xs
xsm
sm
md
lg

เปิดรายงาน สนช.หนุนซื้อไฟโรงไฟฟ้าขยะ ค้านเพดานราคา 2.44 บาท

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผู้จัดการสุดสัปดาห์ -การประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) เมื่อวันที่ 10 สิงหาคมที่ผ่านมา มีวาระที่น่าสนใจอยู่วาระหนึ่ง นั่นคือ รายงานการพิจารณาศึกษา เรื่อง นโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของภาครัฐในปัจจุบัน ที่คณะกรรมาธิการการพลังงานพิจารณาเสร็จแล้ว

รายงานี้ชิ้นนี้ คณะกรรมาธิการการพลังงานของ สนช.ที่มี พล.อ.สกนธ์ สัจจานิตย์ เป็นประธาน ได้ตั้งคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาและติดตามด้านพลังงานทดแทน ที่มี พล.อ.ศุภกร สงวนชาติศรไกร เป็นประธาน ขึ้นมาทำการศึกษาโดยละเอียดอีกชั้นหนึ่งก่อน

ในการพิจารณาศึกษาเกี่ยวกับนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของภาครัฐในปัจจุบัน คณะอนุกรรมาธิการฯ ได้เชิญหน่วยงานต่าง ๆ มาชี้แจงให้ข้อมูล เมื่อวันที่ 5 และ 12 มิถุนายน 2561 ประกอบด้วย ผู้แทนสํานักงานนโยบายแผนพลังงาน ผู้แทนกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน ผู้แทนสํานักงานคณะกรรมการกํากับกิจการพลังงาน และ ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย

จากผลการพิจารณาศึกษาและการชี้แจงให้ข้อมูลของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเรื่องนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนของภาครัฐในปัจจุบัน และจากการอภิปรายแลกเปลี่ยนความคิดเห็นของคณะอนุกรรมาธิการ ได้ข้อสรุปดังนี้

1) ตามที่กระทรวงพลังงานได้ให้ข้อมูลต่อสื่อมวลชนกรณีกําหนดการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปัจจุบันที่จะขายเข้าระบบควรมีราคาไม่เกิน 2.44 บาท นั้น เป็นการให้ข้อมูลที่ทําให้เกิดความสับสนต่อภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทนว่า ทิศทางในอนาคตจะมีการพัฒนาไปอย่างไร ซึ่งประเด็นดังกล่าวคณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า เป็นการให้ข้อมูลที่เร็วเกินไปและขาดความชัดเจน จึงไม่สามารถนําไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมได้

2) การส่งเสริมพลังงานทดแทนที่มั่นคงยั่งยืนในระยะยาว ควรมีการส่งเสริมรายพื้นที่ตามศักยภาพของประเภทเชื้อเพลิงที่มี ซึ่งการผลิตพลังงานทดแทนจากเชื้อเพลิงแต่ละประเภทมีต้นทุนไม่เท่ากัน ดังนั้น การกําหนดให้รับซื้อไฟฟ้าในราคาที่เท่ากัน จะทําให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขัน นอกจากนั้น ในการกําหนดราคารับซื้อพลังงานทดแทนของกระทรวงพลังงานปัจจุบันยังขาดข้อมูลเรื่องต้นทุนราคาที่แท้จริงของพลังงานทดแทนแต่ละประเภทและความเหมาะสมในการพัฒนา พลังงานทดแทนในแต่ละพื้นที่ตามบริบทและปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้านเพื่อประกอบการพิจารณา จัดทํานโยบายต่าง ๆ ได้อย่างเหมาะสม

3) ตามที่กระทรวงพลังงานมีนโยบายให้ชะลอโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) สำหรับผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP Semi - Firm) โดยที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.)ได้อนุมัติโครงการไปแล้วนั้น คณะกรรมาธิการมีความเห็นว่า เนื่องจากโครงการดังกล่าว กพช.ได้มีมติเห็นขอบอนุมัติโครงการไปแล้ว จึงถือเป็นพันธะผูกพันที่กระทรวงพลังงานต้องรับไปดําเนินการตามมติ ของ กพช. ประกอบกับคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)ก็ได้ดําเนินการตามขั้นตอนโดยออกระเบียบการรับซื้อและรับฟังความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว รวมทั้งผู้ประกอบการเจ้าของโครงการที่มีการลงทุนเตรียมความพร้อมดําเนิน โครงการไปแล้วจะได้รับผลกระทบจากเรื่องดังกล่าว ดังนั้น หากกระทรวงพลังงานเห็นว่ามีความจําเป็นที่จะต้องชะลอโครงการ เนื่องจากอยู่ระหว่างการทบทวนเรื่องใด ๆ ก็ควรที่จะดําเนินการให้ถูกต้อง มีความชัดเจนตามขั้นตอน โดยเสนอ กพช.เพื่อพิจารณาเห็นชอบก่อน

จากข้อสรุปดังกล่าว คณะกรรมาธิการพลังงาน สนช.มีข้อเสนอแนะดังนี้

1) ในการประกาศนโยบายด้านพลังงานของภาครัฐควรคํานึงถึงขั้นตอนที่ถูกต้องเหมาะสม พิจารณาข้อมูล บริบท ปัจจัยที่เกี่ยวข้องอย่างรอบด้าน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และส่งผลกระทบต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียน้อยที่สุด

2) การกําหนดราคารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนในปัจจุบันที่จะขายเข้าระบบควรมีราคาไม่เกิน 2.44 บาทนั้น คณะกรรมาธิการเห็นว่าราคาดังกล่าวมีความเหมาะสมสําหรับพลังงานทดแทนบางประเภทเท่านั้น ยังมีพลังงานทดแทนบางประเภทที่มีต้นทุนสูง แต่ให้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ แฝงอยู่ เช่น ด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม โดยหากรวมมูลค่าทุกด้านแล้วอาจมีความคุ้มค่าต่อการรับซื้อ ดังนั้น การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน ควรรับซื้อจากเชื้อเพลิงแต่ละประเภทเรียงลําดับความสําคัญ และศึกษาต้นทุน บริบท ปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจนในแต่ละพื้นที่ด้วย

3) ตามที่นายกรัฐมนตรีได้กล่าวถ้อยแถลงจุดยืนของประเทศไทยในการลดโลกร้อน โดยมีเป้าหมายในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้ร้อยละ 20-25 ภายในปี 2573 โดยมุ่งลดการใช้พลังงานจากฟอสซิลและใช้พลังงานทดแทนที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมนั้น คณะกรรมาธิการเห็นว่า ควรมีการส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายที่นายกรัฐมนตรี ได้แถลงไว้

4) เร่งรัดให้มีการศึกษาและเตรียมความพร้อมในด้านต่าง ๆ เช่น การบริหารจัดการ โครงสร้างไฟฟ้า เทคโนโลยี บุคลากร กฎหมาย ระเบียบที่เกี่ยวข้อง เพื่อสนับสนุนให้มีผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนในรูปแบบ Private PPA อย่างเหมาะสมและเป็นธรรมต่อผู้ใช้ไฟฟ้า

5) การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนประเภทขยะและน้ำเสีย ซึ่งโดยปกติจะส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว จึงควรพิจารณารับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนสองประเภทนี้เป็นลําดับต้น ๆ ด้วยราคาที่เหมาะสม จะเป็นการช่วยแก้ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมร่วมไปกับการได้ใช้พลังงานทดแทน ทั้งนี้ การนําขยะไปเป็นพลังงาน ต้องแยกค่ากําจัดขยะออกจากค่าการลงทุนในการผลิตไฟฟ้าเพื่อไม่ให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าแพงเกินไป

6) ควรส่งเสริมพลังงานทดแทนจากการปลูกไม้โตเร็ว โดยนําไปใช้ทั้งในการผลิตไฟฟ้า และผลิตความร้อนในภาคอุตสาหกรรมด้วย ภายใต้บริบทของการไม่ก่อให้เกิดการตัดไม้ทําลายป่าหรือ ไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

7) จากการศึกษาแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงานของคณะกรรมาธิการพบว่า ยังขาดในเรื่องของการส่งเสริมพลังงานทดแทนจากก๊าซชีวภาพ ดังนั้น เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อการส่งเสริมและพัฒนาพลังงานทดแทนอย่างแท้จริง จึงควรเพิ่มให้มีการส่งเสริมก๊าซชีวภาพไว้ในแผนปฏิบัติการ ตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานด้วย

8) การจัดทํานโยบายด้านพลังงานสมควรได้รับฟังข้อมูลจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อให้ได้ ข้อมูลที่รอบด้าน สามารถนําไปปฏิบัติได้จริงและเป็นไปตามบทบัญญัติเรื่องการมีส่วนร่วมตามรัฐธรรมนูญ

9) ควรมีการปรับปรุงวิธีการรับซื้อพลังงานทดแทนเดิมที่มีสัญญาเป็นแบบ Non - Firm ให้เปลี่ยนแปลงเป็นแบบ Firm ได้ จะทําให้เกิดความมั่นคงด้านพลังงานและเป็นการลดกําลังการผลิตไฟฟ้าสํารอง เป็นผลให้ราคาค่าไฟฟ้าลดลงด้วย


กำลังโหลดความคิดเห็น