จริงผู้ใหญ่ของบ้านเมืองในขณะนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์กับ พล.อ.กฤษณ์ สีวะรา ได้ขอร้องให้พวกเราเสียสละนำเลือดใหม่น้ำดีเข้ามาสู่การเมือง เพื่อป้องกันการเมืองน้ำเน่าและวงจรอุบาทว์มิให้กลับมา หรืออย่างน้อยก็มิให้เร็วหรือรุนแรงอย่างเดิม พล.อ.กฤษณ์เกรงว่าจะถูกล้างแค้นโดยอำนาจเก่า แม้การเลือกตั้งตามรัฐธรรมนูญใหม่ก็เชื่อได้ว่าแนวโน้มจะไม่ต่างจากเดิม อาจารย์ป๋วยเป็นนายทุนคน แรกและคนเดียวของพรรคด้วยการบริจาคเงินเดือนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ3,000 กว่าบาทให้เป็นประจำทุกเดือน

คนนอกมักจะเข้าใจผิดว่าผมเป็นผู้นำผลักดันพรรคพลังใหม่ หรือไม่ก็หมอกระแส ซึ่งมิใช่ทั้งสองคน

ผู้กระตือรือร้นและขันแข็งที่สุดเป็นชายหนึ่งหญิงหนึ่ง หญิงได้แก่ดร.เอื้อย มีศุข ชายก็ได้แก่หมอประสานนั่นเอง ด้วยเหตุนี้สมาชิกพลังใหม่จึงเต็มไปด้วยแพทย์ Ph.D. และสตรี การประชุมตั้งพรรคใช้เวลาหลายเดือนผลัดไปกันอยู่ 3 บ้าน คือบ้านของ (พ่อตา) ศิววงศ์ จังคศิริ แถวบางลำพู บ้านของพ่อแม่เอื้อย คืออาจารย์บุญเยี่ยม และคุณหญิงอัมพร มีศุข ถนนเอกมัย และบ้านหมอประสาน ที่ซอยหมู่บ้านพัฒนา คลองประปา หลังสุดท้ายนี้ได้กลายเป็นสถานที่ที่สำคัญที่สุดในประวัติของพรรคพลังใหม่และประวัติศาสตร์การเมืองไทย ถ้าเป็นประเทศที่การเมืองเจริญป่านนี้คงขึ้นทะเบียนติดป้ายสีน้ำเงินเป็นบ้านประวัติศาสตร์ไปแล้ว

ผมเตือนเพื่อนฝูงว่าอย่ามักใหญ่ใฝ่สูงและอย่าคิดร่วมหรือเป็นรัฐบาลหลังการเลือกตั้ง การเมืองจะต้องเปลี่ยนกลับและเป็นอันตรายใหญ่หลวงในไม่ช้าแน่นอน เพราะฉะนั้นอย่าเร่งให้พรรคโตหรือชวนคนโน้นคนนี้มาให้มากมาย ผมเองชวนคนเข้าพรรคเพียง 3 คนเท่านั้น คือหมอกระแส ชนะวงศ์ ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ และไพฑูรย์ แก้วทอง ปรากฏว่าผมคิดถูก ทั้ง 3 คนชอบการเมืองเป็นชีวิตจิตใจและได้เป็นรัฐมนตรีกันคนละหลายกระทรวง ถึงตอนนั้นพรรคพลังใหม่ได้จบบทบาทลงไปแล้ว ทั้งๆ ที่บรรดาผู้นำที่เป็นแกนของพรรคยังเกาะกลุ่มกันอยู่อย่างเหนียวแน่นจนกระทั่งถึงวันนี้ เหตุผลอย่างหนึ่งอาจจะเป็นเพราะหมอประสานเป็นศูนย์กลางของสายสัมพันธ์ที่มั่นคงไม่เสื่อมสลาย ผมเสียดายที่หมอไม่เคยได้รับเลือกตั้งหรือดำรงตำแหน่งใดๆ

พรรคพลังใหม่เป็นพรรคการเมืองที่ประธานโค้วตงหมงหรือประสิทธิ์ กาญจนวัฒน์ ผู้คร่ำหวอดยกนิ้วให้เป็น “พรรคการเมืองที่ดีที่สุดในประเทศไทย” และพล.อ.สุจินดา คราประยูร อดีตนายกรัฐมนตรียุค รสช.ถือว่าเป็นพรรคการเมืองตัวอย่าง “อยากให้พรรคการเมืองในประเทศไทยยึดพรรคพลังใหม่เป็นโมเดล” ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ที่เป็นเช่นนั้นเพราะพรรคพลังใหม่ต่างกับพรรคการเมืองทุกพรรคที่ล้วนแต่เป็นพรรคหัวหน้าตั้ง พลังใหม่จึงไม่มีพฤติกรรมเป็นแก๊งเลือกตั้งหรืออั้งยี่ที่สมาชิกเป็นทาสของหัวหน้า

พรรคจึงเป็นของสมาชิกที่มีคนละหนึ่งหุ้นเท่ากัน มติทุกอย่างต้องผ่านการศึกษาอย่างรอบคอบและลงบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรก่อนนำไปปฏิบัติ ผมกล้ากล่าวได้ว่าคนที่ไม่เคยขาดการประชุมพรรคเลยสักครั้งเดียวคือหมอประสาน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะว่านอกจากการเป็นบุคคลที่เปี่ยมด้วยวินัยแล้ว การประชุมที่สำคัญและยืดเยื้อทุกครั้งมิได้เกิดที่สำนักงานพรรคซึ่งเป็นที่เช่าย้ายไปย้ายมาหลายครั้ง แต่เป็นการประชุมที่บ้านหมอประสานซึ่งสะดวกและปลอดภัยกว่า

ครั้งหนึ่งเมื่อพรรคกิจสังคมคว่ำรัฐบาลม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช สำเร็จ ทั้งๆ ที่พรรคพลังใหม่ยก 12 เสียงของพรรคให้ประชาธิปัตย์ฟรีๆ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ หัวหน้าผู้จัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้นำเทียบและคณะประกอบด้วยคุณเสวตร เปี่ยมพงศ์สานต์ คุณใหญ่ ศวิตชาติ คุณประกายเพชร อินทุโสภณ มาที่บ้านหมอประสานเพื่อเชื้อเชิญให้พรรคพลังใหม่เข้าร่วมรัฐบาล

ในที่สุดหมอประสานจำต้องขายบ้านหลังนั้นไปเพื่อนำไปต่อทุนการต่อสู้ทางการเมืองของพรรค แต่ทั้งนี้หาได้หมายความว่าการเป็นศูนย์กลางของพลังใหม่ของหมอประสานได้ยุติลงตามบ้านก็หาไม่

หมอประสานลงสมัครรับเลือกตั้ง 3 ครั้ง ครั้งสำคัญคือการสมัครเป็นรองผู้ว่าฯ ในทีมของดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้สมัครรองอีก 2 คนได้แก่ดร.สืบแสง พรหมบุญ อาจารย์คณะอักษรศาสตร์ จุฬาฯ และ น.ต.สุชน บรรจงจิตร รน.จากกองทัพเรือ ครั้งนั้นเราปราบแชมป์เก่าในเขตใจกลางกรุงได้เกือบทั้งหมด แต่ไปแพ้ที่อำเภอรอบนอกที่มีคะแนนเสียงหนาแน่นมากกว่า เสียดายที่ในยุคนั้นยังไม่มีทีวีหาเสียงและไม่มีโซเชียลมีเดียเหมือนยุคนี้ เราจึงไม่สามารถใช้ความ “สว่าง” ของเราเอาชนะความมืดของคู่แข่งได้ เสียดายที่ถ้าหากทีมดร.อาทิตย์ หมอประสาน และคณะได้รับเลือก การเมืองท้องถิ่นและการเมืองของประเทศอาจจะไม่จมปลักอยู่อย่างนี้ และเสียดายที่การเลือกตั้งครั้งนี้ทำให้พลังใหม่ถูกป้ายสีเป็นคอมมิวนิสต์คิดล้มล้างราชบัลลังก์เสียจนประชาชนส่วนหนึ่งและฝ่ายความมั่นคงพากันเชื่อ

พลังใหม่กลายเป็นแพะบูชายัญต้องสูญเสียชีวิตและถูกทารุณกรรมจากอำนาจมืดและแก๊งการเมืองโหดจนเกินกว่าที่จะบรรยาย 2 ใน 12 ส.ส.ถูกมือปืนลอบสังหาร คือเอี่ยมศักดิ์ หลิมสมบูรณ์ (ภูเก็ต) และเฉลิมชัย ทองตันไตรย์ (ลพบุรี) สมหวัง ศรีชัย (ชัยนาท) รองหัวหน้าพรรคเบอร์สองรองจากหมอถูกระเบิดถล่มกลางเวทีปราศรัยตายไป 9 โชคดีที่สมหวังรอด ผู้สมัครและสมาชิกในท้องถิ่นตายหรือบาดเจ็บอีกนับสิบ สำนักงานพรรคถูกโยนระเบิดบังเอิญผู้จู่โจมตกใจชนกันเองตายหนึ่งแขนขาดหนึ่ง และ ฯลฯ มากกว่านี้ ที่แคล้วคลาดเพราะบุญบารมีหรือโชคก็ไม่รู้ได้คือหัวหน้ากับรองที่เป็นหมอทั้งคู่คือหมอกระแสกับหมอประสาน

หมอเป็นมนุษย์มหัศจรรย์คือเข้ากับใครก็สนิทชิดเชื้อได้หมด พูดกันรู้เรื่องหมดไม่ว่าต่ำหรือสูง หมอได้แบกภาระแม้กระทั่งเรื่องต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นโรมาเนียเยอรมนีหรือสแกนดิเนเวีย คนที่สนิทสนมกับหมอที่สุดชื่อแอนห่อยจากสถานทูตนอร์เวย์คอยแจ้งเหตุเภทภัยทางการเมืองให้หมอเสมอ แม้กระทั่งจัดให้ไปลี้ภัยในนอร์เวย์หลังเหตุการณ์ 6 ตุลามหาโหด หมอไปเยี่ยมอาจารย์ป๋วยที่ลอนดอน ก่อนจากกันคืนนั้นทั้งสองคนกอดกันเช็ดน้ำตา วันรุ่งขึ้นอาจารย์ป๋วยก็สโตรก หมอกลับเมืองไทยและอยู่ได้อีกหลายปีรวมทั้ง 4-5 ปีหลังที่ทนทุกข์ทรมานติดเตียงเคลื่อนไหวไม่ได้มีสายระโยงระยางเต็มร่างกายไปหมด จนผมแทบจะทนไม่ได้ทุกครั้งที่ไปเยี่ยมหมอ

ก่อนอาจารย์ป๋วยออกจากเมืองไทย 2 ปี ผมกับอาจารย์ได้ใช้บ้านหมอซึ่งอยู่ใกล้กับบ้านอาจารย์เป็นแหล่งนัดพบ เพื่อจะเปลี่ยนรถขับคุยกันไปตามท้องถนนเป็นการคลายเครียด หลายครั้งหมอก็ร่วมไปด้วย หมอกับอาจารย์สามารถคุยกันเรื่องบาปบุญและพุทธศาสนาได้อย่างลึกซึ้ง

ในที่สุดทุกอย่างก็เคลื่อนไหวไปตามวัฏสงสาร ตามกฎแห่งกรรม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

ผมโชคดีที่ได้เกิดมาเป็นเพื่อนหมอ เรื่องของผมกับหมอมิใช่เพียงครอบจักรวาลแต่ออกไปไกลกว่านอกจักรวาลเสียอีก

แต่การเขียนครั้งนี้ เล่าเฉพาะเรื่องการเมือง เป็นการสดุดีหมอ “วีรบุรุษพลังใหม่หมายเลขหนึ่ง” ของผม

ปราโมทย์ นาครทรรพ


กำลังโหลดความคิดเห็น