xs
xsm
sm
md
lg

ศิริเด้งรับแผนป๊อก รับซื้อไฟฟ้าขยะเพิ่ม400เมกฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รมว.พลังงาน เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างการพิจารณารายละเอียดการดำเนินงานตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงมหาดไทย(มท.) และ กระทรวงพลังงาน เร่งดำเนินการจัดตั้งศูนย์กำจัดขยะมูลฝอย แบบครบวงจร ในทุกกลุ่มพื้นที่ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 7,800 กว่าแห่ง ที่มีการรวมกลุ่มเพื่อกำจัดขยะมูลฝอย - ภูเขาขยะ 324 ลูก ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จภายใน 1 เดือน โดยขอให้พิจารณาขนาด และที่ตั้งให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม
ทั้งนี้ กระทรวงพลังงานจึงอยู่ระหว่างพิจารณาถึงแนวทางการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ ภายใต้อัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (ฟีดอินทารีฟ) หรือ FiT ซึ่งเบื้องต้นจะไม่ปรับเพิ่มขึ้นจากอัตราปัจจุบัน อยู่ที่ราว 5.78 บาทต่อหน่วย เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมค่าไฟฟ้าของประเทศในอนาคต โดยยอมรับว่าจากที่มีนโยบายดูแลค่าไฟฟ้าในอนาคต ไม่เกินอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากการประมูลโครงการเอสพีพี ไฮบริดเฟิร์ม อยู่ที่ 2.44 บาทต่อหน่วยนั้น เรื่องนี้คงต้องพิจารณา แบบ DYNAMIC หรือ มีความคล่องตัว เหมาะสมกับแต่ละพื้นที่ เชื้อเพลิงที่ใช้ผลิตไฟฟ้า และเหตุผลอื่นๆ ด้วย
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เผยว่า ล่าสุด นายศิริ มีแนวโน้มที่จะคงอัตรารับซื้อไฟฟ้าจากขยะไว้เท่าเดิม ที่ 5.78 บาทต่อหน่วย และจากการหารือร่วมกับกระทรวงมหาดไทย ที่ต้องการให้กระทรวงพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะชุมชน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทน และพลังงานทางเลือก ปี 2558-2578 (เออีดีพี 2015 ) อยู่ที่ 500 เมกะวัตต์ เพิ่มเป็น 900 เมกะวัตต์ มีความเป็นได้ เพราะได้พิจารณาเรื่องของปริมาณขยะแล้ว ซึ่งจะเป็นส่วนสำคัญ ที่จะแก้ไขปัญหามลพิษของประเทศ
ทั้งนี้ เมื่อเร็วๆนี้ นายศิริ ได้เดินทางไปเยี่ยมชมโรงงานปูนซีเมนต์ และโรงไฟฟ้าของกลุ่มทีพีไอ ที่ จ.สระบุรี โดยผู้ประกอบการธุรกิจโรงไฟฟ้า ได้เสนอแนะต่อ นายศิริ ให้ทบทวนนโยบายอัตรารับซื้อไฟฟ้าที่ 2.44 บาทต่อหน่วย ไม่สามารถดำเนินการ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มผู้ประกอบการจากสมาคมการค้าขยะ และกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.)ได้เสนอแนวทางดำเนินงานแก่นายศิริ ที่ควรจะคงอัตรารับซื้อไฟจากขยะ ไว้เท่าเดิม เพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุน
นายวรวิทย์ เลิศบุษศราคาม รองผู้จัดการใหญ่อาวุโสฝ่ายโรงงาน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน หรือ TPIPP) กล่าวว่า การที่กลุ่มทีพีไอ สามารถผลิตไฟฟ้าจากขยะได้ในต้นทุนต่ำนั้น เนื่องจากใช้แนวทางจัดตั้งศูนย์รวบรวมขยะ ใกล้กับโรงงานผลิตขยะ RDF ทำให้การขนส่งมีต้นทุนต่ำ และขายในราคาหน้าโรงงาน ส่งผลให้ผู้ประกอบการและชุมชน มีแรงจูงใจที่จะร่วมกับดูแลปัญหาขยะ
แหล่งข่าวจากกลุ่มพลังงานทดแทน ส.อ.ท.กล่าวว่า ทราบว่า ล่าสุดโรงไฟฟ้าขยะชุมชนใน จ.นครราชสีมาได้รับการสนับสนุนจากชุมชน และกระทรวงมหาดไทยได้อนุมัติโครงการเรียบร้อยแล้วนั้น เป็นเหตุผลที่กระทรวงพลังงานเองจำเป็นต้องกำหนดโควตารับซื้อไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ซึ่งเอกชนมองว่าโครงการนี้ จะเป็นโมเดลสำคัญของแผนการบริหารขยะ แต่จะยั่งยืนหรือไม่ อยู่ที่จะผลิตไฟได้สม่ำเสมอหรือไม่ อย่างไร
"โรงไฟฟ้าขยะชุมชนนั้น ที่สุดเราจะหนีไม่พ้นสำหรับเมืองใหญ่ๆ ที่มีประชากรเกิน 1.2 ล้านคนขึ้นไป เพราะจะไม่มีวิธีไหนดีไปกว่านี้ และต้องทำควบคู่ไปกับการบริหารจัดการขยะ และรัฐต้องมองว่า อนาคตสิ่งสำคัญสุดคือ ขยะที่จะนำมาผลิตไฟต้องวางเป้าให้ลดลงไม่ใช่ไปเอื้อให้ขยะเพิ่มเพื่อป้อนโรงไฟฟ้าเพราะขยะต้องกำหนดวิธีบริหารจัดการในรูปแบบที่ให้มีต่ำสุดเช่น รีไซเคิล เป็นต้น" แหล่งข่าว ย้ำ
ทั้งนี้ ตามแผน เออีดีพี 2015 กำหนดรับซื้อไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ 550 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ขยะชุมชน 500 เมกะวัตต์ และขยะอุตสาหกรรม 50 เมกะวัตต์ โดยการรับซื้อไฟฟ้าจากขยะ มีสัญญาอยู่แล้ว 399 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ขยะอุตสาหกรรม 37 เมกะวัตต์ และ ขยะชุมชน 361 เมกะวัตต์ และกำลังเปิดคัดเลือกอีก 78 เมกะวัตต์ ซึ่งก็จะทำให้การรับซื้อไฟฟ้าจากขยะใกล้เคียงเป้าหมาย ขณะที่จากการสำรวจปริมาณขยะทั่วประเทศพบว่า เพียงพอที่จะผลิตไฟฟ้า ได้อีก 300-500 เมกะวัตต์ ในอนาคต ซึ่งขณะนี้กระทรวงพลังงาน อยู่ระหว่างปรับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี ฉบับใหม่) ที่จะแล้วเสร็จในเดือนก.ย.นี้ ซึ่งจะมีการเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากขยะเพิ่มเติมหรือไม่นั้น ยังต้องรอความชัดเจนความต้องการใช้ไฟฟ้าในอนาคต และนโยบายที่ชัดเจนจากทางรัฐบาลต่อไป
**"บิ๊กป๊อก"ปัดลูกชายงาบไฟฟ้าขยะ
พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว. มหาดไทย กล่าวถึง กรณีที่ถูกโจมตีว่ากระทรวงมหาดไทย รวบอำนาจดึงการแก้ไขปัญหาขยะมาดูแลว่า กรณีขยะ ถือเป็นปัญหาของชาติ เป็นวาระแห่งชาติ โดยกฎหมายแล้ว องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นผู้ดำเนินการกำจัดขยะ และท้องถิ่นจะถูกกำกับโดยกระทรวงมหาดไทย ซึ่งท้องถิ่นเป็นนิติบุคคล สามารถทำได้ตามภารกิจ ในสิ่งที่เห็นควรต้องทำ โดยมีผู้บริหารท้องถิ่น และสภาท้องถิ่นรับผิดชอบ เพราะสองกลุ่มนี้จะเป็นผู้ให้บริการสาธารณะ ในนามนิติบุคคล ดังนั้นกระทรวงมหาดไทยได้แต่กำกับดูแล ถ้าไม่ทำผิดกฎหมาย หรือกฎระเบียบ จะไปยุ่งกับเขาไม่ได้ จึงอยากให้ทุกคนเข้าใจด้วย
อย่างไรก็ตาม เมื่อท้องถิ่นเก็บขยะมาแล้ว ก็ไม่มีเงินที่จะไปจ้างโรงกำจัดขยะ เนื่องจากมีราคาสูง จึงหันไปใช้วิธี ทิ้ง หรือฝั่งกลบแบบเดิม จึงกลายเป็นปัญหาประเทศชาติต่อไป ซึ่งเจตนารัฐบาลต้องการให้นำไปเผา ซึ่งทางออกที่พอลดค่าใช้จ่ายได้ คือ ถ้าเผาแล้วเป็นพลังงานไฟฟ้า ขายไฟฟ้าได้ ค่ากำจัดขยะก็จะลดลง แต่การลงทุนสร้างโรงกำจัดขยะ ต้องร่วมทุนกับเอกชน เพราะรัฐบาลไม่มีเงินให้สร้างโรงเผาขยะ 300 โรงได้ เพราะค่าใช้ลงทุนสร้าง โรงละประมาณพันล้านบาท ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่รัฐบาลจะหาเงินให้ท้องถิ่นได้ และท้องถิ่นเมื่อลงทุนแล้ว ผลกำไรไม่ได้ย้อนมาที่รัฐบาล ดังนั้นต้องลงทุนเอง
"กรณีที่มีการโจมตีบุคคลในครอบครัวของผม เข้าไปเกี่ยวข้องกับการสร้างโรงไฟฟ้ากำจัดขยะนั้น ยืนยันว่า ครอบครัวไม่ได้ยุ่งเกี่ยว แน่นอน ลูกชายบอกว่าไม่ได้ไปยุ่งเกี่ยว หรือร่วมทุนกับใคร เรื่องนี้ไม่ใช่จะมากล่าวหากันบ่อยๆได้ ถ้าคิดว่ามีข้อมูล ก็ไปร้องทุกข์กล่าวโทษกับหน่วยงานที่รับผิดชอบในการตรวจสอบ ประเทศชาติถ้ามีใครโกง ต้องจับเข้าคุก ไม่ใช่มาด่าทอส่งเดช ขอแนะนำว่า อย่ามาโจมตี ควรจะไปบอกหน่วยงาน ที่เขามีอำนาจในการตรวจสอบและลงโทษ" พล.อ.อนุพงษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น